ยาอันตราย (Dangerous drug)
- โดย ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม
- 2 พฤษภาคม 2557
- Tweet
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาสามัญประจำบ้าน (Household remedies)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
“ยาอันตราย” หมายถึง ยาที่ต้องขายเฉพาะในร้านขายยาแผนปัจจุบันภายใต้การควบคุมของเภสัชกรผู้มีหน้าที่ควบคุมดูแลการจัดจำหน่าย โดย “ยาอันตราย” ที่จำหน่ายในร้านขายยา ต้องจำหน่ายทั้งแผงหรือทั้งขวด โดยไม่แบ่งออกมาจากภาชนะบรรจุเดิม
“ยาอันตราย” มีข้อควรระวังคือ ต้องใช้ยาในปริมาณและในวิธีบริหารยา (การจัดการทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคยา เช่น การเตรียมยาเพื่อการบริโภค ระยะเวลาในการบริโภคยา การจับเก็บยา เป็นต้น) ตามที่ระบุไว้บนฉลากยา หรือตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร
ยากลุ่มอื่น
“ยาอันตราย” แตกต่างจากยากลุ่มอื่นๆ เช่น
- ‘ยาสามัญประจำบ้าน’ จัดเป็นยาที่ได้รับการพิจารณาแล้วว่าปลอดภัย โอกาสเป็นอันตรายต่อสุขภาพมีน้อย ให้วางจำหน่ายได้โดยทั่วไป และผู้ซื้อสามารถตัดสินใจซื้อด้วยตนเองตามอาการเจ็บป่วย
- ‘ยาควบคุมพิเศษ’ เป็นยาที่เภสัชกรจ่ายได้เฉพาะเมื่อมีการนำใบสั่งยาจากแพทย์มาซื้อยา กลุ่มนี้เป็นยาที่มีความเป็นพิษภัยสูงหรืออาจก่ออันตรายต่อสุขภาพได้ง่าย จึงเป็นยาที่ถูกจำกัดการใช้
ฉลากยา
ในแง่ของฉลากยา “ยาอันตราย” ต้องมีตัวหนังสือ “สีแดง” ที่เขียนว่า "ยาอันตราย" อยู่บนกล่องยา ตำแหน่งใกล้ๆกับเลขทะเบียนยา
ในหญิงตั้งครรภ์
ยาอันตรายโดยทั่วไป แบ่งระดับความปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์เป็น A, B, C, D และ X (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง ดัชนีความปลอดภัยการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์) โดย
- ระดับ A เป็นระดับที่มีความปลอดภัยมากที่สุด ไม่ว่าจะใช้ช่วงใดของการตั้งครรภ์ ยากลุ่มนี้ คือ วิตามิน ชนิดที่ใช้สำหรับหญิงตั้งครรภ์นั่นเอง
- ส่วนยากลุ่มที่เหลือ จะมีระดับความปลอดภัยรองลงมา เช่น ระดับ B จะเป็นยาที่มีการใช้บ่อย เช่น ยาปฏิชีวนะที่พบอันตรายในสัตว์ทดลอง แต่งานวิจัยในมนุษย์ที่มีการควบคุมมาตรฐานไม่พบอันตราย
- ยากลุ่มที่อันตรายมากที่สุด คือ Category X ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์เด็ดขาด ยกเว้นกรณีที่ต้องใช้รักษาชีวิตของหญิงตั้งครรภ์เอาไว้ ยาในกลุ่มนี้ เช่น ยาในกลุ่ม Ergotamine ที่ใช้รักษาโรคไมเกรน เป็นต้น
อนึ่ง “ยาอันตราย” ที่จะปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์หรือไม่นั้น จะมีการระบุไว้ในฉลากยา/เอกสารกำกับยาเสมอ ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ที่จะใช้ยาอันตราย ต้องอ่านฉลากยา/เอกสารกำ กับยาทุกครั้ง หรือปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเมื่อจะใช้ยาเสมอ
หมายเหตุ
- กรณีของมารดาที่ให้นมบุตรก็เช่นเดียวกัน หากมารดาให้นมบุตรมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับยาเพื่อรักษาหรือควบคุมอาการของโรค ควรอ่านฉลากยาหรือเอกสารกำกับยาอย่างละ เอียดว่า ยามีการขับออกทางน้ำนมมารดาหรือไม่ ปลอดภัยสำหรับทารกที่ได้รับนมจากมารดาที่ใช้ยาหรือไม่ หรือปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
- ส่วนเด็กที่จะต้องใช้ “ยาอันตราย” ผู้ดูแลควรอ่านฉลากยา หรือเอกสารกำกับยาเกี่ยว กับขนาดของยา และวิธีบริหารยา อย่างถูกต้อง ตามที่ได้ระบุไว้ในฉลากยาหรือเอกสารกำกับยา
- การใช้ “ยาอันตราย” ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยา)
- “ยาอันตราย” ถ้าใช้ตามปริมาณ และวิธีบริหารยา ตามที่ระบุไว้ในฉลากยา/เอกสารกำ กับยา หรือตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร จึงจะจัดได้ว่าเป็นยาที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย
บรรณานุกรม
1. http://pharmanet.co.th/articles.php?action=show_content&id=64&URL=Types_of_drug_laws_Importance_and_classification ประเภทของยาตามกฎหมาย
2. http://www.pharmanet.co.th/articles.php?action=1&article_no=31 [2014,April20]
3. http://www.jsppharma.com/Pharma-knowledge/9ประเภทของยา.html [2014,April20].