ยาละลายนิ่วในทางเดินปัสสาวะ (Chemolysis of urinary calculi)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 17 พฤศจิกายน 2561
- Tweet
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กายวิภาคและสรีรวิทยาของระบบทางเดินปัสสาวะ (Anatomy and physiology of Urinary tract)
- นิ่วในไต (Kidney stone)
- นิ่วในท่อไต (Ureteric stone)
- นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (Vesical calculi)
- ยาขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ (Drugs help passing urinary tract stones)
- ยาละลายนิ่วคือยาอะไร?
- ยาละลายนิ่วแบ่งออกเป็นกี่กลุ่ม?
- ยาละลายนิ่วมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาละลายนิ่วมีข้อบ่งใช้อย่างไร?
- มีข้อห้ามใช้ยาละลายนิ่วอย่างไร?
- มีข้อควรระวังในการใช้ยาละลายนิ่วอย่างไร?
- การใช้ยาละลายนิ่วในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาละลายนิ่วในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาละลายนิ่วในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาละลายนิ่วเป็นอย่างไร?
- สรุป
- บรรณานุกรม
ยาละลายนิ่วคือยาอะไร?
ยาละลายนิ่ว(Chemolysis) ในบทความนี้หมายถึง ยาที่ช่วยให้ผลึกของก้อนนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะละลายได้(Chemolysis of urinary calculi)
- ยากลุ่มนี้อยู่ในรูปแบบรับประทาน ออกฤทธิ์โดยการปรับ pH ของปัสสาวะให้เปลี่ยนจากกรดเป็นด่าง หรือ
- เป็นยาที่ใช้ไหลผ่านก้อนนิ่วโดยตรงผ่านทางท่อระบาย(Nephrostomy tube)จากไตออกมาทางผิวหนัง
ยาละลายนิ่ว สามารถใช้เป็นทางเลือกแรก หรือใช้เสริมการรักษาเพื่อละลายก้อนนิ่วที่ตกค้าง หลังจากที่ผู้ป่วยเข้ารับ
- การผ่าตัด หรือ
- การสลายนิ่วโดยใช้คลื่นกระแทก (Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy ย่อว่า ESWL) หรือ
- การสอดกล้องเข้าทางท่อปัสสาวะเพื่อสลายนิ่ว (Ureterorenoscopy ย่อว่า URS) หรือ
- ใช้ละลายนิ่วในผู้ที่ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้
ยาละลายนิ่วแบ่งออกเป็นกี่กลุ่ม?
ยาละลายนิ่ว แบ่งออกเป็นกลุ่มได้ดังนี้
1. ยารับประทาน ที่ออกฤทธิ์เพิ่มความเป็นด่างในปัสสาวะ (Oral alkalinising agent) เช่นยา โซเดียมไบคาร์บอเนต หรือเบคกิ้งโซดา หรือโซดามิ้นท์ (Sodium bicarbonate, Baking soda, Sodamint), โพแทสเซียมซิเตรท (Potassium citrate)
2. ยาที่ใช้ไหลผ่านก่อนนิ่วโดยตรง (Percutaneous instillation) เช่นยา โทรเมทามีน (Tromethamine), อะเซทิลซิสเทอิน (Acetylcysteine)
ยาละลายนิ่วมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาละลายนิ่วมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ด (Tablet)
- ยาเม็ดรับประทานแบบออกฤทธิ์เนิ่น (Extended-release tablet)
- ยาแคปซูล (Capsule)
- ยาผง (Powder)
- ยาน้ำใส (Solution)
อนึ่ง แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”
ยาละลายนิ่วมีข้อบ่งใช้อย่างไร?
ข้อบ่งใช้ยาละลายนิ่ว ได้แก่
1. ยาที่ออกฤทธิ์เพิ่มความเป็นด่างในปัสสาวะ ใช้ปรับ pH ของปัสสาวะให้มีความเป็นด่างมากขึ้น (ลดความเป็นกรดของปัสสาวะ) จึงทำให้ก้อนนิ่วบางชนิด เช่น นิ่วที่มีกรดยูริคเป็นส่วนประกอบ (Uric acid stone) และนิ่วซีสทีน (Cystine stone) ละลายได้
2. ยาที่ไหลผ่านก้อนนิ่วโดยตรง ส่งผลให้ก้อนนิ่วบางชนิด เช่น นิ่วซิสทีนสามารถละลายได้ วิธีนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในผู้ป่วยที่มีข้อห้ามใช้กลุ่มยารับประทานที่ออกฤทธิ์เพิ่มความเป็นด่างในปัสสาวะ
มีข้อห้ามใช้ยาละลายนิ่วอย่างไร?
ข้อห้ามใช้ยาละลายนิ่ว เช่น
1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง(Hypersensitivity)ต่อยานั้นๆ
2. ห้ามใช้ยา Potassium citrate ในผู้ที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง รวมถึงมีโรคหรือภาวะอื่นๆ ที่อาจทำให้ร่างกายมีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง เช่น
- ไตวายเรื้อรัง
- เบาหวานที่คุมอาการไม่ได้
- ภาวะขาดน้ำเฉียบพลัน
- ต่อมหมวกไตทำงานบกพร่อง
- มีการสลายของเนื้อเยื่อจำนวนมาก เช่น ภาวะมีไข้
- โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
3. ห้ามใช้ยา Potassium citrate ในผู้ที่มีภาวะผิดปกติของทางเดินอาหาร เช่น
- ลำไส้อุดตัน เพราะจะทำให้เม็ดยาเคลื่อนผ่านไปไม่ได้ หรือ
- เป็นแผลในกระเพาะอาหาร เพราะอาจทำให้ระคายเคืองทางเดินอาหาร และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดแผลมากยิ่งขึ้น
4. ห้ามใช้ยา Tromethamine ในผู้ที่ร่างกายปัสสาวะได้น้อยหรือปัสสาวะไม่ออกเลย (Anuria) และภาวะยูรีเมีย(Uremia)
มีข้อควรระวังในการใช้ยาละลายนิ่วอย่างไร?
มีข้อควรระวังในการใช้ยาละลายนิ่วดังนี้ เช่น
1.ควรระวังการใช้ยา Sodium bicarbonate ในผู้ที่มี
- ภาวะเลือดเป็นด่าง (Alkalosis)
- ระดับโซเดียมในเลือดสูง
- ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
- ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ
- ความดันโลหิตสูง
- ขาหรือเท้าบวม
- โรคตับ
- โรคไต
- โรคหัวใจ
- ไส้ติ่งอักเสบ
- เลือดออกในทางเดินอาหาร ถ่ายเป็นเลือด
- มีความผิดปกติในการปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะขัด
2. ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยา Sodium bicarbonate ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่นยา Phenobarbital, Salicylate เพราะอาจทำให้ระดับยา Sodium bicarbonate ในเลือดลดลง
3. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา Potassium citrate ร่วมกับยาขับปัสสาวะกลุ่ม Potassium-sparing diuretics เช่นยา Spironolactone, Triamterine เพราะอาจทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงขึ้นอย่างรุนแรง
4. ควรระวังการใช้ยา Tromethamine ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในการปัสสาวะ เพราะยาจะถูกขับออกจากร่างกายได้น้อย มีระดับยาเหลืออยู่ในเลือดสูง อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา Tromethamine ได้รุนแรงขึ้น
การใช้ยาละลายนิ่วในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาละลายนิ่วในหญิงตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น
- หญิงมีครรภ์สามารถใช้ยากลุ่ม Oral alkalinising agent เพื่อช่วยละลายนิ่วได้ แต่ควรใช้เมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าประโยชน์ที่อาจได้รับคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์
การใช้ยาละลายนิ่วในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาละลายนิ่วในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น
- ผู้ป่วยสูงอายุสามารถใช้ยาละลายนิ่วได้เช่นเดียวกันกับวัยอื่นๆ แต่เนื่องจากเป็นวัยที่มีโรคร่วม/โรคประจำตัวอยู่แล้วหลายชนิด ดังนั้นควรระมัดระวังเพิ่มเติมหากมีโรคร่วมที่เป็นข้อห้ามใช้ของยาละลายนิ่ว เพราะอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง
การใช้ยาละลายนิ่วในเด็กควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาละลายนิ่วในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น
- ผู้ป่วยเด็กสามารถใช้ยา Sodium bicarbonate และ Potassium citrate เพื่อเพิ่มความเป็นด่างในปัสสาวะได้เช่นเดียวกันกับผู้ป่วยในวัยอื่นๆ แต่ต้องปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาละลายนิ่วเป็นอย่างไร?
อาการไม่พึงประสงค์จากยา จากการใช้ยาละลายนิ่วเป็นดังนี้ เช่น
1. Sodium bicarbonate: ทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นด่าง ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ ระดับโซเดียมในเลือดสูง ทำให้ร่างกายบวมน้ำ ซึ่งอาจส่งผลให้อาการปอดบวม หรือภาวะหัวใจล้มเหลว แย่ลง
2. Potassium citrate: ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ระคายเคืองทางเดินอาหาร ไม่สบายท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย
3. Tromethamine: ทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นด่าง น้ำตาลในเลือดต่ำ ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง หลอดเลือดดำอักเสบ เนื้อตายเพราะยารั่วซึมออกนอกหลอดเลือด ระคายเคืองเนื้อเยื่อ ปอดบวม กดการหายใจจนอาจหยุดหายใจ
4. Acetylcysteine: ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้อาเจียน ผื่นคันบริเวณผิวหนัง บวมน้ำ หลอดลมหดตัว และมีอาการที่พบได้น้อย ได้แก่ ความดันโลหิตต่ำ
สรุป
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาละลายนิ่ว) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
- European Association of Urology. EAU Guidelines on Urolithiasis https://uroweb.org/wp-content/uploads/EAU-Guidelines-Urolithiasis-2016-1.pdf [2018,Oct27]
- Fathallah-Shaykh, S., and Langman, C.B. Pediatric Urolithiasis Medicationhttps://emedicine.medscape.com/article/983884-medication#2 [2018,Oct27]
- Mayo Foundation for Medical Education and Research. Potassium Citrate (Oral Route). https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/potassium-citrate-oral-route/precautions/drg-20074773 [2018,Oct27]
- Mayo Foundation for Medical Education and Research. Sodium Bicarbonate (Oral Route, Intravenous Route, Subcutaneous Route) https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/sodium-bicarbonate-oral-route-intravenous-route-subcutaneous-route/before-using/drg-20065950 [2018,Oct27]
- Spernat, D. and Kourambas, K. Urolithiasis – medical therapies. BJU International 108 (2011) : 9-13.