ยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์ (Carbamide peroxide otic solution)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 28 พฤศจิกายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- ยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมใช้ยาหยอดหูควรทำอย่างไร?
- ยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์อย่างไร?
- ยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์อย่างไร?
- ยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ภาวะขี้หูอุดตัน (Impacted cerumen)
- แก้วหูทะลุ (Ruptured eardrum)
- ยาหยอดหู (Ear drops)
- ยาละลายขี้หู (Cerumenolytics)
- หูอื้อ (Tinnitus)
บทนำ
คาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์ (Carbamide peroxide) เป็นสารที่มีองค์ประกอบของสารยูเรีย(Urea) และไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์(Hydrogen peroxide) โดยมีลักษณะเป็นของแข็ง ยาคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์ยังมีชื่อเรียกอื่นอีก เช่น Hydrogen peroxide-urea หรือ Hyperol หรือ Artizone สารประกอบชนิดนี้มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคได้ในระดับหนึ่ง และยังสามารถเป็นสารฟอกขาวอีกด้วย ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว สาร/ยาคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์ จึงถูกนำไปผลิตเป็นเภสัชภัณฑ์สำหรับฟอกสีของฟันในคลินิกทันตกรรม รวมถึงผลิตเป็น ยาล้างแผล น้ำยาบ้วนปาก น้ำยาทำความสะอาดเลนส์สัมผัส และน้ำยาล้างหู/ยาหยอดหู ที่เรียกว่า ยาหยอดหู/ยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์ (Carbamide peroxide otic solution)
สำหรับน้ำยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์เป็นเภสัชภัณฑ์ที่มีลักษณะของสารละลายที่มีความเข้มข้น 6.5% การหยอดยาเพียง 5–10 หยด ลงในหูที่มีการอุดตันของขี้หู(ขี้หูอุดตัน)วันละ 2 ครั้ง ก็สามารถทำให้ขี้หูซึ่งมีลักษณะเหมือนขี้ผึ้ง อ่อนตัวและถูกกำจัดออกมาได้ง่ายขึ้น
ยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์เป็นผลิตภัณฑ์ใช้ภายนอกก็จริง แต่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยก็ควรเรียนรู้ข้อระวังและข้อควรปฏิบัติบางประการดังนี้ เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์นี้เมื่อตนเองมีประวัติแพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์
- ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์นี้ขณะที่มีอาการวิงเวียนศีรษะ หรือเพิ่งได้รับการผ่าตัดช่องหูมาใหม่ๆ
- กรณีมีปัญหาเกิดขึ้นในช่องหู เช่น มีหนองไหลออกมา ปวดในรูหู แก้วหูทะลุ ตลอดจนมีอาการคันในช่องหู ผู้ป่วยต้องปรึกษาแพทย์เท่านั้นว่า สมควรรักษาอย่างไรและไม่แนะนำให้ใช้ยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์ในทันที
- ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์นี้นานเกินกว่าคำสั่งแพทย์
- ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์นี้หยอดตา กลืนเข้าปาก ล้างแผลสด ด้วยจะก่อให้เกิด อันตรายและไม่ตรงกับวัตถุประสงค์การใช้งาน
- การใช้ผลิตภัณฑ์กับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีลงมา ควรเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
- สำหรับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาหลายประเภทรวมถึงยาล้างหูที่รวมถึงยาคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์ด้วย ดังนั้นก่อนใช้ยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
- เรียนรู้วิธีการใช้งานผลิตภัณฑ์นี้อย่างถูกต้องก่อนนำมาใช้งานเสมอ
- กรณีหยอดหูด้วยยานี้แล้วมีอาการผื่นคันหรือเกิดผื่นแดง ผิวลอก มีไข้ แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี๊ด ใบหน้า-ปาก-คอ-ลิ้นมีอาการบวม ผู้ป่วยต้อง หยุดใช้ยาหยอดหูชนิดนี้ทันที และรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- การใช้ผลิตภัณฑ์นี้อาจรู้สึกระคายเคืองในช่องหูได้บ้าง ผู้บริโภคไม่ต้องเป็น กังวลจนเกินไป อาการดังกล่าวจะหายไปเองเมื่อหยุดใช้ยานี้
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์หยอดหูชนิดอื่นร่วมกับยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
- หลังการใช้ผลิตภัณฑ์นี้เพื่อกำจัดขี้หูตามคำสั่งแพทย์ทุกประการ แล้วยังพบว่า มีขี้หูมากเหมือนเดิม ควรต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาหาหนทางกำจัดขี้หูเสียใหม่
การใช้ยากำจัดขี้หูชนิดใดๆก็ตามที่รวมถึงยาคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์ เป็นเรื่องปลายเหตุ การป้องกันที่ต้นเหตุเป็นเรื่องที่น่าให้ความสนใจมากกว่า ผู้บริโภคสามารถสอบถามวิธีป้องกันขี้หูอุดตันได้จากแพทย์ผู้ทำการรักษา หรือหาความรู้เพิ่มเติมจากบทความ “ภาวะขี้หูอุดตัน (Impacted cerumen)” โดยแพทย์หญิงอุศนา พรหมโยธิน ในเว็บไซด์หาหมอ.com
ยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ
- ใช้บำบัดภาวะขี้หูอุดตัน (Impacted cerumen) ช่วยทำให้ขี้หูนิ่มจนสามารถกำจัดออกได้ง่าย
ยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์ มีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะปลดปล่อยแก๊สออกซิเจน และทำให้เกิดลักษณะเป็นฟองฟู่ กลไกนี้จะทำให้ขี้หูอ่อนนุ่ม ลดแรงยึดติดกับผิวภายในรูหู ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้เกิดข้อบ่งใช้ได้ตามสรรพคุณ
ยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาที่มีลักษณะเป็นสารละลายและมีส่วนประกอบของ Carbamide Peroxide 6.5%
ยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์ มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12–18 ปี: หยอดยา 5–10 หยด ในช่องหูข้างที่มีขี้หูอุดตัน วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ติดต่อกัน 4 วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีลงมา: หยอดยา 1–5 หยด ในช่องหูข้างที่มีขี้หูอุดตัน วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ติดต่อกัน 4 วัน แต่ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
อนึ่ง: ขั้นตอนปฏิบัติการใช้ยาหยอดหูทั่วไปเป็นดังนี้
1. ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังใช้ผลิตภัณฑ์ยา
2. นอนตะแคงโดยหันหูด้านที่มีการอุดตันของขี้หูขึ้นด้านบน
3. ดึงใบหูให้ผายออกไปด้านหลังเล็กน้อย ออกแรงดึงเพียงเบาๆ ไม่จำเป็นต้องใช้แรงดึงมากจนเกิดอาการเจ็บ
4. หยอดยาตามขนาดที่แพทย์แนะนำ รอทิ้งไว้ประมาณ 2 นาทีเพื่อให้ยามีการซึมเข้าในขี้หูได้มากที่สุด จากนั้นใช้สำลีอุดรูหูหลังหยอดยา ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีจึงนำสำลีออก
5. ใช้น้ำอุ่นล้างช่องหู เพื่อกำจัดขี้หูให้ไหลออกมาได้สะดวกขึ้น นำลูกยางนิ่มสำหรับดูดน้ำและขี้หูออกมาอย่างระมัดระวัง ห้ามใช้กระบอกฉีดยาที่มีลักษณะแข็งทิ่มหรือแหย่เข้ารูหู ด้วยอาจเกิดการกระแทกและทำให้เกิดบาดแผลภายในช่องหู
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยา ทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาล้างหูคาร์บาไมด์เปอร์ออกไซด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมใช้ยาหยอดหูควรทำอย่างไร?
กรณีลืมหยอดยาคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์ สามารถหยอดยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยาเป็น 2 เท่า ให้หยอดยาที่ขนาดปกติ
ยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
โดยทั่วไป ยาละลายขี้หู/ ยาล้างหู/ ยาหยอดหู ที่รวมถึงยาคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์ จะก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ได้น้อยมาก ด้วยการใช้ยานี้ในปริมาณต่ำตามแพทย์/เภสัชกรแนะนำ ผู้บริโภคบางรายอาจพบอาการระคายเคือง แสบ คัน รวมถึงอาจพบอาการหูอื้อได้บ้าง
มีข้อควรระวังการใช้ยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีอาการแพ้ยานี้
- ห้ามรับประทาน หรือให้ยานี้เข้าตา
- ห้ามใช้ยาคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์ด้วยตนเอง หากมีอาการต่างๆเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น แก้วหูทะลุ เกิดการติดเชื้อในช่องหู/หูอักเสบ เกิดบาดแผลในรูหู หรือเพิ่งได้รับการผ่าตัดภายในหูมาใหม่ๆ
- ก่อนการใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร ควรต้องปรึกษาและได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
- หากพบอาการแพ้ยาหลังใช้ยานี้ เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ผื่นขึ้นเต็มตัว ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ความถี่และระยะเวลาในการใช้ยานี้ ให้ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ด้วยยาละลายขี้หู /ยาล้างหู/ ยาหยอดหู ที่รวมถึงยาคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์ เป็นยาใช้ภายนอกเฉพาะที่ จึงยังไม่มีรายงานที่พบพบปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ
ควรเก็บรักษายาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์อย่างไร?
เก็บยาคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์ ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาล้างหูคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Auro (ออโร) | Del |
Debrox (เดบรอกซ์) | GkaxoSmithKline |
E.R.O. (อี.อาร์.โอ.) | Scherer |
Mollifene (มอลลิเฟน) | Pfeiffer |
Murine (มิวรีน) | Prestige |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Hydrogen_peroxide_-_urea [2017,Nov11]
- https://www.drugs.com/cdi/carbamide-peroxide-otic-solution.html [2017,Nov11]
- https://www.drugs.com/monograph/carbamide-peroxide.html [2017,Nov11]
- https://www.drugs.com/sfx/carbamide-peroxide-otic-side-effects.html [2017,Nov11]
- https://www.medicinenet.com/carbamide_peroxide-otic/article.html [2017,Nov11]
- file:///C:/Users/apai/Downloads/20120712_755d3234-2df4-4464-a2c5-b04276065fc5%20(1).pdf [2017,Nov11]