ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน (Antiandrogens)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) เป็นฮอร์โมนชนิดสเตียรอยด์ (Steroid Hormone) ที่มีบทบาทในการกระตุ้นการควบคุมการเจริญเติบโตของอวัยวะเพศชายและลักษณะความเป็นชาย เช่น การมีเสียงทุ้ม การมีมัดกล้ามเนื้อ มือ เท้า และจมูกที่ใหญ่กว่าผู้หญิง เป็นต้น ฮอร์โมนแอนโดรเจนมีหลายชนิด ชนิดที่รู้จักกันโดยทั่วไป ประกอบไปด้วย 3 ชนิดหลักๆ คือ ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone), ฮอร์โมนไดไฮโดรเทสโทสเทอโรน (Dihydrotestosterone), และฮอร์โมนแอนโดรสตีนไดโอน (Androstenedione)

นอกจากการควบคุมลักษณะความเป็นชายแล้ว ฮอร์โมนในกลุ่มแอนโดรเจนนี้ ยังมีบทบาทในการควบคุมการเจริญเติบโตของต่อมลูกหมาก ควบคุมความต้องการทางเพศ ส่วนในหญิง ฮอร์โมนแอนโดรเจนมีบทบาทในการเป็นฮอร์โมนตั้งต้นที่จะพัฒนาไปเป็นฮอร์โมนเพศหญิง คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน(Estrogen) จึงมีการนำคุณสมบัติของฮอร์โมนแอนโดรเจนพัฒนาเป็นยาในกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า ยายับยั้งฮอรโมนแอนโดรเจน หรือยาต้านฮอร์โมนแอนโดรเจน (Antiandrogens หรือ Antiandrogen drug หรือAndrogen antagonist หรือ Testosterone blocker) เพื่อใช้ในการควบคุมการทำงานของฮอรโมนแอนโดนเจน ซึ่งแบ่งลักษณะการยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนแอนโดนเจนได้ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มยาที่ปิดกั้นตัวรับ(Receptor)ของฮอรโมนแอนโดรเจน (Androgen Receptor Antagonists)

2. กลุ่มยาที่ยับยั้งการสังเคราะห์ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen Synthesis Inhibitors)

3. กลุ่มยายับยั้งโกนาโดโทรปินส์ (Antigonadotropins) ทั้งนี้ โกนาโดโทรปินส์ เป็นฮอร์โมนสร้างจากต่อมใต้สมองที่เกี่ยวข้องกับการสร้างฮอร์โมนต่างๆหลายชนิดที่รวมถึงฮอร์โมนแอนโดรเจน

ปัจจุบัน ยาในกลุ่มยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนแอนโดรเจน/ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน มีการนำมาใช้ในทางการแพทย์เพื่อรักษาผู้ป่วย โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคต่อมลูกหมากโต ภาวะหัวล้านจากฮอร์โมนแอนโดรเจน อาการความใคร่ไม่รู้อิ่ม (Hypersexuality) โรคกามวิปริต (Paraphilia) ภาวะเริ่มเจริญพันธุ์ก่อนวัย (Precocious puberty) ส่วนในผู้หญิง ยังมีการนำยานี้ มาใช้ในการรักษาภาวะซีบอเรีย (Seborrhea, ภาวะที่มีการอักเสบของผิวหนังบริเวณที่มีต่อมไขมัน) โรคสิวอักเสบที่รักแร้ (Acne inversa) ภาวะขนดก (Hirsutism) และภาวะที่มีระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนในร่างกายมากเกินไป (Hyperandrogenism)

ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน

กลุ่มยาที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนแอนโดรเจน มีการนำมาใช้เพื่อควบคุมการทำงานฮอร์โมนแอนโดรเจนในร่างกาย โดยมีข้อบ่งใช้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนหรือข้อบ่งใช้ในทางการแพทย์ ดังต่อไปนี้ เช่น

ก. ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ได้แก่ ยาอะบิราเทอโรน (Abiraterone) ยาไซโพรเทอโรน (Cyproterone) ยาไบคาลูทาไมด์ (Bicalutamide) ยาดาโรลูทาไมด์ (Darolutamide) ยาเอนซาลูทาไมด์ (Enzalutamide) ยาฟลูทาไมด์ (Flutamide) ยาไนลูทาไมด์ (Nilutamide)

ข. ใช้ในการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต ได้แก่ ยาออกเซนโดโลน (Oxendolone) ยาดูแทสเทอไรด์ (Dutasteride) ยาฟีแนสเทอไรด์ (Finasteride)

ค. ใช้ในการรักษาภาวะเริ่มเจริญพันธุ์ก่อนวัย ได้แก่ ยาไซโพรเทอโรน (Cyproterone)

ง. ใช้ในการรักษาภาวะศีรษะล้านจากฮอร์โมนแอนโดรเจน ได้แก่ ยาไซโพรเทอโรน (Cyproterone) ยาโทพิลูทาไมด์ (Topilutamide) ยาแอลฟาทราไดออล (Alfatradiol) ยาดูทาสเทอไรด์ (Dutasteride) ยาฟีแนสเทอไรด์ (Finasteride)

จ. ใช้การรักษาอาการมีความใคร่ไม่รู้อิ่ม และโรคกามวิปริต ได้แก่ ยาไซโพรเทอโรน (Cyproterone)

ฉ. ใช้ในการรักษาภาวะขนดก (Hirsutism) ได้แก่ ยาแคนรีโนน (Canrenone) ยาไซโพรเทอโรน (Cyproterone) ยาสไปโรโนแลกโตน (Spironolactone) ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole)

ช. ใช้ในการรักษาสิว ได้แก่ ยาสไปโรโนแลกโตน (Spironolactone)

ซ. ใช้ในการรักษาภาวะเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ/เลือดออกกระปริบกระปรอยทางช่องคลอด (Irregular vaginal bleeding) ได้แก่ ยาคลอร์มาไดโนน (Chlormadinone)

ฌ. ใช้เป็นยาคุมกำเนิด ได้แก่ ยาไซโพรเทอโรน (Cyproterone) ยาโดรสไปรีโนน (Drospirenone)

ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

แม้ว่ายาในกลุ่มยับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน จะมีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานฮอร์โมนแอนโดรเจนที่เหมือนกัน แต่กลไกในการทำงาน/ในการออกฤทธิ์ มีความแตกต่างกันออกไป ได้แก่

ก. ยาที่ออกฤทธิ์โดยไปปิดกั้นตัวรับแอนโดรเจน (Androgen Receptor Antagonists) ประกอบไปด้วย

  • ยาชนิดที่มีโครงสร้างเป็นสารจำพวกสเตียรอยด์ เช่น ยาไซโพรเทอโรน (Cyproterone) ยาคลอร์มาไดโนน (Chlormadinone) ยาสไปโรโนแลกโตน (Spironolactone)
  • ยาชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ยาไบคาลูทาไมด์ (Bicalutamide) ยาไนลูทาไมด์ (Nilutamide) เป็นต้น และ
  • ยาอีกจำพวกหนึ่งที่ใช้เป็นยาเม็ดคุมกำเนิด ที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานฮอร์โมนแอนโดรเจน แต่ยับยั้งได้ในปริมาณต่ำ เช่น ยาโดรสไปรีโนน (Drospirenone) เป็นต้น

ข. ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคระห์ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen synthesis inhibitors) โดยทำงานที่กระบวนการสังเคราะห์ฮอร์โมนในกลุ่มแอนโดรเจน (หมายรวมไปถึงฮอร์โมนจำพวกเทสโทสเทอโรนด้วย) เช่น ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP17A1 (Cytochrome P450 17A1) ซึ่งจะยับยั้งการเปลี่ยนรูปของสเตียรอยด์ไปเป็นฮอร์โมนแอนโดรเจน ได้แก่ ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ยาอะบิราเทอโรน (Abiraterone) เป็นต้น หรือยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไฟฟ์แอลฟารีดักเทส (5 alpha-reductase inhibitors) เช่น ยาฟีแนสเทอไรด์ (Finasteride), ยาทูแทสเทอไรด์ (Dutasteride) เป็นต้น

ค. ยาที่ออกฤทธิ์ลดการสร้างฮอร์โมนโกนาโดโทรปินส์ (Antigonadotropins): ฮอร์โมนโกนาโดโทรปินส์มีส่วนในการกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนแอนโดรเจน ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ ยาลิวโพรรีลิน (Leuprorelin) และยาซีโทรรีลิกซ์ (Cetrorelix) เป็นต้น

ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

กลุ่มยาที่ยับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายยาดังต่อไปนี้

ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ขนาดการบริหารยา/ใช้ยาของยาในกลุ่มที่ยับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจนมีความแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นกับ ข้อบ่งใช้ทางการแพทย์ ชนิดของยา และสภาวะของผู้ป่วย(เช่น อายุ ความรุนแรงของอาการ โรคประจำตัวต่างๆ) ทั้งนี้ แพทย์จะเป็นผู้กำหนด ชนิดยา และขนาดยา เพื่อให้เหมาะสมในการรักษาผู้ป่วยแต่ละราย

เมื่อมีการสั่งยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้ เช่น

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมี ต่างๆ
  • ประวัติการใช้ยา ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่าย และยาที่ซื้อทานเอง วิตามินต่างๆ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพรทุกชนิด
  • ประวัติโรคประจำตัว โดยเฉพาะประวัติโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติด้านฮอร์โมนของร่างกาย
  • แจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบหากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่ตั้งครรภ์ หรือกำลังอยู่ในช่วงระหว่างการให้นมบุตร

หากลืมกินยา/ใช้ ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน ควรทำอย่างไร?

โดยทั่วไปแล้ว หากลืมรับประทานยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากเวลาที่นึกขึ้นได้ใกล้กับเวลาสำหรับมื้อยาถัดไปแล้ว ให้ข้ามมื้อยาที่ลืมไป แล้วรับประทานยามื้อถัดไปตามปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

สำหรับยานี้ชนิดยาฉีด หากลืมเข้ารับการบริหารยา/ฉีดยา ผู้ป่วยควรติดต่อสถานพยาบาลที่ทำการรักษาอยู่ เพื่อนัดหมายการเข้ารับยานี้โดยเร็วที่สุด

อย่างไรก็ดี ยานี้บางชนิดอาจมีวิธีการรับประทานที่จำเพาะ และการลืมทานยาอาจส่งผลต่อผลการรักษา ดังนั้น จึงควรสอบถามแพทย์และเภสัชกรถึงวิธีการรับประทานยาเมื่อลืมทานยา และผลกระทบต่อการรักษาหากลืมรับประทานยาเมื่อรับยาทุกครั้ง

ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ในกลุ่มยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจนมีความแตกต่างกันไปตามชนิดของตัวยา ตัวอย่างเช่น

ยาที่ออกฤทธิ์ในลดการสร้างฮอร์โมนโกนาโดโทรปินส์ (Antigonadotropins) อาจส่งผลให้ความต้องการทางเพศลดลง รวมไปถึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน

แต่ยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์โดยไปปิดกั้นตัวรับแอนโดรเจน เช่นยา ไบคาลูทาไมด์ จะก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุนน้อยกว่า

แต่โดยหลักๆแล้ว เนื่องจากยาในกลุ่มยับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจนนี้ จะมีผลทำให้ฮอร์โมนแอนโดรเจนซึ่งจะเปลี่ยนไปเป็นฮอร์โมนเพศชายลดลง จึงอาจส่งผลต่อลักษณะการแสดงออกของความเป็นชายลดลงในผู้ป่วยชายที่ใช้ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจนเป็นระยะวลานานๆ

ทั้งนี้ อาการไม่พึงประสงค์ของยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน จะแปรผันไปตามความจำเพาะของตัวยาต่อตัวรับด้วย เช่น การมีมวลกล้ามเนื้อลดลง เต้านมใหญ่ขึ้น เกิดความเปลี่ยนแปลงในความต้องการทางเพศที่อาจจะลดลง

ผู้ป่วยส่วนน้อย อาจมีผลกระทบต่อด้านอารมณ์ เช่น อาการซึม เกิดความเหนื่อยล้า

ทั้งนี้ ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ หากพบว่าอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่มีท่าทีว่าอาการจะทุเลาลง

ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจนบางชนิด อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่มีความรุนแรง เช่น มีผลกระทบ/พิษ/ผลข้างเคียงรุนแรงต่อการทำงานของตับ ซึ่งจะพบได้ว่า ผู้ป่วยอาจเกิดอาการดีซ่าน (ตัวเหลือง) ซึ่งต้องรีบเข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที

นอกจากนี้ ในขณะเริ่มใช้ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน หากพบว่ามีอาการแพ้ยา เช่น เกิดผื่นคันขึ้นตามลำตัว หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก ริมฝีปาก เปลือกตา ใบหน้า บวม ควรหยุดการใช้ยานั้นทันที แลรีบเข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

ที่กล่าวมานั้น เป็นอาการไม่พึงประสงค์ในภาพรวมของกลุ่มยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน เนื่องจากยาในกลุ่มนี้ มีความแตกต่างกันอยู่มาก ทั้งลักษณะของตัวยา และการออกฤทธิ์ของตัวยา จึงมีอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่แตกต่างกันออกไป ผู้ป่วยควรตั้งใจฟังคำแนะนำจาก แพทย์และเภสัชกร เมื่อรับยาทุกครั้ง

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรตระหนักว่า การที่แพทย์สั่งใช้ยาในกลุ่มนี้ เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่ายาในกลุ่มนี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือการได้รับผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยที่ได้รับยาในกลุ่มนี้ส่วนมาก ไม่พบว่าเกิดอาการไม่พีงประสงค์ที่ชนิดรุนแรง ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงต่างๆดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น และรีบแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ หากเกิดอาการรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

มีข้อควรระวังการใช้ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน เช่น

  • ไม่ใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยา หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้โดยเด็ดขาด
  • โดยทั่วไปไม่ควรใช้ยาในกลุ่มนี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์
  • สตรีที่วางแผนจะมีครรภ์ หรืออยู่ในระหว่างการให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนการใช้ยานี้
  • ยากลุ่มนี้บางชนิดมีข้อห้ามใช้จำเพาะ ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติโรคที่เป็นมาในอดีต และที่กำลังเป็นอยู่กับแพทย์โดยละเอียด
  • ไม่แบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ไม่ใช้ยาหมดอายุ
  • ไม่เก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาในกลุ่มยับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจนโดยส่วนมาก ไม่มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นโดยตรง จากการศึกษาพบว่าการใช้ยาที่ลดระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน อาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการผิดปกติทางการเต้นของหัวใจ ที่เรียกว่า “คิวทียาว (QT prolongation)” ดังนั้น ผู้ป่วยที่ใช้ยาในกลุ้มนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิดที่ใช้รักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะร่วมกัน เช่น ยาควินิดีน (Quinidine) ยาอะมิโอดาโรน (Amiodarone) ยาโซทาลอล (Sotalol) รวมไปถึงยารักษาโรคจิตเภทบางชนิด

ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจนแต่ละชนิด อาจมีปฏิกิริยาระหว่างยาที่จำเพาะกับยาชนิดอื่นๆได้ ดังนั้น ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบถึงยาที่กำลังใช้อยู่ทุกครั้งขณะรับยา

ควรเก็บรักษายายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน อย่างไร?

โดยทั่วไปยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจนสามารถเก็บได้ ณ อุณหภูมิห้อง เก็บยาในที่แห้งและเย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่มีแสงแดดส่องถึงโดยตรง

อย่างไรก็ดี ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจนบางชนิดอาจมีวิธีการเก็บรักษาจำเพาะสำหรับตัวยานั้นๆ จึงควรปรึกษาฝ่ายเภสัชกรรมของสถานพยาบาลถึงนโยบายการเก็บรักษายานี้ที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับยานี้แต่ละชนิด

ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

บรรณานุกรม

  1. Aggarwal S, Thareja S, Verma A, Bhardwaj TR, Kumar M. An overview on 5alpha-reductase inhibitors. Steroids. 2010; 75 (2): 109–53.
  2. Amanda Oakley. Anti-androgen therapy http://www.dermnetnz.org/topics/anti-androgen-therapy/[2017,March25]
  3. Electronic medicine compendium. http://www.medicines.org.uk/emc/[2017,March25]
  4. J. Ramon et al. Prostate Cancer. 2007; 220-225.
  5. Mowszowicz I. Antiandrogens. Mechanisms and paradoxical effects. Ann. Endocrinol. 1989; 50(3):189–99.
  6. Shen, Howard C.; Taplin, Mary-Ellen; Balk, Steven P. Androgen Receptor Antagonists. Drug Management of Prostate Cancer. 2010, 71–81.
  7. T. G. Kwon, P. Van Veldhizen, and S. Yücel. Adverse Effects of Androgen Deprivation Therapy for Prostate Cancer: Prevention and Management. ISRN Urology, Hindawi. 2013
  8. U.S FDA.