มิราเบกรอน (Mirabegron)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 29 เมษายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- มิราเบกรอนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- มิราเบกรอนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- มิราเบกรอนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- มิราเบกรอนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- มิราเบกรอนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้มิราเบกรอนอย่างไร?
- มิราเบกรอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษามิราเบกรอนอย่างไร?
- มิราเบกรอนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- อะดรีเนอร์จิก อะโกนิสต์ (Adrenergic agonist)
- โรคไต (Kidney disease)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis)
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อระบบหายใจ (Respiratory tract infection)
บทนำ
ยามิราเบกรอน(Mirabegron)เป็นยาในกลุ่มอะดรีเนอร์จิก อะโกนิสต์(Adrenergic agonist) มีฤทธิ์กระตุ้นตัวรับ(Receptor)กลุ่มเบต้า3 (Beta3 adrenergic receptor) ที่ผนังกล้ามเนื้อเรียบของกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะเกิดการคลายตัวและทำให้เพิ่มปริมาตรในการรองรับน้ำปัสสาวะได้มากขึ้น ทางคลินิก ใช้ยามิราเบกรอนเป็นยารักษาอาการปัสสาวะบ่อยและกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือที่เรียกว่ากระเพาะปัสสาวะทำงานไวเกิน (Overactive bladder)
ยามิราเบกรอน มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน สามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 29-35% ร่างกายต้องใช้เวลา ประมาณ 50 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ ด้วยช่วงเวลาที่ตัวยาอยู่ในร่างกายได้นานนี้เอง ทำให้ผู้ป่วยรับประทานยานี้เพียงวันละ 1 ครั้งก็เพียงพอต่อการควบคุมอาการกระเพาะปัสสาวะทำงานไวเกินได้แล้ว
มีข้อจำกัดของการใช้ยามิราเบกรอนที่ผู้ป่วยควรทราบและสามารถระบุออกมาเป็นลำดับ/ข้อๆได้ดังต่อไปนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ยาชนิดนี้ถูกออกแบบมาสำหรับผู้ใหญ่ที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยานี้กับเด็ก หรือกับผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะของ โรคไต โรคตับ ระยะสุดท้าย ผู้ที่ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงขั้นรุนแรงที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ ด้วยตัวยานี้อาจ อาจทำให้อาการของโรคต่างๆดังกล่าวรุนแรงขึ้น
- สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาหลายชนิดที่จะเกิดผลข้างเคียงจากยาที่รุนแรง ซึ่งรวมถึงยามิราเบกรอนด้วยเช่นกัน
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีกระเพาะปัสสาวะอุดตัน หรือผู้ที่มีภาวะปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด
- ระวังการใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะยา Chlorpromazine, Desipramine, Digoxin, Encainide, Flecainide, Metoprolol, Nortriptyline, Pimozide, Propafenone, Tetrabenazine, Thioridazine, ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ของยามิราเบกรอนสูงขึ้นตามมา
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลสำคัญของอาการข้างเคียงที่ผู้ป่วยควรได้รับการแจ้งเตือนจาก แพทย์ เภสัชกร เมื่อใช้ยามิราเบกรอน การรู้เท่าทันอาการข้างเคียงจากยานี้ จะช่วยให้ผู้ป่วยปรับตัวต่อการใช้ยานี้ได้เร็ว และป้องกันอาการข้างเคียงดังกล่าวได้ดีขึ้น เช่น ยามิราเบกรอนอาจทำให้เกิดอาการความดันโลหิตสูงที่สามารถสังเกตได้จากมีอาการปวดศีรษะและวิงเวียน ดังนั้น ระหว่างการใช้ยานี้ ควรต้องหมั่นตรวจสอบความดันโลหิตร่วมด้วยสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ เภสัชกร
กรณีมีข้อผิดพลาดของการใช้ยามิราเบกรอนเกิดขึ้น และทำให้ผู้ป่วยได้รับยานี้เกินขนาด ซึ่งจะส่งผลให้ชีพจรเต้นผิดปกติ อัตราการเต้นของหัวใจ และความดันโลหิตสูงขึ้น หากพบกรณีดังกล่าว ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ยามิราเบกรอนเป็นยาประเภท ยาควบคุมพิเศษ และการใช้ยานี้ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น ซึ่งหากผู้ป่วยมีข้อสงสัยการใช้ยาชนิดนี้เพิ่มเติม ผู้ป่วยสามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้รักษา หรือขอคำแนะนำได้จากเภสัชกรตามร้านขายยาได้ทั่วไป
มิราเบกรอนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยามิราเบกรอนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อ
- บำบัดรักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะทำงานไวเกิน (Overactive bladder)
- บรรเทาอาการปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะเล็ดกระปริบกระปรอย
มิราเบกรอนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ตัวยามิราเบกรอนเป็นยาประเภท อะดรีเนอร์จิก อะโกนิสต์ โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ ที่สามารถกระตุ้นตัวรับ ชนิด Beta3 adrenergic receptor ที่บริเวณผนังกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะเกิดการขยายตัวและมีปริมาตรรองรับปริมาณน้ำปัสสาวะได้มากขึ้น ด้วยกลไกนี้เองที่ทำให้ภาวะกระเพาะปัสสาวะทำงานไวเกินทุเลาลงได้ตามสรรพคุณ
มิราเบกรอนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยามิราเบกรอน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยยา Mirabegron ขนาด 25 และ 50 มิลลิกรัม/เม็ด
มิราเบกรอนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยามิราเบกรอนมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่ที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานยาขนาด 25 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้ ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 25-50 มิลลิกรัม/วัน
- ผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยานี้ถูกออกแบบมาสำหรับผู้ใหญ่ที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยานี้กับเด็ก หรือกับผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
อนึ่ง:
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง
- ห้ามใช้ยาเกิน 25 มิลลิกรัม/วัน กับผู้ป่วยที่มีค่าครีเอตินินเคลียแรนซ์(Creatinine clearance, CrCl) ระหว่าง 15-29 มิลลิลิตร/นาที (CrCl to 15-29 mL/min)
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีค่าครีเอตินินเคลียแรนซ์น้อยกว่า 15 มิลลิลิตร/นาที
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยามิราเบกรอน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคตับ โรคความดันโลหิตสูง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยามิราเบกรอน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยามิราเบกรอน สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาในขนาดปกติ
อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา จะต้องรับประทานยามิราเบกรอน ต่อเนื่อง ตรงตามขนาด และเวลาในแต่ละวัน ตามแพทย์สั่ง
มิราเบกรอนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยามิราเบกรอนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พีงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย ปวดท้อง เบื่ออาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
- ผบลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ ริมฝีปากบวม
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ท่อปัสสาวะอักเสบ ปวดกระเพาะปัสสาวะ ปัสสาวะขัด
- ผลต่อการเกิดเนื้องอก/ มะเร็ง: โดยอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งต่อลูกหมาก
- ผลต่อข้อ: เช่น ปวดข้อ ข้อบวม
- ผลต่อตา: เช่น เกิดต้อหิน ตาพร่า
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ทางเดินหายใจส่วนบนอักเสบ(โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ) ไซนัสอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ
- อื่นๆ: เช่น ติดเชื้อที่ช่องคลอด(ช่องคลอดอักเสบ)
มีข้อควรระวังการใช้มิราเบกรอนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยามิราเบกรอน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้
- ห้ามใช้กับผู้ป่วย โรคไต โรคตับ ในระยะรุนแรง ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถคุมอาการได้ และเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะกระเพาะปัสสาวะอุดตัน
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง ด้วยจะกระทบต่อประสิทธิภาพการรักษาหรือได้รับผลข้างเคียงตามมา
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิมด้วยจะพิษต่อร่างกายได้ เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยนไป
- ห้ามรับประทานยานี้กับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพราะจะเกิดอาการวิงเวียนได้มากขึ้น
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต แพทย์อาจต้องนำค่า Creatinine clearance มาพิจารณาการปรับขนาดรับประทานของยานี้
- รับประทานยานี้ต่อเนื่อง ตรงตามขนาด และเวลาในแต่ละวัน ตามคำสั่งแพทย์
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายจากแพทย์ เพื่อประเมินผลการรักษา
- หลีกเลี่ยงการหยุดใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยามิราเบกรอนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
มิราเบกรอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยามิราเบกรอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยามิราเบกรอนร่วมกับยา Pimozide เพราะทำให้ระดับยา Pimozide ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
- ห้ามใช้ยามิราเบกรอนร่วมกับยารักษากระเพาะปัสสาวะทำงานไวเกินตัวอื่นๆ เช่น Solifenacin, Tolterodine, ด้วยจะก่อให้เกิดอาการปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัดตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยามิราเบกรอนร่วมกับยา Tamoxifen เพราะจะทำให้ประสิทธิผลการรักษาของยา Tamoxifen ลดลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยามิราเบกรอนร่วมกับยา Brexpiprazole (ยารักษาทางจิตเวช) ด้วยจะทำให้ระดับยาBrexpiprazole ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยาBrexpiprazole สูงขึ้นตามมา เช่น ง่วงนอน เกิดลมชัก มีอาการคล้ายโรคพาร์กินสัน และมีความดันโลหิตต่ำ กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษามิราเบกรอนอย่างไร?
ควรเก็บยามิราเบกรอนในช่วงอุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius) หรือเก็บยาตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
มิราเบกรอนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยามิราเบกรอนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Betmiga (เบทมิกา) | Astellas Pharma |
MYRBETRIQ (เมอเบทริค) | Astellas Pharma |
บรรณานุกรม
- http://www.cmsastellas.ca/uploads/pdf/2016-06-02%20Myrbetriq%20English.pdf[2017,April8]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/betmiga/?type=brief[2017,April8]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Mirabegron[2017,April8]
- https://www.drugs.com/cdi/mirabegron.html[2017,April8]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/mirabegron-index.html?filter=3&generic_only=[2017,April8]