มีเบนดาโซล (Mebendazole)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาถ่ายพยาธิมีเบนดาโซล (Mebendazole ย่อว่า MBZ) ถูกพัฒนาโดยบริษัทแจนเซ่น (Janssen) ประ เทศสหรัฐอเมริกา มีฤทธิ์ฆ่าพยาธิ/หนอนพยาธิ์ต่างๆอาทิเช่น พยาธิเข็มหมุด พยาธิตัวกลม (เช่น พยาธิไส้เดือน) พยาธิปากขอ พยาธิแส้ม้า เป็นต้น

องค์การอนามัยโลก ระบุให้ยามีเบนดาโซลเป็นยาสำหรับสาธารณสุขขั้นมูลฐานของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทยได้บรรจุยามีเบนดาโซลอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อย แล้ว

สมัยวัยเด็ก หลายท่านคงได้ยินผู้ปกครองพูดว่าจะซื้อยาถ่ายพยาธิมาให้ลูกรับประทาน ซึ่ง ผลิตออกมามีรูปลักษณะคล้ายทอฟฟี และทำให้เด็กเชื่อว่าเป็นขนม อาจมีข้อเสียติดตามมา เพราะเด็กๆไม่รู้ว่านี่เป็นยาไม่ใช่ขนม หลายบ้านจึงอาจจะพบเห็นว่าลูกหยิบยามารับประทานเอง ด้วยความเข้าใจผิด ปัจจุบันกฏหมายมีข้อบังคับที่เข้มงวดทำให้ผลิตภัณฑ์ดูมีมาตรฐานมากขึ้น เช่น ยามีเบนดาโซลซึ่งมีรูปแบบบรรรจุภัณฑ์เป็นชนิดรับประทานเท่านั้น

ยามีเบนดาโซลถูกดูดซึมได้ไม่ค่อยดีนักจากระบบทางเดินอาหาร ยาส่วนน้อยที่ถูกดูดซึม เข้าสู่กระแสเลือด จะจับกับโปรตีน 95% จากนั้นจะถูกส่งไปที่ตับเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมี ร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 3 - 6 ชั่วโมงในการขับยาปริมาณ 50% ออกมากับอุจจาระ และส่วนน้อยจะถูกขับออกกับปัสสาวะ

ยามีเบนดาโซลจัดเป็นยาอันตราย เพื่อความปลอดภัยก่อนการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ทุก

ยามีเบนดาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

มีเบนดาโซล

ยามีเบนดาโซลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • สำหรับฆ่า/ถ่ายพยาธิ โดยสามารถออกฤทธิ์ฆ่าพยาธิหลายชนิดได้ภายในเวลาเดียวกัน เช่น
    • พยาธิไส้เดือน
    • พยาธิแส้ม้า
    • พยาธิเข็มหมุด
    • พยาธิเส้นด้าย
    • พยาธิปากขอ

ยามีเบนดาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยามีเบนดาโซลมีกลไกออกฤทธิ์โดยตัวยาจะทำลายการสร้างท่อลำเลียงอาหารภายในลำ ไส้ของหนอนพยาธิ ทำให้ปิดกั้นการดูดกลืนสารอาหารอื่นๆ เช่น น้ำตาลกลูโคลส (Glucose) ส่งผลให้พยาธิขาดสารอาหารและตายในที่สุด

ยามีเบนดาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยามีเบนดาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • รูปแบบยาเม็ด ขนาดความแรง 100 และ 500 มิลลิกรัม/เม็ด
  • รูปแบบยาน้ำ ขนาดความแรง 100 มิลลิกรัม/ 5 มิลลิลิตร

ยามีเบนดาโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยามีเบนดาโซล มีขนาดรับประทาน ดังนี้ เช่น

ก. ผู้ใหญ่และเด็ก( นิยามคำว่าเด็ก)ที่อายุเกิน 2 ปีขึ้นไป: เช่น

  • สำหรับฆ่าพยาธิตัวกลม (บางครั้งอาจได้ยินชื่อว่า พยาธิหอยโข่ง (Angiostrongylo sis): รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น เป็นเวลา 5 วัน
  • สำหรับฆ่าพยาธิไส้เดือน (Ascariasis): รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละครั้งเช้า - เย็น เป็นเวลา 3 วัน
  • สำหรับฆ่าพยาธิปากขอ (Hookworm infection): รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัม วัน ละ 2 ครั้งเช้า - เย็น เป็นเวลา 3 วัน
  • สำหรับฆ่าพยาธิแส้ม้า (Whipworm infection): รับประทานครั้งละ 1 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น เป็นเวลา 3 วัน
  • สำหรับฆ่าพยาธิเข็มหมุด (Pinworm infection): รับประทานครั้งแรก 100 มิลลิกรัมครั้ง เดียว จากนั้นอีก 2 สัปดาห์รับประทาน 100 มิลลิกรัมอีก 1 ครั้ง

ข. ในเด็กโดยเฉพาะในเด็กเล็ก: การใช้ยนี้ต้องเป็นคำแนะนำจากแพทย์เท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยามีเบนดาโซล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยามีเบนดาโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ /มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยามีเบนดาโซล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยามีเบนดาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ด้วยยามีเบนดาโซลถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้น้อย จึงพบผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆได้ไม่มากเท่าใด ยกเว้นผู้ป่วยที่มีภาวะของโรคตับ สามารถจะพบผลข้างเคียงจากยามีเบนดาโซลได้มากกว่าคนปกติ ซึ่งผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น อาจมีอาการ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย
  • ผลต่อตับ: เช่น หากใช้ยานี้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ สามารถก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบชนิด Granulomatous hepatitis
  • ผลต่อระบบเลือด/ระบบโลหิตวิทยา: เช่น อาจเกิดภาวะโลหิตจาง
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจมีอาการ ผื่นคัน ลมพิษ
  • ผลต่อระบบระบบประสาท: เช่น สามารถพบอาการอ่อนแรง และง่วงนอน อาจมีอาการชัก เกิดขึ้นได้แต่พบน้อยราย

มีข้อควรระวังการใช้ยามีเบนดาโซลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยามีเบนดาโซล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยามีเบนดาโซล
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี
  • ห้ามใช้กับ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ควรต้องเฝ้าระวังระบบเลือด และตรวจสอบระบบการทำงานของตับ กับผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ในขนาดสูงๆ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยามีเบนดาโซลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยามีเบนดาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยามีเบนดาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยามีเบนดาโซลร่วมกับยาต้านเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะบางตัว อาจก่อให้เกิดอาการของโรค Stevens-Johnson syndrome ซึ่งมีอาการผื่นคันเกิดในบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ในปาก ยาต้านเชื้อแบคทีเรียที่กล่าวถึง เช่นยา Metronidazole
  • การใช้ยามีเบนดาโซลร่วมกับยากันชักบางตัว สามารถทำให้ระดับยามีเบนดาโซลที่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดลดต่ำลง ยากันชักดังกล่าว เช่นยา Carbamazepine และ Phenytoin

ควรเก็บรักษายามีเบนดาโซลอย่างไร?

ควรเก็บยามีเบนดาโซล เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิระหว่าง 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงสว่าง แสงแดด และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำ
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยามีเบนดาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยามีเบนดาโซล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Alworm (อัลวอร์ม) The Forty-Two
Anti-worm (แอนตี้-วอร์ม) Patar Lab
Benda (เบนด้า) Thai Nakorn Patana
Bendazole (เบนดาโซล) Utopian
Big-Ben 500 (บิ๊ก-เบน 500) Greater Pharma
Drivermide (ไดร์เวอร์ไมด์) Nakornpatana
Fuben 88 (ฟูเบน 88) T.O. Chemicals
Fugacar (ฟูกาคาร์) Janssen-Cilag
Hero-Benson (ฮีโร-เบนสัน) Heromycin Pharma
K.B. Bendazole (เค.บี. เบนดาโซล) K.B. Pharma
Masaworm-1 (มาซาวอร์ม-1) Masa Lab
Meba (มีบา) Polipharm
Meben (มีเบน) General Drugs House
Mebenda-P (มีเบนดา-พี) P P Lab
Mebendazole B L Hua (มีเบนดาโซล บี แอล ฮั้ว) B L Hua
Mebendazole Community Pharm (มีเบนดาโซล คอมมูนิตี้ ฟาร์ม) Community Pharm PCL
Mebendazole GPO (มีเบนดาโซล จีพีโอ) GPO
Mebendazole Utopian (มีเบนดาโซล ยูโทเปี้ยน) Utopian
Medazole (มีดาโซล) Asian Pharm
Quemox (ควีม็อก) YSP Industries
Rid-O-Worm (ริด-โอ-วอร์ม) New York Chemical
Vagaka (วากาคา) Atlantic Lab
Warca (วาร์กา) Pharmasant Lab

บรรณานุกรม

1. http://en.wikipedia.org/wiki/Mebendazole [2020,Nov28]
2. https://mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fmims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fmebendazole%3fmtype%3dgeneric [2020,Nov28]
3. http://www.drugs.com/mtm/mebendazole.html [2020,Nov28]
4. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fmebendazole%2fMebendazole%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric [2020,Nov28]
5. http://www.drugs.com/drug-interactions/mebendazole.html [2020,Nov28]