ยาแก้ปวดศีรษะ (Headache medications)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยาแก้ปวดศีรษะ

ยาแก้ปวดศีรษะหมายถึงอะไร?

ยาแก้ปวดศีรษะ(Headache medication or Drugs for headache) หมายถึง ยาที่ใช้บรรเทาอาการและป้องกันอาการปวดศีรษะแบบปฐมภูมิ (Primary headaches, คือ อาการปวดศีรษะที่เกิดจากปวดที่ศีรษะ ไม่ใช่มีสาเหตุจากสาเหตุ/โรค/ภาวะอื่น เช่น อาการไข้ ผลข้างเคียงจากยา หรือจาก ไซนัสอักเสบ เป็นต้น ซึ่งถ้าปวดศีรษะจากสาเหตุอื่นจะเรียกว่า ปวดศีรษะทุติยภูมิ/Secondary headaches) ซึ่งเป็นอาการปวดศีรษะที่ไม่ร้ายแรง อาการปวด ปฐมภูมิที่พบบ่อย ได้แก่ ปวดศีรษะไมเกรน (Migraine), ปวดศีรษะจากการตึงของกล้ามเนื้อ (Tension type headache), และปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (Cluster headache), โดยอาการปวดศีรษะเหล่านี้ สามารถใช้ยาแก้ปวดศีรษะเป็น ‘ยาบรรเทาอาการ (Abortive drugs)’เพื่อบรรเทาอาการปวดฯแบบเฉียบพลัน หรือใช้เป็น’ยาป้องกัน(Preventive drugs)’อาการปวดฯกรณีที่มีอาการปวดศีรษะบ่อยๆ เช่น กรณีปวดศีรษไมเกรน

ยาแก้ปวดศีรษะมีกี่กลุ่ม?

ยาแก้ปวดศีรษะ ได้แก่ยากลุ่มต่อไปนี้

ก. ยาที่ใช้ชั่วคราวเพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะแบบเฉียบพลัน (Abortive drugs)ได้แก่

1. ยาแก้ปวด/ ยาลดไข้ (Simple analgesics) เช่นยา พาราเซตามอล (Paracetamol)/ยาอะเซตามิโนเฟ่น (Acetaminophen)

2. ยาต้านอักเสบ/ยาแก้อักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal anti-inflammatory drugs, NSAIDs) เช่นยา แอสไพริน (Aspirin),ไอบูโพรเฟ่น (Ibuprofen), นาพร็อกเซน (Naproxen), คีโตโรแลค (Ketorolac), ไดโคฟีแนค (Diclofenac), อินโดเมทาซิน (Indomethacin), เซเลค็อกสิบ (Celecoxib), อีโทริค็อกสิบ (Etoricoxib)

3. ยาแก้ปวดชนิดผสม (Combination analgesics) เช่นยา ยาสูตรผสมระหว่างพาราเซตามอล แอสไพรินและคาเฟอีน (Paracetamol+Aspirin+Caffeine), ยาสูตรผสมระหว่าง Paracetamol กับยากลุ่ม NSAIDs

4. ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) เช่นยา มอร์ฟีน (Morphine), ทรามาดอล (Tramadol), โคดีอีน (Codeine)

5. ยากลุ่มเออร์กอต อัลคาลอยด์ (Ergot alkaloids) เช่นยา เออร์กอตามีน (Ergotamine), ไดไฮโดรเออร์กอตามีน (Dihydroergotamine)

6. ยากลุ่มทริปแทน (Triptans) เช่นยา ซูมาทริปแทน (Sumatriptan), นาราทริปแทน (Naratriptan), โซลมิทริปแทน (Zolmitriptan), ไรซาทริปแทน (Rizatriptan), อีลีทริปแทน (Eletriptan), อัลโมทริปแทน (Almotriptan)

7. การสูดดมออกซิเจน (Oxygen inhalation)

8. ยาชาเฉพาะที่ (Local Anesthetics) เช่นยา ไลโดเคน (Lidocaine)

9. ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน (Antiemetic drugs) เช่นยา ดอมเพอริโดน (Domperidone), เมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide), โปรคลอเพอราซีน (Prochlorperazine), คลอร์โปรมาซีน (Chlorpromazine), ไดเมนไฮดริเนท (Dimenhydrinate)

ข. ยาที่ใช้ป้องกันหรือลดความถี่ในการปวดศีรษะ (Preventive drugs) ได้แก่

1. ยาออกฤทธิ์ปิดกั้นตัวรับเบต้า (Beta blockers) เช่นยา โพรพาโนลอล (Propanolol), อะทีโนลอล (Atenolol), เมโทโพลอล (Metoprolol), นาโดลอล (Nadolol), ทิโมลอล (Timolol), ไบโซโพรลอล (Bisoprolol)

2. ยาออกฤทธิ์ปิดกั้นช่องแคลเซียม (Calcium channel blockers) เช่นยา เวอราปามิล (Verapamil), ดิลไทอะเซม (Diltiazem), ฟลูนาริซีน (Flunarizine)

3. ยาต้านซึมเศร้า/ยาต้านเศร้า (Antidepressants) เช่นยา อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline), นอร์ทริปไทลีน (Nortriptyline), อิมิพรามีน (Imipramine), ฟลูออกซีทีน (Fluoxetine), เวนลาฟาซีน (Venlafaxine), พาร็อกซีทีน (Paroxetine)

4. ยากันชัก (Antiepileptic drugs) เช่นยา กาบาเพนติน (Gabapentin), โซเดียม วาลโปรเอท (Sodium valproate)/กรดวาลโปรอิก (Valproic acid), โทพิราเมท (Topiramate)

5. ยาต้านตัวรับซีโรโทนิน (Serotonin antagonist) เช่นยา เมทิเซอร์ไจด์ (Methysergide), ไซโปรเฮปทาดีน (Cyproheptadine), พิโซติเฟน (Pizotifen)

6. โบทูไลนุม ทอกซิน ชนิดเอ (Botulinum Toxin type A, หรือ BOTOX)

7. ยาคลายกล้ามเนื้อ (Skeletal muscle relaxants) เช่นยา ไทซานิดีน (Tizanidine)

8. ยาควบคุมอารมณ์ (Antimanic drug) เช่นยา ลิเทียม (Lithium)

9. ยาสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เช่นยา เพรดนิโซโลน (Prednisolone), เดกซาเมทาโซน (Dexamethasone)

ยาแก้ปวดศีรษะมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแก้ปวดศีรษะมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้ เช่น

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาน้ำเชื่อม (Syrup)
  • ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension)
  • ยาเหน็บทวารหนัก (Suppository)
  • ยาน้ำใส ชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile solution)
  • ยาผง ชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile powder)
  • ยาพ่นจมูก (Nasal spray)
  • แผ่นแปะผิวหนัง (Transdermal patch)

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม

ยาแก้ปวดศีรษะมีข้อบ่งใช้อย่างไร?

ข้อบ่งใช้/สรรพคุณยาแก้ปวดศีรษะ ได้แก่

1. ยา Paracetamol, ยาแก้ปวดชนิดผสม, ยากลุ่ม NSIADs, Opioids, Ergot Alkaloids, Triptans เป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการปวดศีรษะแบบเฉียบพลัน

2. ยากลุ่ม Beta blockers, Calcium channel blockers, Antidepressants, Antiepileptic drugs, Serotonin antagonist ใช้ป้องกันอาการปวดศีรษะแบบเฉียบพลัน โดยการที่แพทย์จะเลือกใช้ยากลุ่มใดนั้น อาจพิจารณาถึงโรคร่วมอื่นๆของผู้ป่วยด้วย

3. การให้ผู้ป่วยสูดดมออกซิเจน 100 % ผ่านหน้ากากออกซิเจนในปริมาณ 7-10 ลิตร/นาที เป็นเวลาอย่างน้อย 20 นาที จะช่วยลดการไหลเวียนของเลือดบริเวณสมอง และทำให้หลอดเลือดหดตัว ใช้บรรเทาอาการปวดศีรษะแบบ Cluster headache

4. Lidocaine ในรูปแบบยาหยอดจมูก ใช้บรรเทาอาการปวดศีรษะแบบ Cluster headache โดยใช้หยอดจมูกข้างเดียวกับบริเวณที่มีอาการปวดศีรษะ

5. ยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน เป็นยาที่ช่วยให้การทำงานของระบบทางเดินอาหารให้ดีขึ้น จึงช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากการปวดศีรษะได้ โดยเฉพาะการปวดศีรษะไมเกรน

6. Botulinum Toxin type A ใช้ป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรน และ Tension-type headache

7. Tizanidine เป็นยาที่ใช้ป้องกันอาการปวดศีรษะชนิด Tension-type headache เท่านั้น

8. ยากลุ่ม Corticosteroids และ Lithium เป็นยาที่ใช้ป้องกันอาการปวดศีรษะชนิด Cluster headache เท่านั้น

ยาแก้ปวดศีรษะมีข้อห้ามใช้อย่างไร?

ยาแก้ปวดศีรษะมีข้อห้ามใช้ดังนี้ เช่น

1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง/ไวเกิน(Hypersensitivity)ต่อยานั้นๆ

2. ห้ามใช้ยากลุ่ม NSAIDs ในผู้ที่มีอาการ หอบหืด ลมพิษ เยื่อจมูกอักเสบเฉียบพลันจากการใช้ยากลุ่มนี้ เลือดออกในทางเดินอาหาร โรคตับ โรคไต อย่างรุนแรง ไข้เลือดออก โรคเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมอง

3. ห้ามใช้ยากลุ่ม Opioids ในผู้ป่วยที่มีการกดการหายใจเฉียบพลัน โรคหืด ผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะลำไส้เป็นอัมพาต ภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง ผู้ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ

4. ห้ามใช้ยากลุ่ม Ergot alkaloids และยากลุ่ม Triptans ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดส่วนปลาย โรคหลอดเลือดอุดตัน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูงแบบควบคุมไม่ได้/ความดันโลหิตสูงวิกฤติ ภาวะช็อก โรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคตับ หรือไตทำงานบกพร่อง

5. ห้ามใช้ยากลุ่ม Ergot alkaloids ร่วมกับยาที่มีคุณสมบัติเป็นตัวยับยั้งเอนไซม์ (Enzyme Inhibitor) เช่น ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Macrolides, ยาต้านเอชไอวี/ HIV กลุ่ม Protease Inhibitors, ยาต้านเชื้อรากลุ่ม Azoles เนื่องจากยากลุ่มต่างๆเหล่านี้จะทำให้ระดับยากลุ่ม Ergot alkaloidsในเลือดเพิ่มสูงขึ้น จึงอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา/จากยา กลุ่มErgot ได้สูงขึ้นจนอาจเกิดอันตราย

6. ห้ามใช้ยากลุ่มที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว ร่วมกัน เช่น ยากลุ่ม Triptans, ยากลุ่ม Ergot alkaloids, Methysergide, Serotonin receptor agonists, นิโคติน/Nicotin (ทั้งจากยาและจากการสูบบุหรี่) เพราะจะทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายเกิดการหดตัวนานขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ อาการภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายแย่ลง หลอดเลือดแดงส่วนปลายขาดเลือด (ผู้ป่วยจะมีอาการ มือชา เท้าชา) และทำให้เกิดเนื้อตายเน่าเนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยง (Gangrene)

7. ห้ามใช้ยากลุ่ม Triptans ร่วมกับยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โมโนเอมีนออกซิเดส (Monoamine oxidase inhibitors, MAOIs) เพราะอาจทำให้ระดับยากลุ่ม Triptans ในเลือดเพิ่มขึ้นจนเกิดอันตรายได้ ดังนั้นหากต้องการใช้ยาร่วมกัน ต้องใช้ยากลุ่ม Triptans หลังจากหยุดยากลุ่ม MAOIs อย่างน้อย 2 สัปดาห์

8. ห้ามใช้ยาในกลุ่ม Beta blockers ในผู้ป่วย โรคหืด โรคหัวใจล้มเหลวชนิดรุนแรง โรคซึมเศร้าอย่างรุนแรง และภาวะหลอดเลือดส่วนปลายตีบ

9. ห้ามใช้ยา Lithium ในผู้ป่วยที่ร่างกายอ่อนแอมาก มีภาวะขาดน้ำ มีโซเดียมในเลือดต่ำ โรคไต โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดระยะรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก

10. ห้ามใช้ยากลุ่ม Corticosteroids ในผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อที่ยังไม่ได้รับการรักษา

มีข้อควรระวังการใช้ยาแก้ปวดศีรษะอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแก้ปวดศีรษะ เช่น

1. ควรระวังการใช้ Paracetamol ในผู้ที่เป็น โรคตับ โรคไต หากจำเป็นควรใช้ยาในขนาดต่ำ และใช้ในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา

2. ควรระวังการใช้ยากลุ่ม NSIADs ในคนไข้ โรคไต โรคตับ โรคหัวใจ และในคนที่เลือดแข็งตัวช้า เพราะยาNSAIDsจะทำให้อาการของโรคเหล่านี้แย่ลง

3. ยากลุ่ม Opioids ควรเลือกใช้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีข้อห้ามใช้ยาแก้ปวดกลุ่มอื่น หรือใช้ยา กลุ่มอื่นแล้วไม่ได้ผลเท่านั้น เพราะการใช้ยากลุ่มนี้ติดต่อกันหลายครั้งอาจทำให้ติดยาOpioidsได้

4. ยากลุ่ม Ergot alkaloids มีอาการไม่พึงประสงค์จากกยาที่พบได้บ่อยคือ คลื่นไส้ อาเจียน สามารถใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนเพื่อป้องกันหรือบรรเทาอาการดังกล่าวได้

5. ควรระวังการใช้ยากลุ่ม Triptans ร่วมกับยาต้านซึมเศร้ากลุ่ม Selective serotonin re-uptake inhibitor (SSRIs) หรือกลุ่ม Serotonin noradrenaline re-uptake inhibitors (SNRIs) เพราะอาจทำให้เกิดภาวะ Serotonin syndrome ดังนั้นหากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ควรสังเกตความผิดปกติของผู้ป่วย เช่น ภาวะความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลงไป กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ หากมีอาการรุนแรงควรหยุดยานี้ แล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที

6. อาการปวดศีรษะแบบ Cluster headache พบมากในผู้ที่สูบบุหรี่ ซึ่งหากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการสูดดมออกซิเจน ควรระวังการจุดไฟในขณะที่ถังออกซิเจนเปิดอยู่ เพราะอาจทำให้เกิดระเบิดได้

7. Lithuim เป็นยาที่มีดัชนีการรักษาแคบ (Narrow therapeutic index drug) จึงมีโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาการใช้ยานี้ได้สูง ดังนั้นต้องใช้ยาอย่างเคร่งครัด ไม่เคี้ยว หัก หรือบดยาในรูปแบบที่ออกฤทธิ์นาน หากลืมรับประทานยานี้ให้รับประทานทันทีที่นึกได้ และห้ามเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

8. การใช้ยารักษาอาการปวดศีรษะแบบเฉียบพลันมากเกินไป และติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา หรือเกิดอาการปวดศีรษะจากการใช้ยาเกิน (Medication overuse headache) ดังนั้นหากมีอาการปวดฯบ่อยครั้ง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและใช้ยาป้องกันหรือลดความถี่ในการปวดศีรษะร่วมด้วย

9. ยาที่ใช้ป้องกันหรือลดความถี่ในการปวดศีรษะ เป็นยาที่ไม่สามารถบรรเทาอาการปวดศีรษะเฉียบพลันได้ อาจต้องใช้เวลา 2-3 เดือนกว่าจะเห็นผลการรักษา และต้องรับประทานต่อเนื่องอย่างน้อย 4-6 เดือน ผู้ป่วยควรต้องรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่หยุดยาเอง

การใช้ยาแก้ปวดศีรษะในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาแก้ปวดศีรษะในหญิงตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

1. ยาที่ใช้รักษาอาการปวดศีรษะแบบเฉียบพลันที่ควรเลือกใช้ในหญิงมีครรภ์ ได้แก่ Paracetamol, ยา กลุ่ม NSAIDs แต่ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม NSAIDs ในช่วงครรภ์ไตรมาสที่ 3 เพราะอาจทำให้เกิดความดันสูงในหลอดเลือดแดงที่ปอดของทารกแรกเกิดหรือทำให้มารดาเสียเลือดขณะคลอดมากขึ้น

2. หญิงมีครรภ์สามารถใช้การสูดดมออกซิเจน 100 % ได้อย่างปลอดภัย วิธีนี้จึงใช้เป็นตัวเลือกแรกในการบรรเทาอาการปวดศีรษะแบบ Cluster headache

3. ห้ามใช้ยากลุ่ม Ergot alkaloids เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม Opioids เพราะยากดการหายใจของทารกในครรภ์และทำให้ทั้งมารดาและทารกเกิดการติดยาได้ง่าย

4. ยาที่ใช้ป้องกันการปวดศีรษะที่ควรเลือกใช้เป็นตัวแรกในหญิงมีครรภ์ ได้แก่ Verapamil, ยากลุ่ม Beta-blockers แต่ควรค่อยๆ ลดขนาดยากลุ่มนี้ลงในช่วงครรภ์ไตรมาสที่ 3 เพราะอาจทำให้ทารกมีภาวะความดันโลหิตต่ำ หรือมีภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติ ยาที่ควรเลือกใช้เป็นลำดับถัดมา คือ Amitriptyline

5. ห้ามใช้ยา Sodium valproate, Topiramate เพื่อป้องกันการปวดศีรษะในหญิงมีครรภ์ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์

การใช้ยาแก้ปวดศีรษะในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาแก้ปวดศีรษะในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

1. เมื่อผู้สูงอายุมีอาการปวดศีรษะแบบเฉียบพลัน สามารถใช้ยาแก้ปวดต่อไปนี้เพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่ Paracetamol, ยากลุ่ม NSIADs ควรเลือกใช้ Celecoxib, Etoricoxib เพราะทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น เลือดออกหรือเกิดแผลในทางเดินอาหารได้น้อยกว่า ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม Opioids เพราะอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว

2. ควรระวังการใช้ยากลุ่ม Ergot alkaloids และยากลุ่ม Triptans ในผู้สูงอายุ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ

3. ยาป้องกันการปวดศีรษะที่สามารถใช้ในผู้สูงอายุได้ ได้แก่ ยากลุ่ม Beta blockers เช่น Metoprolol, Propanolol, ยากันชัก เช่น Topiramate, และ Lithium แต่ไม่ควรใช้ยาต้านซึมเศร้า เช่น Amitriptyline เพราะอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น วิตกกังวล สับสน นอนไม่หลับ ปัสสาวะขัด และหัวใจเต้นผิดปกติ

การใช้ยาแก้ปวดศีรษะในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาแก้ปวดศีรษะในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

1. เมื่อเด็กมีอาการปวดศีรษะเฉียบพลันสามารถใช้ยาแก้ปวดต่อไปนี้เพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่ Paracetamol, ยากลุ่ม NSIADs, แต่ควรระวังการใช้ Aspirin ในเด็กที่เพิ่งหายจากโรคอีสุกอีใส หรือโรคที่มีอาการคล้ายอาการไข้หวัดใหญ่ (Flu-like symptoms, เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ) เพราะอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการเรย์ (Reye's syndrome)ส่งผลให้สมองอักเสบและตับอักเสบ จนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

2. ยากลุ่ม Triptans และ Ergot alkaloids เป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการปวดศีรษะได้ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป

3. ควรหลีกเลี่ยงยาแก้ปวดกลุ่ม Opioids เพราะยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยานี้มากเพียงพอ

4. ยาป้องกันอาการปวดศีรษะที่ใช้ได้ผลดีในเด็ก ได้แก่ ยากลุ่ม Beta blockers, Verapamil, Amitriptyline, และยากันชัก เช่น Sodium valproate, Topiramate

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาแก้ปวดศีรษะเป็นอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์จากยาเนื่องจากการใช้ยาแก้ปวดศีรษะ เช่น

1. ยาParacetamol : พบได้น้อย เช่น ทำให้เกิดพิษต่อตับ/ตับอักเสบ หากใช้ยาขนาดสูงและติดต่อกันเป็นเวลานาน และอาจเกิดปฏิกิริยาต่อผิวหนังชนิดรุนแรง

2. ยากลุ่ม NSAIDs ทำให้ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร ลดความต้านทานของผนังกระเพาะอาหารและลำไส้ มีผลทำให้เกิดอาการ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร และเป็นแผลในกระเพาะอาหาร/ในระบบทางเดินอาหาร

3. ยากลุ่ม Opioids ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ปากแห้ง เกิดการหดเกร็งของท่อน้ำดี/ปวดท้องด้านขวาตอนบนที่เป็นที่อยู่ของท่อน้ำดี กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง ความดันโลหิตต่ำ กดการหายใจ ง่วงซึม

4. ยากลุ่ม Ergot alkaloids ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ความดันโลหิตสูง และอาการไม่พึงประสงค์จากยาชนิดรุนแรง ได้แก่ หลอดเลือดหัวใจหดตัว ทำให้ ใจสั่น เจ็บหน้าอก, ภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายขาดเลือด (Ergotism) ทำให้เกิดอาการชาตามปลายมือปลายเท้าที่นำไปสู่การเกิดเนื้อตายเน่า

5. ยากลุ่ม Triptans ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เหนื่อยล้า ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว

6. การสูดออกซิเจน พบอาการไม่พึงประสงค์น้อยมาก เช่น ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง (Rebound headache )

7. Lidocaine: ทำให้ ความดันโลหิตต่ำ ปวดศีรษะ หนาวสั่น

8. ยากลุ่ม Beta blockers ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้า มึนงง เหนื่อยล้า อ่อนแรง ภาวะบวมน้ำ ระดับน้ำตาลในเลือดสูง

9. ยากลุ่ม Calcium channel blockers ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ปวดศีรษะ มีอาการบวมที่อวัยวะต่างๆ เช่น ข้อเท้าหรือเท้า การมองเห็นหรือการได้ยินเปลี่ยนแปลงไป

10. ยาต้านเศร้า: พบอาการไม่พึงประสงค์จากยาได้บ่อยจากยา Amitriptyline, Nortriptyline, Imipramine, คือ ปวดท้อง ใจสั่น บวมน้ำ ความดันโลหิตสูง กระสับกระส่าย เหนื่อยล้า ช่องปากอักเสบ ตาพร่า

11. ยากันชัก:

  • ยา Gabapentin ทำให้ ง่วงนอน ซึม เวียนศีรษะ น้ำหนักตัวเพิ่ม
  • ยา Sodium valproate ทำให้ มือสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ผมร่วง น้ำหนักตัวเพิ่ม ตับอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ
  • Topiramate ทำให้ มึนงง เดินเซ ความคิดช้า การพูดผิดปกติเช่น นึกคำไม่ออกหรือใช้คำผิด น้ำหนักตัวลด นิ่วในไต ต้อหิน เหงื่อออกน้อย

12. ยากลุ่ม Serotonin antagonist ทำให้เกิดอาการ ง่วงซึม น้ำหนักตัวเพิ่ม บวมน้ำ รู้สึกไม่สบาย

13.ยาBotulinum Toxin type A ทำให้เกิดอาการ ปวด กดเจ็บ แสบร้อนบริเวณที่ฉีดยา และกลุ่มกล้ามเนื้อบริเวณใกล้เคียงกับที่ฉีดยาเป็นอัมพาตเมื่อฉีดผิดตำแหน่ง

14. ยาTizanidine ทำให้เกิดอาการ ง่วงซึม เหนื่อยล้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปากแห้ง มึนงง ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้า

15. ยา Lithium ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการสั่น ภาวะไทรอยฮอร์โมนต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮฮร์โมน กระหายน้ำ น้ำหนักตัวเพิ่ม บวมน้ำ ระดับเม็ดเลือดขาวสูงผิดปกติ

16.ยากลุ่ม Corticosteroids ทำให้เกิด ภาวะหัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นฉีก/เอ็นบาดเจ็บ ปวดศีรษะ บวมน้ำ

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาแก้ปวดศีรษะ) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. กิติยศ ยศสมบัติ. Comprehensive Pharmacy Review. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นานนะภงค์, 2555.
  2. คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ. คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาระบบประสาทส่วนกลาง เล่ม 1 http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/sites/default/files/tnf_2010_central_nervous_system_vol1.pdf [2018,July28]
  3. ศิวพร ปีเจริญทรัพย์. การจัดการเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาในร้านยาและระบบส่งต่อไปยังสถานพยาบาลหลัก พื้นที่จังหวัดอ่างทอง กรณีศึกษา ภาวะ Ergotism http://ccpe.pharmacycouncil.org/index.php?option=article_detail&subpage=article_detail&id=314 [2018,July28]
  4. Hershey, L. A. Treatment of Headache in the Elderly. Current Treatment Options in Neurology 15 (2013) : 56–62.
  5. Lopez, J.I. Pediatric Headache Medication https://emedicine.medscape.com/article/2110861-medication [2018,July28]
  6. Mayo Foundation for Medical Education and Research. Headaches in children https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/headaches-in-children/diagnosis-treatment/drc-20352104 [2018,July28]
  7. Negro, P., and others. Headache and pregnancy: a systematic review. The Journal of Headache and Pain 18 (2017) : 1-20.
  8. Schaefer, C., Peters P., and Miller, R.K. Drugs During Pregnancy and Lactation. Third Edition. Oxford : Academic press., 2015.