ยาเก่า ยาใหม่ทานอะไรก่อนกัน
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 18 มิถุนายน 2562
- Tweet
ปกติการนัดติดตามการรักษามักจะนัดเป็นสัปดาห์ เช่น 4, 8, 12 เดือน แต่ยาจะจัดให้เป็นเดือน เช่น 1,2,3 เดือน จำนวนยาที่ได้กับที่ใช้จึงไม่เท่ากัน มียาเหลือนิดหน่อย แต่ถ้าใครทานยาไม่ครบทุกครั้งตามที่แพทย์แนะนำ ก็จะมียาเหลือมาก บางครั้งมาติดตามมียาเหลือเป็นเดือนสองเดือน จนกระทั่งมีโครงการนำยาเหลือมาแลกไข่
วันหนึ่งมีผู้ป่วยถือยามาให้ผมดูว่าเหลือเป็นถุงๆ เลยครับ ผมก็แปลกใจว่าทำไมยาถึงเหลือมากจังเลย ผู้ป่วยก็ตอบว่า เป็นเพราะระหว่างที่หมอนัด 3 เดือน ผู้ป่วยก็มานอนโรงพยาบาล ซึ่งก็ไม่ได้ใช้ยาที่เหลืออยู่ พออกจากโรงพยาบาล หมอก็ให้ยามาเพิ่มอีก ยาก็เลยเหลือมากมาย ที่สำคัญคือเหลือแต่ยาเก่าๆ ไว้ด้วย ยาที่เพิ่งได้ก็กำลังทาน ยาที่ได้ใหม่ก็ทานไป ยาเก่าที่เหลือก็เก็บไว้ถือมาให้ผมดู
จริงแล้วยาที่ผลิตออกมาแต่ละครั้ง แล้วโรงพยาบาลนำมาให้ผู้ป่วยนั้นมีอายุประมาณ 3-5 ปีเป็นส่วนใหญ่ ยาที่อายุสั้นที่สุดที่จะให้ผู้ป่วยทานนั้นก็ประมาณ 6-12 เดือน ไม่มีการนำยาใกล้หมดอายุมาให้ใช้แน่นอน ดังนั้นการทานยาที่ผมแนะนำ คือ ถ้าได้รับยาใหม่ ก็ควรนำยาเก่ามาเปรียบเทียบกันว่าหมอได้มีการปรับเปลี่ยนยาหรือไม่ จริงแล้วทุกครั้งที่หมอเปลี่ยนยา หมอก็ต้องบอกก่อนอยู่แล้วทุกครั้ง เมื่อนำยามาเปรียบเทียบวิธีทานยาว่าเปลี่ยนไปหรือไม่ ถ้าเปลี่ยนก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทานยาตามคำแนะนำใหม่ ไม่ใช่ทานยาแบบเก่า แบบเดิมเสมอ ถ้าทานแบบเดิมก็ก็นำยาเก่าที่เหลือมารวมกันกับยาใหม่ โดยที่ซองยายังใส่ไว้อยู่ แล้วก็ทานยาเก่าก่อนเสมอ เมื่อยาเก่าหมดก็ทานยาใหม่ แต่ถ้าวิธีทานยาเปลี่ยนก็นำซองยาเก่ามาเขียนวิธีทานแบบใหม่ แล้วก็ทานแบบใหม่แต่ทานยาเก่าก่อน ถ้าทำแบบนี้ก็จะทำให้ยาที่เหลือนั้นทานได้ต่อไป ไม่มีหมดอายุ
แล้วถ้ายาเหลือเป็นเดือนๆ ก็บอกหมอครั้งต่อไปว่ามียาชนิดไหนเหลือมากแค่ไหน เพื่อที่หมอจะได้จัดจำนวนยาให้อย่างเหมาะสมครับ