ยาหอม (Balsum)
- โดย ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม
- 18 กุมภาพันธ์ 2557
- Tweet
เมื่อพูดถึงยาหอม คงไม่มีคนไทยคนใดไม่เคยได้ยิน ในการรักษาโรคของแพทย์แผนไทยสมัยโบราณนั้น จะมียาหอม พกติดตัวไว้สำหรับรักษาโรคยามฉุกเฉิน แล้วค่อยจ่ายยาต้มตามมาภายหลัง ถือได้ว่ายาหอมเป็นยาสำคัญทีเดียวในการแพทย์แผนไทย
เมื่อมีการฟื้นฟูการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศบัญชียาแผนโบราณสา มัญประจำบ้าน เมื่อปี พ.ศ. 2542 ด้วยจุดมุ่งหมายที่ให้ประชาชนได้มียาสมุนไพรที่ดี ปลอดภัย ไว้ใช้ในบ้าน
โดยยาประเภทนี้สามารถวางขายในที่ใดก็ได้ ไม่ต้องเป็นสถานที่ที่ได้รับอนุญาตขายยา หรือสถานการแพทย์ ด้วยต้องการให้มีการกระจายยาอย่างทั่วถึง ประชาชนเข้าถึงยาสมุนไพรได้
ในประกาศนั้น มียาตำรับแผนโบราณ 27 ตำรับ ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่ามีประสิทธิภาพดี และใช้กันมายาวนาน ในจำนวนนั้น มียาหอมอยู่ถึง 4 ชนิด คือ ยาหอมเทพจิตร ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมอินทจักร และ ยาหอมนวโกฐ ทั้ง 4 ชนิดนี้ มีข้อบ่งใช้ดังนี้คือ
- ยาหอมเทพจิตร: ใช้แก้ลม บำรุงหัวใจ โดยผสมน้ำดอกไม้เทศเป็นกระสาย
- ยาหอมทิพโอสถ: แก้ลมวิงเวียน แก้ลมบาดทะจิต ใช้น้ำดอกมะลิเป็นน้ำกระสายยา
- ยาหอมอินทจักร: แก้คลื่นเหียนอาเจียน โดยใช้น้ำลูกผักชี หรือเทียนดำ (เมล็ดของสมุนไพรชนิดหนึ่ง) ต้ม หรือน้ำสุกเป็นกระสาย, แก้ลมจุกเสียด ใช้น้ำขิงต้มเป็นกระสาย
- ยาหอมนวโกฐ: แก้ลมคลื่นเหียน อาเจียน ใช้น้ำลูกผักชี เทียนดำต้มเป็นกระสาย, แก้ลมปลายไข้ โดยใช้ก้านสะเดา ลูกกระดอม และบอระเพ็ด ต้มเอาน้ำเป็นกระสาย ถ้าหาน้ำกระสายไม่ได้ใช้น้ำสุกแทน
อย่างไรก็ดี พบว่า คนทั่วไปยังมีความสับสนในการเลือกใช้ยาหอมทั้ง 4 ชนิดนี้ ก่อนอื่นควรทำความเข้าใจเรื่อง ยาหอมตามหลักทฤษฎีการแพทย์แผนไทยก่อนว่า
ยาหอม เป็นยาที่ใช้บำรุงหัวใจ ซึ่งในทางการแพทย์แผนไทยไม่ได้หมายถึงยากระตุ้นการทำ งานหรือการปรับการเต้นของหัวใจ แต่หมายถึงยาปรับการทำงานของลมที่เคลื่อนไหวทั่วร่างกายมนุษย์ ซึ่งส่งผลต่อจิตใจ อารมณ์ความรู้สึก การหมุนเวียนของเลือด เรียกรวมกันว่า ลมกองละเอียด
ยาหอมบางชนิดนอกจากใช้บำรุงหัวใจแล้ว ยังใช้สำหรับแก้ไขปัญหาที่เกิดจากลมกองหยาบ ซึ่งหมายถึง ลมที่อยู่ภายในทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการจุกเสียดอีกด้วย
การตั้งตำรับยาหอมจึงต้องประกอบด้วยสมุนไพรจำนวนมาก เพื่อปรับการทำงานของธาตุ ลม ไฟ และน้ำ ให้เข้าสู่สมดุล และการใช้ยาแต่เนิ่นๆ ก็เป็นการป้องกันไม่ให้ร่างกายเสียสมดุลมาก จนกระทบธาตุดิน และยากแก่การรักษา
ในองค์ความรู้ของแพทย์แผนไทยนั้น ยาหอมตั้งขึ้นเพื่อรักษาโรคที่เกี่ยวกับลม ที่มีความแตกต่างกันในรายละเอียด ประกอบด้วยสมุนไพรที่จำแนกได้เป็นกลุ่มดังนี้
- ยาพื้นฐาน เป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม ส่วนใหญ่มีรสสุขุม ยากลุ่มนี้เป็นยาพื้นฐานด้วยความประ สงค์ที่จะทำให้ร่างกายเราอยู่ในสมดุล คือไม่ร้อน หรือเย็นเกินไป
สมุนไพรในกลุ่มนี้ได้แก่ โกฐทั้ง 5, เทียน (ชื่อสมุนไพรจำพวกหนึ่ง) ทั้ง 5 กฤษณา ขอนดอก กระลำพัก อบเชย
- สมุนไพรเพิ่มการทำงานของธาตุลม เป็นตัวยารสร้อนหรือรสเผ็ดร้อน เช่น สมุลแว้ง สนเทศ ว่านน้ำ กระชาย เปราะหอม สุรามฤต ข่าต้น ลูกจันทน์ ผิวส้ม (ตัวยากลุ่มนี้เป็นตัวยาหลัก เพราะยาหอมเป็นยาที่ใช้ปรับการทำงานของธาตุลมให้เข้าสู่สมดุล)
แต่อย่างไรก็ดี การเติมตัวยาเหล่านี้มาก จะทำให้ยาตำรับค่อนข้างไปทางร้อน ซึ่งจะเหมาะสำ หรับการรักษาอาการวิงเวียน เป็นลม
- ยาปรับธาตุ ซึ่งมักนำมาจาก พิกัดเบญจกูล (สะค้าน ช้าพลู ขิง ดีปลี เจตมูลเพลิงแดง) หรือ พิกัดตรีผลา (สมอพิเภก สมอไทย มะขามป้อม)
พิกัดตรีที่เลือกใช้เพื่อปรับธาตุ มักเป็นพิกัดตรีผลา ในยาหอมที่ใช้สำหรับแก้ปัญหาเลือดลม เพราะพิกัดนี้ใช้ปรับกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับธาตุไฟ
- ส่วนประกอบที่ใส่เฉพาะตำรับ เพื่อใช้เฉพาะอาการ ได้แก่ พิกัดเกสร หรือ ดอกไม้ชนิดต่างๆเช่น มหาหงส์ กาหลง เป็นต้น ทำให้ยาหอมประเภทนี้จะเป็นยาหอมสุขุม เย็น ลดความร้อน ทำให้จิตใจที่ร้อนรุ่ม เย็นลง สงบมากขึ้น
อนึ่ง
- สมุนไพรรสขม หรือ เย็น เพื่อลดไข้ ลดความร้อน เช่น ลูกกระดอม บอระเพ็ด ราชดัด หญ้าตีนนก จันทน์ขาว จันทน์แดง ฝาง ดอกคำไทย สรรพคุณบำรุงเลือด พบในยาหอมสำหรับแก้ปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือน, ส่วน กระจับ แห้วหมู สรรพคุณ บำรุงกำลัง
- จากการที่ยาหอมมีองค์ประกอบหลัก ข้อ 1 และ 2 คล้ายกัน แต่องค์ประกอบในข้อ 3 และ 4 แตกต่าง ทำให้ยาหอมทุกชนิดมีสรรพคุณแก้ลมวิงเวียน แต่บางชนิดอาจต้องใช้ร่วมกับน้ำกระสายยา เนื่องจากมีตัวยาแก้ลมวิงเวียนน้อยไป นอกจากนี้ ยาหอมบางชนิดยังมีความจำเพาะในการเลือก ใช้ ดังนี้
1. ยาหอมเทพจิตร
- ส่วนประกอบ: ประกอบด้วยตัวยา 48 ชนิด ตัวยาหลักคือ ดอกมะลิ ครึ่งหนึ่งของน้ำหนักทั้งตำรับ และเปลือกส้ม 8 ชนิดรวม 56 ส่วนใน 368 ส่วนของทั้งตำรับ เหมาะสำหรับ อาการลม วิงเวียน ซึ่งเกิดจากฤทธิ์ของตัวยารสร้อนหลายชนิด รวมถึงผิวส้ม 8 ประการ
ตามหลักการแพทย์แผนไทย ผิวส้มมีสรรพคุณแก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย สวิงสวาย และ บำรุงหัวใจ ซึ่งหมายถึง บำรุงให้จิตใจรู้สึกแช่มชื่น เหมาะกับคนที่รู้สึกซึมเศร้า มีอารมณ์เศร้าหมอง ที่มักเกิดขึ้นในบางเวลา หรือคนสูงอายุที่รู้สึกเหงา เศร้า
โดยตัวยาหลักคือ ดอกมะลิ มีสรรพคุณบำรุงจิตใจให้ชุ่มชื่น อย่างไรก็ดีการใช้ยาหอมในกลุ่มอาการเหล่านี้ ใช้ได้เฉพาะอาการที่แรกเริ่ม ไม่ใช่ยารักษาอาการสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคทางจิตเวชที่ต้องปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบัน
- ขนาดและวิธีใช้:
ชนิดผง: รับประทานครั้งละ 1 - 1.4 กรัม เมื่อมีอาการ ละลายน้ำสุก ดื่มทุก 3 - 4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง
ชนิดเม็ด: รับประทานครั้งละ 1 - 1.4 กรัม เมื่อมีอาการ ทุก 3 - 4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง
- ข้อควรระวัง:
- ควรระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มยากันเลือดเป็นลิ่ม (Anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (Antiplatelets)
- ควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับ ไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูร และเกิดพิษได้
- ควรระวังการใช้ยานี้ ในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้
2. ยาหอมทิพโอสถ
- ส่วนประกอบ: ประกอบด้วยตัวยา 48 ชนิด นอกจากยารสสุขุม เช่น โกฐทั้ง 9, เทียนทั้ง 9, และตัวยารสร้อนแล้ว การผสมเกสรทั้ง 5 คือ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี ดอกมะลิ เกสรบัวหลวง รวม ถึง ดอกกระดังงา ดอกบัวจงกลนี ซึ่งมีรสเย็น, หัวแห้วไทย และ กระจับ มีสรรพคุณบำรุงกำลัง, ดอกคำไทย, ฝาง (ชื่อสมุนไพร) มีสรรพคุณบำรุงเลือด
ทำให้นอกจากใช้แก้ลมวิงเวียน โดยละลายน้ำสุกหรือน้ำดอกไม้แล้ว (ยังสามารถใช้ในสตรีที่มักมีความรู้สึกหงุดหงิดโกรธง่ายในช่วงก่อนมีประจำเดือน เนื่องจากเป็นผลกระทบของความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นในรอบเดือนและกระทบต่อจิตใจ)
การใช้ยาที่มีดอกไม้เป็นส่วนผสม จะลดผลกระทบของความร้อนดังกล่าวลง ทำให้จิตใจเย็นลง โดยไม่ทำให้โลหิตเย็น ซึ่งกระทบต่อการมีประจำเดือน แต่ยานี้เป็นเพียงยาบรรเทาอาการเบื้อง ต้น ไม่ใช่การรักษาต้นเหตุ ต้องปรึกษาแพทย์แผนไทยในการแก้ไขอาการเหล่านี้ให้เข้าสู่สมดุล
- ขนาดและวิธีใช้:
ชนิดผง: รับประทานครั้งละ 1 – 1.4 กรัม ละลายน้ำกระสายยา เมื่อมีอาการ ทุก 3 - 4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง, น้ำกระสายยาที่ใช้ คือ น้ำดอกไม้หรือน้ำต้มสุก
ชนิดเม็ด: รับประทานครั้งละ 1 – 1.4 กรัม เมื่อมีอาการ ทุก 3 - 4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง
- ข้อควรระวัง:
- ควรระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มยากันเลือดเป็นลิ่ม (Anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (Antiplatelets)
- ควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของ ตับ ไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูร และเกิดพิษได้
- ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้
3. ยาหอมอินทจักร
- ส่วนประกอบ: ประกอบด้วยตัวยา 50 ชนิด
- ยารสสุขุม เช่น โกฐ 7 ชนิดในโกฐทั้ง 9 ยกเว้นโกฐหัวบัว โกฐชฎามังษี, เทียนทั้ง 9 กฤษณา กระลำพัก ขอนดอก
- ตัวยารสร้อน เช่น ลูกจันทน์ ดอกจันทร์ ลูกกระวาน กานพลู เกสรทั้ง 7
- ยารสขม ได้แก่ บอระเพ็ด ลูกกระดอม รากหญ้านาง ดีวัว จันทน์แดง จันทร์เทศ เพื่อลดความร้อนแก้ไข้ ดับพิษภายใน บำรุงไฟธาตุ เจริญอาหาร
- เถามวกขาว มวกแดง ดอกคำไทย ฝางเสน บำรุงโลหิต ซึ่งมีความหมายทำให้เลือดดี มีสีแดงสด ใส ไม่ดำคล้ำ มีเลือดฝาดดี ไม่ได้เพิ่มการสร้างเม็ดเลือด ต่างจากความหมายของแพทย์แผนปัจจุบัน
- โกฐน้ำเต้าเป็นยาระบาย เพื่อช่วยลดความร้อน
- ลูกผักชีลา, โกฐกักกรา แก้คลื่นเหียน
- มีพิกัดเบญจกูลใช้ปรับธาตุ
ยาหอมอินทจักร ใช้ได้ดีในการแก้คลื่นไส้อาเจียน โดยละลายยากับน้ำลูกผักชี หรือเทียนดำต้ม หรือน้ำสุก เนื่องจากในตำรับมีตัวยาแก้คลื่นไส้ 2 ชนิด คือ ลูกผักชีลา โกศกักกรา, แก้ลมจุกเสียด โดยละลายด้วยน้ำขิงต้ม ด้วยเหตุที่ว่ามีส่วนประกอบของ ดีวัว ที่บำรุงน้ำดี, บอระเพ็ด บำรุงไฟธาตุ ทำให้การเผาผลาญสมบูรณ์ดีขึ้น และมีพิกัดเบญจกูลช่วยปรับธาตุ
นอกจากนี้ยาหอมอินทจักร สามารถใช้ช่วยแก้อาการ
- อาการหงุดหงิดกระวนวาย จิตใจไม่สงบ โบราณเรียกว่าลมบาดทะจิต (ละเมอเพ้อพกพูดคนเดียวเหมือนผีเข้า เกิดจากจิตระส่ำระสาย) โดยละลายยาด้วยน้ำดอกมะลิ การออกฤทธิ์น่าจะเป็นด้วยน้ำดอกมะลิที่ใช้เป็นน้ำกระสายยา, ดอกพิกุล รสหอมเย็น แก้ไข้เพ้อคลั่ง, และ ดีวัว ที่มีสรรพ คุณ ดับพิษภายใน แก้พิษ เพ้อคลั่ง สติลอย ตาลาย พาให้รสยาแล่นไปทั่วตัว
- ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ใช้ในกรณีที่เป็นไข้สูงและเพ้อ
ขนาดและวิธีใช้:
ชนิดผง: รับประทานครั้งละ 1 - 2 กรัม, น้ำกระสายยาที่ใช้
- กรณีแก้ลมบาดทะจิต ใช้น้ำดอกมะลิ
- กรณีแก้คลื่นเหียนอาเจียน ใช้น้ำลูกผักชี เทียนดำต้ม ถ้าไม่มีใช้น้ำสุก
- กรณีแก้ลมจุกเสียด ใช้น้ำขิงต้ม
ชนิดเม็ด: รับประทานครั้งละ 1 - 2 กรัม ทุก 3 - 4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง
- ข้อห้ามใช้: ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์
- ข้อควรระวัง: ควรระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มกันเลือดเป็นลิ่ม (Anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (Antiplatelets)
4. ยาหอมนวโกฐ
- ส่วนประกอบ: ประกอบด้วยตัวยา 58 ชนิด มียารสสุขุม เช่น โกฐทั้ง 9 เทียนทั้ง 9 กฤษณา กระลำ พัก ขอนดอก
- ตัวยารสร้อนเช่น ลูกจันทน์ ดอกจันทร์ ลูกกระวาน กานพลู แก่นสน เกสรทั้ง 5
- ยารสขม ได้แก่ ลูกราชดัด จันทน์แดง จันทร์เทศ บอระเพ็ด ลูกกระดอม เพื่อลดความร้อนแก้ไข้ ดับพิษภายใน บำรุงไฟธาตุ เจริญอาหาร
- ลูกผักชีลา แก้คลื่นเหียน
- มีพิกัดเบญจกูล ปรับธาตุ เช่นเดียวกับยาหอมอินทจักร
ใช้แก้คลื่นไส้ โดยละลายยาด้วยน้ำลูกผักชี หรือเทียนดำต้ม เนื่องจากในตำรับมีตัวยาแก้คลื่นไส้ คือ ลูกผักชีลา เป็นตัวโดดเด่นในการใช้แก้ลมปลายไข้ (หมายถึง อาการท้องอืด เฟ้อ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เกิดหลังจากหายไข้ ในระยะพักฟื้น) โดยผสมกับน้ำสุก
ในรายงานการวิจัยพบว่า ยาหอมนวโกฐเพิ่มความแรงการบีบตัวของหัวใจ และ เพิ่มความดันโลหิตเล็กน้อย ทำให้หลอดเลือดเล็กที่ไปเลี้ยงสมองขยายตัว และปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเพิ่มขึ้น ยาหอมนวโกฐ มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้หลับสบาย และทำให้การหลั่งกรดลดลง และยับยั้งการหดตัวของลำไส้เล็ก แก้ปวดท้องได้ดี
- ข้อบ่งใช้:
- แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน (ลมจุกแน่นในอก) ในผู้สูงอายุ
- แก้ลมปลายไข้ หรือ หลังจากฟื้นไข้แล้วยังมีอาการ เช่น คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร ท้อง อืด และอ่อนเพลีย
- ขนาดและวิธีใช้:
ชนิดผง: รับประทานครั้งละ 1 - 2 กรัม ละลายน้ำกระสาย เมื่อมีอาการ ทุก 3 - 4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง โดยน้ำกระสายยาที่ใช้ ได้แก่
- กรณีแก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน (ลมจุกแน่นในอก) ในผู้สูงอายุ ใช้น้ำลูกผักชี (15 กรัม) หรือเทียนดำ (15 กรัม) ต้มเป็นน้ำกระสายยา
- กรณีแก้ลมปลายไข้ (หลังจากฟื้นไข้แล้วยังมีอาการ เช่น คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร ท้องอืด อ่อนเพลีย) ใช้ก้านสะเดา (33 ก้าน หรือ 15 กรัม) ลูกกระดอม (7 ลูก หรือ 15 กรัม) และเถาบอระ เพ็ด (7 องคุลี หรือ 15 กรัม) ต้มเป็นน้ำกระสายยา, และถ้าหาน้ำกระสายยาไม่ได้ ให้ใช้น้ำสุกแทน
ชนิดเม็ด: รับประทานครั้งละ 1 - 2 กรัม ทุก 3 - 4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง
- ข้อห้ามใช้: ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีไข้
- ข้อควรระวัง: ควรระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม (Anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (Antiplatelets), และควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้
น้ำกระสายยา
นอกจากข้อบ่งใช้ที่แตกต่างกันของยาหอมทั้ง 4 ชนิด ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การใช้ยาหอมละ ลายกับน้ำกระสายยา จะทำให้รักษาอาการต่างๆได้หลากหลายขึ้น ดังต่อไปนี้
- แก้ลมวิงเวียน: ใช้ น้ำดอกไม้ หรือ น้ำสุก
- แก้ลมบาดทะจิต: ใช้น้ำดอกมะลิ
- แก้คลื่นเหียนอาเจียน: ใช้น้ำลูกผักชี หรือ เทียนดำต้ม หรือ น้ำสุก
- แก้ลมจุกเสียด: ใช้น้ำขิงต้ม
- แก้ลมปลายไข้: ใช้น้ำสุก
- แก้ท้องเสีย: ใช้น้ำต้มใบทับทิม หรือ น้ำต้มเหง้ากระทือเผาไฟ
ข้อแนะนำสำหรับการใช้ยาหอม
การใช้ยาหอมให้ได้ผล แม้จะเป็นชนิดเม็ด ควรนำมาละลายน้ำกระสายยา หรือน้ำอุ่น รับประ ทานขณะกำลังอุ่น เหมือนกับวิธีการดั้งเดิม เพื่อช่วยการออกฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยที่มีในยาหอม ช่วยทำให้ยาออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น และออกฤทธิ์ ทั้งผ่านประสาทรับกลิ่น และผ่านการดูดซึมผ่านกระเพาะอาหาร
ข้อควรระวังสำหรับการใช้ยาหอม
- ยาหอม เป็นยาแผนไทย ไม่ใช่ยารักษาโรค หรือรักษาอาการโดยตรง แต่เป็นยาปรับสมดุลธาตุทางการแพทย์แผนไทย โดยเริ่มจากธาตุลม เพื่อไปกระตุ้นการทำงานของน้ำและไฟ ทำให้มีการไหลเวียนสะดวก เผาผลาญตามปกติ ซึ่งเป็นหลักวิธีคิดแบบองค์รวมในแพทย์แผนไทย
- ขนาดยาหอมที่ใช้ ควรใช้ตามคำแนะนำในฉลากยา การกินเกินขนาดที่แนะนำไม่ทำให้เกิดอาการเป็นพิษทันที แต่จะผลักดันให้การทำงานของธาตุเปลี่ยนไปเร็ว และทำให้สมดุลอาจขาดหรือเกินไปอีกทางได้
- การเลือกใช้ยาหอมให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ควรเลือกชนิดของยาหอมและน้ำกระสายยาให้ถูกกับอาการ
- หากไม่สามารถซื้อหรือเก็บยาหอมหลายชนิดไว้ในตู้ยาประจำบ้าน ก็สามารถเลือกยาหอมประเภทกลางๆ เช่น ยาหอมอินทจักร และใช้ร่วมกับน้ำกระสายยาตามที่ระบุ
- เมื่อมีอาการผิดปกติ และดูแลตนเองด้วยการใช้ “ยาหอม” แล้วอาการไม่ดีขึ้น ใน 2-3 วัน หรือเมื่ออาการเลวลง ควรต้องพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ เพื่อการวินิจฉัยโรค เพื่อให้ได้รับการรัก ษาที่ถูกต้องแต่เนิ่นๆ
- ในหญิงตั้งครรภ์ ในเด็กเล็ก และในหญิงให้นมบุตร ควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกรก่อนใช้ยาทุกชนิด ทั้งแผนปัจจุบัน แผนไทย สมุนไพร ฯลฯ ที่รวมถึง “ยาหอม” ด้วย
- ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด ยาแผนโบราณ/ยาแผนไทยทุกชนิดที่รวมถึง “ยาหอม” และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม