ยารักษาเกลื้อน (Tinea versicolor medication)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยารักษาเกลื้อน

ยารักษาเกลื้อนหมายความว่าอย่างไร?

โรคเกลื้อน (Tinea Versicolor, Pityriasis versicolor) มีสาเหตุจากการติดเชื้อราชนิดมาลาสซีเซีย เฟอร์เฟอร์ (Malassezia furfur) ซึ่งเป็นเชื้อราชนิดหนึ่งที่พบบริเวณผิวหนัง

ยาที่ใช้รักษาโรคเกลื้อน/ ยารักษาโรคเกลื้อน(Tinea versicolor medication หรือ Tinea versicolor agents)เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อรา /ยาต้านเชื้อรา ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ ทั้งยาใช้เฉพาะที่ และยารับประทาน

และเนื่องจากโรคนี้มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้ ดังนั้นหากเป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีอาการรุนแรง, อยู่ในสภาพภูมิอากาศที่ร้อนชื้น, มีเหงื่อออกมาก, ควรใช้ยากลุ่มนี้ต่อไปเพื่อป้องกัน แต่ลดความถี่การใช้ยาเหล่านี้ลง เช่น ยาที่อยู่รูปแบบแชมพูฟอกตัวเดือนละ1ครั้ง เป็นต้น

ยารักษาเกลื้อนแบ่งเป็นกี่ประเภท?

ยารักษาเกลื้อน เป็นยาต้านเชื้อรา แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มดังนี้

1. ยาต้านเชื้อราชนิดทาภายนอก (Topical antifungals): เช่นยา คีโตโคนาโซล (Ketoconazole), โคลไตรมาโซล (Clotrimazole), ไมโคนาโซล (Miconazole), อีโคนาโซล (Econazole), ไซโคลไพร็อก (Ciclopirox), เทอร์บินาฟีน (Terbinafine), โซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate), โพรพิลีนไกลคอล (Propylene glycol)

2. ยาต้านเชื้อราที่อยู่ในรูปแบบแชมพูสระผม(Antifungal shampoos): เช่นยา คีโตโคนาโซล (Ketoconazole), ซีลีเนียม ซัลไฟด์ (Selenium Sulfide), ซิงก์ ไพริไทโอน (Zinc pyrithione)

3. ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทาน (Oral antifungals): เช่นยา คีโตโคนาโซล (Ketoconazole), ฟลูโคนาโซล (Fluconazole), ไอทราโคนาโซล (Itraconazole)

ยารักษาเกลื้อนมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยารักษาเกลื้อนมีรูปแบบจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาครีม (Cream)
  • ยาเจล (Gel)
  • โลชั่น (Lotion)
  • ยาขี้ผึ้ง (Ointment)
  • แชมพูยา (Shampoo)
  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทาน (Oral suspension)
  • ยาน้ำใสชนิดรับประทาน (Oral solution)

อนึ่ง แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

มีข้อบ่งใช้ยารักษาเกลื้อนอย่างไร?

ข้อบ่งใช้ยารักษาเกลื้อน เช่น

  • ใช้รักษาและป้องกันโรคเกลื้อน: โดยเลือกใช้ยาต้านเชื้อรา ชนิดทาภายนอก หรือแชมพูเป็นตัวเลือกแรก (First-line therapy) และเลือกใช้ยาต้านเชื้อรา ชนิดรับประทานเป็นลำดับถัดมา(Second-line therapy)

มีข้อห้ามใช้ยารักษาเกลื้อนอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยารักษาเกลื้อน เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง(Hypersensitivity)ต่อยานั้นๆ
  • ยา Fluconazole ถูกขับออกจากร่างกายผ่านทางไต ดังนั้น แพทย์จะปรับลดขนาดยาลงในผู้ที่มีการทำงานของไตผิดปกติ
  • ห้ามใช้ยา Itraconazole ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว เพราะอาจทำให้อาการแย่ลง

มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาเกลื้อนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาเกลื้อน เช่น

  • ขณะที่ใช้ยานี้ในรูปแบบยาสระผม ควรมัดระวังไม่ให้เข้าตา หากผลิตภัณฑ์เข้าตาให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก
  • การใช้แชมพูฟอกบริเวณผิวหนัง ให้ฟอกบริเวณผิวหนังที่เป็นโรค แล้วทิ้งไว้นานประมาณ 10 นาที แล้วล้างออก และไม่ควรทิ้งไว้นานเกินไป หรือใช้บ่อยกว่าที่กำหนดในเอกสารกำกับยา หรือตามคำสั่งแพทย์ เภสัชกร เพราะอาจทำให้ระคายเคือง แสบร้อน ผิวแห้งลอก
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยา Ketoconazole ในรูปแบบรับประทาน เพราะอาจทำให้เกิดพิษต่อตับ ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคตับ เลือกใช้ยานี้เฉพาะในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาทา, รักษาด้วยยาต้านเชื้อราอื่นไม่ได้ผล, หรือไม่สามารถทนต่อยาต้านเชื้อราตัวอื่นได้เท่านั้น
  • ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทานทั้ง Ketoconazole, Fluconazole และ Itraconazole เป็นยาที่มีคุณสมบัติเป็นตัวยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ (Enzyme inhibitor) ส่งผลให้ระดับยาอื่นๆอีกหลายชนิดในเลือด เช่นยา Cisapride, Quinidine, Methadone, เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งถ้าระดับยาอื่นๆเหล่านี้ในเลือดสูงเกินไป อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่รุนแรงจากยาอื่นๆเหล่านี้ได้

การใช้ยารักษาเกลื้อนในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยารักษาเกลื้อนในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

  • สำหรับการรักษาโรคเกลื้อนในหญิงมีครรภ์/ตั้งครรภ์ ควรเลือกใช้ยาต้านเชื้อราชนิด ทาภายนอก โดยเลือกยา Clotrimazole หรือ Miconazole เป็นตัวเลือกแรก

การใช้ยารักษาเกลื้อนในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยารักษาเกลื้อนในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ควรเลือกใช้ยาต้านเชื้อราชนิดทาภายนอก หรือแชมพูเป็นลำดับแรกในผู้ป่วยสูงอายุ
  • ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทานเป็นยากลุ่มที่มีปฏิกิริยาระหว่างยา(Drug interaction) กับยาอื่นอีกหลายชนิด ดังนั้นควรระวังการใช้ยากลุ่มนี้ในผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นวัยที่มีโรคร่วม/โรคประจำตัว และมียาที่ต้องใช้เป็นประจำอยู่แล้ว จึงมีโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา/ปฏิกิริยาระหว่างยาได้มากกว่าวัยอื่น ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ได้รับยาลดไขมันในเลือดกลุ่ม Statin เป็นเวลานาน หากได้รับยา Itraconazole เพิ่มเข้ามา ก็อาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis) ขึ้นได้

การใช้ยารักษาเกลื้อนในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยารักษาเกลื้อนในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ผู้ป่วยเด็กสามารถใช้ยาต้านเชื้อราชนิดทาภายนอก และแชมพูสระผม เพื่อรักษาโรคเกลื้อนได้เช่นเดียวกันกับวัยผู้ใหญ่
  • หากมีอาการเกลื้อนรุนแรง แพทย์สามารถใช้ยารับประทานได้เช่นกัน โดยแพทย์อาจเลือกยา Itraconazole หรือ Fluconazole เป็นตัวเลือกแรก

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยารักษาเกลื้อนมีอะไรบ้าง?

อาการไม่พึงประสงค์ของยาจากการใช้ยารักษาเกลื้อน เช่น

  • ยาต้านเชื้อราชนิดทาภายนอกและแชมพู พบอาการไม่พึงประสงค์ได้น้อยและส่วนใหญ่จะพบในบริเวณที่ใช้ยา เช่น คัน ระคายเคือง ผิวแดง แสบร้อน ผื่นลมพิษ ผิวแห้งลอก
  • ยาKetoconazole ชนิดรับประทาน: ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย เต้านมโตในเพศชาย/ผู้ชายมีเต้านม อาการไม่พึงประสงค์ต่อระบบตับและทางเดินน้ำดี เช่น ตับอักเสบ, ดีซ่าน, ระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น, เซลล์ตับถูกทำลาย, ภาวะตับโต
  • ยาFluconazole ชนิดรับประทาน: ทำให้ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย การรับรสผิดปกติ เกิดผื่นคันบริเวณผิวหนัง
  • ยาItraconazole ชนิดรับประทาน: ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร บวมน้ำ ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องเสีย มีไข้ อ่อนเพลีย ความดันโลหิตสูง เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

สรุป

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยารักษาเกลื้อน) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. โกวิท คัมภีรภาพ. ยาทาต้านเชื้อรา. วารสารสมาคมศิษย์เก่าสถาบันโรคผิวหนัง ฉบับที่ 37 (กันยายน 2557): 15-21.
  2. American Academy of Dermatology. Tinea Versicolor https://www.aad.org/public/diseases/color-problems/tinea-versicolor [2019,Feb9]
  3. Crouse, L, N., and others. Tinea Versicolor Medication https://emedicine.medscape.com/article/1091575-medication [2019,Feb9]
  4. Kaul, S., Yadav, S. Dogra, S. Treatment of Dermatophytosis in Elderly, Children, and Pregnant Women. Indian Dermatol Online J. 8 (September – October 2017): 310-318.