ยาอะนูซอล (Anusol suppositories)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 13 กันยายน 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาอะนูซอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาอะนูซอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาอะนูซอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาอะนูซอลมีวิธีการใช้อย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- ยาอะนูซอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาอะนูซอลอย่างไร?
- ยาอะนูซอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาอะนูซอลอย่างไร?
- ยาอะนูซอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids or piles)
- เลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal bleeding or GI bleeding)
- อุจจาระเป็นเลือด เลือดออกทางทวารหนัก ถ่ายเป็นเลือด (Bleeding per rectum)
- สเตียรอยด์ ยาสเตียรอยด์ คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid)
- วิธีใช้ยาเหน็บทวารหนัก (How to use anal suppository)
ทั่วไป
ยาอะนูซอล (Anusol) ถูกผลิตออกมาด้วยวัตถุประสงค์ช่วยรักษาบรรเทาอาการปวดจากริดสีดวงทวาร ซึ่งอาจมีอาการคันและแสบในบริเวณช่องทวารหนักร่วมด้วย อีกทั้งช่วยบรรเทาอาการปวดริดสีดวงทวารในขณะขับถ่ายอีกด้วย ตัวยาที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของยาอะนูซอลจะประกอบด้วย
- ยาแก้แพ้: เพื่อลดอาการระคายเคืองอาการคัน
- ยาชา : เพื่อลดอาการปวดและทำให้ไม่รู้สึกปวดในขณะขับถ่าย
- ยาที่ช่วยให้เส้นเลือดหดตัว: เพื่อลดภาวะเลือดออกจากริดสีดวงทวาร
- ยาปฏิชีวนะ: เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบริเวณที่เป็นริดสีดวงทวาร
- ยากลุ่มสเตียรอยด์: เพื่อช่วยลดอาการอักเสบของริดสีดวงทวาร
******อนึ่ง ในบทความนี้ ไม่ขอกล่าวถึงสูตรตำรับยาที่มีส่วนผสมของยาสเตียรอยด์
โดยตัวยาสำคัญและสารออกฤทธิ์ที่พบเห็นได้ในยาอะนูซอล ได้แก่ Perubalsum, Resorcinol, Benzyl benzoate, Bismuth oxide, Bismuth subgallate, และ Zinc oxide ทั้งนี้ ปกติลักษณะของยาอะนูซอล จะมีรูปร่างเป็นแท่งตรง เนื้อยาคล้ายขี้ผึ้ง สามารถหลอมละลายได้ถ้าอยู่ในอุณหภูมิห้องโดยเฉพาะเมืองร้อนอย่างประเทศไทยเรา ดังนั้นจึงมักเห็นการเก็บยาเหน็บเหล่านี้อยู่ในตู้เย็น
การใช้ยาอะนูซอลนี้ต้องสอดใส่ยาเข้าที่รูทวารหนัก ห้ามเผลอรับประทานโดยเด็ดขาด เพราะเป็นยาใช้ภายนอกและออกฤทธิ์เฉพาะที่ ปกติยาเหน็บกลุ่มนี้จะถูกนำมารักษาริดสีดวงทวารทั้งแบบภายนอกและแบบภายใน อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้ยาเหน็บทวารแก้ริดสีดวงทวารในกรณีที่มีเลือดออกบริเวณที่เป็นริดสีดวงฯ หรือกรณีที่แผลริดสีดวงฯมีอาการติดเชื้อ
ก่อนจะเลือกใช้ยารักษาริดสีดวงทวารที่ปลอดภัยและเหมาะสมกับตนเอง ควรขอคำแนะนำจากแพทย์เพื่อตรวจดูอาการความรุนแรงของริดสีดวงฯ หลายกรณีต้องใช้ทั้งยารับประทานร่วมกับยาเหน็บหรือยาทาภายนอกควบคู่กันไป
ยาอะนูซอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาอะนูซอล เช่น
- รักษาและบรรเทาอาการ อักเสบ ปวด แสบ คัน จากบริเวณริดสีดวงทวาร ไม่ใช่เป็นการรักษาตัวโรคริดสีดวงทวาร (อ่านเพิ่มเติม เรื่องการรักษาริดสีดวงทวารในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ริดสีดวงทวาร)
ยาอะนูซอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ตัวอย่างการออกฤทธิ์ของตัวยาที่เป็นส่วนประกอบของยาอะนูซอล เช่น
- Bismuth oxide, Bismuth subgallate และ Zince oxide: มีฤทธิ์ระงับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียอย่างอ่อนๆ อีกทั้งมีฤทธิ์สมานแผลจึงส่งผลให้อาการริดสีดวงทวารดีขึ้น
- Perubalsum:เชื่อกันว่าสารชนิดนี้ช่วยทำให้เซลล์ผิวหนังมีการเจริญเติบโตดีขึ้น และส่งผลให้แผลบริเวณที่เป็นริดสีดวงฯสมานตัวได้เร็ว
- Benzyl benzoate: มีฤทธิ์ระงับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย อีกทั้งช่วยรักษาและชะลออายุของผลิตภัณฑ์ยา
- Resorcinol: มีฤทธิ์ในการยับยั้งและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
*อนึ่ง จากการออกฤทธิ์ของตัวยาต่างๆดังกล่าวข้างต้น จึงส่งผลให้รักษาและบรรเทาอาการริดสีดวงทวารให้ดีขึ้น
ยาอะนูซอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอะนูซอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- มีลักษณะคล้ายขี้ผึ้งแข็ง รูปร่างเป็นแท่งปลายด้านหนึ่งแหลมแต่มนเรียว เหมาะกับการสอดใส่ในรูทวารหนัก
ยาอะนูซอลมีวิธีการใช้อย่างไร?
วิธีการใช้ยาอะนูซอล: เช่น
ก. ผู้ใหญ่: เหน็บทวารหนัก 1 แท่งก่อนนอนเป็นระยะเวลา 1 - 2 สัปดาห์ โดยมีวิธีง่ายๆ ดังนี้
- ล้างมือให้สะอาด ตะแคงตัวนอนในท่าที่ถนัด
- นำแท่งยาออกจากบรรจุภัณฑ์ (ซึ่งควรเก็บไว้ในตู้เย็น)
- จับแท่งยาให้ถนัดแล้วค่อยสอดยาเข้าทางรูทวารหนักจนหมด นอนในท่าเดิมระยะเวลาประมาณ 15 นาทีเป็นอย่างต่ำเพื่อให้ยาหลอมเหลวและซึมซับเข้าริดสีดวง
- นอนหลับพักผ่อนตามปกติ หากมีความจำเป็นต้องลุกขึ้นมาขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะในตอนกลางคืนผู้ป่วยสามารถทำได้โดยไม่ต้องกลั้นอุจจาระปัสสาวะจนถึงเวลาเช้า
ข. เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็ก ต้องเป็นคำแนะนำจากแพทย์เท่านั้น
* อนึ่ง:
- ระยะเวลาในการใช้ยานี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา ผู้ป่วยไม่ควรเปลี่ยนหรือหยุดใช้ยาด้วยตนเอง
- ยังไม่มีข้อห้ามชัดเจนการใช้ยาอะนูซอลในหญิงตั้งครรภ์ แต่ตัวยาบางตัวในยานี้อาจดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยานี้เสมอ และควรใช้ต่อเมื่อจำเป็นจริงๆเท่านั้น
- ยาบางตัวในยาอะนูซอลอาจถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและผ่านออกทางน้ำนมได้ ดังนั้น หญิงให้นมบุตรจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยานี้เสมอ และควรใช้ต่อเมื่อจำเป็นจริงๆเท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาอะนูซอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาต่างๆ หรือแพ้ยาเหน็บทวารชนิดใดหรือไม่
- อยู่ในภาวะท้องเสีย หรือมีเลือดออกทางทวารหนัก (อุจจาระเป็นเลือด) หรือไม่
ยาอะนูซอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผู้ป่วยสามารถพบผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง)จากยาอะนูซอล เช่น
- มีอาการระคายเคืองบริเวณก้นจากสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของยาเหน็บ หรือ
- อาจมีอาการแสบในบริเวณที่เหน็บยา
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะนูซอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะนูซอล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่เคยแพ้ยาอะนูซอล
- ห้ามเผลอรับประทานยาอะนูซอล
- ไม่สมควรใช้ยาอะนูซอลกับผู้ที่กำลังมีอาการเลือดออกที่ช่องทวารหนัก หรือผู้ที่อยู่ในภาวะท้องเสียและยังไม่หยุดขับถ่าย
- การสอดยาเหน็บควรสอดเข้ารูทวารหนักจนมิด ไม่ให้มีส่วนของแท่งยาโผล่ยื่นออกมาด้วยจะเป็นเหตุให้แท่งยาหลุดออกมาได้
- หากการสอดยาเหน็บเข้ารูทวารหนักทำไม่ได้หรือยากและไม่สะดวกต่อการใช้ ควรขอคำแนะนำจากแพทย์เพื่อเปลี่ยนรูปแบบของการใช้ยาเป็นลักษณะอื่น เช่น ยาครีม, ยาขี้ผึ้งชนิดป้ายแทน
- ระวังการใช้ยาเหน็บทวารชนิดที่มีส่วนผสมของ ‘สเตียรอยด์’ กับภาวะริดสีดวงทวารที่มีการติดเชื้ออย่างรุนแรงอยู่แล้ว ด้วยอาจทำให้อาการของโรคและการติดเชื้อกำเริบมากยิ่งขึ้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะนูซอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาอะนูซอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
โดยทั่วไป:
- ไม่พบว่ายาอะนูซอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดรับประทานหรือยาฉีดชนิดใดๆ
- แต่ถ้าหากมีอาการผิดปกติหลังใช้ยาอะนูซอลร่วมกับยาใดๆก็ตาม ให้รีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือได้รับการรักษาทันที
ควรเก็บรักษายาอะนูซอลอย่างไร?
ควรเก็บยาอะนูซอล เช่น
- เก็บยาภายในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิระหว่าง 2 - 8 องศาเซลเซียส(Celsius) เพื่อป้องกันการละลายของยาจนใช้สอดเหน็บทวารไม่ได้
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็ง
- เก็บยาในหีบห่อบรรจุเดิมในที่ปลอดภัย
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำ
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ
- หลีกเลี่ยงการนำยาออกมาผึ่งนอกตู้เย็นนานเกินไป ด้วยจะทำให้ยาเหน็บอ่อนตัวจนไม่สามารถเหน็บทวารหนักได้
ยาอะนูซอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอะนูซอล มียาชื่อการค้า และบริษัทผ้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Anusol (อะนูซอล) | Pfizer |
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/mtm/anusol-hc-cream-ointment-suppository.html [2020,Sept12]
- https://www.progressivehealth.com/hemorrhoid-suppositories.htm [2020,Sept12]
- https://www.netdoctor.co.uk/medicines/digestion/a6221/anusol-piles-treatment/ [2020,Sept12]
- https://www.doctoralia.co.uk/medications/anusol [2020,Sept12]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Resorcinol#Medical [2020,Sept12]