ยาสแตติน (Statin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

วงการแพทย์ได้นำกลุ่มยาสแตติน (Statin หรือ HMG-CoA reductase inhibitor หรือ 3-hydroxy-3-methyl-glutaryl-coenzyme A reductase inhibitor หรือ HMGCR inhibitor ) มาใช้รักษาภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง โดยยาจะไปชะลอการสร้างคอเลสเตอรอลที่ตับ และเป็นที่ทราบกันดีว่าการมีไขมันในหลอดเลือดสูงอาจเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ กลุ่มยาสแตตินจึงเข้ามามีบทบาทโดยทำหน้าที่ป้องกันการเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตัน (โรคหลอดเลือดหัวใจ) และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆของหัวใจ

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) ยากลุ่มสแตตินได้ถูกวางจำหน่ายในตลาดยาหลายรายการ ตัวอย่างเช่น Atorvastatin, Fluvastatin, Pitavastatin, Pravastatin, Rosuvastatin, และ Simvastatin

ในทางคลีนิกพบว่า ประสิทธิภาพของยาแต่ละตัวในกลุ่มยาสแตตินนี้ ยังไม่มีสถิติที่ชี้วัดโดยตรงว่า ยาตัวไหนออกฤทธิ์ได้ดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด หรือมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด ทั้งนี้น่าจะเป็นที่การตอบสนองของยาในผู้ป่วยแต่ละรายมีความแตกต่างกันออกไป

สำหรับประเทศไทยโดยสำนักคณะกรรมการอาหารและยาได้บรรจุ Atorvastatin และ Simvastatin ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยใช้เป็นยารักษาภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ และใช้ในเชิงป้องกัน โรคหัวใจ:โรคหลอดเลือดหัวใจ และ อัมพาต: โรคหลอดเลือดสมอง

ยาสแตติน จัดอยู่ในหมวดยาอันตราย มีข้อห้ามใช้ร่วมกับยาตัวอื่นหลายรายการ มีระยะเวลาในการรับประทานที่เฉพาะเจาะจง รวมถึงข้อจำกัดในการใช้ยาสำหรับผู้ป่วยแต่ละคนแตกต่างกันออกไป ผู้ ป่วยต้องรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น ห้ามมิให้หาซื้อยามารับประทานเอง

ยาสแตตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาสแตติน

ยาสแตตินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง เช่น มีคอเลสเตอรอล และ/หรือ ไขมันคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี/แอลดีแอล (LDL) และ/หรือไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ในเลือดสูง
  • ใช้ร่วมรักษาอาการโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง อันมีสาเหตุจากไขมันในเลือดสูง
  • ช่วยเพิ่มระดับไขมันคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีหรือเอชดีแอล (HDL) ในเลือด

ยาสแตตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยากลุ่มสแตติน มีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะเข้าไปยับยั้งเอนไซม์ที่เรียกว่า HMG - CoA reductase (3-hydroxy-3-methyl-glutaryl-CoA reductase, เอนไซม์เกี่ยวข้องกับการสร้างคอเลส เตอรอล) ในตับ ทำให้เกิดการชะลอการสร้างคอเลสเตอรอล ด้วยกลไกดังกล่าวจึงทำให้ระดับไขมันในเลือดลดลง

ยาสแตตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาสแตตินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ด ขนาด 2, 10, 20, 40, 80 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูล ขนาด 20, 40 มิลลิกรัม/แคปซูล

ยาสแตตินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาสแตตินมีหลายตำรับยา ดังนั้นจะกล่าวถึงเฉพาะตัวยาที่ใช้บ่อยซึ่งมีขนาดรับประทาน เช่น

1. Simvastatin : เช่น

ก. สำหรับบำบัดรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 10 - 20 มิลลิกรัมวันละครั้งเวลาเย็น

ข. สำหรับลดไขมันในเลือด: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 10 - 40 มิลลิกรัมวันละครั้งเวลาเย็น

2. Atorvastatin: เช่น

ผู้ใหญ่: รับประทาน 10 - 80 มิลลิกรัมวันละครั้ง

3. Fluvastatin: เช่น

ผู้ใหญ่: รับประทาน 40 มิลลิกรัมวันละครั้ง

4. Pitavastatin: เช่น

ผู้ใหญ่: รับประทาน 1 - 2 มิลลิกรัมวันละครั้ง อาจเพิ่มขนาดรับประทานสูงสุดเป็น 4 มิลลิ กรัม/วัน

5. Pravastatin: เช่น

ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานที่ 10 มิลลิกรัมวันละครั้ง จากนั้นปรับเป็นขนาดเพื่อคงระดับการรักษา 10 - 40 มิลลิกรัม/วัน

6. Rosuvastatin: เช่น

ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานที่ 5 - 10 มิลลิกรัมวันละครั้ง หลังจากนั้น 2 - 4 สัปดาห์ อาจปรับขนาดรับประทานเป็นวันละ 20 มิลลิกรัม

อนึ่ง:

  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดยาสแตตินทุกชนิดในเด็ก จะขึ้นกับสาเหตุการเกิดไขมันในเลือดสูง และอายุของเด็ก ซึ่งการใช้ยาต้องโดยคำแนะนำจากแพทย์เท่านั้น
  • สามารถรับประทานยาสแตติน ก่อน หรือ พร้อมอาหารก็ได้
  • ควรต้องจำกัดอาหารที่มีไขมันสูงร่วมในการรักษาด้วยยานี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมระดับไขมันในเลือด

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาสแตติน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาสแตตินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาสแตติน สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการ รับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาสแตตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาสแตตินสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ปวดท้อง
  • ท้องอืด
  • ท้องผูก หรือ ท้องเสีย
  • ปวดหัว
  • ตับอักเสบ
  • กล้ามเนื้ออักเสบรุนแรง
  • อาหารไม่ย่อย
  • คลื่นไส้
  • ข้อบวม
  • มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
  • นอนไม่หลับ
  • ผื่นคัน
  • ระดับครีเอตีนฟอสโฟไคเนส (Creatine phosphokinase: CPK, เอนไซม์บอกการอักเสบของกล้ามเนื้อ)ในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ดีซ่าน
  • ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • เกล็ดเลือดต่ำ
  • เกิดภาวะเจ็บหน้าอก
  • ซึมเศร้า
  • ตับอ่อนอักเสบ
  • เกิดการติดเชื้อได้ง่ายในระบบทางเดินหายใจตอนบน/โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจตอนบน และ
  • ลมพิษ

มีข้อควรระวังการใช้ยาสแตตินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาสแตติน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ และโรคพิษสุราเรื้อรัง การใช้ยาต้องแพทย์เป็นผู้สั่งยาเท่านั้น
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • การใช้ยานี้ในเด็ก ต้องโดยแพทย์สั่งยาเท่านั้น
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) และผู้ ป่วยโรคไต
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีระดับครีเอตีนฟอสโฟไคเนส(CPK)ในเลือดสูง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาสแตตินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาสแตตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาสแตตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยา Simvastatin ร่วมกับยา Cyclosporin, Ketoconazole, Erythomycin เป็นข้อควรหลีกเลี่ยง ด้วยยาดังกล่าวอาจทำให้ระดับยา Simvastatin ในเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนอาจได้รับผลข้างเคียงสูงขึ้นของ ยาSimvastatin ติดตามมา
  • การใช้ยา Atorvastatin ร่วมกับยา Cyclosporin, Ketoconazole, Erythromycin เป็นข้อควรหลีกเลี่ยง ด้วยยาดังกล่าวอาจทำให้ระดับยา Atorvastatin ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น จนอาจได้รับผลข้างเคียงสูงขึ้นของยาAtorvastatinติดตามมา
  • การใช้ยา Fluvastatin ร่วมกับยา Rifampicin, Erythromycin สามารถทำให้ระดับยา Fluvastatin ในเลือดสูงขึ้น จนผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงสูงขึ้นจากยาFluvastatin หากต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานเป็นกรณีๆไป
  • การใช้ยา Pravastatin ร่วมกับยา Erythromycin เป็นข้อควรหลีกเลี่ยง ด้วยจะทำให้ระดับ ยา Pravastatin ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น จนอาจได้รับผลข้างเคียงจากยาPravastatin สูงขึ้น
  • การใช้ยา Rosuvastatin ร่วมกับยา Cyclosporin, Gemfibrozil สามารถทำให้ระดับยา Rosuvastatin ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น และก่อความเสี่ยงให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยา Rosuvastatin สูงขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษายาสแตตินอย่างไร?

สามารถเก็บยาสแตติน เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาสแตตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาชื่อการค้าของยาสแตติน และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Bestatin (เบสแตติน) Berlin Pharm
Eucor (ยูคอร์) Greater Pharma
Ezetrol (อีเซทรอล) MSD
Lochol (โลคอล) Siam Bheasach
Simvas (ซิมวาส) Masa Lab
Simvor (ซิมวอร์) Ranbaxy
Torio (โทริโอ) Unison
Vytorin (วายโทริน) MSD
Zimmex (ซิมเม็กซ์) Silom Medical
Zimva (ซิมวา) GPO
Zocor (โซคอร์) MSD
Atorsan (อทอร์แซน) Lek
Atorvastatin Sandoz (อทอร์วาสแตติน แซนดอซ) Sandoz
Chlovas (คลอวาส) Millimed
Lipitor (ลิปิเตอร์) Pfizer
Lescol/Lescol XL (เลสคอล/เลสคอล เอ็กซ์แอล) Novartis
Livalo (ลิวาโล) Kowa
Mevalotin Protect (เมวาโลติน โพรเท็ก) Daiichi Sankyo
Crestor (เครสเตอร์) AstraZeneca
Rosuvastatin GPO (โรซุวาสแตติน) Lek
Rosuvastatin Sandoz (โรซุวาสแตติน แซนดอซ) Sandoz

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Statin [2020,Oct18]
  2. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fBestatin%2f%3ftype%3dbrief [2020,Oct18]
  3. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=simvastatin [2020,Oct18]
  4. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fsimvastatin%3fmtype%3dgeneric [2020,Oct18]
  5. http://pharmacologycorner.com/animation-statins-rosurvastatin-simvastatin/ [2020,Oct18]
  6. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=ATORVASTATIN [2020,Oct18]
  7. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2ffluvastatin%3fmtype%3dgeneric [2020,Oct18]
  8. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fLivalo%2f%3ftype%3dfull#Indications [2020,Oct18]
  9. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fRosuvastatin%2520Sandoz%2f%3ftype%3dbrief [2020,Oct18]
  10. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fLipitor%2f%3ftype%3dbrief [2020,Oct18]
  11. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2flescol-lescol%2520xl%2f%3ftype%3dbrief [2020,Oct18]
  12. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fLivalo%2f%3ftype%3dbrief [2020,Oct18]
  13. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fCrestor%2f%3ftype%3dbrief [2020,Oct18]
  14. https://www.drugs.com/drug-interactions/simvastatin-index.html?filter=2#W [2020,Oct18]
  15. http://www.drugs.com/drug-interactions/atorvastatin-with-cyclosporine-276-0-763-0.html [2020,Oct18]
  16. https://www.drugs.com/drug-interactions/fluvastatin-with-robimycin-1127-0-1009-2676.html [2020,Oct18]
  17. https://www.drugs.com/drug-interactions/erythromycin-with-pravastatin-1009-0-1929-0.html [2020,Oct18]
  18. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a692030.html#storage-conditions [2020,Oct18]