ยารักษาโรคเหา (Head lice medications)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 23 เมษายน 2560
- Tweet
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
- เหา และ โลน (Pediculosis)
- เพอร์เมทริน (Permethrin cream)
- ไอเวอร์เมคติน (Ivermectin)
- ลินเดนโลชั่น (Lindane lotion)
- ยารักษาเหาหมายความว่าอะไร?
- ยารักษาเหามีกี่ประเภท?
- ยารักษาเหามีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- มีข้อบ่งใช้ยารักษาเหาอย่างไร?
- มีข้อห้ามใช้ยารักษาเหาอย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาเหาอย่างไร?
- การใช้ยารักษาเหาในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยารักษาเหาในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยารักษาเหาในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยารักษาเหาอย่างไร?
- สรุป
- บรรณานุกรม
ยารักษาเหาหมายความว่าอะไร?
ยารักษาโรคเหา(Head lice medications หรือ Head lice drugs) เป็นยาที่ใช้ฆ่าตัวเหา (Head lice) และไข่เหา (Nit) บนหนังศีรษะ โรคเหามีสาเหตุเกิดจากตัวเหาซึ่งเป็นแมลงชนิดเป็นปรสิตชนิดหนึ่ง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Pediculus humanus capitis” วางไข่บนเส้นผม และดูดเลือดจากหนังศีรษะเป็นอาหาร ก่อให้เกิดอาการคันบริเวณหนังศีรษะ หากมีอาการรุนแรง อาจนำไปสู่การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่หนังศีรษะ โรคเหาสามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกัน เช่น เด็กนักเรียน คนในครอบครัว ค่ายทหาร ค่ายผู้อพยพ รวมทั้งผู้ที่ใช้สิ่งของที่เกี่ยวข้องกับศีรษะร่วมกัน เช่น หวี แปรงผม หมวก หมอน หูฟัง เป็นต้น
ยารักษาเหามีกี่ประเภท?
ยารักษาโรคเหา แบ่งประเภทตามกลุ่มยาได้ดังนี้
1. ยาฆ่าเหาชนิดทาภายนอก (Topical pediculicidal agents): เช่นยา เพอร์เมทริน (Permethrin), มาลาไทออน (Malathion), เบนซิลเบนโซเอท (Benzyl benzoate), แกมม่าเบนซีนเฮกซะคลอไรด์หรือลินเดน (Gamma benzene hexachloride or Lindane), คาร์บาริล (Carbaryl), ไพรีทรินส์หรือไพเพอร์โรนิลบิวทอกไซด์ (Pyrethrins or Piperonyl Butoxide), เบนซิลแอลกอฮอล์ (Benzyl alcohol), ไอเวอร์เมคติน (Ivermectin), สปินโนแซด (Spinosad), ไดเมทิโคน (Dimethicone lice)
2. ยาฆ่าเหาชนิดรับประทาน (Oral pediculicidal agents): เช่นยา ไอเวอร์เมคติน (Ivermectin), ยาสูตรผสมระหว่างไตรเมโธพริมและซัลฟาเมทอกซาโซล (Trimethoprim + Sulfamethoxazole)
ยารักษาเหามีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยารักษาเหามีรูปแบบการจัดจำหน่าย ดังนี้
- ยาโลชั่น (Lotion)
- ยาครีม (Cream)
- ยาอิมัลชั่น (Emulsion)
- ยาน้ำใส (Solution)
- ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension)
- ยาเจล (Gel)
- แชมพู (Shampoo)
- ยาเม็ด (Tablet)
- ยาน้ำเชื่อม (Syrup)
อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”
มีข้อบ่งใช้ยารักษาเหาอย่างไร?
มีข้อบ่งใช้ยารักษาเหา ดังนี้
1. ยาฆ่าเหาชนิดทาภายนอก: ใช้รักษาโรคเหาโดยออกฤทธิ์ฆ่าทั้งตัวเหา (Pediculicides) และไข่เหา (Ovicides)
2. ยาฆ่าเหาชนิดรับประทาน: ใช้รักษาโรคเหาที่มีอาการรุนแรง รักษาโรคเหาในผู้ที่มีข้อห้ามใช้ของยาทาภายนอก หรือ ทนอาการไม่พึงประสงค์ของยาทาภายนอกไม่ได้ หรือใช้ยาฆ่าเหาชนิดทาภายนอกรักษาแล้วไม่ได้ผล
มีข้อห้ามใช้ยารักษาเหาอย่างไร?
มีข้อห้ามใช้ยารักษาเหา ดังนี้ เช่น
1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อยาที่รุนแรง (Hypersensitivity) และห้ามใช้ยาสูตรผสมระหว่าง Trimethoprim และ Sulfamethoxazole ในผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่ม Sulphonamides เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง
2. ยาฆ่าเหาชนิดทา เป็นยาใช้ภายนอกเท่านั้น ห้ามรับประทาน
3. Malathion เป็นยาที่สามารถติดไฟได้ง่าย ควรเก็บยาให้ห่างจากเชื้อเพลิง ห้ามสูบบุหรี่หลังจากทายานี้ และควรปล่อยให้ผมแห้งเองตามธรรมชาติ ห้ามใช้ไดร์เป่าผม อุปกรณ์ม้วนผม หรืออบผม
4. ห้ามใช้ยา Lindane ในผู้ป่วยลมชักที่ยังควบคุมอาการไม่ได้ ผู้ที่ติดเชื้อ HIV และผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 50 กิโลกรัม เพราะมีโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้ง่าย
5. ห้ามใช้ยา Ivermectin ในผู้ป่วยที่มี Blood-brain barrier(การซึมผ่านของตัวยาจากเลือดเข้าสมอง) ผิดปกติ เช่น ผู้ป่วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เพราะอาจทำให้ยานี้ผ่านเข้าสู่สมองและทำให้เกิดพิษต่อสมองได้ เช่น สมองอักเสบ
6. ห้ามใช้ยาสูตรผสมระหว่าง Trimethoprim และ Sulfamethoxazole ในผู้ป่วยโรคตับและ/หรือ โรคไต ที่มีอาการรุนแรง
มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาเหาอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาเหา ดังนี้ เช่น
1. ยาฆ่าเหาแต่ละชนิดมีวิธีใช้ยาต่างกัน ควรศึกษาข้อมูลสำคัญต่างๆ รวมทั้งวิธีใช้จากเอกสารกำกับยา เพื่อให้สามารถใช้ยาได้อย่างถูกต้อง และได้ประสิทธิภาพการรักษาที่ดี
2. ไม่ควรทายาฆ่าเหาบริเวณที่มีแผลสด แผลมีหนอง และควรระวังไม่ให้ยาเข้า ตา จมูก ปาก หรือรูหู เพราะจะทำให้แสบและระคายเคืองได้ง่าย
3. ไม่ควรใช้ครีมนวดผมหลังจากใช้ยาฆ่าเหาชนิดทา เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาฆ่าเหาลดลง
4. ควรระวังไม่ให้ยาฆ่าเหาชนิดทา เข้าตา เพราะอาจทำให้ระคายเคืองตา หากยาเข้าตา ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก จนอาการระคายเคืองทุเลา หากไม่ทุเลาให้รีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยเร็ว
5. ขณะที่ใช้ยาฆ่าเหาชนิดทา ควรสวมถุงมือยาง หรือถุงมือพลาสติก และหลังจากทายาเสร็จแล้ว ต้องล้างมือและถุงมือให้สะอาด
6. ยาฆ่าเหาชนิดทาที่อยู่ในรูปแบบ โลชั่น อิมัลชั่น และยาน้ำแขวนตะกอน ต้องเขย่าขวดให้ยาผสมเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อให้ตัวยาสำคัญกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอก่อนใช้ยา
7. ระวังการใช้ยา Permethrin, Pyrethrins ในผู้ที่แพ้ละอองเกสรวัชพืชจำพวก Ragweed เพราะอาจทำให้เกิดภาวะหายใจลำบาก หรือทำให้เกิดโรคหืด
8. ระวังการใช้ Pyrethrins ในผู้ที่แพ้ดอกเบญจมาศ (Chrysanthemum flowers) เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ยาได้
9. Lindane เป็นยาทาฆ่าเหาที่มีอาการไม่พึงประสงค์จากยารุนแรงกว่ายาทาฆ่าเหาชนิดอื่น คือ เป็นพิษต่อระบบประสาท รวมทั้งมีรายงานว่าทำให้เกิดโรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ/ไม่ทำงาน (Aplastic anemia) จึงถูกถอนทะเบียนไปแล้วในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ดังนั้นควรใช้ยานี้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถทนอาการไม่พึงประสงค์จากยาทาชนิดอื่น หรือใช้ยาทาชนิดอื่นรักษาแล้วไม่ได้ผลเท่านั้น รวมถึงต้องเป็นคำสั่งใช้ยานี้จากแพทย์เท่านั้น
10. โรคเหาเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้ ดังนั้นนอกจากรักษาตัวผู้ป่วยเองแล้ว ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น สมาชิกภายในครอบครัว ชุมชน หรือโรงเรียน ควรเข้ารับการรักษาไปพร้อมๆ กัน
11. ไม่ควรใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น หมวก หวี หรือผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้ที่เป็นโรคเหา
12. นอกจากรักษาโดยการใช้ยาแล้ว ผู้ป่วยควรใช้หวีเสนียด ซึ่งเป็นหวีซี่เล็กหวีผม/สางผม เป็นเวลา 1-2 ชั่วโมงทุกวัน เพื่อช่วยลดปริมาณตัวเหาและไข่เหา
13. หลังจากรักษาโรคเหาแล้ว ควรป้องกันการกลับเป็นซ้ำ โดยการใช้เครื่องดูดฝุ่นทำความสะอาดบ้านเพื่อกำจัดเส้นผมของผู้ป่วยที่อาจมีไข่เหาติดอยู่ ซักเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว เครื่องนอนของผู้ป่วยที่ใช้ก่อนเข้ารับการรักษา 2 วัน โดยให้ซักด้วยน้ำที่มีอุณหภูมิอย่างน้อย 53.5 องศาเซลเซียส(Celsius) เป็นเวลาอย่างน้อย 5 นาที ส่วนของใช้อย่างอื่นที่ไม่สามารถซักได้ ให้ใส่ถุงพลาสติกแล้วมัดปากถุงทิ้งไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อให้ตัวเหาและไข่เหาตายทั้งหมด
การใช้ยารักษาเหาในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยารักษาเหาในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น
ก.ยาฆ่าเหาชนิดทาภายนอก:
- ยารักษาโรคเหาที่มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพดี ควรเลือกใช้เป็นตัวเลือกแรกในหญิงมีครรภ์/ตั้งครรภ์ ได้แก่ Dimethicone หรือใช้น้ำส้มสายชูเจือจางกับน้ำในอัตราส่วน 1:1 หมักผม จากนั้นใช้หวีเสนียดหวีผมจนกว่าตัวเหาและไข่เหาจะหายไป
- ยาที่เลือกใช้เป็นตัวเลือกถัดมาในหญิงมีครรภ์ ได้แก่ Malathion, Permethrin, และ Pyrethrins แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้บรรจุภัณฑ์แบบขวดสเปรย์ เพราะจะทำให้ผู้ป่วยสูดดมละอองยาเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากใช้ยาที่รวมถึงทารกในครรภ์ด้วย
ข. ยาฆ่าเหาชนิดรับประทาน:
- ควรระวังการใช้ยา Ivermectin ในหญิงมีครรภ์ เพราะยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยานี้มากเพียงพอในหญิงตั้งครรภ์
- ไม่ควรใช้ยาสูตรผสมระหว่างยา Trimethoprim และ Sulfamethoxazole ใน หญิงมีครรภ์ ควรเลือกใช้เป็นยาฆ่าเหาชนิดทาภายนอก เพราะยาทามีโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาต่อมารดาและต่อทารกในครรภ์ได้น้อยกว่า
การใช้ยารักษาเหาในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยารักษาเหาในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น
ก. ยาฆ่าเหาชนิดทาภายนอก:
- ผู้สูงอายุ เป็นวัยที่มีหนังศีรษะแห้ง จึงไม่ควรทายานี้ทิ้งไว้นานเกินเวลาที่กำหนด ในเอกสารกำกับยา เพราะอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาเฉพาะที่ เช่น แสบ คัน ระคายเคือง หนังศีรษะที่สัมผัสยานี้ ได้ง่าย
- ควรระวังการใช้ยา Lindane ในผู้สูงอายุ เนื่องจากมีโอกาสเกิดพิษต่อระบบประสาทได้มากกว่าวัยอื่นๆ
ข.ยาฆ่าเหาชนิดรับประทาน:
- ควรระวังการใช้ยา Ivermectin ในผู้สูงอายุ เพราะยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้รักษาโรคเหาในผู้สูงอายุมากเพียงพอ
- ควรระวังการใช้สูตรผสมระหว่างยา Trimethoprim และ Sulfamethoxazole ในผู้สูงอายุ เนื่องจากยานี้มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นหลายชนิด ตัวอย่างเช่นยา Warfarin, Phenytoin, แพทย์จึงต้องตรวจเลือด ติดตามระดับของยา Warfarin, Phenytoin ขณะที่ใช้ยานี้เป็นระยะๆ
การใช้ยารักษาเหาในเด็กควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยารักษาเหาในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น
ก. ยาฆ่าเหาชนิดทาภายนอกที่สามารถใช้ได้ในเด็ก ที่องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration, FDA) รับรองความปลอดภัย ได้แก่ยา
- Permethrin: ใช้ได้ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป
- Benzyl alcohol: ใช้ได้ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
- Pyrethrins: ใช้ได้ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป
- Spinosad: ใช้ได้ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป
- Malathion และ Ivermectin: ชนิดทาเฉพาะที่ ใช้ได้ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป
- Lindane: เป็นยาที่ห้ามใช้ในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด และไม่ควรใช้ในเด็กเนื่องจากผิวของเด็กมีความชุ่มชื้น ทำให้ยาดูดซึมเข้าสู่ผิวหนังได้มากกว่าวัยอื่นๆ จึงอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาต่อระบบประสาทเด็กได้
ข. ยาฆ่าเหาชนิดรับประทาน:
- ยาIvermectin ชนิดรับประทาน ไม่ควรใช้ในเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 15 กิโลกรัม เพราะยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากเพียงพอ
- ยาสูตรผสมระหว่างยา Trimethoprim และ Sulfamethoxazole สามารถใช้ได้ในเด็ก โดยปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัวของผู้ป่วยเด็กแต่ละราย
มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยารักษาเหาอย่างไร?
มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยารักษาเหา ดังนี้ เช่น
ก. ยาฆ่าเหาชนิดทาภายนอกทุกชนิด: อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บริเวณที่ทา ได้แก่ แสบร้อน แดง ปวด คัน ระคายเคือง ผิวหนัง หนังศีรษะแห้ง มีรังแค ผมร่วง ระคายเคืองตาถ้ายาเข้าตา นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ เช่น
- ยา Lindane ทำให้เกิดพิษต่อระบบประสาท เช่น มึนงง ปวดศีรษะ ชัก เป็นพิษต่อตับ/ตับอักเสบ และต่อไต/
ข. ยาฆ่าเหาชนิดรับประทาน:
สรุป
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
- Centers for Disease Control and Prevention. Lice – Head lice https://www.cdc.gov/parasites/lice/head/ [2017,April1]
- Eisenhowe, C., and Farrington, E.A. Treatment of Head Lice in Pediatrics. Journal of Pediatric Health Care 6 (November – December 2012) : 451-461.
- Mayo Foundation for Medical Education and Research. Head lice Treatments and drugs http://www.mayoclinic.org/diseasesconditions/headlice/basics/treatment/con20030792 [2017,April1]
- Schaefer, C., Peters P., and Miller, R.K. Drugs During Pregnancy and Lactation. Third Edition. Oxford : Academic press., 2015.
- กฤษณะ สุวรรณภูมิ. แนวทางการรักษาโรคเหาและโลน http://www.dlfp.in.th/paper/71 [2017,April1]
- คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ และคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญแห่งชาติด้านการคัดเลือกยาสาขาโรคผิวหนัง. คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาที่ใช้ทางโรคผิวหนัง. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/sites/default/files/4_drugs_used_in_skin_diseases.pdf. [2017,April1]
- เทอดพงศ์ เต็มภาคย์, สุชีรา ฉัตรเพริดพราย และศิริวรรณ วนานุกูล. เหา. แหล่งที่มา: http://dst.or.th/Publicly/Articles/929.23.12/cmW2vo8eTn [2017,April1]