ยากดประสาทส่วนกลาง (CNS depressants)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 25 ธันวาคม 2559
- Tweet
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบประสาท (Anatomy and physiology of nervous system)
- ยาคลายเครียด ยากล่อมประสาท (Transquilizer Drugs)
- ยานอนหลับ (Sleeping pill)
- ฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma)
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
- ยากดประสาทส่วนกลางหมายความว่าอย่างไร?
- ยากดประสาทส่วนกลางแบ่งเป็นกี่ประเภท?
- ยากดประสาทส่วนกลางมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
- มีข้อบ่งใช้ยากดประสาทส่วนกลางอย่างไร?
- มีข้อห้ามใช้ยากดประสาทส่วนกลางอย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยากดประสาทส่วนกลางอย่างไร?
- การใช้ยากดประสาทส่วนกลางในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยากดประสาทส่วนกลางในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยากดประสาทส่วนกลางในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยากดประสาทส่วนกลางอย่างไร?
- สรุป
- บรรณานุกรม
ยากดประสาทส่วนกลางหมายความว่าอย่างไร?
ยากดประสาทส่วนกลาง หรือยากดระบบประสาทส่วนกลาง หรือบางครั้งเรียกย่อว่า ยากดประสาท (CNS depressants หรือ Central nervous system depressants) เป็นยาที่กดการทำงานของสมอง ส่งผลให้สมอง/ระบบประสาทส่วนกลาง/ระบบประสาททำงานได้ช้าลง/ลดลง โดยยาที่ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางในระดับน้อยถึงปานกลาง ใช้เป็นยาคลายเครียด/ ยาคลายกังวล/ยาสงบประสาท/ยาระงับประสาท ส่วนยาที่ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางในระดับปานกลางถึงรุนแรง ใช้เป็นยานอนหลับ ยาสลบ แต่หากระดับยากลุ่มนี้ในเลือดสูงเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะช็อก หรืออาจทำให้เสียชีวิตได้
ยากดประสาทส่วนกลางแบ่งเป็นกี่ประเภท?
ยากดประสาทส่วนกลาง แบ่งออกเป็นกลุ่ม/ประเภทได้ดังนี้
ก. ยาสลบ (General anesthetics): ได้แก่
1. ยาดมสลบ (Inhalational Anesthetics): เช่นยา อีเทอร์ (Ether), ฮาโลเธน (Halothane), ไนตรัสออกไซด์ (Nitous Oxide), เอนฟลูเรน (Enflurane), ไอโสฟลูเรน (Isoflurane), เมทอกซีฟลูเรน (Methoxyflurane), ไซโคลโพรเพน (Cyclopropane)
2. ยาฉีดสลบ (Intravenous Anesthetics): เช่นยา ไธโอเพนทาล (Thiopental), เมโธเฮกซิทาล (Methohexital), โพรโพฟอล (Propofol), เคตามีน (Ketamine), เอโทมีเดท (Etomidate), ไมดาโซแลม (Midazolam), เฟนทานิล (Fentanyl)
ข. ยานอนหลับ (Hypnotics): ได้แก่
1. ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines, BDZs): เช่นยา ลอราซีแพม (Lorazepam), โคลนาซีแพม (Clonazepam), ทีมาซีแพม (Temazepam), ฟลูราซีแพม (Flurazepam), อัลปราโซแลม (Alprazolam), ไตรอาโซแลม (Triazolam), เอสตาโซแลม (Estazolam)
2. ยากลุ่มนอนเบนโซไดอะซีปีน (Non Benzodiazepines): เป็นยาที่มีโครงสร้างทางเคมีต่างจากยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน แต่ออกฤทธิ์เหมือนกัน เช่นยา โซลพิเดม (Zolpidem), ซาลีพลอน (Zaleplon), โซพิโคลน (Zopiclone)
3. ยาต้านฮิสทามีน/ยาแก้แพ้ (Antihistamines): เช่นยา ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine), ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine), โปรเมทาซีน (Promethazine)
4. ยากระตุ้นตัวรับของสารเมลาโทนิน/Melatonin (Melatonin receptor agonists) เช่นยา ยาเมลาโทนิน
ค. ยาคลายกังวล/ยาคลายเครียด/ยาสงบประสาท/ยาระงับประสาท (Anxiolytics): ได้แก่
1.ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines, BDZs): เช่นยา คลอร์ไดอาซีพอกไซด์ (Chlordiazepoxide), ไดอาซีแพม (Diazepam), ลอราซีแพม (Lorazepam), โคลนาซีแพม (Clonazepam), อัลปราโซแลม (Alprazolam)
2.ยาคลายกังวลชนิดอื่นๆ (Miscellaneous Anxiolytics): เช่นยา บิวส์ไพโรน (Buspirone), เมโพรบาเมด (Meprobamate)
ง. ยาต้านโรคจิต หรือยาโรคจิต (Antipsychotics): ได้แก่
1.ยาต้านโรคจิตแบบดั้งเดิม (Typical Antipsychotic Drugs): เช่นยา คลอร์โปรมาซีน (Chlorpromazine), ฟลูเฟนาซีน (Fluphenazine), เพอร์เฟนาซีน (Perphenazine), ไตรฟลูโอเพอราซีน (Trifluoperazine), ฮาโลเพอริดอล (Haloperidol), ไทโอริดาซีน (Thioridazine), ฟลูเพนทิซอล (Flupentixol), พิโมไซด์ (Pimozide)
2.ยาต้านโรคจิตกลุ่มใหม่ (Atypical Antipsychotic drugs): เช่นยา ริสเพอริโดน (Risperidone), โคลซาพีน (Clozapine), อะริพิพราโซล (Aripiprazole), โอแลนซาปีน (Olanzapine), พาลิเพอริโดน (Paliperidone), เควไทอาพีน (Quetiapine)
จ. ยาระงับปวด/ยาแก้ปวดชนิดเสพติด (Narcotic Analgesics): เช่นยา โคเดอีน (Codeine), เฟนทานิล (Fentanyl), เมทาโดน (Methadone), มอร์ฟีน (Morphine), เพทิดีน (Pethidine), ทรามาดอล (Tramadol)
ฉ. ยากันชัก/ยาแก้ชัก (Antiepileptics): ได้แก่
1.ยากันชักกลุ่มมาตรฐาน (Standard antiepileptic drugs): เช่นยา เฟนิโทอิน (Phenytoin), ฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital), ไพรมิโดน (Primidone), คาร์บามาซีปีน (Carbamazepine), อีโทซูซิไมด์ (Ethosuximide), วาลโปรเอท (Valproate) หรือ กรดวาลโปรอิก (Valproic acid)
2. ยากันชักกลุ่มใหม่ (New antiepileptic drugs): เช่นยา ลาโมทริจีน (Lamotrigine), โทพิราเมท (Topiramate), กาบาเพนติน (Gabapentin), ไวกาบาทริน (Vigabatrin)
ยากดประสาทส่วนกลางมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยากดประสาทส่วนกลางมีรูปแบบจัดจำหน่าย ดังนี้
- ยาเม็ด (Tablet)
- ยาเม็ดเคี้ยว (Chewable tablet)
- ยาแคปซูล (Capsule)
- ยาน้ำใส (Solution)
- ยาน้ำเชื่อม (Syrup)
- ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension)
- ยาน้ำใสปราศจากเชื้อ (Sterile solution)
- แผ่นแปะผิวหนัง (Transdermal patch)
- ก๊าซ (Gas)ที่ใช้สูดดม เช่น ยาสลบ
มีข้อบ่งใช้ยากดประสาทส่วนกลางอย่างไร?
มีข้อบ่งใช้ยากดประสาทส่วนกลางมีดังนี้ เช่น
1. ยาสลบ: ใช้นำสลบเพื่อการผ่าตัด ช่วยให้ผู้ป่วยหมดสติ หลงลืมชั่วคราว ไม่รู้สึกเจ็บปวด ไม่เคลื่อนไหว กล้ามเนื้อคลายตัว
2. ยานอนหลับ: ใช้ระยะสั้นสำหรับอาการนอนไม่หลับ, ใช้ระยะสั้นสำหรับอาการวิตกกังวลทั่วไป, ใช้ร่วมกับยาอื่น เช่น ยาชา หรือยาระงับปวด/ยาแก้ปวดชนิดเสพติด เพื่อบรรเทาอาการวิตกกังวลและทำให้หลับ
3. ยาคลายกังวล/ยาคลายเครียด: ใช้ระยะสั้นสำหรับอาการวิตกกังวล หรือนอนไม่หลับที่เกี่ยวกับความวิตกกังวล, ใช้รักษาอาการวิตกกังวลก่อนการผ่าตัด
4. ยาต้านโรคจิต: ใช้รักษาโรคจิตเภท และใช้เป็นยาเสริมในระยะสั้นสำหรับอาการวิตกกังวลขั้นรุนแรง
5. ยาระงับปวด/ยาแก้ปวดชนิดเสพติด: ใช้บรรเทาอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรง และระงับปวดในการผ่าตัด
6. ยากันชัก: ใช้รักษาและควบคุมอาการชักรูปแบบต่างๆ เช่น ชักแบบเหม่อลอย (Absence seizure), ชักเฉพาะส่วน (Partial seizure)
มีข้อห้ามใช้ยากดประสาทส่วนกลางอย่างไร?
มีข้อห้ามใช้ยากดประสาทส่วนกลาง เช่น
1.ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง(Hypersensitivity)ต่อยานั้นๆ
2.ห้ามใช้ยานอนหลับในผู้ที่ระบบหายใจทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยที่มีประวัติใช้ยาในทางที่ผิด(เช่น ยาเสพติด) และห้ามใช้เป็นยารักษาเพียงตัวเดียวในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
3.ห้ามใช้ยากลุ่ม Benzodiazepine ในการรักษาอาการนอนหลับแบบเรื้อรัง วิตกกังวลแบบเรื้อรัง และโรคซึมเศร้า
4.ห้ามใช้ยาต้านโรคจิตในผู้ป่วยระยะโคม่า ภาวะช็อก ระบบประสาทส่วนกลางถูกกด(เช่น หายใจช้า ตื้น เบา) และภาวะ/โรคฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma)
5.ห้ามใช้ยาระงับปวดชนิดเสพติดในผู้ป่วยที่การหายใจถูกกดอย่างเฉียบพลัน ความดันในกะโหลกศีรษะสูงเพิ่มขึ้น ได้รับการบาดเจ็บที่ศีรษะ ภาวะโคม่า ช็อก ภาวะฟีโอโครโมไซโตมา
มีข้อควรระวังการใช้ยากดประสาทส่วนกลางอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยากดประสาทส่วนกลาง เช่น
1.ระวังการใช้ยากดประสาททุกชนิดในผู้ที่ขับขี่ยานยนต์, ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือทำงานที่เสี่ยงต่อการพลัดตกจากที่สูง เนื่องจากยามีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งเสริมฤทธิ์ง่วงซึมจากยานี้
2.ควรระวังการใช้ยากดประสาททุกชนิดในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับและของไตผิดปกติ เพราะอาจทำให้อาการของ โรคตับ โรคไต แย่ลง
3.ไม่ควรใช้ยานอนหลับอย่างพร่ำเพรื่อ ควรใช้ยาขนาดต่ำที่สุด ระยะเวลาสั้นที่สุดเมื่อผู้ป่วยมีอาการนอนไม่หลับรุนแรงเท่านั้น เพราะอาจทำให้ติดยา คือไม่สามารถนอนหลับเองได้โดยไม่ใช้ยา โดยผู้ป่วยควรได้รับการรักษาสิ่งที่เป็นสาเหตุของอาการนอนไม่หลับด้วยเสมอ เช่น ภาวะซึมเศร้า เครียด เสียงดังรบกวน
4.ระวังการใช้ยาต้านโรคจิตในผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ขั้นรุนแรง, มีภาวะความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ชนิด QT interval prolongation และการใช้ยานี้ในขนาดสูงอาจทำให้ผิวหนังมีความไวต่อแสงแดด ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง
5.ระวังยาระงับปวดชนิดเสพติดในผู้ป่วยที่มีระบบหายใจผิดปกติ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease, COPD) โรคความดันโลหิตต่ำ โรคต่อมลูกหมากโต โรคลมชัก และผู้ป่วยที่ติดยา หรือเคยมีประวัติการติดยา
6.ยากันชักเป็นยาที่เกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ (Drug interaction) ได้หลายชนิด ยาอื่นๆบางชนิดอาจทำให้ระดับยากันชักในเลือดลดลง เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ รวมทั้งการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ยาอื่นๆบางชนิดอาจทำให้ระดับยากันชักในเลือดเพิ่มขึ้นจนเกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากยากันชักตามมา เช่นยา Erythromycin, Isoniazid และ Warfarin
การใช้ยากดประสาทส่วนกลางในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยากดประสาทส่วนกลางในหญิงตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น
1.ระวังการใช้ยาสลบในหญิงตั้งครรภ์ เพราะยาสามารถผ่านรกไปยังทารกในครรภ์ได้ ตัวอย่างเช่น หากหญิงตั้งครรภ์ได้รับยาสลบขนาดสูงเกินไปเมื่อนำสลบหญิงมีครรภ์เพื่อผ่าท้องคลอด อาจทำให้ยากดการหายใจของทารกในครรภ์จนเกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้จากการขาดออกซิเจน
2.ระวังการใช้ยานอนหลับ ยาคลายกังวล และยาระงับปวดชนิดเสพติด ในหญิงมีครรภ์ หรือหญิงให้นมบุตร ควรใช้ในระยะเวลาสั้นที่สุด และขนาดยาต่ำที่สุด เพราะการใช้ยาในระยะยาวอาจทำให้ยากดการหายใจของทารกในครรภ์ และอาจทำให้เกิดอาการถอนยาในทารกได้ คือทำให้เด็กมีอาการตื่นตัว เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตัวสั่น เป็นต้น
3.ยาต้านโรคจิต ควรใช้ในหญิงมีครรภ์ หรือหญิงให้นมบุตร ก็ต่อเมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าประโยชน์ที่ได้รับจากยา มีมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับทารก
4.ยากันชัก: ควรเลือกใช้ยาที่ปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ เช่น Carbamazepine หรือ Lamotrigine โดยใช้ยากันชักเพียงตัวเดียวในขนาดที่ต่ำที่สุด ไม่แนะนำให้เปลี่ยนยา หยุดยาหรือลดขนาดยากันชัก เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์ได้ และเมื่อจำเป็นต้องใช้ยากล่มนี้ที่ผ่านเข้ามาในน้ำนมมารดาได้ในหญิงให้นมบุตร อาจต้องงดให้นมบุตรโดยใช้นมผงแทน
การใช้ยากดประสาทส่วนกลางในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยากดประสาทส่วนกลางในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น
1.เนื่องจากวัยสูงอายุ เป็นวัยที่มีการทำงานตับและของไตลดลง หรืออาจเป็นโรคตับและ/หรือโรคไต ส่งผลให้ความสามารถในการทำลายยาและขับยาออกจากร่างกายลดลงตามมา ดังนั้นในการใช้ยากดประสาทส่วนกลาง แพทย์มักจะปรับลดขนาดยาเริ่มต้นลง เพื่อลดโอกาสการเกิดอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)จากยานั้นๆ
2.ควรระวังการใช้ยานอนหลับในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะยาที่ออกฤทธิ์ยาว เช่น Diazepam, Chlordiazepoxide เพราะอาจทำให้เกิดอาการ มึนงง เดินเซ จนอาจทำให้ผู้สูงอายุหกล้มได้รับบาดเจ็บได้
3.ควรระวังการใช้ยาต้านโรคจิตในผู้สูงอายุ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการโรคหลอดเลือดหัวใจ และกลุ่มอาการเอ็กซ์ทราพีรามิดัล (Extrapyramidal symptoms,การมีการเคลื่อนไหวผิดปกติที่เป็นผลข้างเคียงจากยา)ที่ส่งผลให้มีการเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติ
4.ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรว่ากำลังใช้ยาใดอยู่เป็นประจำ เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug interaction) จากยากดประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะ ยากันชัก
การใช้ยากดประสาทส่วนกลางในเด็กควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยากดประสาทส่วนกลางในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น
1.การใช้ยากดประสาทส่วนกลางในเด็กควรเริ่มจากขนาดต่ำๆ แล้วจึงค่อยปรับขนาดยาขึ้น เพราะเด็กมีความไวต่อยามากกว่าผู้ใหญ่ และอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาได้ง่าย
2.ไม่ควรใช้ยานอนหลับในเด็ก ควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น เช่น เด็กมีอาการละเมอเดิน และต้องใช้ยาโดยเป็นคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
3.ไม่ควรใช้ยาระงับปวดชนิดเสพติดในเด็ก หากมีอาการปวดไม่รุนแรง ควรเลือกใช้ยาแก้ปวดกลุ่มอื่น เช่น Paracetamol หรือยากลุ่ม NSIADs แทน
มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยากดประสาทส่วนกลางอย่างไร?
มีอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)จากการใช้ยากดประสาทส่วนกลาง ดังนี้ เช่น
1.ยาสลบ: ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ กดการหายใจ(อาการเช่น หายใจช้า เบา ตื้น) หยุดหายใจชั่วขณะ อุณหภูมิร่างกายต่ำ
2.ยานอนหลับ: ทำให้เกิดอาการ ง่วงซึม เดินเซ สับสน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถนอนได้เองเมื่อหยุดยา
3.ยาคลายกังวล: ทำให้เกิดอาการ ง่วงซึม ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน ความดันโลหิตต่ำ
4.ยารักษาโรคจิต: ทำให้เกิดอาการง่วงซึม กลุ่มอาการเอ็กซ์ทราพีรามิดัล (Extrapyramidal symptoms) ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดปกติ
5.ยาระงับปวด/ยาแก้ปวดชนิดเสพติด: ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง ท้องผูก ความดันโลหิตต่ำ กดการหายใจ ติดยา ใจสั่น ง่วงซึม มึนงง
6. ยากันชัก: ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ง่วงซึม มึนงง
สรุป
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยากดประสาทส่วนกลางด้วย) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
- คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ. คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาระบบประสาทส่วนกลาง เล่ม 1. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/sites/default/files/tnf_2010_central_nervous_system_vol1.pdf [2016,Sept24]
- สุรชัย อัญเชิญ. ยาออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง. กรุงเทพมหานคร: คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553. (อัดสำเนา)
- คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ. ยาที่ใช้ทางวิสัญญีวิทยาและการระงับปวด. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/sites/default/files/1.khuumuuekaaraichyaayaangsmehtuphl_taambaychiiyaahlakaehngchaati_yaathiiaichthaangwisayyiiwithyaaaelakaarrangabpwd_0.pdf. [2016,Sept24]
- Schaefer, C., Peters, P. and Miller, R. K. Drug During Pregnancy and Lactation, 2. USA: Elsevier, 2007.