ยาเหน็บ หรือ ยาสอด (Suppository)

บทความที่เกี่ยวข้อง
ยาเหน็บหรือยาสอด

เหน็บ ตามความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึง สอดไว้ในที่บังคับ ส่วนคำว่า ‘สอด’ แปลว่า ใส่เข้าไปในช่อง

ดังนั้น ยาเหน็บหรือยาสอด จึงหมายความถึง ยาที่ใช้รักษาโรคด้วยการสอดใส่ยาไว้ในช่องต่างๆของร่างกาย

ยาเหน็บ หรือ ยาสอด เป็นยารักษาโรคเช่นเดียวกับที่เป็นยา กิน ทา ฉีด พ่น หรือ สูดดม แต่เป็นการให้ยาผ่านทางอวัยวะที่มีลักษณะเป็นท่อ/โพรงที่มีปากอวัยวะเปิดออกภายนอกร่างกาย ซึ่งจะทำให้สามารถสอดยาผ่านทางปากอวัยวะนี้ได้ ทั้งนี้ ยาเหน็บ หรือ ยาสอด มักใช้กับทวารหนัก และกับช่องคลอด

การใช้ยา จะโดยการสอดยา (รูปแบบยา มักเป็นเม็ด แต่อาจเป็นยาน้ำได้) เข้าไปไว้ใน ทวารหนัก (เช่น ยารักษาโรคริดสีดวงทวาร) หรือในช่องคลอด (เช่น ยารักษาโรคเชื้อราในช่องคลอด) แล้วปล่อยยาไว้ ไม่นำออกมาอีก ทั้งนี้ยาจะค่อยๆละลาย ซึ่งเมื่อยาละลายแล้วเคลือบอยู่บนเนื้อเยื่อบุผิว หรือเนื้อเยื่อเมือกของอวัยวะนั้นๆยาก็สามารถใช้รักษาโรคต่างๆของเนื้อเยื่อบุผิว หรือของเนื้อเยื่อเมือก ของอวัยวะนั้นๆได้ เช่น แผลต่างๆ โรคริดสีดวงทวาร (ยาสอดทวาร) และโรคเชื้อราในช่องคลอด (ยาสอดช่องคลอด)หรือ ใช้ในกรณีเป็นยาแก้ท้องผูก (ยาถ่าย)

นอกจากยาเหน็บ/ยาสอด จะใช้รักษาโรคเฉพาะที่ของอวัยวะในส่วนที่ยาเหน็บ/สอดเคลือบถึงแล้ว ยาบางชนิดจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด/กระแสโลหิตได้ดีจากทวารหนัก หรือ ช่องคลอด (เพราะเป็นอวัยวะที่มีเลือดมาเลี้ยงมาก)จึงสามารถใช้รักษาโรคต่างๆได้เช่นเดียวกับ การกินยา หรือ การฉีดยา ดังนั้นแพทย์จึงใช้ ยาเหน็บ เป็นอีกช่องทางในการให้ยา เช่น ในเด็กที่กลืนยายังไม่เป็น หรือไม่ยอมกินยาน้ำ/ยาเม็ด (เช่น ยาพาราเซตามอลที่ใช้ลดไข้ในเด็กอ่อน) หรือในผู้ป่วยที่คลื่นไส้-อาเจียนมากจนไม่สามารถกินยาได้ (เช่น การให้ยานอนหลับ หรือยากันชักยาต้านชัก) หรือยาบางประเภทอาจระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารจึงใช้การเหน็บแทน เช่น ยาแก้ปวดบางชนิด

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Suppository [2010,Jan11]