ยาเอ็นฟูเวียไทด์ (Enfuvirtide)
- โดย ภก.วิชญ์ภัทร ธรานนท์
- 28 มีนาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ยาเอ็นฟูเวียไทด์ มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ยาเอ็นฟูเวียไทด์ มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาเอ็นฟูเวียไทด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาเอ็นฟูเวียไทด์ ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- ขนาดยาและวิธีบริหารยารวมถึงหากลืมรับประทาน/ลืมบริหารยาเอ็นฟูเวียไทด์ ควรทำอย่างไร?
- ยาเอ็นฟูเวียไทด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาเอ็นฟูเวียไทด์ อย่างไร?
- ยาเอ็นฟูเวียไทด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาเอ็นฟูเวียไทด์อย่างไร?
- ยาเอ็นฟูเวียไทด์มียาชื่อการค้าใดบ้าง? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- Anti retrovirus drug
- เอดส์ (AIDS)
- เอชไอวี: โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV: HIV infection)
- ยาเอ็นทรี แอนด์ ฟิวชั่น อินฮิบิเตอร์ (Entry and fusion Inhibitor)
- ยาต้านเอชไอวี ยาสูตรฮาร์ท (HAART: Highly Active Antiretroviral Therapy)
บทนำ
ยาเอ็นฟูเวียไทด์(Enfuvirtide ย่อว่า ENF หรือ Enfuvirtide acetate) เป็นยาต้านรีโทรไวรัส(Antiretrovirus) หรือยาต้านไวรัสเอชไอวีกลุ่มใหม่ ที่ได้รับการพัฒนา คือ กลุ่มเอ็นทรี แอนด์ ฟิวชั่น อินฮิบิเตอร์ (Entry and fusion inhibitor) โดยปัจจุบันยาเอ็นฟูเวียไทด์ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา ให้สามารถใช้ได้แล้ว ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี ทั้งในผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับยาต้านรีโทรไวรัสมาก่อน (Naïve patient) รวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวีสายพันธุ์ที่ดื้อต่อยาต้านเอชไอวีหลายชนิด และกรณีที่ผู้ป่วยกำลังได้รับยาต้านรีโทรรีไวรัสอยู่แต่ยังตรวจพบการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสเอชไอวีได้
ยาเอ็นฟูเวียไทด์ มีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneous administration) การออกฤทธิ์ของยาเอ็นฟูเวียไทด์จะทำการยับยั้งความสามารถของเชื้อไวรัสเอชไอวีในการเกาะจับและเข้าสู่เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดซีดี-4 (CD-4/Cluster of differentiation 4) ของผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี จึงสามารถควบคุมปริมาณเชื้อไวรัสเอชไอวีของผู้ป่วยไม่ให้เพิ่มจำนวนขึ้นได้
ยาเอ็นฟูเวียไทด์ มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเอ็นฟูเวียไทด์ เป็นยาต้านรีโทรไวรัสกลุ่มเอ็นทรี แอนด์ ฟิวชั่น อินฮิบิเตอร์ มีข้อบ่งใช้สำหรับต้านรีโทรไวรัส/เอชไอวี ปกติแล้วสูตรยาที่ใช้ในการรักษาการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี จะประกอบด้วยยาต้านรีโทรไวรัสอย่างน้อยจำนวน 3 ชนิด เรียกว่า การรักษาด้วยยาสูตรฮาร์ท (HAART, Highly Active Antiretroviral Therapy)
ปัจจุบัน ยาเอ็นฟูเวียไทด์ (Enfuvirtide; ENF) ถูกนำมาใช้ร่วมกับยาต้านรีโทรไวรัสชนิดอื่นๆ ในกรณีผู้ป่วยกำลังได้รับยาต้านรีโทรรีไวรัสอยู่ แต่พบว่าไม่สามารถควบคุมการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสเอชไอวีได้ แพทย์จะพิจารณาใช้ยาต้านรีโทรไวรัสกลุ่มเอ็นทรี แอนด์ ฟิวชั่น อินฮิบิเตอร์ เช่นยาเอ็นฟูเวียไทด์เพิ่มเติม หรือใช้แทนที่ยาบางตัวจากสูตรยาฮาร์ท (HAART) เดิม เพื่อประสิทธิภาพของการควบคุมเชื้อไวรัสเอชไอวี
ยาเอ็นฟูเวียไทด์ มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเอ็นฟูเวียไทด์ เป็นยาต้านรีโทรไวรัสกลุ่มเอ็นทรี แอนด์ ฟิวชั่น อินฮิบิเตอร์ มีกลไกยับยั้งการเกาะจับและเข้าสู่เซลล์เป้าหมายของเชื้อไวรัสเอชไอวี กับ เซลล์เป้าหมาย ซึ่งหมายถึงเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดซีดี-4 (CD-4/ Cluster of differentiation 4) ของผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเมื่อยาเอ็นฟูเวียไทด์เข้าสู่ร่างกายแล้ว ยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการเชื่อมรวม (Fusion) ระหว่างเปลือกหุ้มของไวรัสเอชไอวีกับผนังเซลล์ของเม็ดเลือดขาวชนิดซีดี-4 ของผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ผลลัพธ์ คือ ทำให้เชื้อเอชไอวีไม่สามารถเข้าสู่เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดซีดี-4 เพื่อทำการแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสในเซลล์ผู้ป่วยได้ ร่างกายจึงสามารถควบคุมปริมาณเชื้อไวรัสเอชไอวีของผู้ป่วยได้
ยาเอ็นฟูเวียไทด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเอ็นฟูเวียไทด์มีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์ เป็นผงยา (Lyophilized powder,ยาที่ต้องนำมาละลายในตัวทำละลายก่อนการใช้) สำหรับฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneous/SC administration) ประกอบด้วยตัวยา 108 มิลลิกรัม/ 1ขวด
เมื่อมีการสั่งยาเอ็นฟูเวียไทด์ ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาเอ็นฟูเวียไทด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะ ยาเอ็นฟูเวียไทด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาเอ็นฟูเวียไทด์กับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- กรณีผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีมีภาวะการติดเชื้ออื่นร่วม เช่น วัณโรค, ไวรัสตับอักเสบบี, ไวรัสตับอักเสบซี, จำเป็นต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบด้วย เพื่อประโยชน์ในการเลือกใช้ยาต้านรีโทรไวรัสให้เหมาะสมกับสภาวะและโรคร่วมขณะนั้น
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร การใช้ยาเอ็นฟูเวียไทด์ยังไม่มีผลการศึกษาที่แน่ชัดเรื่องความปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร จึงพิจารณาใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรเฉพาะกรณีแพทย์ผู้รักษษ พิจารณาประโยชน์มีมากกว่าความเสี่ยง/โทษเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อหลีกเลี่ยงการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก ไม่แนะนำให้หญิงที่กำลังได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีทุกชนิด รวมยาเอ็นฟูเวียไทด์ ให้นมบุตร
- เนื่องจากยาในสูตรฮาร์ท(HAART)บางสูตรสามารถมีโอกาสเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาในสูตรยาดังกล่าว กับยาชนิดอื่นๆที่ผู้ป่วยได้รับเพิ่มเติมได้ ดังนั้น ผู้ป่วยควรตระหนักถึงโอกาสในการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา โดยควรแจ้งบุคลลากรทางการแพทย์ทุกครั้ง เมื่อมารับการรักษา/การได้รับยาชนิดอื่นๆเพิ่มเติมจากยาเดิมที่ใช้ประจำ ทั้งนี้ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยา/ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร/ยาสมุนไพร รับประทานเองในระหว่างการรักษาด้วยยาสูตรฮาร์ทที่รวมถึงยาเอ็นฟูเวียไทด์
ขนาดยาและวิธีบริหารยารวมถึงหากลืมรับประทาน/ลืมบริหารยาเอ็นฟูเวียไทด์ ควรทำอย่างไร?
ขนาดยาและวิธีบริหารยา/ใช้ยา รวมถึงหากลืมรับประทาน/ลืมบริหารยาเอ็นฟูเวียไทด์ ควรทำดังนี้ เช่น
1. ขนาดยาเอ็นฟูเวียไทด์ สำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีในเด็กอายุ 6 - 16 ปี: คือ 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว1กิโลกรัม ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง วันละ 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง (ขนาดยาสูงสุด คือ 90 มิลลิกรัม ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง วันละ 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง ) อนึ่ง ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยและขนาดยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี
2. ขนาดยาเอ็นฟูเวียไทด์ สำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีในผู้อายุมากกว่า16 ปีและผู้ใหญ่: คือ 90 มิลลิกรัม ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง วันละ 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง
3. วิธีการบริหารและเตรียมยาเอ็นฟูเวียไทด์: ยาเอ็นฟูเวียไทด์อยู่ในรูปแบบผงยา สำหรับฉีดเข้าใต้ผิวหนัง เวลานำไปใช้ให้ละลายผงยาในขวดด้วยน้ำกลั่นปริมาณ 1.1 มิลลิลิตร จะได้สารละลายยาที่มีความเข้มข้นประมาณ 90 มิลลิกรัมต่อ 1 มิลลิลิตร จากนั้นสามารถนำไปบริหารยาแก่ผู้ป่วยได้ โดยเมื่อผสมผงยาเอ็นฟูเวียไทด์กับน้ำกลั่นแล้ว ให้ทิ้งสารละลายยาดังกล่าวให้ละลายจนเป็นเนื้อเดียวกันซึ่งอาจใช้เวลานานถึง 45 นาทีได้ ทั้งนี้ห้ามเขย่าสารละลายยา เนื่องจากอาจทำให้ยาเสื่อมสภาพได้ เมื่อสารละลายยาเข้าเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว แนะนำให้บริหารยาทันที หากใช้ยาไม่หมด ให้นำยาที่เหลือ โดยยังคงเก็บในภาชนะบรรจุเดิม เก็บรักษาในตู้เย็นอุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส(Celsius) และควรใช้ยานี้ภายหลังการผสมให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง หากเกิน 24 ชั่วโมงไปแล้ว ควรทิ้งยานี้ไป
4. ขนาดยาในผู้ป่วยไตบกพร่อง/โรคไต: สำหรับยาเอ็นฟูเวียไทด์ ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง สามารถใช้ขนาดยาปกติ
5. ขนาดยาในผู้ป่วยตับบกพร่อง/โรคตับ: สำหรับยาเอ็นฟูเวียไทด์ ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยตับบกพร่อง เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลการศึกษาในการปรับขนาดยา อย่างไรก็ตามควรติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากยานี้อย่างใกล้ชิด
6. กรณีลืมบริหารยาเอ็นฟูเวียไทด์ สามารถปฏิบัติได้ดังนี้: ยาเอ็นฟูเวียไทด์มีวิธีการบริหารยาโดยฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังวันละ 2 ครั้ง ดังนั้นหากลืมบริหารยาให้ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังทันทีที่นึกขึ้นได้ (กรณีห่างไม่เกิน 6 ชั่วโมง จากบริหารยาปกติ) แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงใกล้กับเวลาที่ต้องบริหารยาครั้งถัดไป (เกินกว่า 6 ชั่วโมงจากเวลาปกติ) ให้ข้ามยาครั้งที่ลืมไป แล้วข้ามไปบริหารยามื้อถัดไปในขนาดยาปกติ (ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า หรือนำยาครั้งที่ลืมมาบริหารอีก) โดยให้บริหารยาครั้งถัดไปในขนาดปกติต่อไป ตามตารางเวลาเดิม
ยาเอ็นฟูเวียไทด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากยาของยาเอ็นฟูเวียไทด์ ซึ่งเป็นยาที่บริหารยาโดยฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneous) จะมีอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นบ่อย เช่น ปฏิกิริยาเฉพาะที่บริเวณที่ฉีดยา (Injection site reaction) ซึ่งมักจะมีอาการ ปวด บวมแดง หรือเกิดเป็น ก้อน ตุ่มน้ำ หรือ ตุ่มหนอง บริเวณที่ฉีดยา และอาจจะมีผื่นคัน หรือ ห้อเลือด อีกทั้งยังอาจเกิดปฏิกิริยาภูมิไว (Hypersensitivity) ต่อยา โดยจะแสดงออกด้วยผื่นผิวหนัง อาการไข้ คลื่นไส้ อาเจียน หนาวสั่น อาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง/ตะคริว ความดันโลหิตต่ำ หรืออาจมีค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ซ้ำอีก กรณีได้รับยานี้แล้วเกิดปฏิกิริยาดังที่กล่าวมา โดยผู้ป่วยควรสังเกตอาการทางผิวหนังที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น มีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง หรือตุ่มน้ำขึ้นตามร่างกาย หากเกิดอาการดังที่กล่าว ผู้ป่วยต้องรีบกลับไปพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
นอกจากนี้ ยาเอ็นฟูเวียไทด์ยังสามารถทำให้เกิดอาการ ง่วงนอน หรือมึนงง ดังนั้นควรระมัดระวังการทำงานที่จำเป็นต้องใช้สมาธิ หรือขับขี่รถยนต์ หรือจักรยานยนต์ หรือทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
อีกทั้งยังพบว่าผู้ป่วยที่กำลังได้รับยาเอ็นฟูเวียไทด์อาจมีความเสี่ยงในการเกิดปอดบวม (Pneumonia) ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียมากขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยที่มีประวัติโรคปอด หรือสูบบุหรี่ ควรระมัดระวังการเกิดอาการปอดบวม และยังทำมีอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆที่ไม่รุนแรง เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน
หากผู้ป่วยเกิดอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้ภายหลังการได้รับยาเอ็นฟูเวียไทด์ซึ่งมีความรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด และแจ้งแพทย์ พยาบาล ถึงประวัติการได้รับยาเอ็นฟูเวียไทด์และผลข้างเคียง เช่น เจ็บหน้าอก ไอ มีไข้ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ริมฝีปากบวม ใบหน้าบวม มีผื่นขึ้นเป็นลักษณะลมพิษ ถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด
มีข้อควรระวังการใช้ยาเอ็นฟูเวียไทด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเอ็นฟูเวียไทด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- พบรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาเอ็นฟูเวียไทด์ คือ ปฏิกิริยาภูมิไวต่อยา (Hypersensitivity) โดยแสดงออกด้วยผื่นผิวหนัง อาการไข้ คลื่นไส้ อาเจียน หนาวสั่น อาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง/เป็นตะคริว ความดันโลหิตต่ำ หรืออาจมีค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ใช้ยาซ้ำอีก กรณีได้รับยาแล้วเกิดปฏิกิริยาดังที่กล่าวมา
- การบริหารยาเอ็นฟูเวียไทด์ ให้บริหารยาใต้ผิวหนัง ณ บริเวณต่างๆกัน เช่น ผิวหนังบริเวณ หน้าท้อง ต้นแขน ต้นขา ทั้งนี้ไม่แนะนำให้บริหารยา ณ ตำแหน่งเดิม เนื่องจาก การบริหารยา ณ บริเวณเดิมหลายๆครั้ง อาจทำให้เกิดรอยจ้ำเลือด/ก้อนเลือด/ห้อเลือด (Bruise, Hematoma) บริเวณนั้นได้ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อบริเวณผิวหนังที่ฉีดยาได้ในเวลาต่อมา ดังนั้นเพื่อป้องกันการเกิดรอยจ้ำเลือด/ก้อนเลือด/ห้อเลือด หรือลดขนาดจ้ำเลือด อาจใช้ความเย็น/น้ำแข็งประคบบริเวณตำแหน่งที่ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังได้
- ยาเอ็นฟูเวียไทด์ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่ชัดเจนสำหรับการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงหญิงให้นมบุตร
ยาเอ็นฟูเวียไทด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานปฏิกิริยาระหว่างยาที่มีนัยสำคัญทางคลินิกระหว่างยาชนิดอื่นๆกับยาเอ็นฟูเวียไทด์
แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี จำเป็นต้องรักษาด้วยยาสูตรฮาร์ท(HAART) ซึ่งประกอบด้วยตัวยาต้านรีโทรไวรัสอย่างน้อย 3 ชนิด ดังนั้นปัญหาปฏิกิริยาระหว่างยาเป็นปัญหาที่สำคัญและจำเป็นต้องคำนึงถึง เนื่องจาก การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาต้านรีโทรไวรัสกับยาชนิดอื่นๆ อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยารุนแรงมากจนอาจถึงเสียชีวิตได้ หรืออีกทางหนึ่งยาบางชนิดอาจทำให้ระดับยาต้านรีโทรไวรัสนี้ลดลง ซึ่งส่งผลให้การรักษาการติดเชื้อเอชไอวีเกิดความล้มเหลวได้ ดังนั้นการได้รับยาใดๆ รวมถึงยาต้านรีโทรไวรัสนี้ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจึงต้องมีความระมัดระวัง และควรตรวจสอบปฏิกิริยาระหว่างยาก่อนเสมอ รวมถึงควรขอคำแนะนำการใช้ยาจากแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร จนเข้าใจ เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาตลอดการรักษาด้วยยาต้านรีโทรไวรัสนี้ เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยารักษาการติดเชื้อเอชไอวีทุกชนิดรวมถึงยาเอ็นฟูเวียไทด์
ควรเก็บรักษายาเอ็นฟูเวียไทด์อย่างไร?
แนะนำเก็บยาฉีดเอ็นฟูเวียไทด์สำหรับฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ณ อุณหภูมิห้อง ไม่เก็บยาในที่อุณหภูมิสูงเกินกว่า 30 องศาเซลเซียส หรือเก็บยาในห้องร้อนจัดหรือมีความชื้นมาก เช่น ในรถยนต์หรือในห้องน้ำ นอกจากนี้ยังควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาให้พ้นจากแสงแดด หรือบริเวณที่มีแสงสว่างส่องถึงตัวยาตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อรักษาคุณภาพของยาให้มีประสิทธิภาพตลอดถึงวันสิ้นอายุของยา
สำหรับยาเอ็นฟูเวียไทด์เมื่อละลายผงยาแล้ว สารละลายที่ผสมแล้วควรเก็บไว้ในตู้เย็น อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส และควรใช้ยานี้ให้หมดภายใน 24 ชั่วโมงภายหลังการละลายผงยา หากเกินเวลา 24 ชั่วโมง ควรทิ้งสารละลายยานี้ดังกล่าวไป เนื่องจาก ประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ของยานี้อาจลดลง ซึ่งอาจทำให้การรักษาล้มเหลวได้
ยาเอ็นฟูเวียไทด์มียาชื่อการค้าใดบ้าง? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
บรรณานุกรม
- Lacy CF, Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp; 2011-12.
- TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica; 2013
- John PM and Robert WD. The entry of entry inhibitors: A fusion of science and medicine. The National Academy of Sciences of the USA. 2003
- AIDinfo. Clinical guidelines Portal http://aidinfo.nih.gov/guidelines [2017,March11]
- ชาญกิจ พุฒิเลอพงศ์. Update on Guidelines for the use of antiretoviral agents in HIV-1-infected Adults and Adolescents in 2015. ใน: ชาญกิจ พุฒิเลอพงศ์, ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ แสง อุษยาพร, บรรณาธิการ. Pharmacotherapy in infectious disease VII. กรุงเทพมหานคร. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2558, หน้า 158-197.