ยาละลายขี้หู (Cerumenolytics)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 19 พฤษภาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- ยาละลายขี้หูมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาละลายขี้หูมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาละลายขี้หูมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาละลายขี้หูมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมหยอดยาควรทำอย่างไร?
- ยาละลายขี้หูมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาละลายขี้หูอย่างไร?
- ยาละลายขี้หูมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาละลายขี้หูอย่างไร?
- ยาละลายขี้หูมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคหูคอจมูก โรคทางหูคอจมูก โรคระบบหูคอจมูก (ENT disease)
- ภาวะขี้หูอุดตัน (Impacted cerumen)
- การตรวจทางหูคอจมูก การตรวจทางอีเอ็นที (Clinical examination of Ear Nose Throat or Clinical ENT examination)
- หู: กายวิภาคหู (Ear anatomy) / สรีรวิทยาของหู (Ear physiology)
- แก้วหูทะลุ (Ruptured eardrum)
- หูติดเชื้อ (Ear infection)
- รูปแบบยาเตรียม (Pharmaceutical Dosage Forms)
บทนำ
ยาละลายขี้หู (Cerumenolytics) เป็นกลุ่มสารเคมีที่วงการแพทย์นำมาใช้กำจัดขี้หูกรณีที่มีมากและแห้งแข็งเกินไปจนก่อการอุดตันรูหูจนส่งผลกระทบต่อการได้ยิน โดยตัวยาจะมีกลไกการออกฤทธิ์หลักๆจากทำให้ขี้หูนิ่มและอ่อนตัวจนสามารถเช็ดหรือดูดออกจากรูหูได้ง่าย
แบ่งยาละลายขี้หูออกเป็น 3 หมวดดังนี้
ก. กลุ่มที่มีน้ำเป็นตัวทำละลาย (Water base): เป็นกลุ่มยาที่สามารถละลายน้ำได้ ในสูตรตำรับยามักจะมีน้ำเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย ตัวอย่างสารออกฤทธิ์/ยาในกลุ่มนี้เช่นยากรดอะซิติก (Acetic acid), เซรูมิเนกซ์ (Cerumenex), คอแลซ (Colace), ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide), โซเดียม ไบคาร์บอเนต (Sodium bicarbonate) และน้ำเกลือ (Sterile saline solution หรือ Normal saline solution; NSS)
ข. กลุ่มที่มีน้ำมันเป็นตัวทำละลาย (Oil base): กลุ่มยาในหมวดนี้จะละลายได้ดีในตัวทำละลายที่เป็นไขมัน/น้ำมันแต่ไม่ละลายในน้ำ เช่น น้ำมันอัลมอนด์ (Almond oil), น้ำมันถั่วลิสง (Arachis oil) เอียเรกซ์ (Earex = Arachis oil + Almond oil + Rectified camphor oil), น้ำมันมะกอก (Olive oil), น้ำมันแร่หรือลิควิด ปิโตรลาตุ้ม (Minerol oil/Liquid petrolatum)
ค. กลุ่มที่ไม่ใช้น้ำหรือน้ำมันเป็นตัวทำละลาย (ไม่ละลายทั้งในน้ำและในน้ำมัน): เช่น ออแดกซ์ (Audax = Choline salicylate + Glycerine), ดีบรอกซ์ (Debrox = Carbamide peroxide)
อนึ่งเคยมีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ทำการศึกษาทดลองเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาละลายขี้หูทั้ง 3 หมวดและได้รายงานเป็นข้อสรุปของการศึกษาทดลองไว้ว่า
- กลุ่มยาที่ละลายในน้ำและกลุ่มยาที่ละลายในน้ำมันสามารถละลายขี้หูโดยมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันไม่มีความแตกต่างมากเท่าใดนัก
- กลุ่มยาที่ไม่ละลายทั้งในน้ำและในน้ำมันสามารถละลายขี้หูได้มีประสิทธิภาพมากกว่ากลุ่มยาที่ละลายในน้ำมันหรือละลายในน้ำ อีกทั้งไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองในช่องหูของผู้ป่วยอีกด้วย
ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีข้อสรุปหรือการเปรียบเทียบอย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคแต่ละบุคคลอาจมีความเหมาะสมต่อการใช้ยาละลายขี้หูทั้ง 3 หมวดแตกต่างกันออกไป ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์และให้แพทย์เป็นผู้คัดกรองว่าควรใช้ยาละลายขี้หูประเภทใดจึงจะปลอดภัยและเหมาะสมที่สุด
ยาละลายขี้หูมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาละลายขี้หูมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ช่วยทำให้ขี้หูนิ่มจนสามารถเช็ด ดึง หรือดูดออกจากรูหูได้ง่าย
ยาละลายขี้หูมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาละลายขี้หูคือ ตัวยาจะทำให้ขี้หูนิ่มและเกิดการหล่อลื่นจากยาละลายขี้หู กรณีที่ขี้หูอุดตันไม่มาก ขี้หูที่สัมผัสกับตัวยาอาจหลุดออกมาได้เอง แต่กรณีที่มีขี้หูอุดตันมาก หลังหยอดยานี้อาจต้องให้แพทย์ใช้เครื่องมือดูดหรือคีบขี้หูออกมา จากกลไกเหล่านี้จึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ยาละลายขี้หูมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาละลายขี้หูเป็นยาที่มีลักษณะของสารละลาย (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รูปแบบยาเตรียม) ที่มีระดับความเข้มข้นของตัวยาแตกต่างกันออกไปแล้วแต่แต่ละสูตรตำรับยา
ยาละลายขี้หูมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ด้วยยาละลายขี้หูมีอยู่หลายสูตรตำรับยา มีความเหมาะสมของการใช้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ที่แตกต่างกันเช่น บางสูตรตำรับฯอาจทำให้เกิดการระคายเคือง ดังนั้นเพื่อความเหมาะสมและปลอดภัย ควรให้แพทย์เป็นผู้เลือกชนิดของยาละลายขี้หูและใช้ยาตามคำสั่งแพทย์จะเป็นการดีที่สุด
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาละลายขี้หู ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาละลายขี้หูอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมหยอดยาละลายขี้หูควรทำอย่างไร?
หากลืมใช้ยาละลายขี้หูสามารถใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิภาพของการรักษาควรหยอดยาละลายขี้หูตรงตามคำสั่งแพทย์
ยาละลายขี้หูมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
โดยปกติยาละลายขี้หูจะก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ได้น้อยมากด้วยการใช้ในปริมาณที่น้อย เป็นยาใช้เฉพาะที่และจัดเป็นยาใช้ภายนอก แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการระคายเคือง แสบ คัน หู รวมถึงอาจพบอาการหูอื้อได้บ้าง ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปเองภายใน 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องมีการรักษา
มีข้อควรระวังการใช้ยาละลายขี้หูอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาละลายขี้หูเช่น
- ห้ามใช้ยาละลายขี้หูกับผู้ที่มีอาการแพ้ยากลุ่มนี้
- ห้ามรับประทานหรือให้ยานี้เข้าตา
- ห้ามใช้ยานี้ด้วยตนเอง/ซื้อยาใช้เองหากมีอาการต่างๆเหล่านี้ร่วมด้วยเช่น แก้วหูทะลุ เกิดการติดเชื้อในช่องหู/หูติดเชื้อ เกิดบาดแผลในรูหู หรือเพิ่งได้รับการผ่าตัดภายในหูมาใหม่ๆ
- กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ก่อนการใช้ยานี้ควรต้องปรึกษาและได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
- หากพบอาการแพ้ยาหลังใช้ยานี้เช่น แน่นหน้าอก/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ผื่นขึ้นเต็มตัว ต้องหยุดใช้ยานี้ทันทีและรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ความถี่และระยะเวลาในการใช้ยานี้ให้ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์
- มาพบแพทย์ตามนัดเสมอเพื่อตรวจสอบผลของการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาละลายขี้หูด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาละลายขี้หูมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ด้วยยาละลายขี้หูเป็นยาใช้เฉพาะที่และจัดเป็นยาใช้ภายนอก จึงยังไม่มีรายงานปฏิกิริยาระหว่างยานี้กับยารับประทานชนิดใดๆ
ควรเก็บรักษายาละลายขี้หูอย่างไร?
ควรเก็บยาละลายขี้หูภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ยาละลายขี้หูมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาละลายขี้หู้ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Auro (ออโร) | Del |
Debrix (เดบริกซ์) | GkaxoSmithKline |
E.R.O. (อี.อาร์.โอ.) | Scherer |
Mollifene (มอลลิเฟน) | Pfeiffer |
Murine (มิวรีน) | Prestige |
Earex (เอียเรกซ์) | Simco Ltd. |
บรรณานุกรม
- http://www.drugs.com/dosage/carbamide-peroxide-otic.html#Usual_Adult_Dose_for_Cerumen_Removal [2016,April30]
- http://www.drugs.com/drug-class/cerumenolytics.html [2016,April30]
- http://www.drugs.com/mtm/ear-wax-removal-otic.html [2016,April30]
- https://books.google.co.th/books?id=L5Q1BwAAQBAJ&pg=PT197&lpg=PT197&dq=Cerumenolytics++example&source=bl&ots=kAH-NI7agV&sig=ISyw7VZ60LMOOqaPeR26SSnMJKk&hl=en&sa=X&ved=0ahUKEwjk0bfEyoPMAhUC4qYKHSb3CGEQ6AEITTAI#v=onepage&q=Cerumenolytics%20%20example&f=false [2016,April30]
- http://www.drugs.com/monograph/carbamide-peroxide.html [2016,April30]
- http://www.drugs.com/uk/earex-ear-drops-leaflet.html [2016,April30]