มีบูทาเมต (Mebutamate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 24 กุมภาพันธ์ 2560
- Tweet
- บทนำ
- มีบูทาเมตมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- มีบูทาเมตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- มีบูทาเมตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- มีบูทาเมตมีขนาดการรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- มีบูทาเมตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้มีบูทาเมตอย่างไร?
- มีบูทาเมตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษามีบูทาเมตอย่างไร?
- มีบูทาเมตมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- คาร์บาเมต (Carbamate)
- ยาคลายกังวล (Anxiolytic)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
บทนำ
ยามีบูทาเมต(Mebutamate) เป็นยาในกลุ่มคาร์บาเมต (Carbamate) ทางคลินิกนำมาใช้บรรเทาอาการวิตกกังวล เป็นยาสงบประสาท/ยาคลายเครียด และมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตด้วย คุณสมบัติของการลดความดันโลหิตของยามีบูทาเมตมิได้ออกฤทธิ์ต่อเส้นเลือด/หลอดเลือดโดยตรง แต่จะออกฤทธิ์บริเวณสมองส่วนที่เรียกว่า ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) และเมดัลลา (Medulla) ส่งผลให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัวและทำให้ความดันโลหิตลดลงมา อย่างไรก็ตามประวัติของการใช้ยานี้มีมานานเกือบ 70 ปีแล้ว ทำให้ปัจจุบัน มียาลดความดันโลหิต ยาคลายความวิตกกังวล/ยาสงบประสาทรุ่นใหม่ที่มีความแรงและระยะเวลาการออกฤทธิ์ที่ยาวนานกว่า ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องรับประทานยาบ่อยๆเหมือนกับยามีบูทาเมต ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการลืมรับประทานยาตามมาได้
อนึ่ง เราจะไม่พบเห็นการใช้ยานี้ในประเทศไทยภายใต้ชื่อการค้าใด แต่มีการจัดจำหน่ายในต่างประเทศภายใต้ชื่อการค้า เช่น Capla และ Dormate
มีบูทาเมตมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยามีบูทาเมตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้เป็นยาลดความดันโลหิต
- ใช้บรรเทาอาการวิตกกังวล ช่วยสงบประสาท/คลายเครียด
มีบูทาเมตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยามีบูทาเมตมีกลไกการออกฤทธิ์ในสมองหรือระบบประสาทส่วนกลางบริเวณ Hypothalamus และMedulla ส่งผลต่อสารสื่อประสาทต่างๆและเกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทเหล่านั้น จนเป็นผลทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
มีบูทาเมตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยามีบูทาเมตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่มีส่วนประกอบของ Mebutamate ขนาด 300 มิลลิกรัม/เม็ด
มีบูทาเมตมีขนาดการรับประทานอย่างไร?
ยามีบูทาเมตมีขนาดการรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 300 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง หรือ ตามคำสั่งแพทย์ โดยรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
อนึ่ง:แพทย์อาจใช้ขนาดรับประทานเริ่มต้นครั้งละ 150 มิลลิกรัม เช้า–กลาง–เย็น และปรับเป็น 300 มิลลิกรัม ก่อนนอน
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยามีบูทาเมต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยามีบูทาเมต อาจส่งผลให้ อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยามีบูทาเมต สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
*แต่ด้วยยามีบูทาเมต มีการออกฤทธิ์เป็นระยะเวลาสั้นๆ จึงต้องรับประทานยานี้กรณีเพื่อลดความดันโลหิตวันละ 3–4 ครั้ง การลืมรับประทานยานี้ จึงอาจเป็นเหตุให้ความดันโลหิตสูงขึ้นมาได้
มีบูทาเมตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยามีบูทาเมตสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ดังนี้ เช่น ก่อให้เกิดอาการ คลื่นไส้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และง่วงนอน แต่ยังไม่มีรายงานอาการข้างเคียงอื่นๆที่รุนแรง
มีข้อควรระวังการใช้มีบูทาเมตอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยามีบูทาเมต เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
- ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะทำให้ผลข้างเคียงจากยานี้รุนแรงขึ้น
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามหยุดการรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- หากพบอาการแพ้ยานี้เกิดขึ้น เช่น บวม และ/หรือมีผื่นคัน ตามร่างกาย หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยามีบูทาเมตด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
มีบูทาเมตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยามีบูทาเมตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยามีบูทาเมต พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะทำให้ความดันโลหิตต่ำลงมากจนเกิดอันตราย มีอาการวิงเวียนมาก และง่วงนอนมากตามมา
ควรเก็บรักษามีบูทาเมตอย่างไร?
ควรเก็บยามีบูทาเมตภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น หรือเก็บตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
มีบูทาเมตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Axiten (แอคซิเทน) | Zambon |
Butatensin (บูทาเทนซิน) | Benvegna Neoterapici |
Capla (แคพลา) | Inibsa Laboratorios |
Dormate (ดอร์เมต) | MedPointe Healthcare |
Mebutina (มีบูทินา) | Formenti Farmaceutici |
Sigmafon (ซิกเมฟอน) | Reggiano Laboratorio Farmaceutico |
Vallene (แวลลีน) | Simes |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Mebutamate [2017,Feb4]
- http://drugs-about.com/ing/mebutamate.html [2017,Feb4]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2642072/pdf/jnma00683-0098.pdf [2017,Feb4]
- http://www.tabletwise.com/medicine/mebutamate [2017,Feb4]