มาลาโรน (Malarone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยามาลาโรน(Malarone) เป็นยาชื่อการค้าของสูตรตำรับยาที่ใช้ป้องกันและรักษาโรคมาลาเรียซึ่งมีสาเหตุจากเชื้อ P.falciparum(Plasmodium falciparum) ยามาลาโรนประกอบด้วยตัวยาสำคัญ 2 ชนิด คือยา Atovaquone และ Proguanil ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อต้านเชื้อมาลาเรียที่เจริญเติบโตอยู่ในเม็ดเลือดแดงของมนุษย์ รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยามาลาโรนเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ยาทั้ง 2 ชนิดในตัวยา มาลาโรนที่ถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด จะถูกกำจัดทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ โดยใช้เวลาที่รวมทั้งหมดประมาณ 36 ชั่วโมงขึ้นไป

ยามาลาโรนมีกลไกการออกฤทธิ์รบกวนกระบวนการชีวเคมีภายในเซลล์ของเชื้อมาลาเรีย ทำให้เชื้อหยุดการเจริญเติบโตและไม่สามารถขยายพันธุ์ได้อีก การใช้ยามาลาโรนจะต้องรับประทานต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อป้องกัน หรือเพื่อรักษามาลาเรียก็ตาม แต่มีความแตกต่างกันตรงที่ขนาดรับประทานเพื่อการป้องกันการติดเชื้อ จะมีขนาดยาที่น้อยกว่าขนาดรับประทานเพื่อการรักษา

ผู้ป่วยที่ไม่เหมาะต่อการใช้ยามาลาโรน ได้แก่ ผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ยา หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับ หรือเป็นผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ในระยะรุนแรง รวมถึงผู้ที่มีภาวะท้องเสีย หรืออาเจียน ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดนี้

ยามาลาโรน เป็นยาที่ใช้ต่อต้านการติดเชื้อมาลาเรียที่มีความรุนแรงระดับปานกลางลงมา อาจไม่เหมาะที่ใช้รักษาการติดเชื้อมาลาเรียที่มีอาการรุนแรง

โดยทั่วไป การรักษามาลาเรียโดยใช้ยามาลาโรน ผู้ป่วยเพียงแต่รับประทานยาวันละ1 ครั้งเป็นเวลาต่อเนื่อง 3 วัน ก็เพียงพอที่จะฆ่าเชื้อมาลาเรียได้แล้ว ซึ่งระหว่างและหลังการใช้ยานี้ ผู้ป่วยจะต้องรับการตรวจเลือดว่ายังมีเชื้อมาลาเรียหลงเหลืออยู่หรือไม่ และตรวจเลือดดูการทำงานของตับว่ามีการทำงานผิดปกติหรือไม่ตามแพทย์สั่ง

หากพบว่าหลังการรับประทานยามาลาโรน แล้วผู้ป่วยเกิด อาการไข้ อาเจียน และท้องเสีย ต้องรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษาโดยเร็ว

*การได้รับยามาลาโรนเกินขนาด อาจสังเกตได้จากมีอาการรู้สึกไม่สบายในท้อง อาเจียน ช่องปากเป็นแผล ผมร่วง มีภาวะเลือดออกง่าย ผิวหนังบริเวณมือและเท้าเกิดอาการลอกตัว กรณีนี้ต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที

ในประเทศไทย สามารถพบเห็นการจำหน่ายยานี้ตามร้านขายยาแผนปัจจุบันภายใต้ชื่อการค้าว่า “Malanil” และหากผู้ป่วยมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยามาลาโรนเพิ่มเติม ผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้ได้จากแพทย์ผู้รักษา หรือจากเภสัชกรตามร้านขายยาทั่วไป

มาลาโรนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

มาลาโรน

ยามาลาโรนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ เป็นยาป้องกันและรักษาโรคมาลาเรียที่มีสาเหตุจากเชื้อ P.Falciparum

มาลาโรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยามาลาโรนมีกลไกการออกฤทธิ์ ดังนี้

ยาอะโตวาโควน: สามารถยับยั้งการส่งผ่านประจุอิเล็กตรอน(Electron)ในระดับเซลล์ของเชื้อมาลาเรียในบริเวณที่เรียกว่าไมโทคอนเดรีย (Mitochondria)ที่มีหน้าที่สร้างพลังงาน ส่งผลให้เชื้อมาลาเรียขาดแคลนพลังงาน และสูญเสียความสามารถในการสังเคราะห์กรดนิวคลีอิก(Nucleic acid)ซึ่งเป็นกรดที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสารพันธุกรรมในการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรีย

ยาโปรกัวนิล: จะเข้าจับกับเอนไซม์ของเชื้อมาลาเรียที่เรียกว่า DHFR (Dihydrofolate reductase)enzyme อีกทั้งยับยั้งกระบวนการเผาผลาญกรดโฟลิก(Folic acid)ที่ใช้เพื่อการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรีย ส่งผลให้เสียสมดุลทางชีวภาพในการดำรงชีวิตของเซลล์เชื้อมาลาเรีย เชื้อมาลาเรียจึงตายลงในที่สุด

จากกลไกการออกฤทธิ์ของยาทั้ง 2 ตัว ทำให้เชื้อมาลาเรีย หยุดการเจริญเติบโต ไม่สามารถกระจายพันธุ์และตายลงในที่สุด

มาลาโรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยามาลาโรนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน มีขนาดต่างๆ เช่น

  • Atovaquone 62.5 มิลลิกรัม + proguanil 25 มิลลิกรัม/เม็ด
  • Atovaquone 250 มิลลิกรัม + proguanil 100 มิลลิกรัม/เม็ด

มาลาโรนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยามาลาโรน มีขนาดรับประทาน เช่น

ก.สำหรับรักษาโรคมาลาเรีย:

กรณี ผู้ใหญ่และเด็กที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 11 กิโลกรัมขึ้นไป ใช้สูตรตำรับที่มีขนาดยา Atovaquone 250 มิลลิกรัม + Proguanil 100 มิลลิกรัม/เม็ด โดยรับประทาน ดังนี้ เช่น:

  • ผู้ใหญ่และเด็กน้ำหนักตัวมากกว่า 40 กิโลกรัม: รับประทานยา 4 เม็ด วันละ1ครั้ง, 3 วันต่อเนื่อง
  • เด็กที่มีน้ำหนักตัว 11–20 กิโลกรัม: รับประทานยา 1 เม็ด วันละ1ครั้ง, 3 วันต่อเนื่อง
  • เด็กที่มีน้ำหนักตัว 21–30 กิโลกรัม: รับประทานยา 2 เม็ด วันละ1ครั้ง, 3 วันต่อเนื่อง
  • เด็กที่มีน้ำหนักตัว 31–40 กิโลกรัม: รับประทานยา 3 เม็ด วันละ1ครั้ง, 3 วันต่อเนื่อง

กรณี เด็กที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่า 11กิโลกรัม: ให้ใช้สูตรตำรับที่มีขนาดยา Atovaquone 62.5 มิลลิกรัม + Proguanil 25 มิลลิกรัม/เม็ด โดยรับประทาน ดังนี้ เช่น

  • เด็กที่มีน้ำหนักตัว 5-8 กิโลกรัม: รับประทานยา 2 เม็ด วันละ1ครั้ง, 3 วันต่อเนื่อง
  • เด็กที่มีน้ำหนักตัว 9-10 กิโลกรัม: รับประทานยา 3 เม็ด วันละ1ครั้ง, 3 วันต่อเนื่อง
  • เด็กที่น้ำหนักตัวน้อยกว่า 5 กิโลกรัม: ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

ข.สำหรับป้องกันโรคมาลาเรีย:

กรณี ผู้ใหญ่และเด็กที่หนักตัวมากกว่า 40 กิโลกรัม: ใช้สูตรตำรับที่มีขนาดยา Atovaquone 250 มิลลิกรัม + Proguanil 100 มิลลิกรัม/เม็ด โดยรับประทานยา 1 เม็ด วันละ1ครั้ง เริ่มรับประทานยา 1–2 วันล่วงหน้าก่อนออกเดินทางเข้าพื้นที่ที่มีมาลาเรีย และต้องรับประทานยาต่อเนื่องตลอดที่อยู่ในพื้นที่มาลาเรีย รวมถึงหลังจากออกนอกพื้นที่มาลาเรียให้รับประทานยาต่อเนื่องอีก 7 วัน

กรณี เด็กที่มีน้ำหนักตัวดังต่อไปนี้ให้ใช้สูตรตำรับที่มีขนาดยา Atovaquone 62.5 มิลลิกรัม + Proguanil 25 มิลลิกรัม/เม็ด โดยเริ่มรับประทานยา 1–2 วันล่วงหน้า ก่อนออกเดินทางเข้าพื้นที่ที่มีมาลาเรีย และต้องรับประทานยาต่อเนื่องตลอดที่อยู่ในพื้นที่มาลาเรีย รวมถึงหลังจากออกนอกพื้นที่มาลาเรียให้รับประทานยาต่อเนื่องอีก 7 วัน หรือรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์

  • เด็กที่มีน้ำหนักตัว 11–20 กิโลกรัม: รับประทานยาครั้งละ 1 เม็ด, วันละ1ครั้ง
  • เด็กที่มีน้ำหนักตัว 21–30 กิโลกรัม: รับประทานยาครั้งละ 2 เม็ด, วันละ1ครั้ง
  • เด็กที่มีน้ำหนักตัว 31–40 กิโลกรัม: รับประทานยาครั้งละ 3 เม็ด, วันละ1 ครั้ง
  • เด็กที่น้ำหนักตัวน้อยกว่า 11 กิโลกรัม: ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร ด้วยไขมันในอาหารจะช่วยทำให้การดูดซึมของยาเข้าสู่ร่างกายดีขึ้น
  • ระวังการใช้ยานี้กับ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยามาลาโรน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคตับ โรคระบบทางเดินอาหาร โรคเลือด รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยามาลาโรน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยามาลาโรน สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาในขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ดี การรับประทานยามาลาโรนให้ได้ประสิทธิผล จะต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง

มาลาโรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยามาลาโรนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น โลหิตจาง มีภาวะNeutropenia(เม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophilต่ำ) , Pancytopenia(เม็ดเลือดทุกชนิดต่ำ)
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ช่องปากเป็นแผล เบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย กระเพาะอาหารอักเสบ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน การมองเห็นไม่ชัดเจน
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับอักเสบ ตับวาย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ผิวหนังแพ้แสงแดด ลมพิษ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ฝันแปลกๆ นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึม
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไอ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ

มีข้อควรระวังการใช้มาลาโรนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยามาลาโรน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สีเม็ดยาเปลี่ยนไป และ/หรือ เม็ดยาแตกหัก
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยานี้
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคทางเดินอาหาร และโรคตับ
  • เมื่อใช้ยานี้ ถึงแม้อาการป่วยจะทุเลาลง ผู้ป่วยยังต้องรับประทานยาต่อเนื่องตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวันจนครบเทอมของการรักษาตามแพทย์สั่ง
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายและดูผลเลือดรวมถึงผลการทำงานของตับจากแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยามาลาโรนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

มาลาโรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยามาลาโรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยามาลาโรนร่วมกับยา Calcium carbonate , Efavirenz, และ Tetracycline, ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยามาลาโรนลดลง
  • ห้ามใช้ยามาลาโรนร่วมกับยา Leflunomide , Teriflunomide, เพราะก่อให้เกิดผลกระทบ/ความเป็นพิษต่อตับผู้ป่วย
  • การใช้ยามาลาโรนร่วมกับยา Armodafinil อาจทำให้ระดับยามาลาโรนใน กระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากยามาลาโรนตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษามาลาโรนอย่างไร?

ควรเก็บยามาลาโรนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

มาลาโรนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยามาลาโรน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Malanil (มาลานิล)GlaxoSmithKline
Malarone (มาลาโรน)GlaxoSmithKline

บรรณานุกรม

  1. https://www.gsksource.com/pharma/content/dam/GlaxoSmithKline/US/en/Prescribing_Information/Malarone/pdf/MALARONE.PDF[2017,April15]
  2. https://www.drugs.com/malarone.html[2017,April15]
  3. https://www.drugs.com/drug-interactions/atovaquone-proguanil,malarone-index.html?filter=3&generic_only=[2017,April15]
  4. https://www.drugs.com/dosage/malarone.html[2017,April15]
  5. https://www.drugs.com/sfx/malarone-side-effects.html[2017,April15]
  6. http://www.mims.com/thailand/drug/info/atovaquone%20%2b%20proguanil/?type=brief&mtype=generic [2017,April15]