ยาหย่อนกล้ามเนื้อ (Nondepolarizing neuromuscular blocker)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 ตุลาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ยาหย่อนกล้ามเนื้อมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาหย่อนกล้ามเนื้อมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาหย่อนกล้ามเนื้อมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาหย่อนกล้ามเนื้อมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- ยาหย่อนกล้ามเนื้อมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาหย่อนกล้ามเนื้ออย่างไร?
- ยาหย่อนกล้ามเนื้อมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาหย่อนกล้ามเนื้ออย่างไร?
- ยาหย่อนกล้ามเนื้อมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle relaxants drugs)
- โรคตับ (Liver disease)
- โรคไต (Kidney disease)
- โรคปอด โรคของปอด โรคทางปอด (Pulmonary disease)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
บทนำ
ยาหย่อนกล้ามเนื้อ หรือยาคลายกล้ามเนื้อประเภท Nondepolarizing neuromuscular blocker เป็นยาประเภทยับยั้งกระแสประสาท โดยตัวยาจะเข้าแข่งขันกับสารสื่อประสาทชื่อ Acetylcholine (สารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อ) ของร่างกายที่บริเวณตัวรับ (Receptor) ที่มีชื่อว่า Acetylcholine receptors โดยไม่ทำให้เกิดมีการเปลี่ยนศักย์ไฟ ฟ้าในบริเวณเซลล์ประสาทที่ตัวยาเข้าไปออกฤทธิ์ ยาหย่อนกล้ามเนื้อประเภทนี้มักถูกนำไปใช้ในการผ่าตัดและการใส่ท่อช่วยหายใจ อาจแบ่งและจำแนกยาในหมวดนี้ออกเป็นรายการดังนี้
- Rapacuronium: หลังจากนำมาใช้ทางคลินิกเพียงปีเศษ ทางประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้เพิกถอนยานี้ออกจากระบบสาธารณสุขของประเทศด้วยยาก่อให้เกิดภาวะหลอดลมเกร็งตัว
- Mivacurium: เป็นยาที่ใช้เวลาในการออกฤทธิ์เร็วเพียงประมาณ 90 วินาที ช่วงเวลาการออกฤทธิ์นานอยู่ที่ 12 - 18 นาที ผลข้างเคียงที่โดดเด่นคือทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ
- Atracurium: มีการใช้กว้างขวางในวงการแพทย์ โดยองค์การอนามัยโลกรับรองให้เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระดับชุมชน ออกฤทธิ์เร็วภายในประมาณ 90 วินาที ระยะเวลาการออกฤทธิ์นานประมาณ 30 นาที ผลข้างเคียงที่พบได้คือ มีภาวะความดันโลหิตต่ำ และนับเป็นยาตัวหนึ่งที่คณะกรรมการอาหารและยาของไทยบรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ
- Doxacurium: เคยมีการใช้ยานี้ในหลายประเทศทั่วโลก ปัจจุบันได้รับความนิยมน้อยลง ด้วยมีการออกฤทธิ์นานและไม่สะดวกต่อการทำหัตถการทางการแพทย์
- Cisatracurium: มีเวลาการออกฤทธิ์เร็วภายในประมาณ 90 วินาที ระยะเวลาของการออกฤทธิ์นานอยู่ที่ประมาณ 60 - 80 นาที ผลข้างเคียงที่โดดเด่นเช่น มีอาการหัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ รวมถึงอาจเกิดอาการเกร็งตัวของหลอดลมร่วมด้วย เป็นยาอีกหนึ่งรายการที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย
- Vecuronium: มีการใช้อย่างกว้างขวางทางคลีนิก การออกฤทธิ์ใช้เวลาเพียงประมาณ 60 วินาที มีผลข้างเคียงน้อย แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีผลข้างเคียงคือมีอาการเป็นอัมพาตได้นาน และอาจมีภาวะกล้ามเนื้อลีบตามมา
- Rocuronium: ออกฤทธิ์โดยใช้เวลาเพียงประมาณ 1 - 2 นาที ระยะเวลาในการออกฤทธิ์นานประมาณ 30 นาที และเป็นยาอีกหนึ่งรายการที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย
- Pancuronium: มีการใช้อย่างกว้างขวาง ยาออกฤทธิ์ภายใน 90 - 120 วินาที ระยะเวลาในการออกฤทธิ์นานมากกว่า 3 ชั่วโมง ผลข้างเคียงที่โดดเด่นคือ ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ เป็นยาอีกหนึ่งรายการที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย
- Tubocurarine: ไม่ค่อยพบเห็นการใช้ในทางคลินิกมากนัก ผลข้างเคียงที่พบได้แก่ มีความดันโลหิตต่ำ และทำให้หลอดลมเกร็งตัว
- Gallamine: ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่พบเห็นการจำหน่ายแล้ว
- Pipecuronium: อาการข้างเคียงเด่นได้แก่ การเกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ แต่ไม่ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ
รูปแบบยาแผนปัจจุบันในแทบทุกรายการยาที่ได้กล่าวมาจะเป็นยาฉีดซึ่งมีขนาดการใช้ที่แตกต่างกันออกไป วิสัญญีแพทย์จะเป็นผู้กำหนดระบุขนาดการใช้ได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยที่สุด อนึ่ง สามารถใช้ยากลุ่ม Acetylcholinesterase inhibitors, Neostigmine, Edrophonium กระตุ้นให้ร่างกายผู้ป่วยมีสภาพกลับคืนมาอย่างเป็นปกติหลังจากได้รับยาหย่อนกล้ามเนื้อ และปัจจุบันมีการพัฒนาและค้นพบว่า ยา Sugammadex สามารถช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นสภาพร่างกายได้รวดเร็วขึ้นหลังจากได้รับยา Rocuronium ทางคลินิกได้ระบุให้ Sugammadex เป็นยาทางเลือกแรกๆที่จะนำไปใช้กับผู้ป่วยที่ต้องการฟื้นสภาพจากยาหย่อนกล้ามเนื้อหลังเข้ารับการผ่าตัด
ยาหย่อนกล้ามเนื้อมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาหย่อนกล้ามเนื้อมีสรรพคุณดังนี้
- ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวระหว่างการผ่าตัด
- ช่วยให้การสอดท่อช่วยหายใจเข้าท่อลมทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น
ยาหย่อนกล้ามเนื้อมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาหย่อนกล้ามเนื้อจะออกฤทธิ์ยับยั้งคำสั่งจากกระแสประสาทที่ส่งไปยังกล้ามเนื้อ โดยตัวยาจะแย่งการจับตัวของสารสื่อประสาท ชื่อ Acetylcholine (สารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อ) กับตัวรับ (Receptor) ที่มีอยู่ตามอวัยวะของร่างกาย ส่งผลให้กล้ามเนื้อไม่สามารถทำงานได้เป็นเหตุให้เกิดการคลายตัว และทำให้เกิดฤทธิ์ตามสรรพคุณ
ยาหย่อนกล้ามเนื้อมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาหย่อนกล้ามเนื้อทุกตัวยามีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นรูปแบบยาฉีด
ยาหย่อนกล้ามเนื้อมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ด้วยยาในกลุ่มยาหย่อนกล้ามเนื้อนี้มีหลายรายการ ขนาดการใช้จึงขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ผู้รักษาว่าจะใช้ยารายการใดที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากที่สุด
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาหย่อนกล้ามเนื้อกลุ่มนี้ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาหย่อนกล้ามเนื้อ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ยาหย่อนกล้ามเนื้อมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาหย่อนกล้ามเนื้อสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ได้ดังนี้เช่น เกิดอาการผื่นคัน หรือบวมเป็นจ้ำๆ/เป็นจุดๆ หัวใจเต้นเร็วหรือไม่ก็เต้นช้า ความดันโล หิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ หน้าแดง เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานของหลอดเลือดที่มาหล่อเลี้ยงบริเวณหัวใจ ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ/ECG ผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หลอดลมเกร็งตัว อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น
อนึ่ง ยาในกลุ่มนี้บางรายการอาจกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสาร Histamine และเป็นเหตุให้เกิดความดันโลหิตต่ำตามมา และ
การได้รับยากลุ่มนี้เกินขนาดอาจทำให้เกิดภาวะหยุดการหายใจ ด้วยกะบังลมและกล้าม เนื้อช่วงซี่โครงเกิดอัมพาต
มีข้อควรระวังการใช้ยาหย่อนกล้ามเนื้ออย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาหย่อนกล้ามเนื้อดังนี้เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
- ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ที่ป่วยด้วยโรคปอดต่างๆ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยด้วยโรคท่อน้ำดี ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง ผู้ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ที่มีบาดแผลบริเวณกะโหลกศีรษะ ผู้ที่มีภาวะสมองบวม
- ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับเด็ก ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาหย่อนกล้ามเนื้อด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาหย่อนกล้ามเนื้อมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาหย่อนกล้ามเนื้อมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น
- การใช้ยาหย่อนกล้ามเนื้อร่วมกับยาบางตัวจะทำให้ฤทธิ์ของยาหย่อนกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้น การจะใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป ยากลุ่มดังกล่าวคือ Lithium, Procainamide, Quinidine, Polymyxin B, Spironolactone, และ Vanco mycin
- การใช้ยาหย่อนกล้ามเนื้อร่วมกับ Carbamazepine หรือ Phenytoin จะทำให้ฤทธิ์ของยาหย่อนกล้ามเนื้อลดลง หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษายาหย่อนกล้ามเนื้ออย่างไร
ควรเก็บยากลุ่มนี้ที่อุณหภูมิระหว่าง 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius) หรือเก็บตามคำแนะ นำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง แดด ความร้อน และความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง
ยาหย่อนกล้ามเนื้อมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาหย่อนกล้ามเนื้อที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Esmeron (เอสมีรอน) | NV Organon |
ZEMURON (ซีมูรอน) | Organon (Ireland) Ltd. |
Pancuronium Lisapharma (แพนคูโรเนียม ลิซาฟาร์มา) | Lisapharma |
Notrixum (โนทริซัม) | Novell Pharma |
Tracrium (ทราเครียม) | GlaxoSmithKline |
Nimbex (นิมเบกซ์) | GlaxoSmithKline |
บรรณานุกรม
- http://en.wikipedia.org/wiki/Neuromuscular-blocking_drug#Depolarizing_blocking_agents[2017,Oct7]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/194#item-9075[2017,Oct7]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Pancuronium%20Lisapharma/?type=brief[2017,Oct7]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Nimbex/?type=brief[2017,Oct7]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Notrixum/?type=brief[2017,Oct7]
- https://clinicaltrials.gov/ct2/show/NCT01672606[2017,Oct7]
Updated 2017,Oct7