ยาลดน้ำตาลในเลือด (Antihyperglycemic agent)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 21 ตุลาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- ยารักษาโรคเบาหวาน/ยาลดน้ำตาลในเลือดมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ยารักษาโรคเบาหวาน/ยาลดน้ำตาลในเลือดมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยารักษาโรคเบาหวาน/ยาลดน้ำตาลในเลือดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยารักษาโรคเบาหวาน/ยาลดน้ำตาลในเลือดมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมใช้ยารักษาโรคเบาหวาน/ยาลดน้ำตาลในเลือดควรทำอย่างไร?
- ยารักษาโรคเบาหวาน/ยาลดน้ำตาลในเลือดมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาโรคเบาหวาน/ยาลดน้ำตาลในเลือดอย่างไร?
- ยารักษาโรคเบาหวาน/ยาลดน้ำตาลในเลือดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายารักษาโรคเบาหวาน/ยาลดน้ำตาลในเลือดอย่างไร?
- ยารักษาโรคเบาหวาน/ยาลดน้ำตาลในเลือดมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาเบาหวาน
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- รู้ทันโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น (Juvenile diabetes mellitus)
- เบาหวานกับการตั้งครรภ์ (Diabetes mellitus and pregnancy)
บทนำ
ยาลดน้ำตาลในเลือด(Antihyperglycemic agent หรือ Antihyperglycemic drug) หรือ ยารักษาโรคเบาหวาน(Diabetes drug หรือ Diabetes medication) เป็นกลุ่มยาที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยแต่ละกลุ่มยาย่อย/หมวดหมู่ยาฯ จะมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่แตกต่างกัน ทางคลินิกอาจจัดหมวดหมู่ยาลดน้ำตาลในเลือด/ ยารักษาโรคเบาหวาน ออกเป็น 10 หมวด/กลุ่ม ดังนี้
1. ยาอินซูลิน (Insulin): เป็นยาประเภทฮอร์โมนที่ใช้รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 1 มีใช้อย่างแพร่หลาย รูปแบบผลิตภัณฑ์เป็น ยาฉีด สามารถใช้ร่วมรักษาโรคเบาหวานประภทที่ 2 ได้ด้วย อาจใช้ระยะเวลาของการออกฤทธิ์เป็นตัวจำแนกประเภทของยาอินซูลิน เช่น
1.1. ประเภทออกฤทธิ์เร็ว (Rapid acting Insulin)
1.2. ประเภทออกฤทธิ์ในช่วงปกติ (Regular or Short-acting Insulin)
1.3. ประเภทออกฤทธิ์นานขึ้นในระดับกลาง(Intermediate – acting Insulin)
1.4. ประเภทออกฤทธิ์นาน (Long – acting Insulin)
2. ไบกัวไนด์(Biguanides): ทางคลินิก นำมาใช้เป็นยารักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ข้อดีของยานี้คือ ไม่ก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ สารอนุพันธ์ไบกัวไนด์ที่มีการใช้บ่อยที่สุดคือ ยา Metformin ข้อดีของ ยา Metformin ได้แก่ก่อให้มีความเสี่ยงน้อยต่อการ เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นยาที่ไม่ส่งผลกระทบต่อความดันโลหิต และช่วยลดไขมัน ไตรกลีเซอไรด์อีกด้วย
3. ซัลโฟนิลยูเรีย(Sulfonylurea): เป็นกลุ่มยาที่นำมาใช้รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 เป็นยาที่มีราคาถูก ออกฤทธิ์เร็ว ไม่กระทบต่อความดันโลหิตของผู้ป่วย ไม่ระคายเคือง กระเพาะอาหาร ไม่ทำให้ระดับไขมันแอลดีแอล (LDL)ผิดปกติ มีขนาดการรับประทานที่ไม่ยุ่งยาก และสะดวกต่อผู้ป่วย
4. เมกลิทิไนด์ (Meglitinides หรือ Prandial glucose regulator หรือ Glinides):เป็นยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์คล้ายยา Sulfonylurea แต่มีระยะเวลาการออกฤทธิ์สั้นกว่า ผู้ป่วยต้องรับประทานยากลุ่มนี้ก่อนมื้ออาหารประมาณครึ่งชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ยาเมกลิทิไนด์สามารถก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ รวมถึงทำให้น้ำหนักตัวของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย
5. แอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์ (Alpha-glucosidase inhibitor): เป็นหมวดยาสังเคราะห์ที่ใช้รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 โดยจะใช้กลไกป้องกันมิให้ร่างกายย่อยคาร์โบไฮเดรตให้กลายเป็นน้ำตาลโมเลกุลเล็ก ส่งผลป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือด สูงหลังจากรับประทานอาหาร ยากลุ่มนี้อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้เล็กน้อย แต่ไม่มากเท่ากับกลุ่ม Sulfonylurea ตัวยาไม่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม ช่วยลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือด และไม่ส่งผลกระทบต่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
6. ไธอะโซลิดีนไดโอน(Thiazolidinedione หรือ Glitazones): ใช้รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 กลไกการออกฤทธิ์จะเป็นลักษณะปรับปรุง/ช่วยให้ร่างกายตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินได้ดีขึ้น และยังช่วยลดไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้อีกด้วย ยากลุ่มนี้มีความเสี่ยงน้อยต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ การบริหารยา/การใช้ยาทำได้ง่าย และสะดวก
7. ไดเพปทิดิลเพปทิเดส-4 อินฮิบิเตอร์/กลิปติน(Dipeptidyl peptidase-4 inhibitor หรือ Gliptins): นำมาใช้รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 กลไกหลักของยา กลุ่มนี้คือ ลดระดับฮอร์โมนที่มีชื่อว่ากลูคากอน (Glucagon)ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่คอยทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น และช่วยเพิ่มการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินซึ่งมีหน้าที่กระตุ้นให้ร่างกายใช้น้ำตาลในเลือดได้มากยิ่งขึ้น การใช้ยากลุ่มนี้อย่างถูกต้องมักจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำตาลในเลือดต่ำ
8. อินเครติน มิเมติกส์ (Incretin mimetics หรือ GLP-1 analogues): ใช้รักษา เบาหวานประเภทที่ 2 ถูกสังเคราะห์ขึ้นโดยเลียนแบบฮอร์โมนที่อยู่ในระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal hormones) ซึ่งมีหน้าที่คอยลดน้ำตาลในกระแสเลือด ยากลุ่มนี้จะไปกระตุ้น เบต้า เซลล์ (Beta cell) ที่ตับอ่อนให้หลั่งอินซูลิน (Insulin) อีกทั้งยังช่วยชะลอการดูดซึมอาหารที่รับประทานเข้าไป ส่งผลให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยตามไปด้วย จนทำให้น้ำหนักของร่างกายลดลงที่นำมาเป็นประโยชน์อีกข้อหนึ่งในทางการแพทย์
9. อะมัยลิน แอนะล็อก (Amylin analogues): ใช้รักษาเบาหวานประเภทที่ 1 และ 2 ยานี้ช่วยลดการปลดปล่อยฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon) และชะลอการดูดซึมน้ำตาลจากระบบทางเดินอาหาร จึงมีผลช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
10. โซเดียม- กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์ อินฮิบิเตอร์ (Sodium–glucose cotransporter inhibitors หรือ SGLT inhibitor): ใช้รักษาเบาหวานประเภทที่ 2 ยากลุ่มนี้มีกลไกการออกฤทธิ์โดยยับยั้งการดูดคืนกลับของน้ำตาลที่ลำไส้เล็ก และที่ไต ตัวยาไม่มีผลกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อน แต่มีผลต่ออวัยวะที่คอยดูดน้ำตาลเข้ากระแสเลือดเท่านั้น
ยารักษาโรคเบาหวาน/ยาลดน้ำตาลในเลือดมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาลดน้ำตาลในเลือดมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อรักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 1 และ/หรือ ประเภทที่ 2
ยารักษาโรคเบาหวาน/ยาลดน้ำตาลในเลือดมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาลดน้ำตาลในเลือด จะขึ้นอยู่กับคุณสมบัติทางเภสัชกรรมของแต่ละกลุ่มยานั้นๆ โดยแต่ละกลุ่ม มีกลไกการออกฤทธิ์ ทั้งคล้ายคลึง และแตกต่างกัน ซึ่งเป็นไปตามลักษณะโครงสร้างทางเคมีของกลุ่มยานั้นๆ ทั้งนี้อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดในคุณสมบัติต่างๆของยาแต่ละกลุ่มได้ในเว็บ haamor.com เช่น Sulfonylurea, Biguanides เป็นต้น
ยารักษาโรคเบาหวาน/ยาลดน้ำตาลในเลือดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาลดน้ำตาลในเลือดมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่น
- ยาน้ำชนิดรับประทาน
- ยาฉีด
- ยาพ่นจมูก
ยารักษาโรคเบาหวาน/ยาลดน้ำตาลในเลือดมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การเลือกใช้ยาลดน้ำตาลในเลือดประเภทใด/กลุ่มใด/ตัวยาย่อยตัวยาใด รวมถึงขนาดการใช้ยาเหล่านี้ จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา เพราะจะแตกกันในแต่ละผู้ป่วย โดยขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ประเภทและความรุนแรงของโรคเบาหวาน อายุผู้ป่วย โรคประจำตัวต่างๆ รวมถึงมีการใช้ยาอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่ ทั้งนี้อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดของตัวยาแต่ละตัวได้ในเว็บ haamor.com เช่น ยา Metformin เป็นต้น
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาลดน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาลดน้ำตาลในเลือด อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมใช้ยารักษาโรคเบาหวาน/ยาลดน้ำตาลในเลือดควรทำอย่างไร?
การใช้ยาลดน้ำตาลในเลือดที่ถูกขนาดยา ตรงเวลา จะช่วยทำให้อาการป่วยของโรคเบาหวานทุเลาลงได้ กรณีที่ลืมใช้ยานี้ สามารถใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยารักษาโรคเบาหวาน/ยาลดน้ำตาลในเลือดมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาลดน้ำตาลในเลือดแต่ละกลุ่ม สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ที่เหมือน หรือที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของหมวดยา/ตัวยาย่อยแต่ละชนิด โดยทั่วไป เช่น มีอาการท้องอืด ท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อาหารไม่ย่อย เบื่ออาหาร เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มสูงขึ้น มีภาวะดีซ่าน ตับอักเสบ ผื่นคันตามผิวหนัง มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ท้องบวม ตาพร่า ร้อนวูบวาบ อ่อนเพลีย ระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูงขึ้น ไขมันชนิด HDL ลดลง ปวดศีรษะ วิงเวียน เป็นต้น ทั้งนี้อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดของยาแต่ละกลุ่ม และตัวยาแต่ละตัวได้ในเว็บ haamor.com เช่น ยา Metformin ยา Sulfonylurea เป็นต้น
มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาโรคเบาหวาน/ยาลดน้ำตาลในเลือดอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาลดน้ำตาลในเลือด เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ยานี้แต่ละกลุ่ม
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา
- ห้ามปรับขนาดรับประทาน/ขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง โดยมิได้รับคำสั่งจากแพทย์
- ศึกษาการปฐมพยาบาลตนเองเบื้องต้นเมื่อเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- ควบคุมอาหารที่รับประทานประจำวันที่จะทำให้น้ำตาลในเลือดสูง
- ออกกำลังกายตามความเหมาะสม หรือตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล
- ตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอว่าอยู่ในภาวะปกติหรือไม่ ตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร
- หากพบอาการแพ้ยา ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- กรณีที่มีการเปลี่ยนชนิดหรือผลิตภัณฑ์ยาลดน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยต้องเฝ้าติดตาม ประสิทธิผลในการรักษาอย่างใกล้ชิดตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร
- มาพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยารักษาโรคเบาหวาน/ยาลดน้ำตาลในเลือดด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ยารักษาโรคเบาหวาน/ยาลดน้ำตาลในเลือดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาลดน้ำตาลในเลือดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาอินซูลินร่วมกับยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์(Corticosteroid) ยากลุ่มSympathomimetic ยาไทรอยด์ฮอร์โมน ยาขับปัสสาวะ ยาต้านวัณโรคเช่น Isoniazid สามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเพิ่มขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยา Mitiglinide ร่วมกับยาดังต่อไปนี้ เช่น Insulins, Biguanides Alpha-glucosidase inhibitors, Pioglitazone HCl, Salicylates, Clofibrate, Sulfanilamide , Tetracyclines, Beta-adrenergic blockers, MAOIs, Epinephrine, Nicotinic acid, INH, Pyrazinamide, Phenothiazines, Phenytoin, Guanethidine sulphate, รวมถึงกลุ่มยาขับปัสสาวะ อาจทำให้เกิดภาวะ น้ำตาลในเลือดต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสม เป็นกรณีๆไป
- การรับประทานยาบางตัวในกลุ่มอินเครติน มิเมติกส์( Incretin mimetics) เช่น Exenatide ร่วมกับยาแก้ปวด เช่น Ibuprofen อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงทำให้ไตทำงานผิดปกติ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอะมัยลิน แอนะล็อก(Amylin analogues) ร่วมกับยา Gatifloxacin ด้วยจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือไม่ก็สูงตามมา
- การใช้ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย(Sulfonylurea)ร่วมกับยาอื่นๆบางตัว จะส่งผลให้การออกฤทธิ์ของยาซัลโฟนิลยูเรียในร่างกายอยู่ได้นานขึ้น และอาจเกิดความเสี่ยงของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำติดตามมา ยากลุ่มดังกล่าว เช่น อนุพันธ์ของ Acetylsalicylic acid, Allopurinol, Sulfonamides, และยาในกลุ่ม Fibrate หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษายารักษาโรคเบาหวาน/ยาลดน้ำตาลในเลือดอย่างไร?
ควรเก็บยาลดน้ำตาลในเลือดตามคำแนะนำของเอกสารกำกับยา ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยารักษาโรคเบาหวาน/ยาลดน้ำตาลในเลือดมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาลดน้ำตาลในเลือดที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Actrapid HM/Actrapid Penfill (แอคทราพิด เฮชเอ็ม/แอคทราพิด เพนฟิล) | Novo Nordisk |
Apidra (อะพิดรา) | sanofi-aventis |
Basalin (บาซาลิน) | Gan & Lee / LG Life Sciences |
Gensulin M30 (30/70) (เจนซูลิน เอ็ม30 (30/70) | SciGen |
Gensulin M50 (50/50) (เจนซูลิน เอ็ม50 (50/50) | SciGen |
Gensulin N (เจนซูลิน เอ็น) | SciGen |
Gensulin R (เจนซูลิน อาร์) | SciGen |
Humalog/Humalog Mix 25 (ฮิวมาล็อก/ฮิวมาล็อก มิกซ์ 25) | Eli Lilly |
Humulin 70/30 (ฮิวมูลิน 70/30) | Eli Lilly |
Humulin N (ฮิวมูลิน เอ็น) | Eli Lilly |
Humulin R (ฮิวมูลิน อาร์) | Eli Lilly |
Insugen-30/70 (Biphasic) (อินซูเจน-30/70 (ไบฟาซิก) | Biocon |
Insugen-N (NPH) (อินซูเจน-เอ็น (เอ็นพีเฮช) | Biocon |
Insugen-R (Regular) (อินซูเจน-อาร์ (เรกูลาร์) | Biocon |
Insulatard HM/Insulatard Penfill (อินซูลาทาร์ด เฮชเอ็ม/อินซูลาทาร์ด เพนฟิล) | Novo Nordisk |
Insuman Rapid/Insuman Basal/Insuman Comb 30 (อินซูแมน ราพิด/อินซูแมน บาซัล/อินซูแมน คอมบ์ 30) | sanofi-aventis |
Lantus (แลนตัส) | sanofi-aventis |
Levemir FlexPen (เลวีเมีย เฟล็กซ์เพน) | Novo Nordisk |
Mixtard 30 HM/Mixtard 30 Penfill (มิกซ์ทาร์ด 30 เฮชเอ็ม/มิกซ์ทาร์ด 30 เพนฟิล) | Novo Nordisk |
NovoMix 30 Penfill/NovoMix 30 FlexPen (โนโวมิกซ์ 30 เพนฟิล/โนโวมิกซ์ 30 เฟล็กซ์เพน) | Novo Nordisk |
NovoRapid Penfill/NovoRapid FlexPen (โนโวราพิด เพนฟิล/โนโลราพิด เฟล็กซ์เพน) | Novo Nordisk |
Diabinese (ไดเอบินิส) | Pfizer |
Dibecon (ไดเบคอน) | Central Poly Trading |
Dibemide (ไดเบไมด์) | Suphong Bhaesaj |
Propamide (โพรพาไมด์) | Atlantic Lab |
Daonil (ดาวนิล) | sanofi-aventis |
Daono (ดาวโน) | Milano |
Debtan (เด็บแทน) | Yung Shin |
Diabenol (ไดเอเบนอล) | Greater Pharma |
Dibesin (ไดเบสซิน) | SSP Laboratories |
Glamide (กลาไมด์) | Community Pharm PCL |
Glibenclamide Asian Pharm (ไกลเบนคลาไมด์ เอเซียน ฟาร์ม) | Asian Pharm |
Glibenclamide GPO (ไกเบนคลาไมด์ จีพีโอ) | GPO |
Glibetic (ไกลเบติค) | The Forty-Two |
Glibic (ไกลบิค) | Medicine Products |
Gliclamin (ไกลคลามิน) | Inpac Pharma |
Glicon (ไกลคอน) | Suphong Bhaesaj |
Glimide (ไกลไมด์) | Pharmahof |
Gluconil (กลูโคนิล) | Utopian |
Prandin (แพรนดิน) | Novo Nordisk |
Starlix (สตาร์ลิกซ์) | Novartis |
Glufast (กลูฟาส) | Eisai |
Glucobay (กลูโคเบย์) | Bayer HealthCare Pharma |
Glyset (กลีเซ็ต) | Pharmacia and Upjohn Company |
Volibo (โวลิโบ) | Sun Pharma |
Actos (แอ็คทอซ) | Takeda |
Actosmet (แอ็คทอซเม็ท) | Takeda |
Gitazone/Gitazone-forte (กีตาโซน/กีตาโซน – ฟอร์ด ) | Millimed |
Glubosil (กลูโบซิล) | Silom Medical |
Piozone (ไพโอโซน) | M & H Manufacturing |
Senzulin (เซนซูลิน) | Siam Bheasach |
Utmos (อัทโมส) | Berlin Pharm |
Janumet (แจนูเมท) | MSD |
Januvia (แจนูเวีย) | MSD |
Trajenta Duo (ทราเจนตา ดูโอ) | Boehringer Ingelheim |
Trajenta (ทราเจนตา) | Boehringer Ingelheim |
Galvus (แกลวัส) | Novartis |
Galvus Met (แกลวัส เม็ท) | Novartis |
Byetta (ไบเอตตา) | Eli Lilly |
Victoza (วิกโทซา) | Novo Nordisk |
Janumet (จานูเม็ท) | MSD |
Kombiglyze XR (คอมไบกลายซ์ เอ็กซ์อาร์) | AstraZeneca |
Trajenta (ทราเจนตา) | Boehringer Ingelheim |
Symlin (ซิมลิน) | Amylin Pharmaceuticals, Inc. |
Forxiga (ฟอร์ซิกา) | AstraZeneca |
Jardiance (จาร์เดียน) | Boehringer Ingelheim |