ยาเออร์โกตามีน (Ergotamine) คาเฟอร์กอท (Cafergot)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเออร์โกตามีน (Ergotamine) หรือยาชื่อการค้าที่มักรู้จัก คือ ยาคาเฟอร์กอท (Cafergot ) เป็นสารเคมีกลุ่มอัลคาลอยด์ (Alkaloid: สารเคมีกลุ่มที่ประกอบด้วยไนโตรเจน/Nitrogen เป็นหลัก) สามารถสกัดได้จากเชื้อราที่มีชื่อว่า Claviceps purpurea ถูกนำมาใช้รักษาโรคไมเกรน โดยออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือด/เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณสมองเกิดการหดตัว หากร่างกายได้รับยานี้ในขนาดสูงมากๆ อาจได้รับอันตรายจากภาวะหลอดเลือดอุดตันหรือเกิดภาวะเนื้อตายด้วยขาดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะนั้นๆ

เออร์โกตามีน ยังมีฤทธิ์ทำให้มดลูกบีบตัวมากขึ้น จึงห้ามใช้กับหญิงตั้งครรภ์เพราะอาจก่อให้เกิดการแท้งบุตรได้ และในบางโอกาสถูกนำมาใช้รักษาอาการเลือดออกในโพรงมดลูกหลังคลอดบุตรอีกด้วย

เมื่อร่างกายได้รับยาเออร์โกตามีนเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะถูกส่งไปที่อวัยวะตับเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมี จากนั้นจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปกับน้ำดีเป็นส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด และยาบางส่วนจะถูกขับออกมากับปัสสาวะ

ในตลาดยาบ้านเรา มักจะมีการผสมสารคาเฟอีน/ กาเฟอีนเข้าไปในสูตรตำรับยา เพื่อเพิ่มฤทธิ์การหดตัวของหลอดเลือดที่บริเวณสมองโดยไม่ต้องเพิ่มตัวยาเออร์โกตามีน หรือจะกล่าวได้ว่า สารคาเฟอีนช่วยเสริมฤทธิ์ของการรักษาและในทางอ้อมเป็นการป้องกันการได้รับยาเออร์โกตามีนมากเกินไป

กฎหมายยาของประเทศไทยจัดเออร์โกตามีนอยู่ในหมวดของยาอันตราย การใช้ยานี้ที่ปลอดภัยและเหมาะสมจึงควรต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

ยาเออร์โกตามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาเออร์โกตามีน

สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาเออร์โกตามีน เช่น รักษาอาการปวดศีรษะจากไมเกรน

ยาเออร์โกตามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเออร์โกตามีนมีกลไกการออกฤทธิ์ต่อผนังหลอดเลือดในบริเวณศีรษะโดยทำให้เกิดการหดตัว นอกจากนี้เออร์โกตามีนยังแข่งขันกับสารสื่อประสาทในสมองบางตัวที่ชื่อ ซีโรโตนิน (Serotonin) จึงเป็นเหตุสนับสนุนการหดตัวของหลอดเลือดบริเวณสมองอีกทางหนึ่ง ซึ่งจาก การหดตัวของหลอดเลือดที่พอดีและเหมาะสม จะส่งผลให้อาการปวดศีรษะจากไมเกรนทุเลาลง

ยาเออร์โกตามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเออร์โกตามีนจัดจำหน่ายในรูปแบบ เช่น

  • ยาเม็ด โดยมีส่วนประกอบของยาเออร์โกตามีน 1 มิลลิกรัม กับสารกาเฟอีน 100 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นสูตรตำรับที่พบมากที่สุดในตลาดยาของบ้านเรา

ยาเออร์โกตามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเออร์โกตามีนมีขนาดรับประทาน เช่น

ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 2 เม็ด เมื่อมีอาการปวดไมเกรน หากอาการยังไม่ดีขึ้นทุก 30 นาที ให้รับประทานต่อจากยามื้อแรก 1 เม็ด โดยห้ามรับประทานยาเกิน 6 เม็ด/วัน และไม่เกิน 10 เม็ด/สัปดาห์ สามารถรับประทานยาก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ การได้รับยาเกินขนาดต้องแก้ไขโดยทำให้อาเจียนหรือล้างท้อง

*****อนึ่ง:

  • เออร์โกตามีนไม่เหมาะที่จะใช้รักษาไมเกรนชนิดเรื้อรัง ควรต้องหาสาเหตุที่แท้จริงและรักษาจากต้นเหตุนั้นๆ และก่อนการใช้ยานี้ควรต้องปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกายว่า มีสาเหตุการปวดจากไมเกรนจริงๆ มิใช่จากสาเหตุอื่น เช่น เนื้องอกสมอง อาการติดเชื้อในสมอง (สมองอักเสบ) หรือปวดศีรษะจากเครียด เป็นต้น
  • ห้ามใช้ยานี้ใน เด็ก หญิงช่วงเตรียมตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเออร์โกตามีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเออร์โกตามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทเช่น เออร์โกตามีนสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเออร์โกตามีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาเออร์โกตามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเออร์โกตามีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น
    • เกิดอาการหัวใจเต้นเร็ว หรือหัวใจเต้นช้า หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ
    • มีความดันโลหิตสูง
    • การนำเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆไม่เพียงพอ อาจจนถึงขั้นอาการเนื้อตายจากขาดเลือด
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น
    • อาจพบอาการวิงเวียนคล้ายบ้านหมุน
    • มีอาการชาตามร่างกายผสมกับการเสียวแปลบๆ
    • และรู้สึกอ่อนเพลีย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจพบอาการบวม หรือ คันบริเวณผิวหนัง

มีข้อควรระวังการใช้ยาเออร์โกตามีนอย่างไร?

ข้อควรระวังการใช้ยาเออร์โกตามีน เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยาเออร์โกตามีน
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ ด้วยเออร์โกตามีนมีผลทำให้มดลูกบีบตัวมากขึ้นจึงเสี่ยงกับการแท้งบุตร
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยเออร์โกตามีนส่งผลยับยั้งการหลั่งฮอร์ โมนโปรแลคติน (Prolactin) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการหลั่งน้ำนมของมารดา อีกทั้งยังผ่านไปกับน้ำนมของมารดาได้ และสามารถทำให้ทารกมีอาการ อาเจียน ท้องเสีย ความดันโลหิตไม่สม่ำเสมอ
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย ภาวะหลอดเลือดตีบตัน, ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจขาดเลือด (โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย, โรคหลอดเลือดหัวใจ)
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงระดับรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคตับและโรคไต
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยภาวะโลหิตจาง/ โรคซีด ด้วยอาจเกิดผลข้างเคียงของยาได้มากกว่าคนปกติ เช่น อาการชาตามร่างกาย เป็นต้น
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อี่นใช้
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเออร์โกตามีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเออร์โกตามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเออร์โกตามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเออร์โกตามีนร่วมกับยาปฏิชีวนะบางตัว สามารถทำให้ระดับยาของเออร์โกตามีนในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น อาจส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง หรือหากอาการรุนแรงมากอาจเกิดภาวะเนื้อตายเนื่องจากเลือดไปเลี้ยงไม่พอจนกระทั่งหัวใจหยุดเต้น หากพบอาการตัวชา ตัวเย็น คลื่นไส้อาเจียน นิ้วมือซีด เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปวดศีรษะมาก ฯลฯ ให้หยุดการใช้ยาและรีบนำตัวส่งแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยเร็ว ยาปฏิชีวนะดังกล่าว เช่น Clarithromycin และ Erythromycin
  • การใช้ยาเออร์โกตามีนร่วมกับยาต้านเศร้า อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดกลุ่มอาการเซโรโทนิน( Serotonin syndrome) ซึ่งจะมีอาการจิตหลอน/ประสาทหลอน รู้สึกสับสน มีอาการชัก หัวใจเต้นเร็วขึ้น มีไข้ เหงื่อออกมาก ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หากรุนแรงมากอาจมีอาการโคม่าและตายได้ ยาต้านเศร้าดังกล่าว เช่น Fluoxetine, Sertraline
  • การใช้ยาเออร์โกตามีนร่วมกับกลุ่มยารักษาโรคติดเชื้อเอชไอวีและกลุ่มยาต้านไวรัสตับอักเสบ-ซี สามารถเพิ่มปริมาณเออร์โกตามีนในกระแสเลือดให้มีระดับสูงขึ้น มีผลให้หลอดเลือดดำตีบหรือแคบลง และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ สามารถพบอาการอื่นอีก เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ตัวชา เจ็บกล้ามเนื้อ นิ้วมือซีด ฯลฯ หากมีอาการดังกล่าวควรต้องรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
    • ยาต้านเอชไอวี ดังกล่าว เช่นยา Nelfinavir, Ritonavir
    • ยาต้านไวรัสตับอักเสบซี เช่นยา Telaprevir

ควรเก็บรักษายาเออร์โกตามีนอย่างไร

สามารถเก็บยาเออร์โกตามีน เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้อง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิดพ้นแสงสว่าง แสงแดด และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำ
  • และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาเออร์โกตามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเออร์โกตามีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Avamigran (เอวาไมเกรน) A. Menarini
Cafergot (คาเฟอร์กอท) Amdipharm
Degran (ดีแกรน) Ranbaxy
Ergosia (เออร์โกเซีย) Asian Pharm
Gynaemine (กายเนมีน) Sriprasit Pharma
Hofergot (โฮเฟอร์กอท) Pharmahof
Migana (ไมกานา) T. Man Pharma
Neuramizone (นูรามิโซน) Sriprasit Pharma
Poligot-CF (โพลิกอต-ซีเอฟ) Polipharm
Polygot (โพลีกอต) Pharmasant Lab
Tofago (โทฟาโก) T.O. Chemicals

บรรณานุกรม

1. http://www.rxlist.com/cafergot-drug/indications-dosage.htm [2020,Feb22]
2. http://www.mims.com/Thailand/patientmedicine/generic/Ergotamine [2020,Feb22]
3. https://www.mims.com/USA/drug/info/ergotamine/?type=full&mtype=generic [2020,Feb22]
4. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Degran/?q=ergotamine&type=brief [2020,Feb22]
5. http://en.wikipedia.org/wiki/Ergotamine#Biosynthesis [2020,Feb22]
6. http://www.drugs.com/drug-interactions/ergotamine-index.html?filter=3&generic_only=[2020,Feb22]
7. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/meds/a601048.html#storage-conditions [2020,Feb22]