ยาดอมเพอริโดน (Domperidone) หรือ โมทิเลียม (Motilium)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ดอมเพอริโดน (Domperidone) เป็นยาที่จัดอยู่ในกลุ่ม Dopamine antagonist วงการแพทย์นำมาใช้รักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน ด้วยกลไกการออกฤทธิ์ของดอมเพอริโดนจึงถูกนำ มาประยุกต์ใช้รักษาอาการโรคอื่นๆอีก อาทิเช่น กรดไหลย้อน ลดอาการแน่นท้องที่เกิดจากการรับประทานอาหารมากเกินไป (อาหารไม่ย่อย) เป็นต้น ซึ่งสำหรับประเทศไทยของเรามักจะรู้จักยาดอมเพอริโดนในยาชื่อการค้าว่า ‘ยาโมทิเลียม (Motilium)’

ในต่างประเทศมีการจำหน่ายยาดอมเพอริโดนในรูปแบบของ ยาเม็ด ยาน้ำ ยาเหน็บทวาร และยาฉีด

หลังจากร่างกายได้รับดอมเพอริโดน ตัวยาจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างที่ลำไส้เล็กกับที่อวัยวะตับ ระดับยาในกระแสเลือดจะลดลง 50% (Half Life) ภายในเวลา 7 ชั่วโมง และถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านทางปัสสาวะและทางน้ำนมของมารดา

ดอมเพอริโดนจัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย มีผลข้างเคียง มีข้อห้ามใช้ และมีข้อควรระวังมาก มาย การใช้ยาจึงต้องควรอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์ผู้ทำการรักษา

ยาดอมเพอริโดน

ยาดอมเพอริโดนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาดอมเพอริโดนมีสรรพคุณดังนี้

  • รักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • ปรับสภาพการทำงานของช่องทางเดินอาหารในผู้ป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
  • รักษาภาวะอาการไม่สบายท้องหลังรับประทานอาหาร เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง (อาหารไม่ย่อย)

ยาดอมเพอริโดนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาดอมเพอริโดนมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยจะกระตุ้นให้หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก มีการบีบและเคลื่อนตัวได้มากขึ้น ทำให้มีการขับเคลื่อนของอาหารที่รับประทานเข้าไปผ่านกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กได้อย่างปกติ ด้วยกลไกดังกล่าว จึงทำให้มีฤทธิ์ในการรักษาอาการโรคตามสรรพคุณ

ยาดอมเพอริโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ประเทศไทยเราจะพบรูปแบบการจัดจำหน่ายยาดอมเพอริโดน ดังนี้

  • ยาเม็ดขนาดความแรง 10 มิลลิกรัม
  • ยาน้ำแขวนตะกอนขนาดความแรง 1 มิลลิกรัมต่อ 1 มิลลิลิตร

ยาดอมเพอริโดนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานของยาดอมเพอริโดน คือ

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 10 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ซึ่งสำหรับผู้ใหญ่ขนาดรับประทานยาสูงสุดไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อวัน
  • เด็ก: อายุมากกว่า 1 ขวบ รับประทานครั้งละ ¼ ช้อนชาต่อน้ำหนักตัว 5 กิโลกรัม อย่าง ไรก็ตาม ในเด็กทุกอายุ การใช้ยา ต้องเป็นคำแนะนำจากแพทย์เท่านั้น

อนึ่ง ควรรับประทานยาดอมเพอริโดน ก่อนอาหารเป็นเวลา 15 - 30 นาที การรับประ ทานยาเกินขนาด อาจมีอาการ วิงเวียน สับสน หัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งเมื่อมีอาการดังกล่าวหลังบริโภคยา ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษา

นอกจากนั้น การปรับเปลี่ยนขนาดและระยะเวลาในการรับประทานยานี้ ที่เหมาะสม ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาดอมเพอริโดน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือขึ้นผื่น หรือแน่นหน้าอก หายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาดอมเพอริโดนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาดอมเพอริโดน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาดอมเพอริโดนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ของยาดอมเพอริโดน คือสามารถก่อให้เกิดอาการผิด ปกติต่างๆ เช่น การเต้นของหัวใจผิดปกติ วิงเวียนศีรษะ หน้าและคอเกิดอาการบวม เป็นลม การหายใจติดขัด/หายใจลำบาก ปากแห้ง มีผื่นคันหรือลมพิษ เป็นตะคริวที่ท้องหรือที่ขา เจ็บหน้า อก มีน้ำนมไหล รู้สึกสับสน ประจำเดือนผิดปกติ ในผู้ชายอาจพบว่ามีหน้าอกโต (มีเต้านม) อาจ มีอาการชักซึ่งพบได้ในเด็ก ง่วงนอน ปวดศีรษะ ตับทำงานผิดปกติ (ตับอักเสบ) เป็นต้น

มีข้อควรระวังการใช้ยาดอมเพอริโดนอย่างไร?

ข้อควรระวังในการใช้ยาดอมเพอริโดน คือ

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาดอมเพอริโดน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร หรือผู้ที่มีภาวะช่องทางเดินอา หารอุดตัน (ลำไส้อุดตัน)
  • ไม่ควรใช้ยานี้กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยยานี้สามารถขับออกโดยผ่านทางน้ำนมของมารดา
  • ระวังการใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้มีประวัติมะเร็งเต้านม เพราะอาจทำให้โรครุนแรงขึ้นได้
  • ระวังมีการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคตับ โรคไต เพราะอาจส่งผลต่อการกำจัดยาออกจากร่างกาย
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาดอมเพอริโดนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาดอมเพอริโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาดอมเพอริโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น ดังนี้

  • การใช้ยาดอมเพอริโดนร่วมกับยาต้านเชื้อราบางตัว สามารถทำให้ระดับยาดอมเพอริโดนในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น อาจส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยามากยิ่งขึ้น ยาต้านเชื้อราดังกล่าว เช่น Itraconazole และ Ketoconazole เป็นต้น
  • การใช้ยาดอมเพอริโดนร่วมกับยาต้านเชื้อแบคทีเรียบางกลุ่ม สามารถทำให้ระดับยาดอมเพอริโดนในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น อาจส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยามากยิ่งขึ้น ยาต้านเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว เช่น Erythromycin หรือ ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Macrolide

ควรเก็บรักษายาดอมเพอริโดนอย่างไร?

ควรเก็บยาดอมเพอริโดนในอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) บางบริษัทกำ หนดให้เก็บภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ควรบรรจุในภาชนะที่ปิดมิดชิด เก็บในที่ที่พ้น แสงและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาดอมเพอริโดนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ในประเทศไทย ยาดอมเพอริโดน มีชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Auto (ออโต้) Patar Lab
Avomit-M (เอโวมิท-เอ็ม) V S Pharma
Dany (แดนี) The Forty-Two
Dolium (โดเลี่ยม) Utopian
Domerdon (โดเมอร์ดอน) Asian Pharm
Dominox (โดมิน็อก) T. Man Pharma
Domp (ดอมพ์) Community Pharm PCL
Domperdone (ดอมเพอร์โดน) Polipharm
Domper-M (ดอมเพอร์-เอ็ม) Bangkok Lab & Cosmetic
Domp-M (ดอมพ์-เอ็ม) Community Pharm PCL
Emex (อีเม็ก) Thai Nakorn Patana
Meridone (เมอริโดน) GPO
Avomit-M (เอโวมิท-เอ็ม) V S Pharma
Mirax-M (ไมแร็ก-เอ็ม) Berlin Pharm
Mocydone M (โมไซโดน เอ็ม) Pharmasant Lab
Modomed (โมโดเมด) Medifive
Molax (โมแล็ก) Siam Bheasach
Molax-M (โมแล็ก-เอ็ม) Siam Bheasach
Moticon (โมทิคอน) Condrugs
Motidom (โมทิดอม) T.O. Chemicals
Motidom-M (โมทิดอม-เอ็ม) T.O. Chemicals
Motilar (โมทิลาร์) Inpac Pharma
Motilin (โมทิลิน) Inpac Pharma
Motilium/Motilium-M (โมทิเลี่ยม/โมทิเลี่ยม เอ็ม) Janssen-Cilag
Movelium/Movelium-M (โมวีเลี่ยม/โมวีเลี่ยม-เอ็ม) Medicine Products
Ninlium (นินเลี่ยม) Chinta
Peridom-M (เพอริดอม-เอ็ม) Masa Lab
Pondperdone (พอนด์เพอร์โดน) Pond’s Chemical
Rabuger-M (ราบูเกอร์-เอ็ม) Unison
Vesperidone (เวสเพอริโดน) Vesco Pharma

บรรณานุกรม

1. http://en.wikipedia.org/wiki/Domperidone [2014,May 16 ].
2. http://www.drugs.com/uk/domperidone-1mg-ml-oral-suspension-1785.html [2014,May 16].
3. http://www.drugs.com/uk/domperidone-10mg-film-coated-tablets-spc-7522.html [2014,May16 ].
4. https://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=senna+-+sennosides+a+and+b [2014,May16 ].
5. http://www.medicinenet.com/domperidone-oral/page2.htm[2014,May16].
6. http://chealth.canoe.ca/drug_info_details.asp?channel_id=0&brand_name_id=4082&page_no=2 [2014,May16 ].
7. http://www.nhs.uk/medicine-guides/pages/MedicineSideEffects.aspx?condition=Indigestion%20and %20excess%20acid&medicine=Domperidone%20maleate&preparation= [2014,May16]
8. MIMS Thailand TIMS 110th Edition 2008
9. MIMS Pharmacy Thailand 9th Edition 2009