มิลแนซิแพรน (Milnacipran)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 28 กันยายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- มิลแนซิแพรนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- มิลแนซิแพรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- มิลแนซิแพรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- มิลแนซิแพรนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- มิลแนซิแพรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้มิลแนซิแพรนอย่างไร?
- มิลแนซิแพรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษามิลแนซิแพรนอย่างไร?
- มิลแนซิแพรนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เอสเอ็นอาร์ไอ: ยาโรคซึมเศร้า (SNRI: Serotonin and norepinephrine reuptake inhibitor)
- ไฟโบรมัยอัลเจีย:กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ เอ็น และเนื้อเยื่ออ่อน (Fibromyalgia)
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
- ยาต้านเศร้า(Antidepressants)
บทนำ
ยามิลแนซิแพรน(Milnacipran หรือ Milnacipran Hydrochloride หรือ Milnacipran HCl ) เป็นยาในกลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอ(SNRI) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาอาการโรคซึมเศร้า รวมถึง กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ เอ็นและเนื้อเยื่ออ่อน(Fibromyalgia) ตัวยานี้จะทำหน้าที่ยับยั้งการดูดคืนเก็บกลับเข้าสู่สมองของสารสื่อประสาทชนิด Serotonin และชนิด Norepinephrine จึงทำให้สมองมีสารสื่อประสาททั้ง 2 ชนิดเป็นปริมาณที่เหมาะสม มีสมดุล ส่งผลให้การควบคุมกระบวนการรับรู้ หรือกระบวนการทางความคิด เช่น อารมณ์ ความรู้สึก สิ่งเร้า และความสามารถของการจดจำ เป็นไปอย่างปกติ
อย่างไรก็ตาม ยามิลแนซิแพรน มีข้อควรระวังคล้ายกับยารักษาอาการซึมเศร้า/ยาต้านเศร้าตัวอื่นๆ โดยยามิลแนซิแพรน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการคิดหรือการฆ่าตัวตายของผู้ป่วยวัยรุ่นได้
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยามิลแนซิแพรนคือยารับประทาน ตัวยานี้สามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร และผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 85% ตับมีหน้าที่ทำลายยามิลแนซิแพรนอย่างต่อเนื่อง และร่างกายต้องใช้เวลานานประมาณ 8 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งไปกับปัสสาวะ
สำหรับข้อห้ามใช้/ข้อควรระวังของการใช้ยามิลแนซิแพรนที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบมีดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคไต
- ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่ม MAOI ทางคลินิกแนะนำให้เว้นระยะเวลาการใช้ยาทั้ง 2 ชนิดให้ห่างกันอย่างน้อยประมาณ 14 วัน
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร นอกจากจะมีคำสั่งจากแพทย์
- หลีกเลี่ยงการใช้ยามิลแนซิแพรนกับผู้ที่มีประวัติการเจ็บป่วยจาก โรคลมชัก โรคหัวใจ โรคเลือด โรคที่มีทางเดินปัสสาวะอุดตัน โรคต่อมลูกหมากโต โรคต้อหิน ผู้ที่มีเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ ด้วยตัวยามิลแนซิแพรนอาจทำให้อาการเจ็บป่วยดังกล่าวทวีความรุนแรงมากขึ้น
- ห้าม/หลีกเลี่ยงการใช้ยามิลแนซิแพรนร่วมกับ ยาขับปัสสาวะ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยากลุ่มNSAIDs Digoxin Epinephrine เพราะกลุ่มยาที่กล่าวมา สามารถทำให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปกิกิริยาระหว่างยา)เมื่อใช้ร่วมกับยามิลแนซิแพรน
- ผู้ป่วยต้องได้รับ ยามิลแนซิแพรน อย่างต่อเนื่อง และห้ามหยุดรับประทานยานี้โดยกะทันหัน ด้วยอาจทำให้ได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)รุนแรงตามมา เช่น อารมณ์แปรปรวน วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ฝันร้าย มีภาวะลมชัก เหนื่อยง่าย อาเจียน การหยุดใช้ยานี้ ต้องให้แพทย์เป็นผู้ปรับลดขนาดการใช้ยานี้เท่านั้น
- ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์เพราะอาจทำให้มีอาการ วิงเวียน ง่วงนอน อย่างรุนแรง และเกิดพิษกับตับ/ตับอักเสบอย่างรุนแรง
- กรณีที่ใช้ยานี้แล้วมีอาการวิงเวียน ห้ามผู้ป่วยไปทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร หรือไปขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ ด้วยจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- การใช้ยานี้อาจต้องกินระยะเวลาหลายสัปดาห์จึงจะเริ่มเห็นประสิทธิผล จึงห้ามผู้ป่วยใช้ยานี้เกินขนาดจากคำสั่งของแพทย์โดยเด็ดขาด
- ระวังการเกิดกลุ่มอาการ Serotonin syndrome ขณะที่ใช้ยาชนิดนี้ ซึ่งอาจสังเกตได้จาก อาการตัวสั่น รู้สึกสับสน เกิดภาวะโคม่า เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีไข้ ประสาทหลอน กล้ามเนื้อกระตุก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดแผลเลือดออก ด้วยยานี้สามารถกระตุ้นให้มี ภาวะเลือดออกง่าย
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ด้วยเสี่ยงต่อการกระตุ้นให้เกิดอารมณ์เครียด จนทำร้ายตนเอง หรือฆ่าตัวตาย
การใช้ยามิลแนซิแพรนในการรักษาอาการโรคซึมเศร้า และอาการปวดกล้ามเนื้อ-เส้นเอ็นมีความแตกต่างกันของขนาดการใช้ยา แพทย์เท่านั้นที่จะสั่งจ่ายยานี้ได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสมที่สุด
อนึ่ง ในท้องตลาดยาแผนปัจจุบัน เราจะพบเห็นยามิลแนซิแพรนถูกวางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Savella”
มิลแนซิแพรนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยามิลแนซิแพรนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาอาการโรคซึมเศร้า(Depression)
- รักษาอาการโรคปวดกล้ามเนื้อ เอ็นและเนื้อเยื่ออ่อน(Fibromyalgia)
มิลแนซิแพรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยามิลแนซิแพรน มีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดเก็บกลับของสารสื่อประสาทประเภท Serotonin และ Norepinephrine ของสมอง ส่งผลให้ร่างกายมีการปรับสมดุลของกระบวนการทางชีวเคมีในสมอง ซึ่งการปรับสมดุลของกระบวนการดังกล่าว ทำให้การควบคุม กระบวนการทางความคิด กระบวนการรับรู้ เช่น อารมณ์ ความรู้สึก การตอบสนองต่อสิ่งเร้า และความสามารถในการจดจำเป็นไปอย่างปกติ และก่อให้เกิดที่มาของสรรพคุณ
มิลแนซิแพรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยามิลแนซิแพรนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วยยา Milnacipran 12.5 , 25, และ 50 มิลลิกรัม/เม็ด
มิลแนซิแพรนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยามิลแนซิแพรนมีขนาดรับประทาน เช่น
ก.สำหรับรักษาโรคซึมเศร้า:
- ผู้ที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 50 มิลลิกรัม หลังอาหาร วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
ข.สำหรับกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ เอ็นและเนื้อเยื่ออ่อน(Fibromyalgia):
- ผู้ที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: วันแรกให้รับประทานยาขนาด 12.5 มิลลิกรัม ครั้งเดียว หลังอาหาร, วันที่ 2และ3 รับประทานยาครั้งละ 12.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น, วันที่ 4 ถึง 7 รับประทานยาครั้งละ 25 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น วันที่ 8 เป็นต้นไป ให้รับประทานยาครั้งละ 50 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น โดย แพทย์อาจให้ยานี้กับผู้ป่วยถึงครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ทั้งนี้ต้องขึ้นกับการตอบสนองของผู้ป่วย และรับประทานยานี้หลังอาหารเช่นกัน
อนึ่ง:
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี
- ห้ามหยุดใช้ยานี้กะทันหัน
- ใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวม ยามิลแนซิแพรน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยามิลแนซิแพรน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมรับประทานยามิลแนซิแพรน ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้ข้ามมื้อยาที่ลืมรับประทานและรับประทานยาที่ขนาดปกติ
แต่การรับประทานยามิลแนซิแพรน ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้ตรงเวลา และไม่ควรปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง รวมถึงการหยุดรับประทานยานี้ทันที จะก่อให้เกิดภาวะถอนยา หรือมีอาการข้างเคียงอย่างรุนแรงเกิดขึ้น
มิลแนซิแพรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยามิลแนซิแพรนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องผูกหรือท้องเสีย อาเจียน ปากแห้ง ปวดท้อง เบื่ออาหาร กรดไหลย้อน ท้องอืด กระเพาะอาหารอักเสบ เกิดริดสีดวงทวาร ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน เกิดไมเกรน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ตัวสั่น เกิดภาวะชัก อาจเกิดกลุ่มอาการ Serotonin syndrome
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน เหงื่อออกกลางคืน ลมพิษ อาจเกิดกลุ่มอาการ Stevens Johnson syndrome ภาวะผิวหนังแพ้แสงแดดง่าย
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มีอาการร้อนวูบวาบ ชีพจรเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ เจ็บหน้าอก
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล มีความรู้สึกอยากทำร้ายตนเอง รู้สึกสับสน ประสาทหลอน ฝันร้าย อารมณ์ทางเพศลดลง รู้สึกก้าวร้าว
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด สมรรถภาพทางเพศถดถอย ปวดในทางเดินปัสสาวะ ปริมาณปัสสาวะน้อยลง กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
- ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดหลัง กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ทางเดินหายใจส่วนบนอักเสบ/โรคติดเชื้อ ทางเดินหายใจส่วนบน ไซนัสอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ คออักเสบ อาจมีอาการหายใจขัด/หายใจลำบาก
- ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มหรือไม่ก็ลดลง ไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูง เบื่ออาหาร เกิดภาวะเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ
- ผลต่อระบบภูมิต้านทาน/ระบบภูมิคุ้มกัน/ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่
- ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น เกิดภาวะตับอักเสบ
- ผลต่อไต: เช่น ไตวายเฉียบพลัน
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น มีสารคัดหลั่ง/น้ำนมออกจากหัวนมผิดปกติ มีภาวะฮอร์โมนโปรแลกตินสูง
มีข้อควรระวังการใช้มิลแนซิแพรนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยามิลแนซิแพรน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มี คำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้หรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามไปซื้อหายานี้มาใช้เองโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ปัญหาความดันโลหิตสูง ผู้ที่ป่วยด้วยโรคเลือด โรคต้อหิน หรือเป็นผู้ที่ใช้ยากลุ่มMAOIs อยู่ก่อน
- กรณีพบอาการแพ้ยานี้ เช่น มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- หากใช้ยานี้ตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำแล้วอาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- แจ้งแพทย์/พยาบาล/เภสัชกรถึงประวัติโรคประจำตัว มียาอื่นๆชนิดใดที่ใช้อยู่บ้าง โดยละเอียดก่อนที่จะเข้ารับการรักษาทุกครั้ง
- ศึกษาเรื่องขนาดการรับประทานของยานี้ รวมถึงผลข้างเคียง ข้อห้าม ข้อควรระวังของการใช้ยานี้ด้วยความเข้าใจ
- ญาติของผู้ป่วยควรเฝ้าสังเกตว่า ผู้ป่วยมีอาการอยากทำร้ายตนเองเกิดขึ้นหรือไม่ หากพบเห็นเหตุการณ์นี้ ให้รีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
- ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยามิลแนซิแพรนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
มิลแนซิแพรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยามิลแนซิแพรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามรับประทานยามิลแนซิแพรนร่วมกับการดื่มสุรา ด้วยจะสร้างความเป็นพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)กับตับของผู้ป่วย
- ห้ามรับประทานยามิลแนซิแพรนร่วมกับยาWarfarin ด้วยจะทำให้มีภาวะเลือดออกง่ายตามมา
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยามิลแนซิแพรนร่วมกับยา Phenylephrine เพราะอาจ ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงและหัวใจเต้นเร็วมากขึ้น
- ห้ามใช้ยามิลแนซิแพรนร่วมกับยา 5 Hydroxytryptophan ด้วยเสี่ยงต่อการเกิด ภาวะ Serotonin syndrome ตามมา โดยสังเกตผู้ป่วยจะมีอาการ สับสน ประสาทหลอน เกิดลมชัก ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอาจสูงขึ้นหรือต่ำลง หัวใจเต้นเร็ว มีไข้ เหงื่อออกมาก ตาพร่า กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว ตัวสั่น เป็นตะคริวที่ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย กรณีที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะโคม่า และถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด
ควรเก็บรักษามิลแนซิแพรนอย่างไร?
ควรเก็บยามิลแนซิแพรนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
มิลแนซิแพรนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยามิลแนซิแพรน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Savella (ซาเวลลา) | Allergan, Inc. |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น ACMIL, Milborn, Milnace, Milza, Milpran
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/savella.html[2017,Sept9]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Milnacipran[2017,Sept9]
- https://www.drugs.com/cdi/milnacipran.html[2017,Sept9]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/milnacipran.html[2017,Sept9]