ยายับยั้งทีเอ็นเอฟ (TNF inhibitors)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ร่างกายของมนุษย์มีหลายระบบอวัยวะของร่างกายที่ทำงานอย่างสัมพันธ์และสอดคล้องกัน ระบบภูมิคุ้มกัน(ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค)ของร่างกาย เป็นส่วนหนึ่งของระบบในร่างกายมนุษย์ที่มีการพัฒนาและมีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก นอกจากเซลล์ภูมิคุ้มกันร่างกายแล้ว ในระบบภูมิคุ้มกันร่างกายยังมีสารโปรตีนอีกหลายๆชนิดที่ใช้สื่อสารระหว่างเซลล์ เพื่อใช้ในการควบคุมการทำงานและสื่อสารระหว่างเซลล์ภูมิคุ้มกัน เรียกว่าสาร ไซโตไคน์ (Cytokine)

ทูเมอร์นีโครซิสแฟกเตอร์ (Tumor Necrosis Factor) หรือในชื่อย่อว่าทีเอ็นเอฟ/ทีเอนเอฟ (TNF) เป็นกลุ่มสารไซโตไคน์ที่สำคัญในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หากแปลความหมายตามชื่อแล้วนั้น จะหมายถึง สารโปรตีน ที่ช่วยทำลายเซลล์เนื้องอก การที่สารไซโตไคน์ในกลุ่มนี้ได้ชื่อว่า ทีเอ็นเอฟ เนื่องมาจากในการค้นพบครั้งแรก พบว่าสารโปรตีนไซโตไคน์ในกลุ่มนี้ มีความสามารถในการกระตุ้นเซลล์เนื้องอกในหนู ให้เกิดการตายแบบนีโครซิส/Necrosisได้ (การตายของเซลล์แบบนีโครซิสนี้ เป็นการตายเฉพาะส่วนโดยที่ไม่ได้มีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ซึ่งอาจเกิดจากการที่เซลล์ได้รับการบาดเจ็บ เกิดการติดเชื้อ เกิดการอักเสบ หรือเกิดเป็นมะเร็ง เป็นต้น

การศึกษาในระยะต่อมาพบว่า ทีเอ็นเอฟ มีความสัมพันธ์กับกระบวนการอักเสบหลายอย่างในร่างกาย อาทิ พบว่าผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์/โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis; RA) มีระดับทีเอ็นเอฟสูงกว่าคนทั่วๆไป นอกจากโรคข้อรูมาตอยด์แล้ว ในผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Syndrome) เช่น โรคโครห์น (Crohn’s disease) โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative Colitis) ก็มีระดับของทีเอ็นเอฟสูงกว่าปกติด้วยเช่นกัน นักวิทยาศาสตร์พบว่า โดยปกติแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะมีการควบคุมการสร้างและการคงระดับของทีเอ็นเอฟในร่างกาย แต่ในผู้ป่วยบางกลุ่มที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานอย่างไม่เป็นปกติ หรือเกิดภาวะภูมิต้านทานตนเอง (Autoimmune) อาจสูญเสียความสามารถในการควบคุมระดับของทีเอ็นเอฟ ซึ่งระดับทีเอ็นเอฟที่มากขึ้น จะไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบและความเจ็บปวดตามเนื้อเยื่อ/อวัยวะ ในส่วนต่างๆของร่างกาย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น

การพัฒนายาเพื่อรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันแต่เดิมนั้น เน้นการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ร่วมกับการใช้ยาในกลุ่มเสตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบ ต่อมา เมื่อมีการศึกษาในระดับวิทยาภูมิคุ้มกัน แล้วพบว่าทีเอ็นเอฟมีความสัมพันธ์กับการอักเสบ จึงมีการพัฒนายาเพื่อที่จะลดการทำงานของทีเอ็นเอฟ (TNF inhibitors หรือ Anti-TNF หรือ TNF blocker) ปัจจุบันมียาในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ เป็นยาชีววัตถุจำพวกโมโนโลนอลแอนตีบอดี(Monoclonal antibody) ที่ต้องใช้ยาในความดูแลของแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น

กลุ่มยายับยั้งทีเอ็นเอฟ มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยายับยั้งทีเอ็นเอฟ

กลุ่มยายับยั้งทีเอ็นเอฟ มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ดังต่อไปนี้ เช่น

ก. ใช้รักษาโรคโครห์น (Crohn’s disease): เช่นยา อินฟลิซิแมบ (Infliximab) ยาอะดาลิมูแมบ (Adalimumab) ยาเซอร์โทลิซูแมบ (Certolizumab)

ข. ใช้รักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative Coitis): เช่น ยา อินฟลิซิแมบ (Infliximab) ยาอะดาลิมูแมบ (Adalimumab) ยาโกลิมูแมบ (Golimumab)

ค. ใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์/โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis): เช่นยา อินฟลิซิแมบ (Infliximab) ยาอีทาเนอร์เซฟต์ (Etanercept) ยาอะดาลิมูแมบ (Adalimumab) ยาโกลิมูแมบ (Golimumab) ยาเซอร์โทลิซูแมบ (Certolizumab)

ง. ใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก (Juvenile Rheumatoid Arthritis): เช่นยา อีทาเนอร์เซฟต์ (Etanercept) ยาอะดาลิมูแมบ (Adalimumab)

จ. ใช้รักษาโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic Arthritis): เช่นยา อินฟลิซิแมบ (Infliximab) ยาอีทาเนอร์เซฟต์ (Etanercept) ยาอะดาลิมูแมบ (Adalimumab) ยาโกลิมูแมบ (Golimumab) ยาเซอร์โทลิซูแมบ (Certolizumab)

ฉ. ใช้รักษาโรคข้ออักเสบชนิดยึดติด (Ankylosing spondylitis): เช่น ยาอินฟลิซิแมบ (Infliximab) ยาอีทาเนอร์เซฟต์ (Etanercept) ยาอะดาลิมูแมบ (Adalimumab) ยาโกลิมูแมบ (Golimumab) ยาเซอร์โทลิซูแมบ (Certolizumab)

ช. ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis): เช่นยา อินฟลิซิแมบ (Infliximab) ยาอะดาลิมูแมบ (Adalimumab)

ซ. โรคเรื้อนระยะโรคเห่อชนิดตุ่มอักเสบ (Erythema Nodosum Leprosum; ENL): เช่นยา ธาลิโดไมด์ (Thalidomide)

ฌ. โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัลติเพิลมัยโอโลมา(Multiple Myeloma): เช่นยา ธาลิโดไมด์ (Thalidomide) ยาลีนาลิโดไมด์ (Lenalidomide) ยาโพมาลิโดไมด์ (Pomalidomide)

กลุ่มยายับยั้งทีเอ็นเอฟ มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการทำงาน/กลไกการออกฤทธิ์ของยาในกลุ่มยับยั้งทีเอ็นเอฟคือ ตัวยาจะเข้าจับตัวรับ(Receptor)ของทีเอ็นเอฟ (TNF receptor)บนตัวสารทีเอ็นเอฟในกระแสเลือดเพื่อลดการทำงานของสารทีเอ็นเอฟ และยังลดการเข้าจับของสารทีเอ็นเอฟกับเซลล์เป้าหมายในเนื้อเยื่อ/ อวัยวะต่างๆ เนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆจึงลดอาการอักเสบลง จึงได้ผลในการรักษาโรคต่างๆดังกล่าว ตามสรรพคุณ

กลุ่มยายับยั้งทีเอ็นเอฟมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาในกลุ่มยับยั้งทีเอ็นเอฟ มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่แตกต่างกันไป เช่น

กลุ่มยายับยั้งทีเอ็นเอฟมีขนาดหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาในกลุ่มยับยั้งทีเอ็นเอฟ มีขนาดการใช้ยาที่แตกต่างกันไปตามข้อบ่งใช้ และภาวะสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยเอง ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะประเมินและกำหนดขนาดยาของผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป และแพทย์อาจกำหนดขนาดยาที่แตกต่างกันไปในช่วงระหว่างการรักษา ผู้ป่วยจึงควรสอบถามแพทย์และเภสัชกรถึงขนาดยาและวิธีการบริหารยา/ใช้ยาที่ถูกต้อง ชัดเจน ทุกครั้ง

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมถึงยายับยั้งทีเอ็นเอฟ ควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมี ทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยา ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่าย และยาที่ซื้อรับประทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากกำลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) เช่น ยาจำพวก วาฟาริน (Warfarin) ยากดภูมิคุ้มกัน ยาธีโอฟีลีน (Theophylline)
  • แจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบถึงประวัติอาการโรค และโรคประจำตัว โดยเฉพาะ โรคหัวใจ โรคลมชัก โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease) โรคเส้นประสาทตาอักเสบ (Optic neuritis) กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre syndrome; โรคแพ้ภูมิตัวเองชนิดหนึ่ง) หรือเคยได้รับการรักษาโรคผิวหนังด้วยแสง (Phototherapy) โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)
  • แจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบหากกำลังตั้งครรภ์/มีครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรืออยู่ใช่วงระหว่างการให้นมบุตร
  • หากต้องการเข้ารับการผ่าตัดใดๆ ควรแจ้งให้แพทย์ หรือทันแพทย์ ผู้ทำการผ่าตัดทราบก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  • หากจำเป็นต้องเข้ารับวัคซีนไม่ว่าชนิดใดๆ ควรแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบ รวมทั้งแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบถึงประวัติการรับวัคซีนก่อนการเริ่มใช้ยานี้

หากลืมรับประทานยาหรือเข้ารับการบริหารยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาหรือเข้ารับการบริหารยายับยั้งทีเอ็นเอฟ ควรปฏิบัติดังนี้

  • ในรูปแบบยาชนิดรับประทาน: หากลืมรับประทานยายับยั้งทีเอ็นเอฟ ให้ ทานยานี้โดยทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับมื้อยาถัดไปแล้ว ให้ข้ามไปทานมื้อถัดไปเลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเพื่อชดเชยมื้อยาที่ลืมรับประทาน
  • ในรูปแบบยาชนิดรับประทาน: หากลืมรับประทานยายับยั้งทีเอ็นเอฟ ให้ ทานยานี้โดยทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับมื้อยาถัดไปแล้ว ให้ข้ามไปทานมื้อถัดไปเลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเพื่อชดเชยมื้อยาที่ลืมรับประทาน

กลุ่มยายับยั้งทีเอ็นเอฟมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

กลุ่มยายับยั้งทีเอ็นเอฟ มีผลไม่พึงประสงค์/อาการไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น

ก. ยาในรูปแบบฉีด: ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยคืออาการ ปวด บวม บริเวณที่ฉีด/ฉีดยา ร่วมกับรู้สึกร้อนหรือคันบริเวณที่ฉีด ซึ่งอาจเป็นอยู่หลายวันหลังจากการฉีดยาไปจนถึงนานเป็นสัปดาห์ ผู้ป่วยอาจมีอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ เช่น ไอ ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย

ข. ยาชนิดรับประทาน: เช่น ยาธาลิโดไมด์ อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ เช่น ง่วงนอน วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หากอาการมีความรุนแรง หรือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีท่าทีว่าจะทุเลาลง หรือกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด

*อนึ่ง อาการแพ้ยาในกุล่มยายับยั้งทีเอ็นเอฟ โดยเฉพาะยาฉีด อาจจะเกิดขึ้นได้ช้า ตั้งแต่ช่วง 3 – 12 วัน ดังนั้น ผู้ป่วยจึงต้องเฝ้าระวังอาการแพ้ยาโดยเฉพาะช่วงขณะเริ่มต้นการใช้ยา เช่น ปวดกล้ามเนื้อ และปวดข้อ มีไข้ มีผื่นคันขึ้นตามตัว ใบหน้า ริมฝีปาก มือ เปลือกตา บวม หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก ให้รีบเข้าพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

เนื่องจากยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งทีเอ็นเอฟ จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายด้วย หากผู้ป่วยพบว่า เกิดอาการเหมือนการติดเชื้อบ่อยครั้ง เช่น เป็นโรคหวัด เจ็บคอ มีไข้ เจ็บ/แสบเวลาปัสสาวะ ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ/มาโรงพยาบาล ผู้ป่วยควรทราบว่า การใช้ยานี้ ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคได้มากกว่าบุคคลทั่วๆไปที่ไม่ได้ใช้ยานี้ และหากแพทย์สั่งจ่ายยาปฏิชีวนะใดๆ ควรแจ้งให้ แพทย์ และเภสัชกร ทราบด้วยว่ากำลังใช้ยาอื่นๆใดในกลุ่มยาปฏิชีวนะอยู่ก่อนแล้ว

การใช้ยาในกลุ่มยับยั้งทีเอ็นเอฟ ผู้ป่วยอาจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง และโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) ได้มากกว่าบุคคลทั่วไป

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรตระหนักว่า การที่แพทย์สั่งใช้ยายับยั้งทีเอ็นเอฟ เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่า ยานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าให้โทษ หรือมากกว่าการได้รับผลข้างเคียงจากยานี้ ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ส่วนมาก มีพบว่าเกิดอาการไม่พีงประสงค์ชนิดรุนแรงได้ ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น และรีบแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/มาโรงพยาบาล หากเกิดอาการรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

มีข้อควรระวังการใช้กลุ่มยายับยั้งทีเอ็นเอฟอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้กลุ่มยายับยั้งทีเอ็นเอฟ เช่น

  • ไม่ใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่แพ้ยา หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ไม่ใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่กำลังติดเชื้อ มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือกำลังติดเชื้อในกระแสเลือด มีเชื้อวัณโรค การติดเชื้อฉวยโอกาส หรือกำลังติดเชื้อในเนื้อเยื่อ/อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคหัวใจวายที่มีความรุนแรง
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ ควรหลีกเลี่ยงการรับวัคซีน ควรแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบทุกครั้งว่ากำลังใช้ยาในกลุ่มนี้ก่อนการรับวัคซีน เพราะวัคซีนอาจไม่ได้ผล และ/หรือ อาจก่อให้ผู้ป่วยติดโรคจากวัคซีนได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ หากเกิดการตั้งครรภ์ขณะใช้ยานี้ ให้รีบแจ้งให้แพทย์ที่ทำการรักษาทราบโดยทันที ผู้ที่ใช้ยานี้ควรใช้ การคุมกำเนิดที่แพทย์แนะนำอย่างน้อย 2 วิธีร่วมกัน เช่น ถุงยางอนามัยชาย และยาเม็ดคุมกำเนิด ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม
  • ผู้ป่วยที่กำลังอยู่ระหว่างการให้นมบุตร ควรแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบ และควรหลีกเลี่ยงการให้นมบุตรขณะใช้ยานี้
  • แพทย์อาจพิจารณาตรวจวัณโรค หรือโรคติดเชื้อต่างๆ ก่อนเริ่มการใช้ยานี้ตามดุลพินิจของแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(ยาต้านทีเอนเอฟ) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

กลุ่มยายับยั้งทีเอ็นเอฟมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

กลุ่มยายับยั้งทีเอ็นเอฟ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

ก. ยาในรูปแบบยาฉีด: ยังไม่มีรายงาน ที่พบว่า มีปฏิกิริยาระหว่างยายับยั้งทีเอ็นเอฟกับยาชนิดอื่นๆอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี ไม่แนะนำให้ผู้ใช้ยานี้ รับวัคซีนขณะใช้ยานี้ และควรแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ทราบถึงยาต่างๆทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ เพื่อป้องกันปฏิกิริยาระหว่างยาที่อาจเกิดขึ้น

ข. ยาในรูปแบบรับประทาน: เช่น ยาธาลิโดไมด์ อาจมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยากดภูมิคุ้มกันตัวอื่นๆ จึงควรแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ทราบถึงประวัติการใช้ยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ก่อนการเริ่มใช้ยายับยั้งทีเอ็นเอฟ

ควรเก็บรักษากลุ่มยายับยั้งทีเอ็นเอฟอย่างไร?

ควรเก็บรักษากลุ่มยายับยั้งทีเอ็นเอฟ เช่น

โดยทั่วไป เช่น ยาอินฟลิซิแมบ (Infliximab) ยาอีทาเนอร์เซฟต์ (Etanercept) ยาอะดาลิมูแมบ (Adalimumab) ยาโกลิมูแมบ (Golimumab) ยาเซอร์โทลิซูแมบ (Certolizumab) ควรเก็บในตู้เย็น อุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียส(Celsius) ส่วนยาธาลิโดไมด์ (Thalidomide) ยาลีนาลิโดไมด์ (Lenalidomide) ยาโพมาลิโดไมด์ (Pomalidomide) ให้เก็บในอุณหภูมิห้องปกติ ต้องเก็บยาให้พ้น มือเด็ก สัตว์เลี้ยง และพ้นบริเวณที่แสดงแดดส่องถึงได้โดยตรง รวมถึงต้องเก็บยานี้ตามเอกสารกำกับยาด้วย

ยาในกลุ่มยับยั้งทีเอ็นเอฟมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยายับยั้งทีเอ็นเอฟ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

บรรณานุกรม

  1. American College of Rheumatology. TNF Inhibitors. http://www.rheumatology.org/I-Am-A/Patient-Caregiver/Treatments/TNF-Inhibitors[2017,April22]
  2. WebMD. TNF Infibitors. http://www.webmd.com/rheumatoid-arthritis/tnf-inhibitor-inflammation[2017,April22]
  3. Joan Bathon. Anti-TNF Therapy for Rheumatoid Arthritis. https://www.hopkinsarthritis.org/arthritis-info/rheumatoid-arthritis/ra-treatment/anti-tnf-therapy-for-ra/[2017,April22]
  4. EMC. [Online] http://www.medicines.org.uk/emc/search[2017,April22]
  5. MedilinePlus Infliximab https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a604023.html[2017,April22]
  6. Information on Tumor Necrosis Factor (TNF) Blockers (marketed as Remicade, Enbrel, Humira, Cimzia, and Simponi) FDA. https://www.fda.gov/Drugs/DrugSafety/ucm109340.html[2017,April22]