ยาหยอดหู (Ear drops)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยาหยอดหู

ยาหยอดหูทางเภสัชกรรมหมายความว่าอย่างไร?

ยาหยอดหู (Ear drop) ความหมายทางเภสัชกรรมคือ เป็นยาที่ใช้เพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราในช่องหู, รักษาการอักเสบภายในหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง หู: กายวิภาคหูและสรีระวิทยาหู) และรวมทั้งรักษาการอุดตันของขี้หู

ทางเภสัชกรรมแบ่งยาหยอดหูเป็นประเภทใดบ้าง?

ทางเภสัชกรรมแบ่งยาหยอดหูเป็นประเภทต่างๆดังนี้เช่น

  1. ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย (Antibacterial drug) หรือยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) เช่น คลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenical), โพลีมิกซิน บี (Polymyxins B), นีโอมัยซิน (Neomycin), ไซโปรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin), โอฟล็อกซาซิน (Ofloxacin) เป็นต้น
  2. ยาต้านเชื้อรา (Antifungal drugs) เช่น โคไตรมาโซล (Clotrimazole), ทิงเจอร์เมอร์ไทโอเลต (Tincture merthiolate), เจนเชียนไวโอเล็ต (Gention violet) เป็นต้น
  3. สารละลายที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น กรดอะซีติก (2% Acetic acid solution), กรดบอริก (Boric acid) ที่จะมีคุณสมบัติมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและต้านเชื้อรา เนื่องจากเชื้อก่อโรคต่างๆ เหล่านี้ที่อยู่ในช่องหูมักเจิญเติบโตได้ดีในสภาวะที่เป็นด่าง
  4. ยาชาเฉพาะที่ (Otic anesthetics) เช่น ลิโดเคน (Lidocaine), เบนโซเคน (Benzo caine) ที่ใช้ช่วยลดอาการปวดหู
  5. ยาต้านอักเสบ (Corticosteroids) เช่น ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone), เด็กซาเมตาโซน (Dexamethasone), เพร็ดนิโซโลน (Prednisolone) เป็นต้น ที่ใช้ลดการอักเสบและลดบวม
  6. ยาละลายขี้หู (Ceruminolytic agent) เช่น ด็อกคูเสท โซเดียม (Docusate sodium), โซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium bicarbonate/NaHCO3), น้ำมันมะกอก ที่ใช้ในผู้ที่ขี้หูอุดตัน

ยาหยอดหูอยู่ในรูปแบบใดบ้าง?

ยาหยอดหูมีได้หลายรูปแบบเช่น

  1. ยาสารละลายชนิดหยอดหู (Otic Solutions) มีทั้งในรูปแบบยาเดี่ยวเช่น โอฟล็อกซาซิน (Ofloxacin) และยาที่ใช้ผสมกันเช่น โพลีมิกซิน บี (Polymyxin B), นีโอมัยซิน Neomycin, ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone)
  2. ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดหยอดหู (Otic Suspensions) เช่น ไซโปรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin) ผสมกับ เด็กซาเมตาโซน (Dexamethasone)

ยาหยอดหูมีข้อบ่งใช้อย่างไร?

ยาหยอดหูมีข้อบ่งใช้ยาดังนี้เช่น

  1. หูชั้นนอกอักเสบแบบเฉียบพลันจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา (Acute otitis externa, Swimmer’s ear)
  2. หูชั้นนอกอักเสบแบบเรื้อรัง (Chronic external otitis) อนึ่งอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง หูติดเชื้อ
  3. หูชั้นกลางอักเสบแบบเฉียบพลัน (Acute otitis media)
  4. หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง (Chronic otitis media)
  5. การติดเชื้อราของหู (Otomycosis)
  6. ขี้หูอุดตัน (Cerumen impaction)

มีข้อห้ามใช้ยาหยอดหูอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยาหยอดหูดังนี้เช่น

  1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยาหยอดหูนั้นๆหรือมีโครงสร้างหลักของยาอยู่ในกลุ่มยาเดียวกัน
  2. ห้ามใช้ยาละลายขี้หูในผู้ที่แก้วหูทะลุหรือที่มีอาการอักเสบของหู

มีข้อควรระวังในการใช้ยาหยอดหูอย่างไร?

มีข้อควรระวังในการใช้ยาหยอดหูดังนี้เช่น

  1. ไม่ควรใช้ยาที่ทำให้เกิดพิษ/มีผลข้างเคียงต่อหู (Ototoxicity) เช่น นีโอมัยซิน (Neomycin) ในคนไข้ที่แก้วหูทะลุ แต่ควรเลือกใช้ยาต้านแบคทีเรียชนิดที่ไม่มีพิษต่อหูแทนเช่น ไซโปรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin) หรือ โอฟล็อกซาซิน (Ofloxacin)
  2. ไม่ควรใช้ยาหยอดหูที่มีส่วนผสมของยาต้านอักเสบชนิดสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ในคนไข้ที่ติดเชื้อรา เชื้อวัณโรค หรืองูสวัด ในช่องหู
  3. ในคนไข้ที่แก้วหูทะลุ ควรระวังการใช้ยาที่มีคุณสมบัติเป็นกรดหรือมีแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้เกิดอาการปวดหรือระคายเคืองต่อหูได้ โดยอาจเปลี่ยนไปใช้ยาหยอดตาแทน (สามารถใช้ยาหยอดตาแทนยาหยอดหูได้ แต่ไม่สามารถใช้ยาหยอดหูแทนยาหยอดตาได้) เพื่อลดความระคายเคือง

การใช้ยาหยอดหูในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

ไม่มีข้อห้ามใช้ยาหยอดหูใดๆในหญิงตั้งครรภ์หรือในหญิงให้นมบุตร เพราะเป็นยาใช้เฉพาะที่ที่อยู่ในกลุ่มยาประเภทยาใช้ภายนอก

การใช้ยาหยอดหูในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาหยอดหูในผู้สูงอายุเป็นดังนี้คือ

  1. ไม่มีข้อห้ามใช้ยาหยอดหูใดๆในผู้สูงอายุ
  2. อาการขี้หูอุดตันพบได้มากผู้สูงอายุจนอาจรบกวนการได้ยิน สามารถใช้ยาหยอดละลายขี้หูได้เพราะยาจะทำให้ขี้หูอ่อนตัว โดยหยอดยาทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีหลังจากนั้น 3 - 5 วันควรไปพบแพทย์/แพทย์หูคอจมูก เพื่อล้างขี้หูที่เหลือออกได้อย่างถูกวิธี

การใช้ยาหยอดหูในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาหยอดหูในเด็กควรปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัวของเด็ก และควรมีคนช่วยหยอดยาให้เด็กเพื่อให้ยาเข้าไปในช่องหูได้ดี

มีผลข้างเคียงจากการใช้ยาหยอดหูอย่างไร?

มีผลข้างเคียงจากการใช้ยาหยอดหูดังนี้เช่น

  1. ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะ ในกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycoside) เช่น ยา Streptomycin, Kanamycin จะเป็นพิษต่อหู (Ototoxicity) อาจทำให้การได้ยินเสียงผิดปกติ หรือสูญเสียการได้ยินได้ แต่กรณีนี้พบได้น้อยมากจากการใช้ยาหยอดหู
  2. เกิดผื่นแพ้ที่ผิวหนัง (Contact dermatitis) ซึ่งพบได้บ่อยในการใช้ยานีโอมัยซิน (Neomycin)
  3. เกิดการติดเชื้อราแทรกซ้อนในช่องหูเนื่องจากใช้ยาต้านแบคทีเรียหยอดหูติดต่อกันเป็นเวลา นาน
  4. ระคายเคืองช่องหูชั้นนอกเมื่อใช้ยาละลายขี้หูติดต่อกันนานเกินไป

คำแนะนำวิธีใช้ยาหยอดหู

คำแนะนำวิธีใช้ยาหยอดหูมีดังนี้

  1. ควรทำความสะอาดหูก่อนหยอดยา โดยใช้ไม้พันสำลีเช็ดสิ่งสกปรกหรือหนองออกหรือใช้วิธีดูดออก (ทำโดยแพทย์เท่านั้น)
  2. นอนตะแคงให้หูข้างที่จะหยอดยาอยู่ด้านบน ดึงใบหูไปด้านหลังและดึงขึ้นข้างบน เพื่อให้ยาเข้าไปในช่องหูได้ดี
  3. หยอดยาเข้าไปในหูตามที่แพทย์กำหนด ระวังอย่าเอาหลอดหยดสอดเข้าไปในรูหู
  4. นอนตะแคงอยู่ในท่าเดิมประมาณ 3 - 5 นาที อาจเอาสำลีสะอาดใส่ไว้ในรูหูเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ยาไหลออกมา
  5. ถ้าหูชั้นนอกบวมมาก อาจใช้สำลีสอดเข้าไปในรูหูแล้วหยดยาผ่านสำลีแทน เพื่อให้ยาถูกดูดซึมเข้าช่องหูได้ดียิ่งขึ้น โดยเปลี่ยนสำลีทุกวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการและทำความสะอาดช่องหูทุกๆ 2 - 5 วันหรือตามแพทย์แนะนำจนกว่าหูชั้นนอกจะหายบวม
  6. ถ้าเป็นยาหยอดหูชนิดยาน้ำแขวนตะกอน ให้เขย่าขวดก่อนใช้ยา
  7. หากเก็บยาหยอดหูไว้ในตู้เย็น (ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็ง) ก่อนใช้ยาควรใช้มือกำขวดยาไว้สักครู่ เพื่อปรับอุณหภูมิของยาให้ใกล้เคียงกับอุณหภูมิร่างกาย เนื่องจากถ้าหยอดยาที่เย็นเกินไปในช่องหูอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนได้

บรรณานุกรม

1. ปารยะ อาศนะเสน.(2551). ยาหยอดหู. คลินิก. 11: 1013-1018
2. จรัล กังสนารักษ์. การใช้ยาหยอดหู. http://www.med.cmu.ac.th/etc/princefund/file/12.doc [2015,Jan17]
3. หู (ear) pharm.kku.ac.th/thaiv/pharmpractice/eent/lesson/ears/ear-doc.pdf [2015,Jan17]
4. Sander R.(2001). Otitis Externa: A practical guide to treatment and prevention. American family physician. 63: 927-936