ยารักษารังแค (Medications for dandruff)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 1 พฤษภาคม 2562
- Tweet
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- รังแค ขี้รังแค (Pityriasis sicca หรือ Dandruff หรือ Pityriasis capitis)
- ยาลอกผิวหนัง หรือสารลอกคีราติน (Keratolytic agent)
- ซิงค์ ไพริไธโอน (Zinc pyrithione)
- ยาต้านเชื้อรา (Antifungal drugs)
- ยารักษารังแคคือยามีคุณสมบัติอะไร?
- ยารักษารังแคแบ่งเป็นกี่ประเภท?
- ยารักษารังแคมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
- มีข้อบ่งใช้ยารักษารังแคอย่างไร?
- มีข้อห้ามใช้ยารักษารังแคอย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยารักษารังแคอย่างไร?
- การใช้ยารักษารังแคในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยารักษารังแคในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยารักษารังแคในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยารักษารังแคเป็นอย่างไร?
- สรุป
- บรรณานุกรม
ยารักษารังแคคือยามีคุณสมบัติอะไร?
รังแค(Dandruff) มีลักษณะเป็นขุยหรือสะเก็ดสีขาวบริเวณหนังศีรษะ สาเหตุของการเกิดรังแคยังไม่ทราบแน่ชัด อาจเกิดจากเซลล์หนังกำพร้าบริเวณหนังศีรษะแบ่งตัวเร็วผิดปกติ หรือจากการติดเชื้อ ‘มาลาสซีเซีย เฟอร์เฟอร์(Malassezia furfur)’ ซึ่งเป็นเชื้อราชนิดหนึ่งที่พบได้บริเวณผิวหนัง หรือสาเหตุอื่นๆ ตัวอย่างเช่น การแพ้สารเคมีที่สัมผัสกับหนังศีรษะ จำพวกแชมพู น้ำยาย้อมสีผม เป็นต้น
การรักษารังแค อาจเริ่มต้นด้วยการใช้แชมพูสูตรที่อ่อนโยนต่อหนังศีรษะ ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นก็สามารถใช้ยารักษารังแค(Dandruff medications หรือ Medications for dandruff) ที่ออกฤทธิ์ลดปริมาณรังแค หรือฆ่าเชื้อราบริเวณหนังศีรษะ
ยารักษารังแค เป็นยาใช้ภายนอก ที่มีอยู่หลากหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของแชมพูสระผม
ยารักษารังแคแบ่งเป็นกี่ประเภท?
ยารักษารังแค แบ่งได้เป็นประเภท/เป็นกลุ่ม ดังนี้
ก. ยาต้านเชื้อรา (Antifungal agents): เช่นยา
- ซีลีเนียม ซัลไฟด์ (Selenium Sulfide)
- คีโตโคนาโซล (Ketoconazole)
- ไซโคลไพร็อก (Ciclopirox)
ข. ยาออกฤทธิ์เร่งการผลัดเซลล์ผิว/ ยาลอกผิวหนัง (Keratolytic agents): เช่นยา
- กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid)
- กำมะถัน (Sulphur topical)
ค.ยายับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์หนังศีรษะ(Antiproliferative agents): เช่นยา
- น้ำมันดิน (Coal tar/ Coal tar topical)
- ซิงก์ ไพริไทโอน (Zinc pyrithione)
ยารักษารังแคมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยารักษารังแคมีรูปแบบจัดจำหน่าย เช่น
- แชมพู (Shampoo)
- ครีม (Cream)
- ยาน้ำใส (Solution)
- ขี้ผึ้ง (Ointment)
- โฟม (Foam)
- เจล (Gel)
- โลชั่น (Lotion)
อนึ่ง แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”
มีข้อบ่งใช้ยารักษารังแคอย่างไร?
มีข้อบ่งใช้ยารักษารังแค ในการใช้รักษารังแคและป้องกันการกลับเป็นซ้ำ เช่น
- ยาต้านเชื้อรา: เพื่อใช้ฆ่าเชื้อรา มาลาสซีเซีย เฟอร์เฟอร์ (Malassezia furfur) บริเวณหนังศรีษะ
- ยาออกฤทธิ์เร่งการผลัดเซลล์ผิว: เพื่อช่วยให้สะเก็ดหรือขุยของรังแคหลุดออกได้เร็วขึ้น
- ยายับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์หนังศีรษะ: เพื่อช่วยลดปริมาณรังแค, บรรเทาอาการอักเสบและคันบริเวณหนังศีรษะ
มีข้อห้ามใช้ยารักษารังแคอย่างไร?
มีข้อห้ามใช้ยารักษารังแค เช่น
- ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือผู้มีมีปฏิกิริยาตอบสนอง/ความไวเกินที่รุนแรง(Hypersensitivity)ต่อยานั้นๆ
- ห้ามใช้ยารักษารังแคบริเวณผิวหนังที่
- มีการติดเชื้อ
- มีแผลเปิด
- มีแผลพุพอง
- หรือ มีตุ่มหนอง
มีข้อควรระวังการใช้ยารักษารังแคอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยารักษารังแค เช่น
1. ยารักษารังแค มีตัวยาสำคัญและรูปแบบที่แตกต่างกัน ดังนั้นเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดี ควรปฏิบัติตามวิธีใช้และคำแนะนำบนฉลากยา/เอกสารกำกับยาอย่างเคร่งครัด ตัวอย่างเช่น การใช้ยาในรูปแบบแชมพูสระผม หากสระทิ้งไว้นานหรือใช้บ่อยเกินไป อาจทำให้ระคายเคืองหรือแสบร้อนบริเวณผิวหนัง/หนังศีรษะที่ใช้
2. ขณะที่ใช้ยารักษารังแคที่อยู่ในรูปแบบของยาสระผม ควรมัดระวังไม่ให้เข้าตา หากผลิตภัณฑ์เข้าตาให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก หลังจากนั้นถ้ายังมีอาการทางตา ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
3. ยา Coal tar อาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้ โดยเฉพาะบริเวณผิวหนังที่บอบบาง ระวังการใช้บริเวณที่
- ผิวหนังอักเสบ แห้ง แตก
- และหยุดใช้ยานี้ทันทีหากระคายเคืองหรือมีอาการรุนแรงกว่าเดิม
4. ยาCoal tar อาจทำให้ผิวหนังไวต่อแสงแดด ดังนั้น
- ควรระวังการใช้ร่วมกับยาอื่นๆที่ทำให้ผิวหนังไวต่อแสงแดดเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ยาขับปัสสาวะกลุ่ม Thiazides, ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย/ ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Tetracyclines ,
- หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดอย่างน้อย 24 ชั่วโมงหลังจากใช้ยาCoal tar เพื่อป้องกันการเกิดผิวไหม้แดด
- ซึ่งหากเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหมวกหรือกางร่มเพื่อป้องกันแสงแดด
5. ยา Coal tar อาจทำให้สีผมเปลี่ยนไปชั่วคราว โดยเฉพาะผู้ที่มีผมสีอ่อน เช่น ขาว เทา หรือทอง และสีของแชมพูอาจติดอยู่บริเวณ ผิวหนัง เสื้อผ้า หรือปลอกหมอน เป็นต้น
การใช้ยารักษารังแคในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยารักษารังแคในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น
- ยารักษารังแค สามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ แต่ควรใช้เฉพาะบริเวณที่เป็นรังแค และใช้ภายในระยะเวลาที่กำหนดเท่านั้น
- ยกเว้นยา Coal tar ที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากยังไม่มีผลการศึกษาด้านความปลอดภัยที่มากเพียงพอ
การใช้ยารักษารังแคในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยารักษารังแคในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ คือ
- ผู้สูงอายุสามารถใช้ยารักษารังแคได้ อาการไม่พึงประสงค์จากยาที่พบ ไม่แตกต่างกันกับในวัยผู้ใหญ่
การใช้ยารักษารังแคในเด็กควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยารักษารังแคในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น
1. รังแคมีโอกาสพบในเด็กได้น้อยกว่าวัยอื่นๆ ยารักษารังแคสามารถใช้ได้ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป เช่นยา Sulfur topical, Salicylic acid, Selenium sulfide, Zinc pyrithione และ Coal tar
2. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา Ketoconazole และ Ciclopirox ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี เพราะยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากเพียงพอ
3. เพื่อความปลอดภัย การใช้ยารักษารังแคในเด็ก ควรปรึกษาแพทย์ หรือ เป็นคำสั่งใช้จากแพทย์
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยารักษารังแคเป็นอย่างไร?
อาการไม่พึงประสงค์ของยา จากการใช้ยารักษารังแค เช่น
- ยาต้านเชื้อรา: อาจทำให้เกิด
- ผื่นคัน
- ผมร่วง หรือ ผมบางลงผิดปกติ
- ผิวหนังหรือหนังศีรษะมีอาการระคายเคือง แห้ง คัน หรือแสบร้อน
- ลักษณะของเส้นผมผิดปกติ สีผมเปลี่ยนไป
- ผมและหนังศีรษะมันหรือแห้งผิดปกติ
- ยากลุ่ม Keratolytic agents: ทำให้บริเวณหนังศีรษะหรือผิวหนังมีอาการระคายเคือง คัน แสบร้อน ผิวหนังแห้งลอก
- ยา Coal tar: ทำให้บริเวณหนังศีรษะ
- แห้ง แดง คัน ระคายเคือง
- สีผมเปลี่ยนไป
- ผิวไวต่อแสง
- ผมร่วง หรือผมบางลงผิดปกติ
- รูขุมขนอักเสบ
- ระคายเคืองตา
- ยา Zinc pyrithione: ทำให้ผิวหนัง/หนังศีรษะเกิดอาการ ระคายเคือง แสบร้อน พุพอง
สรุป
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยารักษารังแค) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
- ชนิษฎา ตู้จินดา. รังแค (Dandruff) http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/admin/article_files/555_1.pdf [2019,April13]
- สิกขวัฒน์ นักร้อง. รังแคกับการใช้ยาที่เหมาะสม. วงการยา ฉบับที่ 196 (ตุลาคม 2557): 10-11.
- Grimalt, R. A Practical Guide to Scalp Disorders. Journal of Investigative Dermatology Symposium Proceedings 12 (2007): 10–14.
- Pray, W. S. Dandruff and Seborrheic Dermatitis.2001. https://www.medscape.com/viewarticle/407641_5 [2019,April13]
- Schaefer, C., Peters, P. W. J., and Mille, R. K. (2015). Drugs During Pregnancy and Lactation. (3rd ed.). Europe: Academic Press.