ยาเฮพาริน (Heparin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 10 กุมภาพันธ์ 2561
- Tweet
- บทนำ
- ยาเฮพารินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาเฮพารินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาเฮพารินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาเฮพารินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- ยาเฮพารินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาเฮพารินอย่างไร?
- ยาเฮพารินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาเฮพารินอย่างไร?
- ยาเฮพารินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคเลือด (Blood Diseases)
- ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Venous thrombosis)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- เฮพารินโมเลกุลเล็ก (Low molecular weight heparin)
- โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
บทนำ
เฮพาริน (Heparin หรือ Unfractionated heparin ย่อว่า UFH, หรือ Heparin sodium) เป็นสารชีวโมเลกุล (Biomolecule: โมเลกุลที่มีในสิ่งมีชีวิต โดยมีธาตุ ออกซิเจน คาร์บอน และ ไฮโดรเจน เป็นส่วนประกอบหลัก) ที่มีประจุลบ (Negative ion) และมีความหนาแน่นสูง มีหน้าที่สำคัญคือ ต้านการแข็งตัวของเลือด มีการทดลองใช้เฮพารินกับมนุษย์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1935 (พ.ศ. 2478) อีก 2 ปีต่อมาวงการแพทย์ยอมรับด้วยเหตุผลว่า เฮพารินสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในมนุษย์
ประโยชน์ของเฮพารินที่ใช้ในวงการแพทย์ เช่น
- ใช้ในโรคหลอดเลือดหัวใจแบบเฉียบพลัน
- รักษาภาวะอุดตันของหลอดเลือดดำและเส้นเลือดในปอดอุดตัน
- สำหรับการผ่าตัดหัวใจ
- ใช้ในการทำหัตถการของการช่วยชีวิต
- ป้องกันการแข็งตัวของเลือดขณะทำการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การล้างไต)
จากการศึกษาเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic: การเป็นไปของยาเมื่อเข้าสู่ร่างกาย) ของเฮพารินในร่างกายมนุษย์พบว่า เมื่อเข้าสู่ร่างกาย เฮพารินจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีโดย ตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1.5 ชั่วโมงในการกำจัดเฮพารินออกจากร่างกาย 50% โดยผ่าน ไปกับปัสสาวะ
องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เฮพารินเป็นยาขั้นพื้นฐานที่ควรต้องมีประจำในสถานพยา บาลของรัฐ คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุเฮพารินลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ และถูกจัดให้อยู่ในหมวดยาอันตรายเพื่อใช้รักษา
- ภาวะอุดตันของหลอดเลือดดำ หรือภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Deep vein thrombosis) และเส้นเลือดในปอดอุดตัน หรือ สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด(Pulmonary embolism)
- ภาวะหลอดเลือดดำในสมองอุดตันหรือโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดดำอุดตัน (Venous stroke) และ มีลิ่มเลือดอุดตันที่หัวใจ(Cardio embolic stroke)
- โรคหลอดเลือดหัวใจแบบเฉียบพลัน (Acute coronary syndrome)
หมายเหตุ: เฮพารินที่พบเห็นกันบ่อยๆมีรูปแบบยาฉีด เฉลี่ยอายุการเก็บรักษาอยู่ที่ 18 เดือน - 3 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิตของแต่ละบริษัท การใช้ยาต้องอาศัยหัตถการทางการ แพทย์ที่มีผู้ชำนาญการ เช่น แพทย์ พยาบาล เป็นผู้บริหารการใช้ยาต่อผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป จึง จะปลอดภัย
ยาเฮพารินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาเฮพารินมีสรรพคุณดังนี้
- รักษาภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Venous thrombosis)
- ป้องกันภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำหลังการผ่าตัด (Prophylaxis of postoperative venous thromboembolism)
- ป้องกันการแข็งตัวของเลือดที่ทำให้สายสวนอวัยวะต่างๆอุดตัน (Prophylaxis of mural thrombosis)
- รักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากหลอดเลือดที่ตีบ (Unstable angina)
- รักษาโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน (Peripheral arterial embolism)
ยาเฮพารินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิของยาเฮปารินคือ ตัวยาเฮพารินจะยับยั้งกระบวนการเปลี่ยนสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดที่ชื่อ Prothrombin ไปเป็น Thrombin และกระบวนการเปลี่ยนสาร Fibrinogen ไปเป็น Fibrin จากกลไกข้างต้นทำให้เกิดการยับยั้งการทำงานของเกล็ดเลือด จึงทำให้ยานี้มีฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ยาเฮพารินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเฮพารินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้
- รูปแบบยาฉีด ขนาดความแรง 5,000 อินเตอร์เนชั่นแนลยูนิต/มิลลิลิตร
- รูปแบบยาขี้ผึ้ง(Heparin gel) ขนาดความแรง เช่น 50,000 อินเตอร์เนชั่นแนลยูนิต/100 กรัม ยารูปแบบนี้เป็นยาทาเฉพาะที่เพื่อการลดบวมที่เกิดจากหลอดเลือดอักเสบ
- รูปแบบยาฉีดที่ใช้เป็นยาล้างลิ่มเลือด/สารโปรตีนในหลอดสวนเลือดดำ(Heparin flush)เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดหรือสารโปรตีนอุดตันหลอดสวนหลอดเลือดดำ เช่น หลอดสวนฯที่ใช้ให้สารอาหารทางหลอดเลือด เป็นต้น
ยาเฮพารินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเฮพารินมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา เช่น
- ฉีดเข้าหลอดเลือด 5,000 - 10,000 อินเตอร์เนชั่นแนลยูนิต ทุก 4 - 6 ชั่วโมง
- ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 10,000 อินเตอร์เนชั่นแนลยูนิต ทุก 8 ชั่วโมง
อนึ่ง ขนาดของการใช้ยาเฮพารินจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ต่อคนไข้เป็นรายบุคคลไป อีกทั้งต้องอาศัยเครื่องมือเฉพาะของหัตถการทางการแพทย์ รวมถึงบุคคลากรพยาบาลชำนาญการ เป็นองค์ประกอบในการให้ยาเพื่อรักษาคนไข้
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเฮพาริน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจ ลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่โดยเฉพาะแอสไพริน หรือยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด/ยาต้านเกล็ดเลือด เช่น Dipyridamole เพราะยาเฮพารินอาจส่งผลให้อาการของโรครุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภท สามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ยาเฮพารินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเฮพารินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น มีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก อาจพบลมพิษ หอบหืด ผมร่วงเป็นหย่อมๆ แน่นจมูก ตาแดง ภาวะกระดูกพรุน เกิดภาวะเลือดออกตามร่างกายในอวัยวะต่างๆ เช่น ไอเป็น เลือด ปัสสาวะเป็นเลือด
มีข้อควรระวังการใช้ยาเฮพารินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเฮพารินดังนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ที่มีโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ที่มีภาวะเลือด ออกผิดปกติ ผู้ป่วยเยื่อบุหัวใจอักเสบติดเชื้อ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงขั้นรุนแรง และผู้ป่วยด้วย หลอดเลือดในหลอดอาหารโป่งพอง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดและมีความเสี่ยงต่อการที่เลือดจะไหลออกง่าย
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีบาดแผลที่อวัยวะสำคัญๆ เช่น ที่ ตับ ไต หรือมีภาวะหลอดเลือด ฉีกขาด
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยาเฮพาริน
- ระหว่างการใช้ยานี้ต้องตรวจสอบระดับเกล็ดเลือดของผู้ป่วยควบคู่กันไป
- หยุดให้ยาเฮพารินทันทีหากพบว่าผู้ป่วยมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
- ระวังการใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์และผู้สูงอายุ
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุก ชนิด (รวมยาเฮพารินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาเฮพารินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเฮพารินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้ การใช้เฮพารินร่วมกับยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด เช่น Aspirin และ Dipyridamole สามารถทำให้เกิดภาวะตกเลือดในผู้ป่วยได้ หากไม่มีความจำเป็นควรต้องระวังและหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษายาเฮพารินอย่างไร?
ควรเก็บยาเฮพารินภายใต้อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส(Celsius) เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดดและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาเฮพารินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเฮพารินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
DBL Heparin (ดีบีแอล เฮพาริน) | Hospira |
Heparin LEO (เฮพาริน แอลอีโอ) | LEO Pharma |
Heparin Sato (เฮพาริน ซาโต) | Sato Pharma |
Heparin Sodium Kamada (เฮพาริน โซเดียม คามาดา) | Kamada |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ เช่น Beprin, Caprin, Cathflush, Declot, Hepgel, Heparen, Heplock, V-parin, Thrombophob gel
- http://en.wikipedia.org/wiki/Heparin#Medical_use [2018,Jan20]
- http://www.uptodate.com/contents/hemodialysis-anticoagulation [2018,Jan20]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/44#item-8423 [2018,Jan20]
- http://www.mims.com/USA/drug/info/heparin/?type=full&mtype=generic#Dosage [2018,Jan20]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Heparin%20LEO/?type=brief [2018,Jan20]
Updated 2018,Feb20