ยาคลายเครียด ยากล่อมประสาท (Tranquilizer Drugs)
- โดย ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม
- 31 มีนาคม 2561
- Tweet
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ยานอนหลับ (Sleeping pill)
- ยาคลายกังวล (Anxiolytic)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
บทนำ
“ยาคลายเครียด” หรือเรียกอีกอย่างว่า “ยากล่อมประสาท” หรือ “ยาสงบประสาท” หรือ “ยาระงับประสาท” หรือ “ยาคลายกังวล” (Tranquilizer drugs หรือ Tranquilizer หรือ Sedative หรือ Sedative drug หรือ Mood stabilizer) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อสมอง (ต่อจิตประสาท) ช่วยให้การทำงานของสมองในส่วนที่ควบคุมความเครียดทำงานได้ดีขึ้น และช่วยให้เกิดการนอนหลับ ช่วยลดความวิตกกังวล สำหรับผู้ที่มีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง สามารถใช้ยาคลายเครียด จะช่วยคลายกล้ามเนื้อบริเวณที่ปวดได้ ซึ่งยาคลายเครียด มีผลต่อร่างกายทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว (อ่านเพิ่มเติมในหัว ข้อต่อไป หัวข้อ อันตรายจากการใช้ยาฯ)
การรับประทานยาคลายเครียด ควรต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรซื้อยากินเอง ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบเรื้อรัง (ผลข้างเคียงระยะยาว) โดยส่วนใหญ่ถ้าเป็นความเครียดทั่วๆไป แพทย์จะไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ โดยจะใช้ยานี้เมื่อจำเป็น หรือเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 2-3 เดือน หรือเฉพาะในเวลาที่มีอาการวิตกกังวล
ยาคลายเครียด จัดเป็นยาในกลุ่ม วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท โดยยาจะออกฤทธิ์ กระตุ้น หรือกดการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาวะอารมณ์และจิตใจ
ยากลุ่มนี้จะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของสมอง อารมณ์ และร่างกาย ทำให้จิตใจสงบ คลายความวิตกกังวลได้ แต่ยากลุ่มนี้ต้องใช้อยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น จึงมีใช้เฉพาะโรงพยา บาลหรือคลินิกแพทย์เท่านั้น
ประเภทของยาคลายเครียด
ยาคลายเครียดมี 2 ประเภทคือ
ก. ยาคลายเครียดที่ออกฤทธิ์แรง (Major Tranquilizers หรือ Antipsychotics หรือ Antipsychotic drug) ยาประเภทนี้ ออกฤทธิ์ตั้งแต่ทำให้ร่าง กายและสมองมีอาการซึมลงจนถึงหลับสนิท เช่น ยา Phenothiazines ยาประเภทนี้มักใช้สำหรับผู้ที่มีอาการทางจิตเวชชนิดที่มีอาการประสาทหลอน เนื่องจากยาประเภทนี้ออกฤทธิ์แรง การใช้จึงต้องอยู่ในความควบคุมของแพทย์เท่านั้น และ หากใช้ยาคลายเครียดประเภทออกฤทธิ์แรง เป็นเวลานาน ผู้ป่วยจะเกิดความต้านทานยา/ดื้อยา และทำให้เกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ค่อนข้างมาก
ข. ยาคลายเครียดที่ออกฤทธิ์อ่อน (Minor Tranquilizers หรือ Anxiolytic หรือ Anxiolytic drug) หรือเรียกอีกอย่างว่า “ยาคลายวิตกกังวล (Anti-anxiety หรือ Anti-anxiety drug หรือ Anxiety drug หรือ Anxiety medication)” ยาประเภทนี้จะออกฤทธิ์ช่วยระงับความวิตกกังวล และคลายความเครียดของสมองและอารมณ์ ทำให้นอนหลับง่าย หากใช้ยาประเภทคลายเครียดที่ออกฤทธิ์อ่อนนี้ ติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้ร่างกายเกิดการดื้อยา และเกิดการเสพติดได้ด้วย ตัวอย่างยาประเภทนี้ที่ใช้กันมากและรู้จักกันดี เช่นยา Diazepam (Valium), Lorazepam (Ativan), Clonazepam (Rivotril), Alprazolam (Xanax) เป็นต้น
อันตรายจากการใช้ยาคลายเครียด
การใช้ยาคลายเครียด ในปริมาณมากหรือใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย และต่อจิตใจของผู้ใช้ได้ ดังนี้ เช่น
- ยาคลายเครียด จะมีตัวยาที่ออกฤทธิ์กดการทำงานของสมอง กดการหายใจ ทำให้ความดันโลหิตต่ำ จึงทำให้หมดสติได้
- เมื่อใช้ยาคลายเครียดเป็นระยะเวลานาน และใช้อย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดการ ติดยาได้
- ผู้ใช้ยาคลายเครียดบางราย อาจทำให้อ้วนขึ้นหรือน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากยาคลายเครียดจะออกฤทธิ์ ทำให้มีอาการอยากอาหารมากขึ้น จึงรับประทานอาหารได้มากขึ้น
- ยาคลายเครียดจะออกฤทธิ์กดการทำงานของสมอง ทำให้ร่างกายและจิตใจไม่อยู่ในสภาพที่ตื่นตัว จึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร หรือเกิดอุบัติเหตุในการใช้รถใช้ถนนได้
- หญิงตั้งครรภ์: ถ้าแม่เกิดอาการติดยาคลายเครียด ลูกที่เกิดมาอาจจะมีอาการหายใจไม่ดี เคลื่อนไหวช้า ชักกระตุกได้
- หญิงให้นมบุตร: ถ้าแม่ใช้ยาคลายเครียด ลูกที่ดื่มนมแม่ อาจมีอาการคล้ายคนติดยาคลายเครียดได้
ข้อสำคัญในการใช้ยาคลายเครียด
การใช้ยาคลายเครียด/ยากล่อมประสาทเหล่านี้ ควรระมัดระวัง และอยู่ในการดูแลของแพทย์เท่านั้น
ในเด็ก: ปกติจะไม่ใช้ยากลุ่มฯนี้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น
ในผู้สูงอายุ: มักจะต้องใช้ยาประเภทฯนี้บ่อย เนื่องจากมีความวิตกกังวล และนอนหลับยาก/นอนไม่หลับ ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์เช่นกัน
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (ที่รวมถึงยาคลายเครียด) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
สรุป
ยากลุ่มคลายเครียด (ยากล่อมประสาท) นี้ จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท (ต่อสมอง) มีจำหน่ายเฉพาะโรงพยาบาล และต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ในร้านขายยาที่มีจำหน่าย ต้องมีใบอนุญาตจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และจำหน่ายยานี้ตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น ฉะนั้น การใช้ยากลุ่มคลายเครียดนี้ ควรต้องใช้โดยอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น
บรรณานุกรม
- http://www.stou.ac.th/Schools/Shs/booklet/3_2548/Relax.html [2018,March31]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Tranquilizer [2018,March31]
Updated 2018, March31