ยารักษาหูดหงอนไก่ (Genital warts medications)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยารักษาหูดหงอนไก่

ยารักษาหูดหงอนไก่หมายความว่าอย่างไร?

ยารักษาหูดหงอนไก่ (ยาหูดหงอนไก่) หมายถึง ยาที่ใช้ รักษา ป้องกัน และลดอัตราการกลับเป็นซ้ำของโรคหูดหงอนไก่ หรืออีกชื่อคือ หูดอวัยวะเพศ (Genital warts หรือ Condyloma acuminata) ซึ่งเป็นโรคผิวหนังที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อฮิวแมนแปปิโลมาไวรัส (Human papillomavirus, HPV)/โรคติดเชื้อเอชพีวี

ยารักษาหูดหงอนไก่มีกี่ประเภท?

ยารักษาหูดหงอนไก่ แบ่งประเภทยาที่รวมถึงวัคซีนป้องกันโรค ดังต่อไปนี้

ก. ยาที่แพทย์ต้องเป็นผู้ทายาให้ผู้ป่วย(Provider-administered therapies): เป็นยาที่ผู้ป่วยต้องมาทายาที่โรงพยาบาลโดยบุคลากรทางการแพทย์( แพทย์ พยาบาล)เป็นผู้ทายาให้ เพราะหากทายาผิดวิธีจะส่งผลให้เกิดแผลบริเวณผิวหนังที่สัมผัสยา หรือทำให้การรักษาไม่ได้ผล ยากลุ่มนี้ ได้แก่

1. ไตรคลอโรอะเซติคแอซิด (Trichloroacetic acid, TCA), ไบคลอโรอะเซติคแอซิด (Bichloroacetic acid, BCA)

2. โพโดฟิลลิน (Podophyllin)

ข. ยาที่ผู้ป่วยสามารถทาเองได้ (Patient-applied therapies): เป็นยาที่ให้ผู้ป่วยกลับไปทาเองที่บ้าน แล้วค่อยกลับมาตรวจติดตามการรักษาจากแพทย์ภายหลัง วิธีนี้มีข้อดีคือสะดวก และผู้ป่วยจะมีความเป็นส่วนตัวมากกว่า แต่มีข้อเสียคือ ราคาแพง ยากลุ่มนี้ได้แก่

1. โพโดฟิลอก (Podofilox) หรืออีกชื่อคือ โพโดฟิโลทอกซิน (Podophyllotoxin)

2. อิมิควิโมด (Imiquimod)

3. ไซนีคาเทชิน (Sinecatechins)

ค. วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (Human papillomavirus Vaccines, HPV Vaccines) ชนิด 4 สายพันธุ์ (Gardasil®) ได้แก่ สายพันธุ์ 6,11, 16 และ 18

ยารักษาหูดหงอนไก่มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยารักษาหูดหงอนไก่มีรูปแบบการจัดจำหน่าย ดังนี้

  • ยาครีม (Cream)
  • ยาทิงเจอร์ (Tincture)
  • ยาน้ำใส (Solution)
  • ยาเจล (Gel)
  • ยาขี้ผึ้ง (Ointment)
  • ยาป้าย (Paint)

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

ยารักษาหูดหงอนไก่มีข้อบ่งใช้อย่างไร?

ยารักษาหูดหงอนไก่มีข้อบ่งใช้ เช่น

1. ใช้รักษาโรคหูดหงอนไก่บริเวณรอบนอกอวัยวะเพศ และบริเวณรอบทวารหนัก

2. วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ใช้ป้องกันการติดเชื้อฮิวแมนแปปิโลมาไวรัส (Human papillomavirus, HPV) สายพันธุ์ที่ 6 และ 11 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ และใช้ป้องกันเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก

ยารักษาหูดหงอนไก่มีข้อห้ามใช้อย่างไร?

ยารักษาหูดหงอนไก่มีข้อห้ามใช้ เช่น

1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง(Hypersensitivity)ต่อยานั้นๆ

2. ยารักษาหูดหงอนไก่เป็นยาใช้ภายนอกเท่านั้น ห้ามรับประทาน

3. ห้ามใช้ยารักษาหูดหงอนไก่ทาบริเวณผิวหนังที่บอบบาง เช่น ภายในช่องคลอด ภายในทวารหนัก ปากทางเดินปัสสาวะ เพราะอาจก่อให้เกิดการะคายเคืองรุนแรงได้ง่าย

4. ห้ามใช้ยา Trichloroacetic acid, Bichloroacetic acid และ Podophyllin บริเวณผิวหนังที่ มีอาการระคายเคือง ติดเชื้อ แดง คัน บวม มีเลือดออก และผิวหนังบริเวณที่มีความผิดปกติ เช่น ปาน ไฝ เพราะอาจเกิดแผลรุนแรงในบริเวณสัมผัสยา

5. ห้ามใช้ยา Podophyllin ทาผิวหนังกว้างเกินกว่า 10 ตารางเซนติเมตร หรือปริมาณมากกว่า 0.5 มิลลิลิตรต่อวัน หรือทาบริเวณหูดที่มีเลือดออก เพราะอาจทำให้ร่างกายได้รับยานี้มากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่รุนแรงได้

มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาหูดหงอนไก่อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาหูดหงอนไก่ เช่น

1. ไม่ควรซื้อยารักษาหูดหงอนไก่(โรคหูดฯ) มาทาเอง เนื่องจากโรคหูด และยารักษาโรคหูด นั้นมีหลายประเภท บางประเภทไม่เหมาะกับการรักษาหูดหงอนไก่ และอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนังอย่างรุนแรง

2. ผู้ป่วยโรคหูดหงอนไก่ควรไปพบแพทย์เพราะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆร่วมด้วย นอกจากนี้ผู้ป่วยเพศหญิงจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้น

3. ควรงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ขณะที่เป็นโรคหูดหงอนไก่ เพราะอาจทำให้เชื้อติดต่อไปยังคู่นอนได้

4. ก่อนทายารักษาโรคหูดหงอนไก่ทุกครั้ง ผู้ป่วยควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเสมอ ไม่ควรให้ยานี้โดนน้ำอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมงหลังทายา เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของยานี้ลดลง

5. ไม่ควรใช้ยา Sinecatechins นานเกิน 16 สัปดาห์ และไม่ควรใช้ในผู้ที่ติดเชื้อ HIV หรือผู้มีภาวะภูมิคุ้มกัน(ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค)บกพร่อง หรือเป็นโรคเริมที่อวัยวะเพศ เพราะยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยานี้ในการรักษาโรคดังกล่าวมากเพียงพอ

6. การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เพื่อให้ได้ประสิทธิผลสูงสุด ต้องฉีดตั้งแต่ยังไม่เคยได้รับเชื้อ HPV มาก่อน นั่นคือ ก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก

การใช้ยารักษาหูดหงอนไก่ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยารักษาหูดหงอนไก่ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

1. ยาที่แนะนำให้ใช้ในหญิงมีครรภ์/ตั้งครรภ์ที่ป่วยเป็นโรคหูดหงอนไก่ คือยา Trichloroacetic acid และ Bichloroacetic acid เป็นยาตัวเลือกแรก

2. ห้ามใช้ยา Podofilox และ Sinecatechins ในหญิงมีครรภ์ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์

3. ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้ยา Podophylline, Imiquimod, และวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในหญิงมีครรภ์

การใช้ยารักษาหูดหงอนไก่ในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยารักษาหูดหงอนไก่ในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ยารักษาหูดหงอนไก่ สามารถใช้ได้ในผู้สูงอายุ แต่ควรใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากผิวหนังของผู้สูงอายุค่อนข้างแห้ง จึงอาจทำให้เกิดการระคายเคืองรุนแรงได้ง่าย

การใช้ยารักษาหูดหงอนไก่ในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยารักษาหูดหงอนไก่ในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

1. ยารักษาหูดหงอนไก่สามารถใช้ได้ในเด็ก แต่ควรใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากผิวหนังของเด็กบอบบางและมีความชื้นสูง ทำให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่ผิวหนังและเข้าสู่กระแสเลือดได้ดีกว่ากว่าในผู้ใหญ่ จึงมีโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยานี้ได้มากกว่า

2. วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก สามารถฉีดได้ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไป ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย

3. หูดหงอนไก่เป็นโรคที่พบได้น้อยในเด็ก อาจมีสาเหตุการติดเชื้อจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ จึงควรมีการซักประวัติ/สอบถามประวัติและการตรวจร่างกายของผู้ป่วยเพิ่มเติมก่อนการรักษา

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยารักษาหูดหงอนไก่เป็นอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยารักษาหูดหงอนไก่ เช่น

1. ยา Trichloroacetic acid และ Bichloroacetic acid ทำให้เกิดอาการ ปวด แสบร้อนบริเวณผิวหนังที่ทายา ระคายเคืองผิวหนัง อาจเป็นแผลเลือดออก รอยด่าง หรือทำลายเนื้อเยื่อบริเวณปกติที่สัมผัสยานี้ได้

2. ยา Podophylline ทำให้เกิดความผิดปกติบริเวณที่ทายา ได้แก่ แสบร้อน แดง ปวด คัน ระคายเคือง อาการอื่นๆ ที่รุนแรงถ้ายาถูกดูดซึมเข้ากระแสโลหิตในปริมาณสูง ได้แก่ ลำไส้อักเสบ มีการกดไขกระดูก และทำให้เกิดความบกพร่อง/ความผิดปกติของระบบประสาท

3. ยา Podofilox ทำให้เกิดความผิดปกติบริเวณที่ทายา ได้แก่ แสบร้อน แดง ปวด คัน เป็นแผล และบวม

4. ยา Imiquimod ทำให้เกิดความผิดปกติบริเวณที่ทายา ได้แก่ ผิวหนังไหม้ รอยด่าง ระคายเคือง คัน ปวด ผื่นแดง แสบ ปวดแสบปวดร้อน กดเจ็บ

5. ยา Sinecatechins ทำให้เกิดความผิดปกติบริเวณที่ทายา ได้แก่ ผื่นแดง แสบ คัน และปวด อาการอื่นๆ ที่พบได้น้อยแต่รุนแรง ได้แก่ ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ช่องคลอดอักเสบ ปลายอวัยวะเพศชายอักเสบ

6. วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ทำให้เกิดอาการ บวม คัน ปวด มีรอยช้ำหรือรอยแดงบริเวณที่ฉีดยา อาการอื่นๆ ได้แก่ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง ปวดศีรษะ

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยารักษาหูดหงอนไก่) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. เจนจิต ฉายะจินดา. หูดหงอนไก่...ไม่ถึงตายแต่ทำลายความมั่นใจ (ตอนที่ 1). www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=951 [2017,March18]
  2. เจนจิต ฉายะจินดา. หูดหงอนไก่...ไม่ถึงตายแต่ทำลายความมั่นใจ (ตอนที่ 2). www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=952 [2017,March18]
  3. ชนากานต์ เกิดกลิ่นหอม และคนอื่นๆ. คู่มือเรื่องโรคหูดหงอนไก่. www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=888 [2017,March18]
  4. ปวีณา พังสุวรรณ. หูดอวัยวะเพศ (Anogenital wart) http://www.medicine.cmu.ac.th/dept/obgyn/2011/index.php?option=com_content&view=article&id=1311:anogenital-wart&catid=45&Itemid=561 [2017,March18]
  5. สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พ.ศ. 2558. หจก. สำนักพิมพ์อักษรกราฟฟิคแอนด์ดีไซน์, 2558.
  6. Centers for Disease Control and Prevention. Anogenital warts Available from : https://www.cdc.gov/std/tg2015/warts.html [2017,March18]
  7. Fathi, R., and Tsoukas, M.M., Genital warts and other HPV infections: Established and novel therapies. Clinics in Dermatology 32 (2014) : 299–306.
  8. Schaefer, C., Peters P., and Miller, R.K. Drugs During Pregnancy and Lactation. Third Edition. Oxford : Academic press., 2015.