ยาฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 8 พฤษภาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาฟีนิลเอฟรีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาฟีนิลเอฟรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาฟีนิลเอฟรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาฟีนิลเอฟรีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาฟีนิลเอฟรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาฟีนิลเอฟรีนอย่างไร?
- ยาฟีนิลเอฟรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาฟีนิลเอฟรีนอย่างไร?
- ยาฟีนิลเอฟรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคหวัด (Common cold)
- ภาวะช็อก อาการช็อก (Shock)
- ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)
- ยาหยอดตา (Eye drops)
- โรคตา โรคทางตา (Eye disease)
- โรคหวัด (Common cold)
บทนำ
ยาฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine) จัดเป็นยาประเภท แอลฟา1-แอดริเนอจิก รีเซ็ปเตอร์ อะโกนิส (Alpha 1- Adrenergic receptor agonist, ยาเกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อเรียบ) ถูกนำมา ใช้ด้วยวัตถุประสงค์ระงับน้ำมูกมากเนื่องจากโรคหวัด ใช้เป็นยาขยายรูม่านตา และช่วยเพิ่มความดันโลหิตในผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ
ยาฟีนิลเอฟรีน ถูกวางจำหน่ายและใช้เป็นทางเลือกทดแทนยาซูโดเอฟิดรีน (Pseudoephedrine) ด้วยซูโดเอฟิดรีนสามารถนำไปผลิตเป็นยาเสพติดประเภทยาบ้าได้
ในด้านการบริหารยา/การนำยามาใช้มีหลายรูปแบบ เช่น เป็นยาเม็ดและยาน้ำสำหรับรับประทาน หรือยาหยอดจมูก หรือสเปรย์ทางจมูก เป็นยาหยอดตา ยาเหน็บทวาร หรือยาฉีด
ร่างกายสามารถดูดซึมฟีนิลเอฟรีนจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 38% เมื่อยาเข้าสู่กระ แสเลือดจะจับกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 95% ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของฟีนิลเอฟ รีน และร่างกายต้องใช้เวลา 2.1 - 3.4 ชั่วโมงเพื่อขับยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะเป็นส่วนมาก
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาฟีนิลเอฟรีนลงในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยอยู่ในหมวดยาหยอดตา
สำหรับตลาดยาของบ้านเรา สามารถพบเห็นฟีนิลเอฟรีนในรูปแบบยาผสมชนิดรับประทานเช่น กลุ่มยาแก้โรคหวัดที่มีส่วนผสมยาฟีนิลเอฟรีนกับยาคลอเฟนิรามีน(Chlorpheniramine) หรือกับยาบรอมเฟนิรามีน(Brompheniramine) ร่วมกับยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ยังมีการใช้ในรูปแบบยาใช้ภายนอกอีกหลายรายการที่เป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภค อย่างไรก็ตามการใช้ยานี้ไม่ว่าจะเป็นด้วยวัตถุประสงค์การรักษาโรคใดๆก็ตาม จะต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
ยาฟีนิลเอฟรีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาฟีนิลเอฟรีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บรรเทาอาการคัดจมูกเนื่องจากมีน้ำมูกมาก
- รักษา ภาวะความดันโลหิตต่ำ ภาวะช็อก
- ใช้ขยายรูม่านตาในการรักษาโรคทางตา
- รักษาโรคริดสีดวงทวารในรูปแบบยาเหน็บ (ไม่ขอกล่าวรายละเอียดในบทความนี้)
ยาฟีนิลเอฟรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาฟีนิลเอฟรีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อผนังหลอดเลือดทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดฝอย และจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณรูม่านตาขยายออกเมื่อนำมาหยอดตา จากกลไกเหล่านี้ทำให้ฟีนิลเอฟรีนมีฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ
ยาฟีนิลเอฟรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาฟีนิลเอฟรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดที่ผสมรวมกับยาแก้ปวด+ยาลดไข้ ขนาดความแรง 10 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดที่ผสมรวมกับยาแก้แพ้ ขนาดความแรง 5 และ 15 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดที่ผสมรวมกับยาแก้แพ้+ยาลดไข้ ขนาดความแรง 10 และ 12.5 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดที่ผสมรวมกับยาลดไข้+ยาแก้ไอ+ยาแก้แพ้ ขนาดความแรง 10 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาแคปซูลที่ผสมรวมกับยาแก้แพ้ ขนาดความแรง 10 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาน้ำที่ผสมรวมกับยาแก้แพ้ ขนาดความแรง 2.5, 5 และ 10 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
- ยาน้ำที่ผสมรวมกับยาแก้แพ้ ขนาดความแรง 2 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาน้ำที่ผสมรวมกับยาแก้แพ้+ยาลดไข้ ขนาดความแรง 5 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
- ยาน้ำที่ผสมรวมกับยาแก้แพ้+ยาแก้ไอ ขนาดความแรง 5 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
- ยาหยอดตา ขนาดความเข้มข้น 0.09 และ 0.12 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร
- ยาหยอดตา ขนาดความเข้มข้น 2.5 และ 10 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร
ยาฟีนิลเอฟรีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาฟีนิลเอฟรีนมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับอาการ คัดจมูก น้ำมูกมาก: เช่น
- ผู้ใหญ่: ตัวยาในรูปแบบ Phenylephrine HCl รับประทาน 10 มิลลิกรัมทุกๆ 4 ชั่วโมง
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)อายุ 2 - 6 ปี: ตัวยาในรูปแบบ Phenylephrine tannate รับประทาน 1.87 - 3.75 มิลลิ กรัมทุกๆ 12 ชั่วโมง
- เด็กอายุ 6 - 12 ปี: ตัวยาในรูปแบบ Phenylephrine HCl รับประทาน 10 มิลลิกรัมทุกๆ 4 ชั่ว โมง หรือตัวยาในรูปแบบ Phenylephrine tannate รับประทาน 3.75 - 7.5 มิลลิกรัมทุกๆ 12 ชั่วโมง
- เด็กอายุมากกว่า 12 ปี: ตัวยาในรูปแบบ Phenylephrine HCl รับประทาน 10 - 20 มิลลิกรัม ทุกๆ 4 ชั่วโมง หรือตัวยาในรูปแบบ Phenylephrine tannate รับประทาน 7.5 - 15 มิลลิกรัมทุกๆ 12ชั่วโมง
- ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดในการใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
ข. สำหรับอาการความดันโลหิตต่ำ: เช่น
- ผู้ใหญ่: ตัวยารูปแบบ Phenylephrine HCl เริ่มต้นฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดใต้ผิวหนัง 2 - 5มิลลิกรัม หรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำอย่างช้าๆ ขนาด 100 - 500 ไมโครกรัม อาจให้ยาซ้ำโดยรอเวลาอีก 15 นาทีเป็นอย่างต่ำ
- เด็ก: ขนาดยาฉีดในเด็กขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เพราะต้องขึ้นกับความรุนแรงของอาการ อายุ และน้ำหนักตัวของเด็ก
อนึ่ง:
- ขนาดการใช้ยานี้ในตัวยาทุกรูปแบบต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- ในยารับประทานผู้ป่วยไม่ควรปรับเปลี่ยนขนาดการรับประทานหรือเพิ่มขนาดการรับประทานด้วยตนเอง
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาฟีนิลเอฟรีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟีนิลเอฟรีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาฟีนิลเอฟรีนสามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาฟีนิลเอฟรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาฟีนิลเอฟรีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- วิตกกังวล
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- หัวใจเต้นเร็ว หรือหัวใจเต้นช้า ผิดปกติ
- ชีพจรเต้นผิดปกติ
- ปวดหัว
- ปลายมือ - เท้าเย็น
- คลื่นไส้-อาเจียน
- เหงื่อออกมาก
- อ่อนแรง
- หวาดกลัว
- กระสับกระส่าย
- นอนไม่หลับ
- รู้สึกสับสน
- เบื่ออาหาร
- ปัสสาวะขัด
- น้ำตาลในเลือดสูง
- ร่างกายมีภาวะเลือดเป็นกรดมากขึ้น อาการเช่น อ่อนเพลีย ซึม หายใจเร็ว หายใจลำบาก
- หัวใจมีการบีบตัวเพิ่มขึ้นจนอาจเกิด ภาวะเจ็บหน้าอก และ หัวใจหยุดเต้น หรือ
- เกิดภาวะความดันโลหิตสูงจนเป็นเหตุให้มีภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะได้
มีข้อควรระวังการใช้ยาฟีนิลเอฟรีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาฟีนิลเอฟรีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาฟีนิลเอฟรีน
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย ความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็ว (Ventricular tachycardia)
- ห้ามรับประทานร่วมกับยากลุ่ม MAOI ต้องเว้นระยะเวลาหลังการใช้ MAOI อย่างน้อย 14 วัน ขึ้นไป จึงค่อยรับประทานฟีนิลเอฟรีน
- ห้ามใช้ยาฟีนิลเอฟรีนที่เป็นชนิดยาหยอดตาในผู้ป่วยด้วยโรคต้อหิน
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ), ผู้ที่มีภาวะหัวใจขาดเลือดระยะรุนแรง, ผู้ป่วยโรคเบาหวาน, ผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโต
- การใช้ยาฟีนิลเอฟรีนในรูปยาหยอดจมูกหรือยาพ่นจมูกเป็นเวลานานๆ สามารถก่อให้เกิดอาการคัดจมูกจากจมูกบวมเมื่อหยุดใช้ยาหรือที่เราเรียกกันว่า Rebound congestion
- ระวังการใช้ยาหยอดตาที่มีฟีนิลเอฟรีนในปริมาณสูงๆกับ เด็กทารก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ด้วยยาหยอดตาฟีนิลเอฟรีนสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงได้เช่นเดียวกับยาชนิดรับประทาน
- เลี่ยงการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร หากมีความจำเป็นต้องใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ควรต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วยซื้อหายามาใช้ด้วยตนเอง
- หลีกเลี่ยงการซื้อยาแก้ไอ ยาแก้โรคหวัด/ไข้หวัด ที่มีส่วนผสมของฟีนิลเอฟรีนจากร้านขายยามาใช้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี และการใช้ยานี้กับเด็กเล็กควรต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น
- ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟีนิลเอฟรีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาฟีนิลเอฟรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาฟีนิลเอฟรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาฟีนิลเอฟรีนร่วมกับยากลุ่ม Nonselective beta-blockers และกลุ่ม MAOI สามารถก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงจนถึงขั้นเป็นอันตรายกับผู้ป่วย จึงควรหลีกเลี่ยงและห้ามใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาฟีนิลเอฟรีนร่วมกับยารักษาอาการปวดเกร็งของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร เช่นยา Hyoscyamine อาจทำให้ความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับเวลาหรือขนาดของการรับประทานยาให้เหมาะสม และควรต้องเฝ้าระวังเรื่องความดันโลหิตและการทำงานของหัวใจอย่างใกล้ชิด
- การใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของฟีนิลเอฟรีนในผู้ป่วยโรคต้อหิน จะก่อให้เกิดแรงดันในลูกตาเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นข้อห้ามมิให้ใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของฟีนิลเอฟรีนกับผู้ป่วยโรคต้อหินโดยเด็ดขาด
- การใช้ยาฟีนิลเอฟรีนกับผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานสามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน หรือต้องเฝ้าระวังระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอเมื่อมีการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษายาฟีนิลเอฟรีนอย่างไร?
สามารถเก็บยาฟีนิลเอฟรีน เช่น
- ยาชนิดเม็ดและยาน้ำ เก็บที่อุณหภูมิห้อง
- ควรเก็บยาฉีดที่อุณหภูมิระหว่าง 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- สามารถเก็บยาหยอดตาที่อุณหภูมิห้อง แต่ยาหยอดตาบางสูตรตำรับแนะนำให้เก็บที่อุณหภูมิระหว่าง 2 - 8 องศาเซลเซียส (ดังนั้น การใช้ยาจึงต้องอ่านฉลากยา/ เอกสารกำกับยาให้ดี)
- นอกจากนี้ ควรเก็บยานี้ทุกรูปแบบ โดย
- เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาฟีนิลเอฟรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาฟีนิลเอฟรีน มียาชื่อการค้า และ บริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Aorinyl (เอโอรีนิล) | Medicine Products |
Apracur (อะพราเคอร์) | Apracure |
Asiatapp (เอเชียแท็ป) | Asian Pharm |
Bepeno (เบเพโน) | Milano |
Bepeno-G (เบเพโน-จี) | Milano |
Bromceryl (บรอมเซอริล) | Suphong Bhaesaj |
Bromesep (บรอมอีเซพ) | Siam Bheasach |
Bromlamine (บรอมลามีน) | Chinta |
Bromped (บรอมเพด) | B L Hua |
Bromtussia (บรอมทัสเซีย) | Asian Pharm |
C-Colotab (ซี-โคโลแท็บ) | Chinta |
Centapp (เซนแท็บ) | Central Poly Trading |
Chlorgest (คลอเจส) | Ranbaxy |
CliniCold (คลีนิโคล) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Coolby Cough (คูลบี คอท) | Central Poly Trading |
Decolgen (ดีคอลเจน) | Great Eastern |
Dimetapp Elixir (ไดมีแท็บ อิลิเซอร์) | Pfizer Consumer Healthcare |
Ditap (ไดแท็บ) | T. O. Chemicals |
Eye-Gene (อาย-จีน) | LF Asia |
K.B. Fedamol (เค.บี. เฟดามอล) | K.B. Pharma |
McXY Cold (แม็กซ์ซี คูล) | Millimed |
Meditapp (เมดิแท็บ) | Medifive |
Mexy (เม็กซี่) | Millimed |
Nasotane (นาโซแทน) | Community Pharm PCL |
Nasotapp (นาโซแท็บ) | Community Pharm PCL |
Pacogen (พาโคเจน) | Chinta |
Painol (ไพนอล) | The Forty-Two |
Phemine (เฟมีน) | T. Man Pharma |
Phenylephrine HCl Silom Medical (ฟีนิลเอฟรีน เฮชซีไอ สีลม เมดิคอล) | Silom Medical |
Polydrop (โพลีดร็อป) | Central Poly Trading |
Sinufen (ซินูเฟน) | Medicpharma |
St Luke's Cold (เซนต์ ลุกส์ โคล) | British Dispensary (L.P.) |
Tiffy (ทิฟฟี่) | Thai Nakorn Patana |
Unihist (ยูนิฮิสท์) | Unison |
Visotone (วิโซโตน) | British Dispensary (L.P.) |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Phenylephrine [2020, May 2].
- https://www.drugs.com/mtm/phenylephrine.html [2020, May 2].
- https://www.drugs.com/drug-interactions/phenylephrine.html [2020, May 2].
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fusa%2fdrug%2finfo%2fphenylephrine%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric [2020, May 2].
- http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=phenylephrine [2020, May 2].
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fphenylephrine%3fmtype%3dgeneric [2020, May 2].
- http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Eye-Gene/?type=brief [2020, May 2].