มาโพรทิลีน (Maprotiline)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยามาโพรทิลีน (Maprotiline หรือ Maprotiline hydrochloride หรือ Maprotiline HCl) เป็นยารักษาโรคซึมเศร้าประเภทกลุ่มยา Tetracyclic antidepressants (TCAs หรือ TeCA) ถูกพัฒนาและวางจำหน่ายตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) รูปแบบผลิตภัณฑ์จะเป็นยาชนิดรับประทาน การดูดซึมผ่านระบบทางเดินอาหารของยานี้อยู่ในเกณฑ์ดี

เมื่อยามาโพรพิลีนเข้าสู่กระแสเลือดจะเกิดการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 80 - 90% ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยทำลายและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยานี้ ร่างกายจะต้องใช้เวลาประมาณ 27 - 58 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ

ยามาโพรทิลีนจะออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทในสมองหลายตัวเช่น ส่งผลให้เกิดสารสื่อประสาทนอร์อีพิเนฟริน (Norepinephrine) มีปริมาณมากขึ้น รองลงมาคือสารเซโรโทนิน (Serotonin) และสารโดพามีน (Dopamine) นอกจากนี้ยังส่งผลแข่งขันและยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาท กลุ่มฮีสตามีน (Histamine) อีกด้วย จากกลไกต่อสารสื่อประสาทดังกล่าวทำให้เกิดฤทธิ์ในการรักษาด้านอื่นๆตามมาด้วยเช่น ใช้บำบัดอาการทางจิตประสาท รักษาการเจ็บ/ปวดของปลายประสาท บำบัดอาการไบโพลาร์ (Bipolar/อารมณ์สองขั้ว) อาการวิตกกังวล รวมถึงอาการนอนไม่หลับ บางครั้งยานี้ยังนำไปรักษาอาการปัสสาวะรดที่นอนในเวลากลางคืนกับผู้ป่วยเด็ก

ยามาโพรทิลีนอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) บางอย่างที่พบได้บ่อยเมื่อใช้ยานี้เช่น เกิดผื่นคัน และมีอาการบวมตามร่างกาย

กรณีที่ผู้ป่วยรับประทานยามาโพรทิลีนเกินขนาดอาจจะพบอาการชัก หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ วิงเวียนและง่วงนอนอย่างรุนแรง อ่อนแรง หายใจลำบาก และอาเจียน

การใช้ยามาโพรทิลีนจะทำให้เกิดอาการติดยาหรือไม่นั้น ทางคลินิกอาจจะยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เพื่อหลีกเลี่ยงอาการติดยาดังกล่าวแพทย์จะค่อยๆปรับลดขนาดการรับประทานลง 25% ทุกสัปดาห์แทนการหยุดการใช้ยานี้ทันที ก็จะช่วยทำให้ผู้ป่วยเลี่ยงอาการติดยาหรือถอนยาได้เป็นอย่างดี

ยามาโพรทิลีนไม่เหมาะที่จะใช้ร่วมกับยากลุ่ม MAOIs และต้องระวังการใช้กับผู้ป่วยด้วยโรค ตับ โรคไต รวมถึงผู้ป่วยลมชัก ยังมีพฤติกรรมเรื่องการทำร้ายตัวเองของเด็กและวัยรุ่นหลังจากใช้ยานี้จึงถือเป็นเหตุผลในทางคลินิกให้หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับกลุ่มผู้ป่วยเด็กจนถึงเด็กวัยรุ่น

นอกจากนี้การใช้ยามาโพรทิลีนกับผู้สูงอายุอาจทำให้ได้รับผลกระทบ (ผลข้างเคียง) จากการใช้ยานี้ได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ หรือการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรยิ่งถือเป็นข้อควรระวังอย่างมากด้วยสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติต่างๆต่อทารก

อาจสรุปได้ว่ายามาโพรทิลีนเป็นยาที่ส่งผลต่อสภาพร่างกายรวมถึงอาการทางจิตของผู้ป่วยได้มาก การใช้ยานี้ที่ปลอดภัยและเหมาะสมควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาแต่ผู้เดียว

มาโพรทิลีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

มาโพรทิลีน

ยามาโพรทิลีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อบำบัดอาการซึมเศร้า

มาโพรทิลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยามาโพรทิลีนมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการดูดกลับเข้าสู่สมองของสารสื่อประสาทที่มีชื่อเรียกว่า นอร์แอดรินาลีน (Noradrenaline/Norepinephrine) ในบริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ประสาท จากผลดังกล่าวจะทำให้อารมณ์ซึมเศร้าค่อยๆบรรเทาลงและมีอาการดีขึ้นตามลำดับ

มาโพรทิลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยามาโพรทิลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 10, 25, 50 และ 75 มิลลิกรัม/เม็ด

มาโพรทิลีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยามาโพรทิลีนมีขนาดรับประทานเช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 75 มิลลิกรัมวันละครั้ง หรือแบ่งรับประทานตามแพทย์สั่ง
  • ผู้สูงอายุ: เริ่มต้นรับประทานวันละ 25 มิลลิกรัม ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับของการรักษาของผู้สูงอายุอยู่ที่ 50 - 75 มิลลิกรัมวันละครั้ง หรือแบ่งรับประทานตามแพทย์สั่ง
  • เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็ก

อนึ่ง:

  • ยานี้สามารถรับประทานก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยามาโพรทิลีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยามาโพรทิลีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยามาโพรทิลีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการ รับประทานในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยามาโพรทิลีนตรงเวลา

*อนึ่ง การหยุดรับประทานยานี้ทันทีอาจทำให้เกิดอาการถอนยาตามมา

มาโพรทิลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยามาโพรทิลีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ทำให้ปากแห้ง ท้องผูกหรือท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกมีรสขมในปาก เป็นตะคริวที่ท้อง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ง่วงนอน มีอาการสั่น เกิดลมชัก หูดับ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น กระสับกระส่าย วิตกกังวล นอนไม่หลับ ประสาทหลอน ฝันร้าย อาจพบอาการคลุ้มคลั่ง และความจำแย่ลง
  • ผลต่ออวัยวะตา: เช่น มีอาการตาพร่า และรูม่านตาขยาย
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดความดันโลหิตต่ำหรือความดันโลหิตสูงก็ได้ หัวใจเต้นเร็วหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ ชีพจรเต้นผิดปกติจนถึงหยุดเต้น
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด ปัสสาวะออกน้อย และมีอาการปัสสาวะถี่/ปัสสาวะบ่อย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น พบผด ผื่นคัน แพ้แสงแดดง่าย เหงื่อออกมาก
  • ผลต่ออวัยวะตับ: เช่น อาจพบอาการตัวเหลืองหรือดีซ่าน

มีข้อควรระวังการใช้มาโพรทิลีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยามาโพรทิลีนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ห้ามหยุดใช้ยานี้ทันทีโดยไม่ปรึกษาแพทย์ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะถอนยา
  • ผู้สูงอายุควรรับประทานยานี้ที่ขนาดต่ำและค่อยๆเพิ่มขนาดรับประทานโดยปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ไม่แนะนำการใช้ยานี้ในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • แจ้งแพทย์ทุกครั้งว่ามีการใช้ยาอะไรอยู่ก่อนเพื่อเลี่ยงภาวะยาตีกัน/ปฏิกิริยาระหว่างยา
  • หลังการใช้ยานี้ตามกำหนดเวลาอย่างเหมาะสมแล้ว (เช่น ประมาณ 1 เดือน) อาการยังไม่ดีขึ้น ให้นำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • เฝ้าระวังพฤติกรรมการอยากทำร้ายตนเองของผู้ป่วยเสมอเมื่อมีการใช้ยาต้านเศร้าทุกชนิดรวมถึงยามาโพรทิลีน
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้งเพื่อแพทย์ตรวจสอบความก้าวหน้าของการรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยามาโพรพิทิลีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

มาโพรทิลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยามาโพรทิลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • ห้ามใช้ยามาโพรทิลีนร่วมกับกลุ่มยา MAOIs ด้วยอาจเพิ่มความเป็นพิษต่อร่างกาย การจะใช้ยากลุ่มดังกล่าวร่วมกันต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว
  • การใช้ยามาโพรทิลีนร่วมกับการดื่มสุราหรือกับยาที่ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางเช่น ยาTriazolam สามารถทำให้ร่างกายได้รับพิษจากกลุ่มยาเหล่านี้จึงควรหลีกเลี่ยงและห้ามใช้ร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยามาโพรทิลีนร่วมกับยา Tamadol ด้วยอาจเกิดภาวะลมชัก
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยามาโพรทิลีนร่วมกับยา Amiodarone ด้วยเสี่ยงต่อการเกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา

ควรเก็บรักษามาโพรทิลีนอย่างไร?

ควรเก็บยามาโพรทิลีนในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

มาโพรทิลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยามาโพรทิลีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Ludiomil (ลูดิโอมิล)Ludiomil (ลูดิโอมิล)

อนึ่งยาชื่อการค้าของยานี้ที่จำหน่ายในประเทศตะวันตกเช่น Deprilept, Ludiomil, Psymion

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/thailand/drug/info/maprotiline/?type=brief&mtype=generic [2016,June18]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Maprotiline [2016,June18]
  3. http://www.drugbank.ca/drugs/DB00934 [2016,June18]
  4. http://www.drugs.com/cdi/maprotiline.html [2016,June18]
  5. http://www.drugs.com/drug-interactions/maprotiline-index.html?filter=3&generic_only= [2016,June18]
  6. http://www.drugs.com/pro/maprotiline.html [2016,June18]