ยาหยอดหูเบนโซเคน (Benzocaine ear drop)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 17 มิถุนายน 2559
- Tweet
- บทนำ
- ยาหยอดหูเบนโซเคนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาหยอดหูเบนโซเคนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาหยอดหูเบนโซเคนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาหยอดหูเบนโซเคนมีวิธีการใช้อย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมหยอดยาควรทำอย่างไร?
- ยาหยอดหูเบนโซเคนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาหยอดหูเบนโซเคนอย่างไร?
- ยาหยอดหูเบนโซเคนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาหยอดหูเบนโซเคนอย่างไร?
- ยาหยอดหูเบนโซเคนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ปวดหู (Earache)
- โรคหูคอจมูก โรคทางหูคอจมูก โรคระบบหูคอจมูก (ENT disease)
- หู: กายวิภาคหู (Ear anatomy) / สรีรวิทยาของหู (Ear physiology)
- แก้วหูทะลุ (Ruptured eardrum)
- ภาวะขี้หูอุดตัน (Impacted cerumen)
บทนำ
ยาหยอดหูเบนโซเคน (Benzocaine ear drop หรือ Benzo otic ear drop, หรือ Antipyrine- Benzocaine otic) เป็นสูตรตำรับยาที่ประกอบด้วยตัวยา 2 ชนิดคือ ยาแอนไทไพรีน (Antipyrine) ที่เป็นยาช่วยลดอาการปวดและยาเบนโซเคน (Benzocaine) ที่เป็นยาชาเฉพาะที่ ซึ่งตัวยาทั้ง 2 ชนิดจะช่วยบำบัดอาการปวดหูจากการอักเสบของหูชั้นกลาง สูตรตำรับยานี้ยังประกอบด้วยกลีเซอริน (Glyce rin) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยทำให้ขี้หูนิ่มและหลุดออกมาได้ง่ายและถือเป็นอีกหนึ่งสรรพคุณของยานี้ แต่สูตรตำรับยานี้ไม่มียาปฏิชีวนะผสมร่วมด้วยจึงไม่มีฤทธิ์บำบัดการอักเสบที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อโรคชนิดต่างๆ และถือเป็นเหตุผลห้ามมิให้ผู้บริโภคไปซื้อยานี้มาใช้ด้วยตนเอง
เงื่อนไขหรือข้อกำหนดที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบก่อนการใช้ยาหยอดหูเบนโซเคนคือ
- ต้องไม่มีประวัติแพ้ยา/แพ้ตัวยาหรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีแก้วหูทะลุ
- คณะกรรมการอาหารและยาของทุกประเทศรวมถึงประเทศไทยไม่รองรับการนำสูตรตำรับยานี้มาใช้รักษาการติดเชื้อในหูชั้นกลางเพราะตัวยานี้เพียงแต่ช่วยบรรเทาอาการปวดในหูเท่านั้น
- ห้ามนำยานี้มาหยอดตา สูตรตำรับยานี้ใช้หยอดเพียงในหูเท่านั้น
ยาหยอดหูเบนโซเคนอาจก่อให้เกิดอาการระคายในรูหูหรือรู้สึกแสบคันในรูหู หากผู้บริโภค/ผู้ป่วยรู้สึกระคายเคืองอย่างรุนแรง ควรหยุดใช้ยานี้แล้วรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
ยาหยอดหูเบนโซเคนสามารถใช้ได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กโดยต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น การใช้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรถือเป็นข้อควรระวังเช่นเดียวกับยาตัวอื่นๆ จึงต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมข้อดีข้อเสียโดยเฉพาะอันตรายจากยานี้ที่อาจส่งผลต่อทารก นอกจากนี้ผู้บริโภคต้องเรียนรู้วิธีการใช้ยาอย่างถูกต้องไม่ว่าจะเป็นขนาดการหยอดหูในแต่ละครั้งรวมถึงความ ถี่และระยะเวลาของการใช้ยา
ในประเทศไทยสามารถซื้อหายาหยอดหูเบนโซเคนได้จากร้านขายยาขนาดกลางขึ้นไป ซึ่งอาจพบเห็นการใช้ยานี้ตามสถานพยาบาลต่างๆ และหากต้องการข้อมูลของยาหยอดหูเบนโซเคนเพิ่มเติม ควรสอบถามได้จากแพทย์ผู้รักษาหรือจากเภสัชกรตามร้านขายยาโดยทั่วไป
ยาหยอดหูเบนโซเคนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาหยอดหูเบนโซเคนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- บำบัดอาการปวดจากการอักเสบของหูชั้นกลางแต่ไม่สามารถรักษาการติดเชื้อโรคต่างๆภายในหูได้
- ช่วยกำจัดขี้หูที่มีปริมาณมากเกินไป
ยาหยอดหูเบนโซเคนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาหยอดหูเบนโซเคนคือ ตัวยาเบนโซเคน (Benzocaine) เป็นยาชาเฉพาะที่ จะออกฤทธิ์ปิดกั้นกระแสประสาทในบริเวณที่ได้รับยานี้ ส่วนแอนไทไพรีน (Antipyrine) เป็นยาแก้ปวดจะช่วยลดอาการปวดและทำให้การอักเสบของหูดีขึ้น นอกจากนี้ในสูตรตำรับยังมีส่วนประกอบของกลีเซอริน (Glycerin) ซึ่งทำให้ขี้หูนิ่มและอ่อนตัวจนสามารถขจัดออกจากรูหูได้ง่ายยิ่งขึ้น ด้วยกลไกเหล่านี้จึงเป็นที่มาของสรรพคุณ
ยาหยอดหูเบนโซเคนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาหยอดหูเบนโซเคนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้
- ยาหยอดหูขนาดบรรจุ 14 มิลลิลิตรที่มีส่วนผสมดังนี้คือ Benzocaine 14 มิลลิกรัม + Antipyrine 54 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
ยาหยอดหูเบนโซเคนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาหยอดหูเบนโซเคนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น
ก. สำหรับบำบัดอาการปวดจากการอักเสบในหูชั้นกลาง:
- ผู้ใหญ่และเด็ก: หยอดยาเข้ารูหูข้างมีอาการตามปริมาณที่แพทย์แนะนำทุกๆ 1 - 2 ชั่วโมงจนกระทั่งอาการปวดหูดีขึ้น
ข. สำหรับขจัดขี้หู:
- ผู้ใหญ่และเด็ก: หยอดยาเข้ารูหูข้างมีอาการตามปริมาณที่แพทย์แนะนำวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 2 - 3 วัน หลังจากนั้นอาจให้แพทย์หรือตัวผู้ป่วยเองใช้น้ำอุ่นสะอาดหยอดหูพอประมาณเพื่อล้างชำระขี้หูออกมา
*อนึ่ง:
- ขณะหยอดยานี้ควรตะแคงใบหน้าอย่างเหมาะสมเพื่อให้ตัวยาค้างอยู่ในรูหูเป็นเวลานานอย่างน้อย 1 - 2 นาที
- การหยอดหูให้ใช้ยานี้เฉพาะในหูข้างที่มีอาการปวดเท่านั้น ไม่ต้องหยอดหูข้างที่เป็นปกติ
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาหยอดหูเบนโซเคน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาหยอดหูเบนโซเคนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมหยอดยาควรทำอย่างไร?
หากลืมใช้ยาหยอดหูเบนโซเคนสามารถหยอดยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดของการใช้ยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรหยอดยานี้ตรงเวลา
ยาหยอดหูเบนโซเคนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาหยอดหูเบนโซเคนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น มีอาการแสบ คัน หรือเกิดรอยแดง ในบริเวณที่ใช้ยานี้
มีข้อควรระวังการใช้ยาหยอดหูเบนโซเคนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาหยอดหูเบนโซเคนเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับเพิ่มขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามยานี้เข้าตา จมูก รวมถึงห้ามรับประทาน
- ห้ามใช้ยานี้รักษาแผลติดเชื้อในหู
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยาหยอดหูชนิดอื่นนอกจากมีคำสั่งแพทย์
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการแพ้ยานี้เช่น มีผื่นคัน ใบหน้าบวม หรือหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก แล้วรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ห้ามปลายหลอดหยอดยาสัมผัสกับใบหูทั้งนี้เป็นการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค
- กรณีใช้ยานี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ระหว่างใช้ยานี้แล้วมีอาการเสียสมดุลในการทรงตัวหรืออาการวิงเวียน/บ้านหมุน ควรต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะและงดการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรต่างๆเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาหยอดหูเบนโซเคนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาหยอดหูเบนโซเคนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
เนื่องจากยาหยอดหูเบนโซเคนเป็นยาใช้ภายนอกและใช้เฉพาะที่ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor. com บทความเรื่อง รูปแบบยาเตรียม) จึงยังไม่มีรายงานพบเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ
ควรเก็บรักษายาหยอดหูเบนโซเคนอย่างไร
ควรเก็บยาหยอดหูเบนโซเคนภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
ยาหยอดหูเบนโซเคนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาหยอดหูเบนโซเคนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Auralgan (อูราลแกน) | Wyeth |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Benzocaine [2016,May28]
- http://www.webmd.com/drugs/2/drug-1935/antipyrine-benzocaine-otic/details [2016,May28]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/auralgan [2016,May28]
- http://www.drugs.com/mtm/antipyrine-and-benzocaine-otic.html [2016,May28]
- http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/antipyrine-and-benzocaine-otic-route/proper-use/drg-20061442 [2016,May28]