ยาสลายลิ่มเลือด หรือยาละลายลิ่มเลือด (Fibrinolytic drugs or Thrombolytic drugs)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาสลายลิ่มเลือดคือยาอะไร?

ยาสลายลิ่มเลือด หรือ ยาละลายลิ่มเลือด (Fibrinolytic drugs หรือ Thrombolytic drugs) คือ ยาที่กระตุ้นการเปลี่ยนสาร Plasminogen (สารตั้งต้นของ Plasmin) ในเลือดให้เป็นสาร Plasmin ที่เป็นเอนไซม์ที่สามารถย่อย Fibrin (โปรตีนที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว) จึงส่งผลให้ลิ่มเลือดสลายหรือละลายได้

ทางเภสัชแบ่งยาสลายลิ่มเลือดเป็นประเภทใดบ้าง?

ยาสลายลิ่มเลือด

ทางเภสัชแบ่งยาสลายลิ่มเลือด/ ยาละลายลิ่มเลือด เป็นหลายประเภท/ชนิดดังนี้

1. Tissue plasminogen activators (t-PA) เป็นเอนไซม์ธรรมชาติคล้ายกับเอนไซม์ของมนุษย์ ยานี้มีความจำเพาะต่อตำแหน่งที่เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ดี จึงมีความเสี่ยงน้อยต่อภาวะ เลือดไหลไม่หยุด แต่มีราคาแพงเช่น ยา แอลทีเพลส (Alteplase), รีเทเพลส (Reteplase), ทีเนคทีเพลส (Tenecteplase)

2. สเตรปโตไคเนส (Streptokinase) เป็นโปรตีนที่ถูกสกัดมาจากแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส (Streptococcus) เช่น ยา Streptokinase

3. ยูโรไคเนส (Urokinase) เป็นเอนไซม์ที่สังเคราะห์มาจากไตของมนุษย์เช่น ยา Urokinase

4. อะนิสทรีเพลส (Anistreplase) เป็นสารประกอบเชิงซ้อนของ Plasminogen และยาสเตรปโตไคเนสเช่น ยา Eminase

ยาสลายลิ่มเลือดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาสลายลิ่มเลือด/ ยาละลายลิ่มเลือด มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น:

  • ยาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ

มีข้อบ่งใช้ยาสลายลิ่มเลือดอย่างไร?

มีข้อบ่งใช้ยาสลายลิ่มเลือด/ยาละลายลิ่มเลือด ดังนี้เช่น

1. ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือดเป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที และไม่เกิน 12 ชั่วโมง (ถ้าเกิน 12 ชั่วโมงจะได้ประโยชน์จากยานี้น้อยลง)

2. ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute myocardial infarction) โดยดูจากผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram, ECG) ที่ระบุมีหลอดเลือดแดงหัวใจอุดตัน

3. ผู้ป่วยสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด(Pulmonary embolism)

4. ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Deep vein venous thrombosis)

5. หลอดเลือดสมองอุดตันจากลิ่มเลือด (Ischemic stroke) โดยต้องให้ยาสลายลิ่มเลือดภายใน 3 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ

มีข้อห้ามใช้ยาสลายลิ่มเลือดอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยาสลายลิ่มเลือด/ยาละลายลิ่มเลือด ดังนี้เช่น

1. ผู้ป่วยที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมองที่ไม่ทราบเวลาที่เริ่มเป็นอย่างชัดเจน หรือมีอาการหลังจากตื่นนอน (มักมีสาเหตุจากหลอดเลือดสมองตีบ)

2. ผู้ป่วยมีประวัติโรคหลอดเลือดสมองหรือได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะภายใน 3 เดือน

3. ผู้ป่วยมีประวัติผ่าตัดใหญ่ภายใน 14 วัน, ผ่าตัดเล็กภายใน 10 วัน หรือหลังคลอดบุตรไม่เกิน 7 วัน เพราะจะส่งผลให้มีเลือดออกจากแผลจากผ่าตัดหรือแผลจากคลอดบุตร

4. ผู้ป่วยมีเลือดออกในทางเดินอาหาร หรือในทางเดินปัสสาวะภายใน 21 วัน

5. มีความดันโลหิตสูงมากกว่า 180/110 มิลลิเมตรปรอท

6. มีประวัติมีเลือดออกง่ายผิดปกติ หรือได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดเช่น วอร์ฟาริน (Warfarin)

7. มีอาการชัก

8. มีเกล็ดเลือดต่ำ ต่ำกว่า 100,000/ลูกบาศก์มิลลิลิตร

9. ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 50 หรือมากกว่า 400 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

มีข้อควรระวังการใช้ยาสลายลิ่มเลือดอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาสลายลิ่มเลือด/ยาละลายลิ่มเลือด ดังนี้เช่น

1. ควรพิจารณาถึงความเสี่ยงและประโยชน์ที่จะได้รับจากยาในคนไข้ที่มีภาวะเลือด ออกหรือเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกมากผิดปกติ

2. ถ้าคนไข้เคยได้รับยาสเตรปโตไคเนสมาก่อน ห้ามใช้ยาซ้ำอีก เพราะยาถูกสกัดมาจาก เชื้อแบคทีเรีย จึงทำให้ร่างกายสามารถสร้างแอนตี้บอดี้/สารภูมิต้านทาน (Antibody) จึงส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาสลายลิ่มเลือดลดลงและเกิดการแพ้ยาได้ ดังนั้นควรเปลี่ยนไปใช้ยาสลายลิ่ม เลือดชนิดอื่นแทน

3. หากคนไข้เกิดภาวะเลือดออกอย่างรุนแรงหลังจากได้รับยาสลายลิ่มเลือดควรรักษาโดยการให้เลือดทดแทน

4. หากผู้ป่วยกำลังใช้ยาลดความดันโลหิต ควรพิจารณาหยุดยาลดความดันโลหิตนั้นชั่ว คราว และพิจารณาให้ยาเพิ่มความดันโลหิตในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตต่ำ

5. ควรติดตามอาการของคนไข้หลังจากได้รับยาสลายลิ่มเลือด โดยสังเกตจากอาการเจ็บหน้าอก อาการเหนื่อย สัญญาณชีพ อาจรวมถึงการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี

6. ระวังการใช้ยาสลายลิ่มเลือดร่วมกับยาต้านเลือดแข็งตัว (Anticoagulants) หรือยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet drugs) เพราะเพิ่มโอกาสการเกิดเลือดไหลไม่หยุด (Bleeding) ได้

7. ระวังการใช้ยาสลายลิ่มเลือดร่วมกับการบริโภคอาหารเสริมและสมุนไพรบางชนิดเช่น วิตามินอี (Vitamin E), น้ำมันปลา (Fish oil) และแปะก๊วย (Ginko biloba) เพราะเพิ่มโอกาสการเกิดเลือดไหลไม่หยุด (Bleeding) ได้

8. ห้ามใช้ยาหมดอายุ

9. ห้ามเก็บยาที่หมดอายุ

การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาสลายลิ่มเลือด/ยาละลายลิ่มเลือด ในหญิงตั้งครรภ์ต้องพิจารณาระหว่างประโยชน์ที่ได้รับและผลเสีย ที่อาจเกิดขึ้น ปัจจุบันการใช้ยา Tissue plasminogen activators (t-PA) ในหญิงตั้งครรภ์ไม่ถือเป็นข้อห้ามเด็ดขาด (Absolute contraindication) เพราะยานี้ไม่เป็นอันตรายต่อทารก เนื่องจากโมเลกุลของยามีขนาดใหญ่จึงไม่สามารถผ่านรกได้ ในทางกลับกัน สเตรปโตไคเนสห้ามใช้ในหญิงที่ตั้งครรภ์ใน 18 สัปดาห์แรก

ส่วนการให้ยากลุ่มนี้ในหญิงให้นมบุตร แพทย์จะพิจารณาเป็นกรณีไปว่ายาชนิดนั้นๆผ่านทางน้ำนมได้หรือไม่

การใช้ยาในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

ร่างกายของผู้สูงอายุเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ จึงมีผลต่อการตอบสนองต่อฤทธิ์ยา กลุ่มยาสลายลิ่มเลือด/ยาละลายลิ่มเลือด นอกจากนี้อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ได้มากกว่าวัยอื่นๆเช่น เลือดออกในกะโหลกศีรษะ (Intracranial hemorrhage) ซึ่งพบได้น้อย แต่มีอาการรุนแรง ดังนั้นการใช้ยาสลายลิ่มเลือดในผู้สูงอายุแต่ละคนอาจมีความแตกต่างกันไป จึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

การใช้ยาในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาสลายลิ่มเลือด/ยาละลายลิ่มเลือด เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในเด็กที่มีลิ่มเลือดอุดตัน ส่วนใหญ่ในเด็กจะใช้ยาฉีดผ่านทางสายสวน (Catheter) เข้าไปยังหลอดเลือดที่ผิดปกติ โดยเลือกใช้ยาสลายลิ่มเลือดในกลุ่ม Tissue plasminogen activators (t-PA) เป็นลำดับแรก แต่ไม่นิยมใช้สเตรปโตไคเนสในเด็ก

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาสลายลิ่มเลือดเป็นอย่างไร?

อันตรายหรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาสลายลิ่มเลือด/ยาละลายลิ่มเลือด มีดังนี้เช่น

1. มีเลือดออกมากผิดปกติ ซึ่งเกิดได้ในหลายอวัยวะเช่น อุจจาระมีเลือดปนหรือสีดำคล้ำ(เลือดออกในทางเดินอาหาร), เลือกออกตามไรฟัน, เลือดออกที่ตาขาว/เลือดออกใต้เยื่อตา, มีรอยจ้ำเลือดใต้ผิวหนัง, ประจำเดือนมากผิดปกติ, เลือดกำเดาไหลมากและนานกว่าปกติ, เลือดออกมากผิดปกติในช่องปาก เป็นต้น

2. ภาวะบีบรัดหัวใจ (Cardiac tamponade) จากมีเลือดออกในโพรงเยื่อหุ้มหัวใจ ซึ่งจะ มีอาการแสดงคือ ความดันโลหิตต่ำลงและหลอดเลือดที่คอโป่งพอง เป็นต้น ซึ่งภาวะนี้จัดเป็นภาวะ ฉุกเฉินทางโรคหัวใจที่อาจทำให้ผู้ป่วยช็อกและตายได้อย่างรวดเร็ว

สรุปข้อแนะนำ

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวม ยาสลายลิ่มเลือด/ยาละลายลิ่มเลือด ) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวม ทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน: https://archive.lib.cmu.ac.th/full/T/2553/nuger0253kc_ch2.pdf [2021,April17]
  2. Albisetti M. (2005).Thrombolytic therapy in children. Thrombosis Research 118, 95—105.
  3. Demchuk, A.M. American Heart Association. Yes, Intravenous Thrombolysis should be administered in pregnancy when other clinical and imaging factors are favorable: https://www.ahajournals.org/doi/full/10.1161/strokeaha.111.000134 [2021,April17]
  4. Ridker, P. M. and Hennekens, C. H. American Heart Association. Age and Thrombolytic therapy. https://www.ahajournals.org/doi/full/10.1161/01.CIR.94.8.1807 [2021,April17]
  5. MIMS Thailand. 124 th ed. Bangkok : UBM Medica, 2011.
  6. Lacy C.F., et al. Drug information handbook with international trade names index. 19th ed. Ohio : Lexi-comp, 2011.