ยาทรามาดอล (Tramadol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาทรามาดอล (Tramadol) เป็นยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งอาการปวด ซึ่งมีกลไกการทำงานคล้ายกับอนุพันธุ์ของฝิ่น ยานี้มีจำหน่ายในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทยจะคุ้นเคยกับยาชื่อการค้าว่า ‘ทรามาล (Tramal)’ เราสามารถพบรูปแบบการใช้ยานี้ทั้งในลักษณะยาเดี่ยวและยาผสม

หลังการรับประทาน ยาทรามาดอลจะถูกดูดซึมและเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 1 ชั่วโมง จากนั้นจะถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างที่อวัยวะตับ และต้องใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาในกระ แสเลือด 50% ออกจากร่างกายโดยผ่านมาทางปัสสาวะ

กฎหมายยาของบ้านเรากำหนดให้ ยาทรามาดอล เป็น ‘ยาอันตราย ‘ การใช้ยานี้ต้องระมัดระ วัง และควรอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น

ยาทรามาดอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาทรามาดอล

ยาทรามาดอล มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ระงับและบรรเทาอาการปวดระดับกลางไปจนกระทั่งระดับรุนแรง ทั้งชนิดอาการปวดแบบเฉียบพลัน และชนิดปวดแบบเรื้อรัง

ยาทรามาดอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ทรามาดอล มีกลไกการออกฤทธิ์ที่สมอง โดยจะยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาทในสมอง 2 ตัว คือ Serotonin และ Norepinephrine อีกทั้งยังเพิ่มการหลั่งสาร เซโรโทนิน (Serotonin)ภายในสมองอีกด้วย ไม่เพียงเท่านี้ ทรามาดอล ยังเข้าไปจับกับตัวรับ (Receptor) ในสมองที่เรียกว่า Mu-Opiate Receptors และด้วยกลไกที่กล่าวมาทั้งหมดทำให้เกิดการระงับอาการปวดได้

ยาทรามาดอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาทรามาดอล เช่น

ก. ชนิดยาเดี่ยว: เช่น

  • ยาแคปซูลขนาดความแรง 50 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาเม็ดขนาดความแรง 50 และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีดขนาดความแรง 50 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

ข. ชนิดยาผสม: เช่น

  • ยาเม็ดขนาดความแรง 37.5 มิลลิกรัม/เม็ด

ยาทรามาดอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานของยาทรามาดอล เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 14 ปีขึ้นไป: รับประทาน 50 - 200 มิลลิกรัม/วัน
  • ในเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี: ขนาดรับประทานอยู่ในดุลพินิจของแพทย์

*อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ โดยดื่มพร้อมน้ำสะอาด และห้ามเคี้ยวยา
  • และประการสำคัญ ขนาดและระยะเวลาในการรับประทานยานี้ ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาทรามาดอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาทรามาดอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาทรามาดอล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาทรามาดอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

อาจพบผลข้างเคียง (ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา/ อาการข้างเคียง) หลังรับประทานยาทรามาดอล อาทิเช่น

  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ปากคอแห้ง
  • วิงเวียนศีรษะ
  • ปวดท้อง
  • ท้องอืด อาหารไม่ย่อย
  • ท้องผูก หรือ ท้องเสีย
  • ง่วงนอน
  • ปวดศีรษะ /ปวดหัว
  • วิตกกังวล
  • หงุดหงิด
  • อ่อนเพลีย
  • ผื่นคัน
  • ปัสสาวะบ่อย
  • เหงื่อออกมาก
  • น้ำหนักลด
  • ลมพิษ
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ความดันโลหิตสูง
  • การมองภาพได้ไม่ชัดเจน
  • ตับอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้ยาทรามาดอลอย่างไร?

ข้อควรระวังในการใช้ยาทรามาดอล เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และ/หรือ แพ้ยาแก้ปวดกลุ่มยาเสพติด เช่น มอร์ฟีน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยพิษสุราเรื้อรัง/ โรคพิษสุรา
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะสลบ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มี โรคระบบทางเดินหายใจ และผู้ป่วยที่มีภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคลมชัก
  • ระวังการใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • การใช้ยานี้เป็นเวลาติดต่อกันนานๆอาจก่อให้เกิดการติดยา
  • หลังใช้ยานี้อาจทำให้การควบคุมร่างกายด้อยประสิทธิภาพลงไป ควรหลีกเลี่ยงการทำ งานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร และ/หรือ การขับรถ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาทรามาดอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาทรามาดอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาทรามาดอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาทรามาดอลร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สามารถเพิ่มการกดประสาทส่วน กลางทำให้มีอาการ มึนงง อาการคล้ายคนเมา วิงเวียนศีรษะ มากยิ่งขึ้น จึงห้ามใช้ร่วมกัน
  • การใช้ยาทรามาดอล ร่วมกับ ยาแก้ปวดชนิดที่เป็นยาเสพติด สามารถเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ใช้ยามีอาการชัก อึดอัดและหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก มีอาการตัวสั่น การพูดจาติด ขัด เดินเซ เป็นต้น หากมีความประสงค์จะใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วย ยาแก้ปวดชนิดเสพติดดังกล่าว เช่นยา Codeine และ Fentanyl
  • การใช้ยาทรามาดอลร่วมกับยาต้านเศร้า สามารถกระตุ้นให้เกิดการชักได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ผู้ที่ติดสุรา ผู้ที่ป่วยเป็นเนื้องอกสมอง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ยาต้านเศร้าดังกล่าว เช่นยา Amitriptyline
  • การใช้ยาทรามาดอลร่วมกับยาคลายความวิตกกังวล/ยาคลายเครียด บางตัว สามารถเกิดผลข้างเคียงตามมา อาทิเช่น วิงเวียนศีรษะ ง่วงนอน การควบคุมสติสัมปชัญญะแย่ลง ยาคลายความวิตกกังกลดังกล่าว เช่นยา Diazepam, Lorazepam

ควรเก็บรักษายาทรามาดอลอย่างไร?

ควรเก็บยาทรามาดอลดังนี้ เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิช่วง 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • บรรจุยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด และเก็บให้พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
  • และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาทรามาดอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาทรามาดอล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Amanda (อแมนดา) Unison
Anadol (อนาดอล) T.O. Chemicals
Analab (อนาแลบ) Biolab
Duocetz (ดูโอเซทซ์) Mega Lifesciences
Mabron (มาบรอน) Medochemie
Madol (มาดอล) Masa Lab
Madola (มาโดลา) Pharmaland
Matradol (มาทราดอล) Charoon Bhesaj
Modsenal (มอดเซนอล) T. Man Pharma
Pacmadol (แพกมาดอล) Inpac Pharma
Paindol (เพนดอล) Polipharm
Pharmadol (ฟาร์มาดอล) Pharmaland
Ramadol (รามาดอล) V S Pharma
Sefmal (เซฟมอล) Unison
Tamolan (ทาโมลาน) Olan-Kemed
Tracine (ทราซิน) Medicine Products
Tradolgesic (ทราดอลเจสิก) Bangkok Lab & Cosmetic
Tramada (ทรามาดา) Charoen Bhaesaj Lab
Tramadil (ทรามาดิล) Union Drug
Tramadol Stada (ทรามาดอล สตาด้า) Stada
Tramadol T P (ทรามาดอล ที พี) T P Drug
Tramadol Utopian (ทรามาดอล ยูโทเปียน) Utopian
Tramadol (ทรามาดอล) Utopian
Tramal/Tramal Retard (ทรามอล/ทรามอล รีทาร์ด) sanofi-aventis
Tramamed (ทรามาเมด) Medifive
Tramax (ทราแม็ก) Pond’s Chemical
Tramazac (ทรามาแซ็ก) Zydus Cadila
Tramoda (ทราโมดา) L. B. S.
Tramomet (ทราโมเมด) Pharmahof
Trasic (ทราซิก) Kopran
Traumed (ทราอูเมด) Medicpharma
Trosic (โทรซิก) General Drugs House
Ultracet (อัลตร้าเซต) Janssen-Cilag
Vesnon-V 100 (เวสนอน-วี 100) Vesco Pharma
Volcidol (โวลซิดอล) Pharmasant Lab

บรรณานุกรม

1. http://en.wikipedia.org/wiki/Tramadol [2020,May9]
2. https://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2ftramadol%3fmtype%3dgeneric [2020,May9]
3. https://www.mims.com/Thailand/drug/AdvancedSearch/ [2020,May9]
4. http://www.drugs.com/drug-interactions/tramadol-index.html?filter=2#L[2020,May9]
5. http://www.drugs.com/cdi/tramadol.html [2020,May9]