ยากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ (NNRTIs: Non-Nucleoside Analog Reverse-Transcriptase Inhibitors)
- โดย ภก.วิชญ์ภัทร ธรานนท์
- 29 พฤศจิกายน 2559
- Tweet
- บทนำ
- ยากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีวิธีใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- ยากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไออย่างไร?
- ยากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไออย่างไร?
- ยากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เอดส์ (AIDS)
- เอชไอวี: โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV: HIV infection)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
- เออร์กอต (Ergot)
- ยากันชัก ยาต้านชัก (Anticonvulsant drugs)
- ยาลดกรด (Antacids)
บทนำ
ยาต้านรีโทรไวรัส(Antiretroviral drug หรือ Antiretroviral agent) หรือยาต้านเอชไอวี(HIV) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งหรือต้านการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสเอชไอวีหรืออีกชื่อคือ รีโทรไวรัส/Retrovirus ปัจจุบันมียาต้านรีโทรไวรัสที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา และนำมาใช้ทางคลินิกทั้งหมดมากกว่า 30 ชนิดขึ้นไป โดยยาต้านรีโทรไวรัสแบ่งตามกลไกการออกฤทธิ์ได้ เป็น 4 กลุ่มหลัก(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยาต้านรีโทรไวรัส) ซึ่งหนึ่งในกลุ่มยาต้านไวรัสที่ถูกนำมาใช้ในสูตรหลักของยาต้านไวรัสในปัจจุบัน คือ ยากลุ่ม “Non-Nucleoside Analog Reverse Transcriptase Inhibitors เรียกสั้นๆ/ย่อว่า ต้านรีโทรไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ(NNRTIs) หรือ ยาเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ” ยาในกลุ่มนี้ เช่นยา เนวิราปีน (Nevirapine), เอฟฟาไวเรนซ์ (Efavirenz), ดีลาวูดีน (Delavudine), เออทาไวรีน (Etravirine), ริวพิไวรีน (Rilpivirine)
เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเอชไอวีได้รับยาต้านรีโทรไวรัสกลุ่มNNRTIเข้าสู่ร่างกาย ยานี้จะถูกเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย แล้วส่งผลยับยั้งเอนไซม์ชื่อ รีเวิร์สทรานสคริปเตส(Reverse transcriptase,เอนไซม์มีหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างดีเอ็นเอ)ของรีโทรไวรัส/ไวรัสเอชไอวี มีผลทำให้การเชื่อมต่อสายพันธุกรรมดีเอ็นเอ(DNA)ของไวรัสเอชไอวีหยุดชะงัก เชื้อไวรัสเอชไอวี จึงไม่สามารถเพิ่มจำนวนในร่างกายผู้ป่วยได้อีก
ยากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาต้านรีโทรไวรัสกลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ เช่นยา เนวิราปีน (Nevirapine), เอฟฟาไวเรนซ์ (Efavirenz), ดีลาวูดีน (Delavudine), เออทาไวรีน (Etravirine), ริวพิไวรีน (Rilpivirine) มีข้อบ่งใช้สำหรับต้านรีโทรไวรัส ซึ่งหมายถึงไวรัสเอชไอวี โดยสูตรยาที่ใช้ในการรักษาการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีจะประกอบด้วยยาต้านรีโทรไวรัสจำนวน 3 ชนิด เรียกว่า HAART (Highly Active Antiretroviral Therapy) โดยในสูตรยาจะมีการใช้ยาในกลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ 1 ชนิด ร่วมกับยาต้านรีโทรไวรัสกลุ่มอื่นๆอีก 2 ชนิด เช่น กลุ่มเอ็นอาร์ทีไอ (NRTIs: Nucleoside Analog Reverse-Transcriptase Inhibitors) และกลุ่มโปรติเอส อินฮิบิเตอร์ (PI: Protease inhibitor) เพื่อให้สูตรยาต้านรีโทรไวรัส มีประสิทธิภาพสูงสุด
ยาเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ อาจแบ่งออกได้เป็น 2 รุ่น คือ
- รุ่นแรก (First-generation): เช่นยา เนวิราปีน (Nevirapine), ดีลาวูดีน (Delavudine), เอฟฟาไวเรนซ์ (Efavirenz), และ
- รุ่นที่ 2 (Second-generation): เช่นยา เออทาไวรีน (Etravirine), ริวพิไวรีน (Rilpivirine) โดยยารุ่นที่ 2 นี้ สามารถทนต่อการดื้อยา(Higher genetic barrier)ของเชื้อรีโทรไวรัสได้ดีกว่ายาในรุ่นแรก
นอกจากนั้น ปัจจุบัน ยังคงอยู่ในช่วงศึกษาและพัฒนายากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอรุ่นต่อไป ที่มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น
อนึ่ง การดื้อยา NNRTIs อาจพบได้ในผู้ป่วยที่เคยได้รับยากลุ่มนี้มาก่อน แล้วไม่สามารถรักษาวินัยในการรับประทานยานี้ให้ถูกต้องสม่ำเสมอได้
กลไกหลักของเชื้อไวรัสเอชไอวีที่ดื้อต่อยาNNRTIs คือ การกลายพันธุ์ที่ยีน/จึน/Gene ในส่วนที่เรียกว่า Hydrophobic pocket-like binding site ของเอนไซม์ Reverse transcriptase ของไวรัสเอชไอวี ซึ่งจะทำให้ยา NNRTIs ไม่สามารถเข้ามาจับกับเอนไซม์ Reverse transcriptase ได้ ซึ่งการดื้อยาNNRTIs นี้เป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจาก ยากลุ่มนี้เป็นยาหลักในการสร้างสูตรยาต้านไวรัสเอชไอวี/รีโทรไวรัส และยา NNRTIs ยังเป็นกลุ่มยาที่มีการดื้อยาแบบข้ามชนิดยา(คือข้ามไปดื้อยาต้านเอชไอวีตัวอื่นๆได้) เช่น การดื้อ ยาเนวิราปีน, ยาเอฟฟาไวเรนซ์ อย่างไรก็ตาม กรณีที่แพทย์พบว่า การรักษาโรคเอชไอวีล้มเหลวด้วยยาNNRTIsรุ่นแรกจากเชื้อดื้อยา แพทย์สามารถพิจารณาใช้ยา NNRTIs รุ่นที่ 2 เป็นทางเลือกได้
ยากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาต้านรีโทรไวรัส กลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ/NNRTIs มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะยับยั้งการทํางานของเอนไซม์ของไวรัสเอชไอวี/รีโทรไวรัส ที่ชื่อว่า รีเวิร์สทรานสคริปเตส(Reverse transcriptase enzyme)ที่มีหน้าที่ช่วยสร้างสายพันธุกรรมดีเอ็นเอ (DNA)จากสารพันธุกรรมอาร์เอ็นเอ (RNA)เพื่อให้ไวรัสนี้มีสายดีเอ็นเอ (DNA) สำหรับเพิ่มจำนวนไวรัสในเซลล์ร่างกายของมนุษย์ที่มีสารพันธุกรรมเป็นดีเอ็นเอ (DNA)ได้ ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยเอชไอวีได้รับยาต้านรีโทรไวรัสกลุ่มนี้เข้าสู่ร่างกาย ยานี้จะถูกเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย และส่งผลยับยั้งเอนไซม์รีเวิร์สทรานสคริปเตสของรีโทรไวรัส มีผลทำให้การเชื่อมต่อสายพันธุกรรมดีเอ็นเอของไวรัสนี้ หยุดชะงัก ส่งผลทำให้เชื้อไวรัสนี้ ไม่สามารถเพิ่มจำนวนในร่างกายผู้ป่วยได้
ยากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาต้านรีโทรไวรัสกลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอในประเทศไทย มีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์ เป็นยาเม็ด นอกจากนี้ยังมียาเม็ดสูตรผสมระหว่างยาในกลุ่มนี้กับยาต้านรีโทรไวรัสกลุ่มอื่นอีกด้วย เช่น ยา Atripla ที่มีส่วนผสมของยา Efavirenz + Emtricitabine +Tenofovir
ยากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีวิธีใช้ยาอย่างไร?
ในการใช้ยากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยานี้ให้ตรงเวลาอย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของแพทย์
ความถี่ในการรับประทานยากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ มีทั้งรับประทานยาวันละ 1 ครั้ง และ วันละ 2 ครั้ง กรณีรับประทานยาวันละ 1 ครั้ง แนะนำให้รับประทานยาในเวลาเดียวกันของทุกวัน กรณีรับประทานยาวันละ 2 ครั้ง แนะนำให้รับประทานยาห่างกัน 12 ชั่วโมงอย่างเคร่งครัด
กรณีลืมรับประทานยาเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ ที่มีวิธีการรับประทานยานี้เพียงวันละ 1 ครั้ง: ให้รับประทานยานี้ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป(วันถัดไป) ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปเลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
กรณีลืมรับประทานยานี้ที่มีวิธีการรับประทานยาวันละ 2 ครั้ง: ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ (หากห่างไม่เกิน 6 ชั่วโมง จากเวลารับประทานปกติ) และรับประทานยาครั้งต่อไปในเวลาและในขนาดยาปกติ แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป(เกินกว่า 6 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ) ให้รับประทานยามื้อถัดไปในขนาดยาปกติ ข้ามมื้อยาที่ลืมรับประทานไป จากนั้นรับประทานยา ในขนาดปกติต่อไป (ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า หรือนำยามื้อที่ลืมไปมารับประทานด้วย) และรับประทานยาในมื้อถัดๆไปในขนาดปกติ
ขนาดยาเอ็นเอ็นอาร์ทีไอที่ผู้ป่วยควรได้รับ จะขึ้นอยู่กับ อายุผู้ป่วย น้ำหนักตัว ปฏิกิริยาระหว่างยาอื่นๆที่ใช้ร่วมกับยาเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ สภาวะการทำงานของไต และของตับ โดยแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้กำหนดขนาดยาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป
ผู้ป่วยควรตระหนักเสมอว่า การกินยาเอ็นเอ็นอร์าทีไอ ไม่สม่ำเสมอ จะทำให้ระดับยานี้ในเลือดอยู่ในระดับสูงบ้างต่ำบ้าง ซึ่งช่วงที่ระดับยามีขนาดต่ำก็จะเป็นเหมือนการกระตุ้นให้เชื้อไวรัสเกิดการกลายพันธุ์และเป็นสาเหตุของการดื้อยานี้ในเวลาต่อมา
เมื่อมีการสั่งยากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยา /แพ้อาหาร/แพ้สารเคมี ทุกชนิด
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะ ยาในกลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอสามารถผ่านรก และน้ำนมได้ ซึ่งอาจทำให้ยาเข้าสู่ตัวทารกและก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
- แจ้งบุคลากรทางการแพทย์ หากช่วงที่ผ่านมาลืมกินยา/ไม่ได้รับยาเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ หรือมีเหตุทำให้ไม่สามารถรับประทานยานี้ได้อย่างสม่ำเสมอทุกวัน เนื่องจาก ยาเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ เป็นยาจำเป็นที่ต้องรับประทานอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลาอย่างเคร่งครัดทุกวันต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง
ยากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์)ของยาเอ็นเอ็นอาร์ทีไอที่พบได้บ่อย ได้แก่ เกิดผื่นตามร่างกาย โดยอาการทางผิวหนังอาจพัฒนาความรุนแรงจนเกิดการแพ้ยาชนิดรุนแรงชนิด สตีเวนจอห์นสัน ซินโดรม (Stevens-Johnson Syndrome) และหากอาการทางผิวหนังขยายตัวเป็นบริเวณกว้างอาจรุนแรงจนเรียกว่า เทนส์ (Toxic Epidermal Necrosis, TENs) ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรสังเกตอาการทางผิวหนังที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง หรือมีตุ่มน้ำขึ้นตามร่างกาย ร่วมกับมีไข้ มีอาการเจ็บปาก เจ็บคอ เจ็บบริเวณเยื่อเมือกในช่องปาก เจ็บบริเวณช่องคลอด เจ็บรอบทวารหนัก เจ็บที่อวัยวะเพศ เจ็บรอบตา นัยน์ตาแดงอักเสบ ซึ่งมีอันตรายอาจถึงแก่ชีวิตได้ หากเกิดอาการดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน และหยุดใช้ยาตัวที่สงสัยว่าทำให้เกิดอาการและอาจจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ในการเลือกใช้ยาต้านรีโทรไวรัสชนิดอื่นแทน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้ยาต่างๆเพื่อหลีกเลี่ยงการแพ้ยาในยากลุ่มเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังอาจเกิดอาการอื่นๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน, เบื่ออาหาร, ปวดศีรษะ, สับสน, ฝันร้าย, นอนไม่หลับ, ภาวะตับอักเสบ, โดยผลตรวจการตรวจเลือดดูการทำงานของตับจะพบมีความผิดปกติ โดยมีการเพิ่มสูงขึ้นของค่าสารต่างๆที่บอกการทำงานของตับ เช่น AST(Aspartate transaminase), ALT(Alanine aminotransferase), Alkaline phosphatase, Total bilirubin, การเกิดดีซ่าน ซึ่งมีรายงานการเกิดผลพิษต่อตับรุนแรง รวมทั้งการเกิดภาวะตับอักเสบที่รุนแรงถึงเสียชีวิต โดยมักเกิดในช่วง 2 สัปดาห์แรกของการรักษา แต่อย่างไรก็ตาม อาจพบภาวะตับอักเสบเกิดหลังจากนั้นก็ได้
มีข้อควรระวังการใช้ยากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไออย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ ดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ผู้ป่วยที่กำลังได้รับยานี้ ควรแจ้งแพทย์/เภสัชกรทราบว่า มียาอื่นชนิดใด บ้างที่กำลังรับประทานอยู่ เพื่อลดโอกาสเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา
- ไม่ควรเลือกใช้ยาที่เป็นยาในกลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอจำนวน 2 ชนิดร่วมกัน เนื่องจากเพิ่มโอกาสในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง
- ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำให้ทราบว่า อาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงของยาในกลุ่มนี้ คือ การแพ้ทางผิวหนัง หากใช้ยานี้แล้วมีอาการไม่พึงประสงค์ทางผิวหนังเกิดขึ้นควรรีบกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ระวังการใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่องระดับปานกลางถึงรุนแรง โดยมีคำเตือนเกี่ยวกับผลพิษต่อตับที่อาจทำให้เกิดภาวะตับวาย หรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็น ไวรัสตับอักเสบบี หรือ ไวรัสตับอักเสบซี ยิ่งมีความเสี่ยงในการเกิดผลพิษต่อตับมากยิ่งขึ้น การติดตามผลพิษของยานี้ที่มีต่อตับสามารถติดตามได้จากการตรวจเลือดดูค่าสารที่เกี่ยวข้องการทำงานของตับภายใน 6 สัปดาห์หลังเริ่มใช้ยานี้
- ระมัดระวังการใช้ยาเนวิราปีน (Nevirapine) ในผู้ป่วยเพศหญิงที่มีระดับเซลล์ซีดี-4 (CD-4 cell, Cluster of differentiation-4 cell,เซลล์ที่ใช้บอกภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคในร่างกาย) มากกว่า 250 เซลล์/ลูกบาศ์กมิลลิเมตร หรือผู้ป่วยเพศชายที่มีระดับเซลล์ซีดี-4 (CD-4 cell) มากกว่า 400 เซลล์/ลูกบาศ์กมิลลิเมตร เนื่องจาก การเริ่มใช้ยาเนวิราปีนในผู้ป่วยที่ยังคงมีระดับเซลล์ซีดี-4 (CD-4 cell) สูง อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะตับอักเสบในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวได้มาก
- ห้ามใช้ยาเอฟฟาไวเรนซ์ (Efavirenz) ในหญิงตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 1 หรือหญิงที่มีแนวโน้มในการตั้งครรภ์สูง เนื่องจากยานี้มีผลก่อให้เกิดความผิดปกติ/ความพิการของเด็กทารกในครรภ์
- ระมัดระวังการใช้ยาเอฟฟาไวเร็นซ์ ในผู้ป่วยที่มีประวัติอาการป่วยทางจิต เนื่องจากจะได้รับผลข้างเคียงทางจิตประสาทจากยานี้สูงกว่าปกติ(เช่น ซึมเศร้าอย่างรุนแรง หรือคิดฆ่าตัวตาย) หากเกิดผลข้างเคียงต่อจิตประสาทรุนแรง ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที และผู้ป่วยควรได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับว่า อาการที่มีต่อจิตประสาทอย่างรุนแรงนั้นจะค่อยๆดีขึ้นและจะไม่พัฒนาจนทำให้เกิดอาการทางจิตประสาทถาวร
- ระหว่างใช้ยานี้ แพทย์อาจแนะนำให้ติดตามค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือด เช่น ค่า AST, ALT ฯลฯ ทุกๆ 2 สัปดาห์ ในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการเริ่มรักษาด้วยยานี้ จากนั้นติดตามค่าเอนไซม์การทำงานของตับทุกๆ 3 เดือน ในช่วงผู้ป่วยยังคงได้รับยานี้
- แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร จะทบทวนรายการยาอื่นๆที่ผู้ป่วยได้รับร่วมอย่างสม่ำเสมอ ขณะผู้ป่วยกำลังรักษาด้วยยาต้านรีโทรไวรัสที่รวมถึงยานี้ เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาต้านรีโทรไวรัสกับยาต่างๆเหล่านั้น
อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ปฏิกิริยาระหว่างยากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ/NNRTIs กับยาอื่นๆ สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ เนื่องจาก ยาในกลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอถูกขจัดออกจากร่างกายผ่านทางเอนไซม์ที่มีชื่อว่า CYP(Cytochrome) ซึ่งเป็นเอนไซม์หลักในการขจัดยาหลายชนิดออกจากร่างกาย ดังนั้นยาที่นำมาใช้ร่วมกับยากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่นำมาใช้ร่วมได้ ซึ่งอาจมีผลต่อระดับยาชนิดใดชนิดหนึ่งทำให้ระดับยานั้นๆเพิ่มสูงขึ้นจนอาจเกิดเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นได้ หรือส่งผลลดระดับยานั้นๆจนขาดประสิทธิภาพในการรักษา
ดังนั้นจึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาดังต่อไปนี้ร่วมกับยากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ เพื่อลดโอกาสเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา
1. ยาลดกรดกลุ่ม Proton pump inhibitor หรือ กลุ่ม H2 blocker/ H2 antagonist: เพราะยาดังกล่าว จะลดระดับยาริวพิไวรีน(Rilpivirine)ในเลือดได้
2. ยาวาร์ฟาริน (Warfarin:ยาต้านการแข็งตัวของเลือด): เมื่อใช้ยากลุ่ม NNRTIs ร่วมด้วย จะมีผลเพิ่มระดับหรือลดระดับยาวาร์ฟารินในเลือดก็ได้ ในการใช้ยาร่วมกันจำเป็นต้องติดตามค่า INR (International Normalized Ratio, ค่าที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด)และพิจารณาปฏิกิริยาระหว่างยาของยาNNRTIs แต่ละตัวต่อยาวาร์ฟารินว่าจะเกิดในลักษณะอย่างไร และมีประโยชน์มากกว่าโทษในการใช้ร่วมกัน
3. ยาคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine: ยากันชัก): เมื่อใช้ร่วมกับยา กลุ่ม NNRTIs ระดับยาคาร์บามาซีปีนในเลือดจะลดลง
4. ยาฟีนีทอย(Phenytoin: ยากันชัก): เมื่อใช้ร่วมกับยากลุ่ม NNRTIs อาจทำให้ระดับยาฟีนีทอยในเลือดลดลง
5. ยาคาร์ลิโทรไมซิน (Clarithromycin: ยาปฏิชีวนะ): เมื่อใช้ร่วมกับยากลุ่ม NNRTIs อาจทำให้ระดับยาคาร์ลิโทรไมซินในเลือดลดลง
6. ยาไรแฟมปิซิน (Rifampicin: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย, ยาต้านวัณโรค): เมื่อใช้ร่วมกับยากลุ่ม NNRTIs อาจทำให้ระดับยากลุ่ม NNRTIs ในเลือดลดลง
7. ยาซิมวาสสะตาติน (Simvastatin: ยาลดไขมันในเลือด): เมื่อใช้ยากลุ่มNNRTIs ร่วมด้วย อาจทำให้ระดับยาซิมวาสตาตินในเลือดลดลง
8. ยาเดกซาเมทาโซน (Dexamethasone: ยาสเตรอยด์/ยาแก้อักเสบ): เมื่อใช้ยากลุ่มNNRTIs ร่วมด้วย อาจทำให้ระดับยากลุ่ม NNRTIs ในเลือดลดลง
9. ยาErgot derivetives: เช่น Erogatamine (เออโกตามีน: ยารักษา ไมเกรน), Ergonovine (เออร์โกโนวีน: ยาบีบมดลูก ), Methylergonovine (เมททิวเออร์โกโนวีน: ยาบีบมดลูก) ไม่แนะนำให้ใช้ร่วมกับยากลุ่ม NNRTIs เด็ดขาด เพราะ อาจทำให้เกิดภาวะ Ergotism ซึ่งเป็นภาวะที่มีอันตราย ถึงแก่ชีวิต โดยจะมีอาการ คือ หัวใจเต้นผิดจังหวะ, อาการเซื่องซึมยาวนาน, ระบบการหายใจถูกกด/หายใจเบา ช้า ตื้น จนถึงหยุดหายใจ, เส้นเลือดหดตัวรุนแรงจนอาจทำให้เกิดเนื้อเยื่อต่างๆในร่างกายตายจากขาดเลือดได้
ควรเก็บรักษายากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไออย่างไร?
แนะนำเก็บยาต้านรีโทรไวรัสกลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอที่อุณหภูมิห้อง ไม่เก็บยาในที่อุณหภูมิสูงเกินกว่า 30 องศาเซลเซียส(Celsius) หรือเก็บยาในห้องที่ร้อนจัด หรือมีความชื้นมาก เช่น ห้องที่ถูกแสงแดดส่องถึงทั้งวัน ในรถยนต์ ห้องครัว หรือห้องน้ำ นอกจากนี้ยังควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิมและเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาให้พ้นจากแสงแดด หรือบริเวณที่มีแสงสว่างส่องถึงตัวยาตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อรักษาคุณภาพของยาให้มีประสิทธิภาพตลอดถึงวันสิ้นอายุของยา หากยาเกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพ เช่น สีเปลี่ยนไป, ลักษณะเม็ดยาแตกหัก ควรทิ้งยาไป
ยากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเอนเอนอาร์ทีไอที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
บรรณานุกรม
- Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information Handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp; 2011-12.
- Micromedex Healthcare Series, Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado
- Usach I et al. Non-nucleoside reverse transcriptase inhibitors: a review on pharmacokinetics, pharmacodynamics, safety and tolerability. Journal of the International AIDS society, 2013.
- TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica ;2013
- ชาญกิจ พุฒิเลอพงศ์. Anti-retroviral drug induced disorder: basic and practical issue for patient management. Advanced in Adverse Drug Reactions: Common Drug-induced Organ Disorder. สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย)