ยาแก้ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea medication)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 5 พฤศจิกายน 2559
- Tweet
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ประจำเดือน (Menstruation)
- ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea)
- กลุ่มยาแก้ปวดและยาพาราเซตามอล (Analgesics and Paracetamol)
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
- GnRH
- ยาแก้ปวดประจำเดือนหมายความว่าอะไร?
- ยาแก้ปวดประจำเดือนมีประเภทใดบ้าง?
- ยาแก้ปวดประจำเดือนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาแก้ปวดประจำเดือนมีข้อบ่งใช้อย่างไร?
- มีข้อห้ามใช้ยาแก้ปวดประจำเดือนอย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาแก้ปวดประจำเดือนอย่างไร?
- การใช้ยาแก้ปวดประจำเดือนในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาแก้ปวดประจำเดือนในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาแก้ปวดประจำเดือนในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาแก้ปวดประจำเดือนมีอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
ยาแก้ปวดประจำเดือนหมายความว่าอะไร?
ยาแก้ปวดประจำเดือน บางครั้งอาจเรียกว่า ยาปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea medication, Dysmenorrhea drug) คือยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดท้องน้อยที่สัมพันธ์กับรอบประจำเดือน เพื่อป้องกันอาการปวดท้องน้อยตั้งแต่ก่อนประจำเดือนมา รวมถึงใช้แก้ปวดในช่วงมีรอบประจำเดือน(ปวดประจำเดือน) โดยอาการปวดอาจลามไปถึงบริเวณส่วนของ หลัง ก้น และ/หรือต้นขา ซึ่งยานี้จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถประกอบกิจวัตรประจำวันตามปกติได้
ยาแก้ปวดประจำเดือนมีประเภทใดบ้าง?
ยาแก้ปวดประจำเดือน แบ่งออกเป็นกลุ่ม/ประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
ก. ยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs, NSAIDs): เช่น แอสไพริน (Aspirin), นาพรอกเซน (Naproxen), ไอบูโพรเฟน(Ibuprofen), ซูลินแดค (Sulindac), อินโดเมตทาซิน (Indomethacin), ไดโคลฟีแนค (Diclofenac), ไพร็อกซิแคม (Piroxicam), มีลอกซิแคม (Meloxicam), เมทฟีนามิค แอซิด (Mefenamic acid), เซเลค็อกสิบ (Celecoxib), อีโทริค็อกสิบ (Etoricoxib)
ข. ยาฮอร์โมนคุมกำเนิด (Hormonal Contraceptives): ซึ่งแบ่งเป็น
- ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Combined oral contraceptives) ที่ประกอบด้วย ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone)
- ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่มีโปรเจสเตอโรนอย่างเดียว (Progestogen-only contraceptives หรือที่เรียกอีกชื่อว่า Minipill) เช่น ยาเมดรอกซี่โปรเจสเตอโรน (Medroxyprogesterone), ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel), อีโทโนเจสเตรล (Etonogestrel)
ค. ยาฮอร์โมนสังเคราะห์ (Gonadotropin-releasing hormone agonists, ย่อว่า GnRH-agonist): เช่น ลิวโพรไลด์ (Leuprolide), บูเซอรีลิน (Buserelin), นาฟารีลิน (Nafarelin), ฮีสทรีลิน (Histrelin), กอสซีเรอลิน (Goserelin), เดสลอรีลิน (Deslorelin), ทริปโทรีลิน (Triptorelin)
ง. ยาฮอร์โมนเพศชนิดแอนโดรเจน (Androgen hormone): เช่นยา ดานาซอล (Danazol)
จ. ยาอื่นๆที่นำมาใช้ในการบรรเทาปวดประจำเดือน แต่ยังมีข้อมูลการศึกษาไม่มากเพียงพอ เช่นยา เวอราปามิล (Verapamil), ไนเฟดิปีน (Nifedipine), แมกนีเซียม ซัลเฟต (Magnesium sulfate), เทอร์บูทาลีน (Terbutaline), ไนโตรกลีเซอริน (Nitroglycerin)
ยาแก้ปวดประจำเดือนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแก้ปวดประจำเดือนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยากลุ่ม NSAIDs: จะอยู่ในรูปแบบยา เม็ด (Tablet), แคปซูล (Capsule), ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension), ยาฉีด (Injection)
- ยาฮอร์โมนคุมกำเนิด: จะอยู่ในรูปแบบ ยาเม็ด (Tablet), แผ่นแปะผิวหนัง (Transdermal Patch), วงแหวนสอดช่องคลอด (Vaginal Ring), ยาฝังเข้าใต้ผิวหนัง (Implant), ยาฉีด (Injection), ห่วงอนามัย (Intrauterine device, IUD)
- ยากลุ่ม GnRH-agonist: จะอยู่ในรูปแบบ ยาฉีด (Injection), ยาพ่นจมูก (Nasal spray)
- Danazol: จะอยู่ในรูปแบบ ยาแคปซูล (Capsule)
ยาแก้ปวดประจำเดือนมีข้อบ่งใช้อย่างไร?
ยาแก้ปวดประจำเดือนมีข้อบ่งใช้ เช่น
1. ยากลุ่ม NSAIDs: ใช้บรรเทาอาการปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) ในผู้ป่วยที่ไม่ต้องการ การคุมกำเนิด
2. ยาฮอร์โมนคุมกำเนิด: ใช้บรรเทาอาการปวดประจำเดือนในผู้ป่วยที่ต้องการคุมกำเนิด และ/หรือ รักษาภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) ร่วมด้วย
3. ยากลุ่ม GnRH-agonist และยา Danazol: ออกฤทธิ์ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกฝ่อ จึงใช้รักษาภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดประจำเดือนเรื้อรัง
มีข้อห้ามใช้ยาแก้ปวดประจำเดือนอย่างไร?
มีข้อห้ามใช้ยาแก้ปวดประจำเดือน เช่น
1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ
2. ห้ามใช้ยากลุ่ม NSAIDs: ในผู้ที่มี แผลทะลุ หรือมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร และ/หรือลำไส้(ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร) เป็น โรคตับ โรคไต อย่างรุนแรง หรือเป็น โรคไข้เลือดออก
3. ห้ามใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม(จากมีข้อห้ามใช้ฮอร์โมน Estrogen) ในผู้ป่วยดังต่อไปนี้: ในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์, ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม, มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคหลอดเลือดหัวใจ, หญิงที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไปกรณีเป็นผู้สูบบุหรี่มากกว่า 15 มวนต่อวัน, มีภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Venous Thromboembolism), โรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อน, โรคตับแข็ง
4. ห้ามใช้ยา Danazol: ในผู้ป่วยที่มีเลือดออกทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ, มีตับ ไต และ/หรือหัวใจ ทำงานผิดปกติอย่างรุนแรง, มีเนื้องอกที่มีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen-dependent tumor เช่น ), มีประวัติภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ
มีข้อควรระวังการใช้ยาแก้ปวดประจำเดือนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแก้ปวดประจำเดือน เช่น
1. ระวังการเกิดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร (เช่น ปวดท้องมาก, มีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร) จากการใช้ยากลุ่ม NSIADs ในผู้ป่วยดังต่อไปนี้ คือ ผู้ที่มีประวัติเคยเป็นแผลหรือเลือดออกในทางเดินอาหาร, ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี, ใช้ยากลุ่มนี้ในขนาดสูง, ใช้ยากลุ่ม NSIADs ร่วมกับยากลุ่ม Corticosteroids, ใช้ยากลุ่ม NSIADs ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด, ใช้ยา กลุ่ม NSAIDs ร่วมกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป
2. ระวังการใช้ยา Celecoxib และ Etoricoxib ในผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ เพราะอาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้
3. ระวังการใช้ยาคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมน Estrogen ในผู้ป่วยภาวะความดันโลหิตสูงที่คุมอาการไม่ได้ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของโรคหลอดเลือดหัวใจ , โรคไมเกรนชนิดมีอาการเตือน (Migraine with aura) เพราะอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง โดยสามารถพิจารณาเลือกใช้เป็นยาคุมกำเนิดชนิดที่มีแต่โปรเจสเตอโรนอย่างเดียวแทน
4. ระวังการใช้ยากลุ่ม GnRH-agonist ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับหรือของไตผิดปกติ
5. ระวังการใช้ยา Danazol ในผู้ป่วย โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคลมชัก โรคไมเกรน โรคไขมันในเลือดสูง เป็นโรคมะเร็งโดยเฉพาะ มะเร็งบริเวณเต้านม
6. เมื่อมีอาการปวดประจำเดือน หากผู้ป่วยรับประทานยากลุ่ม NSIADs ซึ่งเป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการปวดทั่วๆไป แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดต่อไป
การใช้ยาแก้ปวดประจำเดือนในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาแก้ปวดประจำเดือนในหญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ควรเป็นดังนี้ เช่น
1. ห้ามใช้ยาต่อไปนี้ในหญิงตั้งครรภ์ คือ ยากลุ่ม NSAIDs (ห้ามใช้ในไตรมาสที่ 1 และที่ 3 ของการตั้งครรภ์), ส่วน ยาฮอร์โมนคุมกำเนิด, ยากลุ่ม GnRH-agonist และ ยาDanazol ห้ามใช้ตลอดระยะเวลาตั้งครรภ์
2. การใช้ยาแก้ปวดประจำเดือนในหญิงให้นมบุตร สามารถใช้ยาต่อไปนี้ได้ คือ ยากลุ่ม NSAIDs โดยเลือกใช้ยา Ibuprofen เป็นตัวเลือกแรก, ยาคุมกำเนิด สามารถใช้ได้ตั้งแต่ครรภ์ในช่วงอายุ 6-8 สัปดาห์ โดยเลือกใช้เป็นยาคุมกำเนิดชนิดที่มี โปรเจสเตอโรน อย่างเดียว เพราะ Estrogen มีผลทำให้สร้างน้ำนมได้ลดลง แต่ไม่ควรใช้ยากลุ่ม GnRH-agonist และ Danazol ในหญิงให้นมบุตร เพราะยาถูกขับออกมากับน้ำนม อาจทำให้ทารกได้รับยาเหล่านี้จนเกิดอันตรายได้
การใช้ยาแก้ปวดประจำเดือนในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาแก้ปวดประจำเดือนในสตรีผู้สูงอายุควรเป็น ดังนี้ เช่น
1. ยากลุ่ม NSAIDs: สามารถใช้ได้ในผู้ป่วยหญิงสูงอายุ แต่ควรเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากยา ได้แก่ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นแผลหรือเกิดเลือดออกในทางเดินอาหารได้
2. ยาฮอร์โมนคุมกำเนิด: สามารถใช้ได้ในผู้ป่วยหญิงสูงอายุ แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ ควรเลือกใช้เป็นยาคุมกำเนิดชนิดที่มีโปรเจสเตอโรนอย่างเดียว
3. ยากลุ่ม GnRH-agonist: สามารถใช้ได้ในผู้ป่วยหญิงสูงอายุ แต่ควรเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากยา ได้แก่ ภาวะฮอร์โมนเอสโตรเจนในเลือดสูง (Hyperestrogenic state) และความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง/ภาวะกระดูกบาง/ภาวะกระดูกพรุน (Bone mass reduction) ดังนั้น ควรมีการติดตามระดับเอสโตรเจนในเลือด (Serum estradiol) และความหนาแน่นของกระดูก (Bone density) เป็นระยะๆหากใช้ยากลุ่มนี้ในผู้สูงอายุต่อเนื่อง
4. Danazol: สามารถใช้รักษาอาการปวดท้องประจำเดือนในผู้ป่วยหญิงสูงอายุได้ แต่ต้องเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากยา คือภาวะฮอร์โมนแอนโดรเจนในเลือดเกิน (Excess androgen) และยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัย รวมถึงประสิทธิภาพการใช้ยานี้ในผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
การใช้ยาแก้ปวดประจำเดือนในเด็กควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาแก้ปวดประจำเดือนในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น
1. ยากลุ่ม NSIADs: เป็นยาที่มีข้อมูลประสิทธิภาพและความปลอดภัยสำหรับใช้บรรเทาอาการปวดประจำเดือนในช่วงวัยรุ่น ดังนั้นควรเลือกใช้ยากลุ่มนี้เป็นยาตัวเลือกแรก
2. ระวังการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ (ต่ำตั้งแต่20 ไมโครกรัมลงไป), ยาฉีด Medroxyprogesterone, และยากลุ่ม GnRH-agonist, ในการรักษาอาการปวดประจำเดือนของวัยรุ่น เพราะอาจทำให้ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง
3. Danazol: เป็นยาที่ไม่ควรใช้เป็นตัวเลือกแรกในวัยรุ่น เนื่องจากมีโอกาสพบอาการไม่พึงประสงค์จากยานี้ได้มาก ได้แก่ น้ำหนักตัวเพิ่ม มีสิว ผิวมัน ขนดก เป็นต้น
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาแก้ปวดประจำเดือนมีอะไรบ้าง?
อาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)จากการใช้ยาแก้ปวดประจำเดือนมีดังนี้ เช่น
ก. ยากลุ่ม NSIADs: ยานี้มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร คือ ทำให้เกิดอาการ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง ท้องเสีย ทำให้เกิดแผลและเลือดออกในทางเดินอาหาร, ผลต่อระบบเลือด คือ ยับยั้งการรวมตัวกันของเกล็ดเลือด ทำให้เลือดออกง่ายและหยุดช้าโดยเฉพาะเมื่อมีแผล, ผลต่อไต คือเพิ่มการสะสมของโซเดียมและน้ำในร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายเกิดการบวมน้ำจนอาจทำให้เกิดไตวายได้
ข. ยาฮอร์โมนคุมกำเนิด: อาจทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ คัดตึงเต้านม มีเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด มีภาวะขาดประจำเดือน
ค. ยากลุ่ม GnRH-agonist: อาจทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบ ช่องคลอดแห้ง ความต้องการทางเพศลดลง และกระดูกพรุน
ง. Danazol: อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม บวมน้ำ มีสิว ผิวมัน ขนดก ร้อนวูบวาบ ช่องคลอดแห้ง เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
สรุป
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาแก้ปวดประจำเดือน) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
- ศิรินาถ ศิริเลิศ และอุษณีย์ แสนหมี่. การรักษาภาวะปวดประจำเดือน. http://www.med.cmu.ac.th/dept/obgyn/2011/index.php?option=com_content&view=article&id=906:2013-10-07-01-24-27&catid=45&Itemid=561 [2016,Nov5]
- โอภาส เศรษฐบุตร. ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่กับภาวะมีบุตรยาก. http://www.med.cmu.ac.th/dept/obgyn/2011/index.php?option=com_content&view=article&id=399:endometriosis-and-infertility&catid=40&Itemid=482 [2016,Nov5]
- สิรินุช พละภิญโญ. การบริบาลทางยาของเภสัชกรชุมชน. กรุงเทพมหานคร : คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555.
- Osayande, A. S., and Mehulic, S. Diagnosis and Initial Management of Dysmenorrhea http://www.aafp.org/afp/2014/0301/p341.html [2016,Nov5]
- Schaefer, C., Peters, P. and Miller, R. K. Drug During Pregnancy and Lactation, 2. USA: Elsevier, 2007.