ยาคลายกังวล (Anxiolytic)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาคลายกังวล หรือยาคลายความวิตกกังวล หรือยาคลายความกังวล หรือยาคลายเครียด หรือยาสงบประสาท หรือยาระงับประสาท (Anxiolytic หรือ Antipanic หรือ Antianxiety agent) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง หรือต่อสมอง นอกจากจะมีฤทธิ์คลายความวิตกกังวลแล้วมักมีฤทธิ์ทำให้นอนหลับอีกด้วย

อาจจำแนกยาคลายกังวลออกเป็นหลายกลุ่มได้ดังนี้

1. บาร์บิทูเรต (Barbiturates): ใช้เป็นยาคลายกังวลช่วยสงบประสาท ใช้รักษาโรคลมชัก มีการออกฤทธิ์ที่ตัวรับ(Receptor) ที่ชื่อ GABA receptors ในสมอง ข้อพึงระวังคือ ยานี้สามารถออกฤทธิ์กดการหายใจ(ทำให้หายใจช้า หายใจตื้น หายใจเบา จนอาจถึงขั้นหยุดหายใจ) เกิดภาวะจิตหลอน/ประสาทหลอน ยานี้ห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ภาวะให้นมบุตร ยานี้มักจะถูกนำมาใช้ก็ต่อเมื่อการตอบสนองของผู้ป่วยกับยากลุ่ม Benzodiazepines ใช้ไม่ได้ผล ตัวอย่างของยากลุ่มบาร์บิทูเรต เช่นยา Allobarbital, Alphenal, Amobarbital, Aprobarbital, Brallobarbital, Butobarbital, Butalbital, Cyclobarbital, Methylphenobarbital, Methohexital, Pentobarbital, Phenobarbital, Secobarbital, Talbutal, Thiamylal, Thiopental

2. เบนโซไดอะซิปีน (Benzodiazepine): เป็นยาช่วยให้นอนหลับ คลายความวิตกกังวล มีการออกฤทธิ์ต่อสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองประเภท GABA ยานี้ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย บำบัดอาการลมชัก อาจแบ่งกลุ่มยาเบนโซไดอะซิปีนโดยใช้เกณฑ์ของการออกฤทธิ์ เช่น ออกฤทธิ์ระยะสั้น ออกฤทธิ์ระยะเวลาปานกลาง และออกฤทธิ์ระยะเวลานาน ตัวอย่างของยากลุ่มเบนโซไดอะซิปีน เช่นยา Triazolam, Midazolam, Lorazepam, Alprazolam, Oxazepam, Temazepam, Estazolam, Flurazepam, Quazepam, Clonazepam, Chlordiazepoxide, Clobazam, Clorazepate, Diazepam, Lorazepam

3. คาร์บาเมท (Carbamates): จัดเป็นกลุ่มยาอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อบำบัดอาการวิตกกังวล ตัวอย่างของยากลุ่มนี้ เช่นยา Meprobamate, Carisoprodol, Tybamate, Lorbamate

4. โอปิออยด์ (Opioid): เป็นกลุ่มยาที่มีคุณสมบัติคล้าย ยามอร์ฟีน(Morphine) มีการออกฤทธิ์ที่ประสาทส่วนกลาง รวมถึงระบบประสาทส่วนปลาย ยาในหมวดนี้หลายรายการที่ถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษ ในวงการแพทย์มักใช้เป็นยาระงับปวด/ยาแก้ปวด (Painkilling properties) ยาบางรายการมีฤทธิ์บรรเทาอาการซึมเศร้า รวมถึงอาการวิตกกังวลอีกด้วย ตัวอย่างยาหมวดนี้ เช่นยา Fentanyl, Alphamethylfentanyl, Alfentanil, Sufentanil, Remifentanil, Carfentanyl, Ohmefentanyl, Pethidine, Ketobemidone, Allylprodine, Prodine, Propoxyphene, Dextropropoxyphene, Dextromoramide, Bezitramide, Piritramide, Methadone, Dipipanone, Levomethadyl acetate, Difenoxin, Diphenoxylate, Loperamide, Dezocine, Pentazocine, Phenazocine, Buprenorphine, Dihydroetorphine, Etorphine, Butorphanol, Nalbuphine, Levorphanol, Levomethorphan

5. กลุ่มยาต้านเศร้า (Antidepressants): นอกจากมีวัตถุประสงค์ลดภาวะซึมเศร้าแล้ว ยังมีฤทธิ์คลายความวิตกกังวล โดยถูกจัดออกเป็นหมวดหมู่ย่อยอีกดังนี้

5.1 Selective serotonin reuptake inhibitors/SSRIs: ช่วยบรรเทาภาวะซึมเศร้า คลายความวิตกกังวล อีกทั้งยังนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นๆอีก เช่น รักษาภาวะการกินอาหารผิดปกติกล่าวคือ กินมากหรือน้อยจนเกินไปอย่างใดอย่างหนึ่ง รักษาอาการย้ำคิดย้ำทำ บรรเทาอาการป่วยจากโรคหลอดเลือดสมอง และรักษาการหลั่งเร็วในบุรุษ เป็นต้น อาจจำแนกรายการยาของกลุ่มนี้ เช่นยา Citalopram, Dapoxetine, Escitalopram, Fluoxetine, Fluvoxamine, Indalpine, Paroxetine, Sertraline, Zimelidine

5.2 Selective norepinephrine reuptake inhibitors/SNRI: เป็นกลุ่มยาที่ใช้ รักษาอาการโรคซึมเศร้า ตัวยาจะทำหน้าที่ยับยั้งการดูดคืนกลับของสารสื่อประสาทชนิด Serotonin และชนิด Norepinephrine ทำให้สมองมีสารสื่อประสาททั้ง 2 ชนิดเป็นปริมาณที่เพียงพอและเหมาะสม ส่งผลให้การควบคุมกระบวนการรับรู้หรือกระบวนการทางความคิด เช่น อารมณ์ ความรู้สึก สิ่งเร้า และความสามารถของการจดจำให้เป็นไปอย่างปกติ อาจจำแนกยากลุ่ม SNRI ได้ดังนี้ เช่นยา Venlafaxine, Desvenlafaxine, Duloxetine, Milnacipran, Levomilnacipran,และ Sibutramine

5.3 Tricyclic and Tetracyclic antidepressants/TCAs: ยาในกลุ่มนี้มีฤทธิ์คลายความซึมเศร้าและบรรเทาอาการวิตกกังวลในเวลาเดียวกัน ตัวอย่างยากลุ่มนี้ เช่นยา Amitriptyline, Clomipramine, Doxepin, Dosulepin, Imipramine, Trimipramine, Desipramine, Nortriptyline, และ Protriptyline, Amoxapine, Maprotiline

5.4 Monoamine oxidase inhibitors/MAOIs: เป็นยารักษาโรคซึมเศร้าและใช้บำบัดโรควิตกกังวลได้ด้วย ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่นยา Isocarboxazid, Nialamide, Phenelzine, Procarbazine, Hydracarbazine , Tranylcypromine, Moclobemide, Pirlindole, Toloxatone, Rasagiline, และ Selegiline

6. ซิมพาโธไลติก (Sympatholytic): เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ (Sympathetic nervous system) ซึ่งคอยควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของอำนาจจิตใจ ข้อบ่งใช้และประโยชน์ทางคลินิก มักใช้เป็นยาลดความดันโลหิตสูง แต่ก็มีฤทธิ์คลายความวิตกกังวลได้ด้วย อาจแบ่งยากลุ่มนี้ออกเป็นหมวดย่อยได้ดังนี้

6.1 Beta blockers: ถึงแม้จะมีวัตถุประสงค์หลักคือ ใช้รักษาโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง แต่ยากลุ่มนี้ก็มีคุณสมบัติในการรักษาอาการวิตกกังวลอีกด้วย ตัวอย่างยาของกลุ่มนี้ เช่นยา Esmolol, Sotalol, Landiolol, Carvedilol, Metoprolol, Bisoprolol, Nebivolol, Betaxolol, Carteolol, Levobunolol, Metipranolol, Timolol, Atenolol, Metoprolol, Propranolol

6.2 Alpha blocker: อย่าง เช่นยา Prazosin

6.3 Alpha adrenergic agonist: เช่นยา Clonidine และ Guanfacine

7. ยาในกลุ่มอื่น: เช่น Mebicar, Fabomotizole, Selank, Bromantane, Emoxypine, Azapirone,s Hydroxyzine, Pregabalin, Methyl isovalerate, Propofol, Racetams

8. สารสกัดจากพืชบางชนิดที่มีฤทธิ์ช่วยคลายความวิตกกังวล: เช่น Garcinia indica, Scutellaria baicalensis, Scutellaria galericulata, Scutellaria lateriflora, Coriandrum sativum, Salvia elegans, Cannabidiol

9. กลุ่มอาหารเสริม และยาสามัญประจำบ้านบางรายการที่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป: เช่น Picamilon, Chlorpheniramine, Melatonin, และ Inositol

อาการวิตกกังวล อาจต้องใช้เวลาในการรักษาระยะหนึ่ง ผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมือไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิบัติตัว การรับประทานยา มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายเพื่อแพทย์ประเมินอาการ นอกจากนั้น ที่สำคัญอีกประการการเลือกใช้ยากลุ่มนี้ตัวใดที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้ป่วย ควรต้องเป็นไปตามดุลยพินิจและคำสั่งของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว

ยาคลายกังวลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ยาคลายกังวล

ยาคลายกังวลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ ช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวล และอาจจะมีฤทธิ์หรือสรรพคุณอื่นร่วมด้วย เช่น ช่วยให้นอนหลับ ลดภาวะซึมเศร้า ลดความดันโลหิต บรรเทาอาการปวด เป็นต้น

ยาคลายกังวลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ด้วยยาคลายความวิตกกังวลมีหลายกลุ่ม ยาบางกลุ่มสามารถอธิบายกลไกการออกฤทธิ์ได้ บางกลุ่มก็ยังหาคำอธิบายไม่ได้ การออกฤทธิ์จึงขึ้นอยู่กับประเภทของยาแต่ละกลุ่ม/แต่ละตัวยา ซึ่งมีกลไกที่คล้ายหรือแตกต่างกันออกไป อาจอธิบายในเชิงสรุปได้ว่า ยากลุ่มนี้มีอิทธิพลต่อสารสื่อประสาทในสมอง เช่น สารSerotonin สารGABA และสาร Norepinephrine ทำให้เกิดความสมดุลอย่างเหมาะสมของสารสื่อประสาทเหล่านั้น จนเป็นเหตุให้เกิดฤทธิ์ลดภาวะวิตกกังวลได้ตามสรรพคุณ

ยาคลายกังวลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคลายความกังวล มีรูปแบบจำหน่ายเป็น

  • ยาชนิดรับประทาน
  • ยาฉีด
  • ยาเหน็บทวาร

ยาคลายกังวลมีขนาดการใช้ยาอย่างไร?

ขนาดการรับประทาน/การใช้ยาคลายกังวล ขึ้นอยู่กับชนิดและความแรงของยา รวมถึงโรค/อาการของผู้ป่วย และการตอบสนองต่อยาของแต่ละบุคคลที่มีความแตกต่างกันออกไป แพทย์จึงเป็นผู้คัดเลือกตัวยาและขนาดยาที่เหมาะสมต่ออาการผู้ป่วยได้ดีที่สุด

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาคลายกังวล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคลายกังวลอาจส่งผลให้อาการ ของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

โดยทั่วไป หากลืมรับประทานยาคลายกังวล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า แต่อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยาบ่อยๆ นอกจากทำให้อาการป่วยไม่ทุเลาแล้ว ยังอาจเพิ่มความรุนแรงของอาการโรคได้มากยิ่งขึ้น

ยาคลายกังวลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

อาจแจกแจงผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ของยาคลายกังวลได้ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น กดการหายใจ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ปวดศีรษะ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ฝันร้าย รู้สึกสับสน ซึมเศร้า
  • ผลต่อตับ: เช่น เป็นพิษกับตับ/ตับอักเสบ
  • ผลต่อการมองเห็น: เช่น การมองเห็นไม่ชัดเจน
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นช้าหรือเร็ว ความดันโลหิตต่ำหรือไม่ก็สูง บวมตามร่างกาย ใจสั่น เจ็บหน้าอก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ลมพิษ

มีข้อควรระวังการใช้ยาคลายกังวลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคลายกังวล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
  • การใช้ยาในกลุ่มนี้ ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น เพราะมีการห้ามใช้ยาหลายตัวของยาในกลุ่มนี้กับผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆหลายโรค เช่น โรคถุงลมโป่งพอง ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Obstructive sleep apnoea)
  • ห้ามใช้ยากลุ่มนี้กับหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามไม่ให้ผู้ป่วยปรับขนาดการรับประทานยากลุ่มนี้เอง การรับประทานยานี้ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • การหยุดยานี้ทันทีอาจก่อให้เกิดภาวะถอนยา เช่น มีอาการวิตกกังวล คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการชัก
  • ระวังการใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ด้วยยาบางกลุ่มสามารถทำให้เกิดการติดยาได้
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคลายกังวลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ยาคลายกังวลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคลายกังวลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การรับประทานยาคลายกังวลร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะก่อให้ เกิดผลข้างเคียงติดตามมา เช่น วิงเวียน และง่วงนอนอย่างมาก จึงถือเป็นข้อห้ามรับประทานร่วมกัน
  • การรับประทานยาบาร์บิทูเรตร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด สามารถลดความสามารถในการป้องกันการตั้งครรภ์ของยาเม็ดคุมกำเนิดดังกล่าว หากมีการใช้ยาร่วมกัน ควรต้องปรับขนาดรับประทานอย่างเหมาะสม และใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นๆร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย
  • การใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า/ยาต้านเศร้ากลุ่ม MAOI ร่วมกับกลุ่มยาลดน้ำหนัก เช่นยา Fenfluramine, Phentermine, สามารถทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
  • การใช้ยากลุ่ม SSRI กับยารักษาโรคจิตประสาทอย่างเช่น MAOI2 และ Tricyclic antidepressants อาจนำไปสู่อาการที่มีสารซีโรโทนินมากเกินไปจนก่อให้เกิดภาวะ Hyperserotonergic syndrome(Serotonin syndrome)ซึ่งทำให้มีอาการต่างๆ เช่น อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วจนถึงขึ้นเสียชีวิต ดังนั้นควรเลี่ยงในการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยากลุ่ม Opioid ร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะก่อให้เกิดปัญหากับการทำงานของระบบการหายใจกับผู้ป่วย(กดการหายใจ) อีกทั้งยังยับยั้งฤทธิ์ระงับอาการปวดของยากลุ่มโอปิออยด์ ทำให้การรักษาไม่ได้ผล

ควรเก็บรักษายาคลายกังวลอย่างไร?

ควรเก็บยาคลายกังวลภายใต้คำแนะนำของเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาคลายกังวลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคลายกังวลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Ama (เอมา)Atlantic Lab
Amytal (อะไมทอล)Eli Lilly
Phenobarbitone GPO (ฟีโนบาร์บิโทน จีพีโอ)GPO
Phenobarbital Chew Brothers (ฟีโนบาร์บิทอล ชิว บาร์เทอร์)Chew Brothers
Phenobarbital Atlantic (ฟีโนบาร์บิทอล แอทแลนติค)Atlantic Lab
Neuramizone (นิวราไมโซน)Sriprasit Pharma
Elixir Phenobarb (อิลิคเซอร์ ฟีโนบาบ)Suphong Bhaesaj
Belladonna Alkaloids w/ Phenobarbital (เบลลาดอนนา อัลคาลอยด์ ดับเบิ้ลยู/ ฟีโนบาร์บิทอล)Suphong Bhaesaj
Anesthal (แอเนสทอล)Jagsonpal
Thiopen (ทิโอเพน)Unique
Dormicum (ดอร์มิคุม)Roche
Midazol (มิดาโซล)Hameln
Diazepam General Drugs House (ไดอะซิแพม เจนเนอรัล ดรักซ์ เฮาส์)General Drugs House
Diazepam GPO (ไดอะซิแพม จีพีโอ)GPO
Sipam (ซิแพม)Siam Bheasach
Anta (แอนตา)Central Poly Trading 
Lonza (ลอนซา)Medicine Products
Lora (ลอรา)Atlantic Lab
Loramed (ลอราเมด)Medifive
Lorazep (ลอราเซพ)Asian Pharm
Zora (ซอรา)General Drugs House
Marzolam (มาร์โซแลม)March Pharma
Xanax/Xanax XR (ซาแน็กซ์/ซาแน็กซ์ เอ็กซ์อาร์)Pfizer
Halcion (ฮอลเซียน)Pfizer
Trialam (ไตรอะแลม)Alphapharm
Fentanyl GPO (เฟนทานิล จีพีโอ)Hexal AG
Fentanyl Hexal (เฟนทานิล เฮ็กซอล)Hexal AG
Fentanyl Janssen-Cilag (เฟนทานิล แจนเซน ซีแล็ก)Janssen-Cilag
Fentanyl Sandoz (เฟนทานิล แซนดอซ)Hexal AG
Fentanyl Tablet, Buccal (เฟนทานิล แทบเล็ท, บัคคอล)Watson Laboratories Inc
OxyContin Tablet (เฟนทานิล แทบเล็ท)Purdue Pharma LP
Diara (ไดอะรา)Burapha
Diarent (ดิเอเรนท์)Chew Brothers
Diarine (ไดอะรีน)Burapha
Diarodil (ไดแอโรดิล)Greater Pharma
Dicotil (ไดโคติล)Picco Pharma
Entermid (เอ็นเทอร์มิด)Nakornpatana
Imodium (อิโมเดียม)Janssen-Cilag
Imonox (อิโมน็อก)Medicine Products
Impelium (อิมพีเลียม)T.O. Chemicals

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Anxiolytic [2016,Dec17]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Barbiturate [2016,Dec17]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Benzodiazepine [2016,Dec17]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Opioid [2016,Dec17]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Selective_serotonin_reuptake_inhibitor [2016,Dec17]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Serotonin%E2%80%93norepinephrine_reuptake_inhibitor [2016,Dec17]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Tricyclic_antidepressant [2016,Dec17]
  8. https://en.wikipedia.org/wiki/Monoamine_oxidase_inhibitor [2016,Dec17]
  9. https://en.wikipedia.org/wiki/Sympatholytic [2016,Dec17]