ยากำจัดวัชพืช (Herbicide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 3 กรกฎาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- ยากำจัดวัชพืชแบ่งเป็นกี่ประเภท อะไรบ้าง?
- กลไกการออกฤทธิ์ของยากำจัดวัชพืชเป็นอย่างไร?
- พิษจากยากำจัดวัชพืชมีอะไรบ้าง?
- ใช้ยากำจัดวัชพืชอย่างไรจึงปลอดภัย?
- ควรเก็บรักษายากำจัดวัชพืชอย่างไร?
- มีขั้นตอนปฐมพยาบาลอย่างไรเมื่อได้รับพิษจากยากำจัดวัชพืช?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาฆ่าหญ้า
- โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
- ระบบหายใจล้มเหลว
- ไตวาย ไตล้มเหลว (Renal failure)
- ตับวาย ตับล้มเหลว (Liver failure)
- Paraquat
บทนำ
ยากำจัดวัชพืช หรือ ยาฆ่าวัชพืช(Herbicide หรือ Weedkiller หรือ Plant killer) เป็นกลุ่มสารประกอบที่ใช้กำจัดวัชพืชที่ไม่ต้องการให้ขึ้นปะปนในฟาร์มหรือเลือกสวนไร่นา ยากำจัดวัชพืชที่ดีควรมีความจำเพาะเจาะจงต่อวัชพืชและต้องไม่ทำลายพืชเศรษฐกิจที่ปลูกเพื่อการบริโภคและจำหน่าย นอกจากนี้ ต้องสลายตัวได้อย่างเหมาะสมไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ น้ำ และต่อพื้นดินยิ่งไม่มีการตกค้างและไม่เป็นพิษต่อผู้บริโภคย่อมส่งผลต่อความพึงพอใจของผู้บริโภคมากที่สุด
ในแง่ของอุตสาหกรรมการก่อสร้าง การสร้างทางรถไฟ สนามบิน หรือร่องระบายน้ำที่มีวัชพืชขึ้นจนเต็มพื้นที่และไม่สามารถใช้ประโยชน์ก็ยังอาศัยยากำจัดวัชพืชเพื่อปรับพื้นที่ก่อสร้างดังกล่าว ในอดีต มีการนำยากำจัดวัชพืชมาใช้ในกองทัพเพื่อทำลายต้นพืชและช่วยเปิดพื้นที่ในการจู่โจมข้าศึกอีกด้วย
ยากำจัดวัชพืชที่ผลิตในช่วงแรกมักจะเป็นสารประกอบประเภทเกลือโลหะ (Metal salt)เสียเป็นส่วนมากเพราะสามารถกำจัดวัชพืชได้รวดเร็ว แต่ด้วยการสลายตัวของยากำจัดวัชพืชดังกล่าวทำได้ช้า จึงเกิดการปนเปื้อนก่อพิษและมลภาวะต่อสภาพแวดล้อม เช่น แหล่งน้ำใต้ดิน พื้นที่เกษตร หรือแม้แต่อากาศ จึงทำให้หลายประเทศต่อต้านการใช้ยากำจัดวัชพืช
นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามคิดค้นยากำจัดวัชพืชที่เป็นสารประกอบอินทรีย์เลียนแบบฮอร์โมนของพืชตามธรรมชาติซึ่งน่าจะมีความปลอดภัยมากกว่ายากำจัดวัชพืชรุ่นเดิม ปัจจุบันภาคเกษตรอินทรีย์เข้ามามีบทบาทอย่างมาก ด้วยผู้บริโภคมีช่องทางการเรียนรู้ถึงความปลอดภัยหรือประโยชน์ที่ควรจะได้รับสูงสุดเมื่อเลือกบริโภคอาหารจากพืชที่ไม่มีสารปนเปื้อนอย่างยากำจัดวัชพืชดังกล่าว
ยากำจัดวัชพืชแบ่งเป็นกี่ประเภท อะไรบ้าง?
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้จัดแบ่งยากำจัดวัชพืชออกเป็น 2 หมวดใหญ่ๆ ดังนี้
1. ยากำจัดวัชพืชชนิดสังเคราะห์ (Synthetic herbicides): สามารถออกฤทธิ์ฆ่าวัชพืชและพืชชนิดอื่นๆได้หลายชนิด มีหลายรายการที่ส่งผลให้เกิดพิษตกค้างและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ยากำจัดวัชพืชกลุ่มนี้ เช่น 2,4-D Aminopyralid, Atrazine , Clopyralid , Dicamba , Glufosinate ammonium, Fluazifop, Fluroxypyr, Glyphosate, Imazapyr, Imazapic, Imazamox, Linuron, MCPA, Metolachlor, Paraquat, Pendimethalin, Picloram , Sodium chlorate, Triclopyr, และ Sulfonylurea
2. ยากำจัดวัชพืชชนิดอินทรีย์สาร (Organic herbicides) จัดว่าเป็นกลุ่มยากำจัดวัชพืชที่หลายประเทศนำมาใช้ในเกษตรอินทรีย์ ซึ่งประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืชอาจจะสู้ชนิดสังเคราะห์ไม่ได้ แต่ยากำจัดวัชพืชชนิดอินทรีย์สารก็มีใช้ในหลายประเทศอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างยากำจัดวัชพืชชนิดอินทรีย์สาร ได้แก่ Corn gluten meal, Monocerin, น้ำส้มสายชู, ไอน้ำร้อน, ไฟ, น้ำมันผิวส้ม(Citrus oil), และ น้ำเกลือ
กลไกการออกฤทธิ์ของยากำจัดวัชพืชเป็นอย่างไร?
ยากำจัดวัชพืชมีอยู่หลายชนิดจึงทำให้มีกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันออกไป อาจสรุปกลไกการออกฤทธิ์ในภาพรวม ดังนี้
- ออกฤทธิ์ปิดกั้นการสังเคราะห์สารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืช เช่น ไขมัน กรดอะมิโน ตลอดจนกระทั่งเอนไซม์ที่เป็นประโยชน์ต่อพืช
- ยับยั้งการสังเคราะห์ฮอร์โมนในวัชพืช เช่น Auxin ซึ่งมีความสัมพันธ์ต่อทิศทาง การเจริญเติบโตและวงจรการพัฒนาชีวิตของพืช
- ขัดขวางการผ่องถ่ายอิเล็กตรอน(Electron)ในกระบวนการสังเคราะห์แสงของต้นพืช ทำให้พืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ตามปกติ
- ยากำจัดวัชพืชบางกลุ่มทำตัวเป็นสารอนุมูลอิสระเข้าแย่งชิงอิเล็กตรอนจากเซลล์ ของพืช ทำให้เซลล์หมดสภาพในการดำรงชีวิต และตายลง
- ทำลายสมดุลการดูดซึมแร่ธาตุของระบบรากของพืช
- ใช้ความร้อนจากไอน้ำหรือไฟทำลายเซลล์วัชพืชโดยตรง
พิษจากยากำจัดวัชพืชมีอะไรบ้าง?
ยากำจัดวัชพืชในกลุ่มสังเคราะห์หลายตัวสามารถกระตุ้นให้เกิดพิษแบบเฉียบพลันต่อมนุษย์ สัตว์ รวมถึงสภาพแวดล้อมในระบบนิเวศน์ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้
ก.พิษต่อมนุษย์: เช่น
- เกิดอาการระคายเคืองตา ผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร อาจเกิดอาการปวดแสบ และบวม ของเนื้อเยื่อที่สัมผัสกับยากำจัดวัชพืช
- เป็นอันตรายต่ออวัยวะภายในร่างกาย เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้ ตับ ปอด หัวใจ ไต กล้ามเนื้อ ฯลฯ และอาจส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก จนถึงอาจเข้าขั้นโคม่าและตายในที่สุด
- กระตุ้นการเป็นมะเร็งหากมีการสัมผัส/ได้รับสารฆ่าวัชพืชต่อเนื่องเป็นเวลานาน
- เกิดอาการโรคพาร์กินสัน เพราะยากำจัดวัชพืชบางตัวสามารถเข้าทำลาย การทำงานของระบบประสาทอย่างเช่นสมอง
- มีอาการทางจิตประสาท เช่น รู้สึกกระสับกระส่าย และวิตกกังวล
ข. เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม: เช่น
- เกิดพิษต่อสัตว์ที่อาศัยในธรรมชาติ เช่น นกหลายสายพันธุ์ หรือมีภาวะสูญพันธุ์ ของสัตว์ที่อาศัยในธรรมชาติได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็น ไส้เดือน กบ แมลงชนิดต่างๆ อย่างผึ้ง และผีเสื้อ เป็นต้น
- กรณีปนเปื้อนลงใน แม่น้ำ คูคลอง สามารถทำลายระบบนิเวศน์ของสัตว์น้ำ เกิดการทำลายแพลงตอนพืช(Phytoplankton,พืชขนาดเล็กๆที่เป็นอาหารสัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น สาหร่ายบางชนิด)จนเป็นเหตุให้ปริมาณออกซิเจนในแหล่งน้ำลดลงจนส่งผลเสียต่อแหล่งอาหารตามธรรมชาติของมนุษย์
- กรณีปนเปื้อนพื้นดิน สามารถส่งผลกระทบรบกวนการเจริญเติบโตของพืชที่เป็น แหล่งอาหาร และยังจะทำลายที่อยู่ของสัตว์ตามธรรมชาติ
ใช้ยากำจัดวัชพืชอย่างไรจึงปลอดภัย?
วิธีใช้ยากำจัดวัชพืชได้อย่างปลอดภัย ที่สำคัญ คือ
1. อ่านคู่มือการใช้งานที่กำกับมากับผลิตภัณฑ์โดยละเอียด และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
2. ผสมสัดส่วนหรือเตรียมยากำจัดวัชพืชอย่างเหมาะสมเพื่อเกิดประสิทธิภาพ ทำลายวัชพืช และก่อพิษต่อผู้ใช้งานน้อยที่สุด
3. สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลขณะเตรียมผสมและขณะใช้งาน เช่น
- ใส่ถุงมือป้องกันสารเคมี
- สวมแว่นป้องกันละอองเคมีเข้าตา
- ใส่เสื้อผ้าหรือชุดคลุมสำหรับฉีดพ่นสารเคมีเพื่อป้องกันการซึมผ่านเสื้อผ้า และเข้าสัมผัสกับผิวหนัง
- ใส่หน้ากากกรองสารเคมีเพื่อป้องกันการสูดดมยากำจัดวัชพืชขณะทำงาน
- สวมหมวกคลุมผม
4. ขณะฉีดพ่นยากำจัดวัชพืชควรอยู่เหนือทิศทางลม
5. อาบน้ำ สระผม ฟอกสบู่ ชำระร่างกายให้ทั่ว หลังเสร็จการใช้ยากำจัดวัชพืชเพื่อชำระยากำจัดวัชพืชที่ติดค้างตามร่างกาย
6. ซักเสื้อผ้าชุดทำงานที่สวมใส่ขณะทำงานกับยากำจัดวัชพืช ห้ามซักล้างในคูคลอง ตามธรรมชาติโดยตรง
ควรเก็บรักษายากำจัดวัชพืชอย่างไร?
ควรเก็บยากำจัดวัชพืชดังนี้ เช่น
- เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด
- เก็บให้พ้นแสงแดด พ้นความร้อน
- สามารถเก็บภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
- เก็บในสถานที่ที่ระบายอากาศได้ดี
- เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ห้ามเก็บปะปนกับอาหารของมนุษย์ หรือของอาหารสัตว์
- ห้ามทิ้งยากำจัดวัชพืชลงแม่น้ำหรือคูคลองตามธรรมชาติ หรือทิ้งลงพื้นดินโดยตรง
มีขั้นตอนปฐมพยาบาลอย่างไรเมื่อได้รับพิษจากยากำจัดวัชพืช?
ขั้นตอนปฐมพยาบาลเมื่อได้รับพิษจากยากำจัดวัชพืช ที่สำคัญ คือ
ก. กรณีรับประทาน: หากผู้ป่วยยังมีสติอาจให้รับประทานยาถ่านกัมมันต์ นม หรือทำให้อาเจียน ตามคำแนะนำของฉลากยากำจัดวัชพืชแต่ละชนิด แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที หากทำได้ให้โทรแจ้งโรงพยาบาลล่วงหน้าว่า กำลังพาผู้ป่วยมาส่งหรืออยู่ในระหว่างการเดินทาง
ข. กรณีเข้าตา: ให้ล้างตาด้วยน้ำเปล่าสะอาดต่อเนื่องนาน 15 นาที โดยเปิดเปลือกตา/หนังตาแล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อประเมินอาการของตา
ค. กรณีสัมผัสผิวหนัง: ให้ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนยากำจัดวัชพืชออกโดยเร็ว ล้างผิวหนังด้วยน้ำสะอาดเป็นปริมาณมากๆ ใช้สบู่ฟอกทำความสะอาดผิวหนังให้ปราศจากยากำจัดวัชพืชได้มากยิ่งขึ้น
ง.กรณีสูดดม : รีบนำผู้ป่วยออกจากพื้นที่ที่มียากำจัดวัชพืชฟุ้งกระจายปนเปื้อนเพื่อให้ได้รับอากาศบริสุทธิ์โดยเร็ว สังเกตอาการผู้ป่วย เมื่อดูแล้วไม่ดีขึ้น ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที การให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยต้องกระทำโดยเร็วไม่ปล่อยทิ้งเป็นเวลานานจนกระทั่งสายเกินเยียวยา
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Herbicide#Mechanism_of_action [2018,June16]
- https://www.livestrong.com/article/141022-side-effects-herbicides/ [2018,June16]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/18213971 [2018,June16]
- https://www.dovemed.com/healthy-living/first-aid/first-aid-weed-killer-poisoning/ [2018,June16]