มาลาไทออน (Malathion)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 11 พฤษภาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- มาลาไทออนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- มาลาไทออนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- มาลาไทออนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- มาลาไทออนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
- มาลาไทออนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้มาลาไทออนอย่างไร?
- มาลาไทออนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษามาลาไทออนอย่างไร?
- มาลาไทออนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เหา และ โลน (Pediculosis)
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- ยารักษาโรคเหา (Head lice medications)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
บทนำ
ยามาลาไทออน(Malathion)เป็นสารประเภทออร์กาโนฟอสเฟต(Organophosphate, สารเคมีชนิดหนึ่งที่มีพิษต่อ DNA, RNA) มีการออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ในมนุษย์ใช้ยามาลาไทออนเป็นยาภายนอกเพื่อการกำจัดเหา การใช้ยานี้อย่างเหมาะสมถูกต้องจะไม่ก่อให้เกิดพิษกับมนุษย์ รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายของยานี้ ซึ่งอาจพบเห็นในลักษณะของโลชั่นหรืออิมัลชั่นที่ใช้ทาบนหนังศีรษะ โดยมีความเข้มข้นของตัวยาที่สามารถฆ่าเหา แต่ปลอดภัยกับคนเรา
ข้อควรระวังและข้อห้ามใช้ที่ควรทราบของยามาลาไทออนมีดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ยามาลาไทออน
- ห้ามใช้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่ระบุในเอกสารกำกับยาของผลิตภัณฑ์
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทมาลาไทออนเป็นเวลานานๆต่อเนื่อง เช่น ใช้ผลิตภัณฑ์เพียง 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 3 สัปดาห์
- ห้ามมิให้ผลิตภัณฑ์มาลาไทออนเข้าตา ปากหรือจมูก ด้วยจัดเป็นสารพิษและ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้
- ห้ามมิให้ผลิตภัณฑ์มาลาไทออนสัมผัสกับผิวหนังที่มีลักษณะเป็นแผลเปิด
- ก่อนการใช้ผลิตภัณฑ์มาลาไทออน ควรศึกษารายละเอียด โดยขอคำแนะนำ จากแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรือดูข้อมูลการใช้งานในเอกสารกำกับยา และต้องปฏิบัติตามคำแนะนำนั้นๆอย่างเคร่งครัด
- กรณี หลังใช้ยานี้แล้ว พบเห็นอาการ หายใจลำบาก วิงเวียน ใบหน้า-ลำคอ- รอบตามีอาการบวม ให้สันนิษฐานว่ามีการดูดซึมยามาลาไทออนเข้าสู่ร่างกายจนได้รับพิษแล้ว จึงควรต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ผลิตภัณฑ์ยามาลาไทออนอาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนังรวมถึงหนังศีรษธที่สัมผัสยาได้บ้าง อาการนี้จะหายไปเองเมื่อชำระล้างผลิตภัณฑ์ออกจากผิวหนัง
- ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร การจะใช้ผลิตภัณฑ์ยามาลาไทออนกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
- ผลิตภัณฑ์ยามาลาไทออนบางสูตรตำรับ อาจมีส่วนผสมที่สามารถติดไฟได้ง่าย ดังนั้น ขณะใช้ผลิตภัณนี้ ผู้ป่วยจะต้องไม่อยู่ในพื้นที่ที่มีเปลวไฟ หรือทิ้งผลิตภัณฑ์ใกล้ กับบริเวณที่มีเปลวไฟ
ผลิตภัณฑ์มาลาไทออน ยังถูกใช้แพร่หลายในกลุ่มเกษตรกรรมสำหรับกำจัดแมลง ห้ามผู้บริโภคนำมาใช้ผิดวิธี เช่น นำผลิตภัณฑ์มาลาไทออนแบบยาฆ่าแมลงมาเจือจางแล้วใช้ทาหนังศีรษะ เหล่านี้เป็นการปฏิบัติที่ผิด และไม่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่งด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายจากสารนี้ตามมา
มาลาไทออนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยามาลาไทออนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ สำหรับกำจัดเหาบนหนังศีรษะ
มาลาไทออนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยามาลาไทออนเป็นสารประเภทออร์กาโนฟอสเฟต สามารถแสดงฤทธิ์ในลักษณะที่เรียกว่า ต้านการทำงานของสารสื่อประสาทในตัวเหาที่เรียกว่า Irreversible cholinesterase inhibitors ด้วยคุณสมบัตินี้ทำให้ยามาลาไทออนสามารถฆ่าเหาทั้งชนิดตัวเต็มวัย รวมถึงไข่เหา ที่บริเวณหนังศีรษะหรือเหาตามผิวหนังของร่างกายได้
มาลาไทออนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยามาลาไทออนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- โลชั่นสำหรับทาหนังศีรษะ ที่ประกอบด้วย Malathion เข้มข้น 0.5%
มาลาไทออนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยามาลาไทออน มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
-ผู้ใหญ่:
- ชโลม โลชั่นมาลาไทออน 0.5% ให้ทั่วเส้นผมและหนังศีรษะ
- ใช้มือลูบทาโลชั่นจากด้านหน้าไปยังด้านหลังศีรษะ
- ปล่อยให้ผลิตภัณฑ์แห้งตามธรรมชาติ ห้ามใช้เครื่องเป่าผมรวมถึง ห้ามใช้ผ้าคลุมทับศีรษะที่ทาผลิตภัณฑ์นี้
- ทิ้งระยะเวลาให้ผลิตภัณฑ์ออกฤทธิ์เป็นเวลาประมาณ 8–12 ชั่วโมง แล้วจึงสระออกด้วยแชมพูสระผม(สำหรับเด็ก) ให้สะอาด
- ใช้หวี (เสนียด) สางผม เอาซากของเหาและไข่เหาออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
- หลังใช้ผลิตภัณฑ์มาลาไทออนไปแล้ว 7–9 วัน แล้วยังพบว่ามีเหาเกิดขึ้นอีก ให้ใช้ผลิตภัณฑ์ซ้ำอีก 1 ครั้ง
-เด็ก: การใช้ผลิตภัณฑ์มาลาไทออนกับเด็ก ให้ใช้เกณฑ์อายุตามที่ระบุในเอกสารกำกับยาเท่านั้น
*อนึ่ง: หากตัวผลิตภัณฑ์นี้เข้าตา ให้รีบล้างออกด้วยน้ำประปาสะอาดทันที ควรให้น้ำผ่านเป็นปริมาณที่มากพอ และมั่นใจว่าล้างผลิตภัณฑ์ที่เข้าตาออกได้หมดจริงๆ หลังจากนั้น ให้ไปโรงพยาบาล
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยามาลาไทออน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยามาลาไทออน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
การใช้ผลิตภัณฑ์ยามาลาไทออน เพียง 1 ครั้ง ก็อาจเพียงพอต่อการรักษาการติดเหาได้แล้ว กรณีที่ลืมใช้ผลิตภัณฑ์ตามเวลาที่กำหนดไว้ สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ทันทีที่สะดวก หากจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์นี้ซ้ำ ควรเว้นระยะการใช้ผลิตภัณฑ์นี้แต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 7 วัน
มาลาไทออนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยามาลาไทออนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น อาการแสบ คัน ตามผิวหนัง/หนังศีรษะที่สัมผัสยา บางครั้งอาจทำให้รู้สึกคล้ายผิวไหม้
กรณีที่ใช้ผลิตภัณฑ์นี้แล้วรู้สึกไม่สบายทางผิวหนัง หรือมีการระคายเคืองอย่างมาก ให้รีบล้างผลิตภัณฑ์ออกด้วยแชมพูเด็ก และน้ำสะอาดเป็นปริมาณมาก แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อทำการรักษาต่อไป
มีข้อควรระวังการใช้มาลาไทออนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยามาลาไทออน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นี้
- ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น มีสี และ/หรือ กลิ่นเปลี่ยนไป
- ห้ามให้ผลิตภัณฑ์ เข้าตา เข้าปากและจมูก
- หากเกิดอาการผิดปกติหลังใช้ยานี้ เช่น อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ใบหน้าบวม ริมฝีปากบวม อาจเป็นจากอาการแพ้ผลิตภัณฑ์นี้ ให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ศึกษาข้อมูลการใช้ตัวผลิตภัณฑ์นี้อย่างเข้าใจจากเอกสารกำกับยา แล้วปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมผลิตภัณฑ์ยามาลาไทออนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ เมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองด้วยเช่นกัน
มาลาไทออนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ด้วยผลิตภัณฑ์ยามาลาไทออน เป็นผลิตภัณฑ์ใช้ภายนอก จึงยังไม่มีรายงาน พบปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ
ควรเก็บรักษามาลาไทออนอย่างไร?
ควรเก็บยามาลาไทออน ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
มาลาไทออนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยามาลาไทออน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Prioderm (ไพรโอเดอร์ม) | Laboratoires Chemineau |
Ovide (โอไวด์) | Taro Pharmaceutical |
บรรณานุกรม
- file:///C:/Users/apai/Downloads/875718.pdf[2017,April22]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB00772[2017,April22]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/malathion/?type=brief&mtype=generic[2017,April22]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Malathion[2017,April22]
- https://www.drugs.com/uk/derbac-m-liquid-spc-7567.html[2017,April22]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2011/018613s017lbl.pdf[2017,April22]