มิลเทโฟซีน (Miltefosine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 29 พฤษภาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- มิลเทโฟซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- มิลเทโฟซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- มิลเทโฟซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- มิลเทโฟซีนมีขนาดใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- มิลเทโฟซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้มิลเทโฟซีนอย่างไร?
- มิลเทโฟซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษามิลเทโฟซีนอย่างไร?
- มิลเทโฟซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- มะเร็ง (Cancer)
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)
- มะเร็งเต้านม (Breast cancer)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- สัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อโปรโทซัว (Protozoan infection)
- ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยามิลเทโฟซีน (Miltefosine) คือ ยารักษามะเร็งบางประเภท เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของผิวหนัง (Mycosis Fungoides) และมะเร็งเต้านม (Breast cancer) ยานี้จัดเป็นสารอนุพันธุ์ประเภท Alkylphosphocholine (สารสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติฆ่าเซลล์ได้) ถูกพัฒนาและค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 1980 (พ.ศ.2523)
ต่อมาพบว่า ยามิลเทโฟซีนสามารถฆ่าเชื้อโปรโตซัว (Protozoa/สัตว์เซลล์เดียว/โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว) ที่เป็นสาเหตุของโรคลิชมาเนีย (Leishmaniasis, โรคพบยากในบ้านเราเป็นโรคติดต่อจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยมีตัวริ้นฝอยทรายเป็นพาหะโรค) โดยมีการทดลองใช้ยานี้กับผู้ป่วยในบางประเทศ เช่น บราซิล กัวเตมาลา และสหรัฐอเมริกา พบว่าการตอบสนองของโรคกับยานี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ จะเป็นยารับประทาน และยาทาภายนอก/ยาใช้ภายนอก การดูดซึมของยานี้เข้าสู่ร่างกายมีปริมาณสูง แต่ผู้ป่วยต้องใช้เวลาหลายวันในการกำจัดตัวยาออกจากร่างกาย
องค์การอนามัยโลกได้บรรจุให้ยานี้เป็นยาจำเป็นที่ใช้รักษาโรคลิชมาเนียในปี ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) ด้วยความจำเพาะเจาะจงต่อโรค เราจึงไม่ค่อยพบเห็นการใช้ยาชนิดรับประทานมากนัก ส่วนรูปแบบสารละลายที่ใช้ทารักษาโรคมะเร็งสามารถพบในสถานพยาบาลที่ทำการรักษาโรคมะเร็งดังที่กล่าวมาแล้ว
มิลเทโฟซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยามิลเทโฟซีนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาอาการโรคลิชมาเนีย ชนิดเกิดกับอวัยวะภายใน (Visceral Leishmaniasis)
- รักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ผิวหนัง (Mycosis fungoides) และ มะเร็งเต้านม
มิลเทโฟซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยามิลเทโฟซีนคือ ตัวยาจะทำให้ผนังเซลล์(Cell membrane: เซลล์-เนื้อเนื่อ-อวัยวะ)แตกออก และหมดสภาพในการทำหน้าที่ ส่งผลให้เซลล์ตายลง จากกลไกนี้จึงส่งผลให้มีฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ
มิลเทโฟซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยามิลเทโฟซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 10 และ 50 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาเตรียมชนิดสารละลายเข้มข้น 6% เพื่อใช้ทาภายนอก
มิลเทโฟซีนมีขนาดใช้ยาอย่างไร?
ยามิลเทโฟซีนมีขนาดใช้ยา เช่น
ก.สำหรับรักษาโรคลิชมาเนียชนิดเกิดกับอวัยวะภายใน (Visceral Leishmaniasis): เช่น
- ผู้ใหญ่ที่น้ำหนักตั้งแต่ 45 กิโลกรัมขึ้นไป: รับประทานครั้งละ 50 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 28 วัน
- ผู้ใหญ่ที่น้ำหนักน้อยกว่า 45 กิโลกรัม: รับประทานครั้งละ 50 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 28 วัน
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปและมีน้ำหนักระหว่าง 30 - 44 กิโลกรัม: รับประทานครั้งละ 50 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 28 วัน
- เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปและมีน้ำหนักตั้งแต่ 45 กิโลกรัมขึ้นไป: รับประทานครั้งละ 50 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 28 วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ยังไม่มีข้อมูลการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ที่ชัดเจน ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
อนึ่ง ควรรับประทานยานี้พร้อมหรือหลังอาหารเพื่อลดอาการข้างเคียงเช่น คลื่นไส้-อาเจียน
ข.สำหรับรักษาโรคมะเร็งเต้านม และ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองผิวหนัง(Mycosis fungoides): เช่น
- ผู้ใหญ่: ใช้ยาเตรียมขนาดความเข้มข้น 6% ที่เป็นสารละลายทา 1 - 2 ครั้ง/วัน
- เด็ก: เนื่องจากมะเร็งทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าวเป็นมะเร็งผู้ใหญ่ ดังนั้นจึงยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดในการใช้ยานี้ทาภายนอกในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยามิลเทโฟซีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆเช่น โรคไต โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยามิลเทโฟซีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยา/ทายามิลเทโฟซีน สามารถรับประทานยา/ทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยา/ทายาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
มิลเทโฟซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยามิลเทโฟซีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ตามลักษณะของการใช้ยา เช่น
ก. ประเภทยารับประทาน: เช่น
- เมื่อตรวจเลือดซีบีซี/CBC อาจพบ เม็ดเลือดขาวสูง (Leukocytosis), เกล็ดเลือดสูง (Thrombocytosis)
- ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร – ลำไส้
- คลื่นไส้อาเจียน
- ท้องเสีย หรือ ท้องผูก
- เป็นพิษ กับตับ กับไต
ข. ประเภทยาทาภายนอก: ในบริเวณที่ทายาอาจก่อให้เกิดอาการ เช่น
- ผื่นคัน
- บวมแดง
- อักเสบ
- ปวดแสบ
- รวมถึงอาจทำให้เกิดแผลซึ่งอาจมีภาวะเนื้อตายเกิดขึ้นตามมาด้วยได้
มีข้อควรระวังการใช้มิลเทโฟซีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยามิลเทโฟซีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับผู้ป่วยที่ต้องได้รับการฉายรังสีรักษา/ รังสีรักษา-ฉายรังสี-ใส่แร่
- ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานยา/ปรับขนาดยาทาด้วยตนเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับเด็ก โดยผู้ป่วยเด็กต้องมีอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป และการใช้ยาจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคตับ โรคไต
- ระหว่างการใช้ยานี้ชนิดรับประทาน แนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำอย่างเพียงพอเพื่อลดภาวะขาดน้ำ และเป็นการป้องกันความเสียหาย/พิษยาที่จะเกิดกับไต
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช่ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยามิลเทโฟซีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
มิลเทโฟซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยามิลเทโฟซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยามิลเทโฟซีน ร่วมกับ ยาเม็ดคุมกำเนิด จะเพิ่มอาการข้างเคียงเรื่องท้องเสียและอาเจียนรุนแรงมากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน หรือหยุดการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด และเปลี่ยนวิธีการคุมกำเนิดโดยหันไปใช้ถุงยางอนามัยชายแทน
ควรเก็บรักษามิลเทโฟซีนอย่างไร?
ควรเก็บยามิลเทโฟซีน:
- เก็บยาในอุณหภูมิห้องที่เย็น
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
มิลเทโฟซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยามิลเทโฟซีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Impavido (อิมพาวิโด) | Paladin Therapeutics |
Miltex (มิลเท็ก) | Asta Medica |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Miltefosine [2021,May22]
- https://www.mims.com/India/drug/info/miltefosine/?type=full&mtype=generic#Dosage [2021,May22]
- https://www.drugs.com/food-interactions/miltefosine.html [2021,May22]
- https://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/fda/fdaDrugXsl.cfm?setid=d6658aeb-7bc1-4eef-ad0d-0a873ddbecf5&type=display#section-14 [2021,May22]
- https://www.medindia.net/doctors/drug_information/miltefosine.htm [2021,May22]
- https://www.securingindustry.com/pharmaceuticals/discovery-of-miltefosine-fakes-highlights-need-for-simple-assays/s40/a1175/#.YBO6ODEzbIV [2021,May22]
- https://www.who.int/selection_medicines/committees/expert/18/applications/Miltefosine_application.pdf [2021,May22]
- https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/10183390/ [2021,May22]
- https://reference.medscape.com/drug/impavido-miltefosine-999893 [2021,May22]