มาม่าบลู (Mama blues) หรือ เบบี้บลู (Baby blues)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม? รุนแรงไหม?

มาม่าบลู (Mama blues) หรือ เบบี้บลู (Baby blues) คือ กลุ่มอาการที่มารดาหลังคลอดเกิด อารมณ์หม่นหมอง ไม่มีความสุข แปรปรวน โกรธง่าย เหงา วิตกกังวล คล้ายถูกทอดทิ้ง อยู่เฉยๆก็อยากร้องไห้/น้ำตาไหล นอนไม่หลับ ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดตั้งแต่วันแรกๆหลังคลอดคือประมาณวันที่ 1-3 ทั้งนี้เป็นอาการไม่รุนแรงไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จะเป็นอยู่ประมาณ 3-4 วัน ทั่วไปไม่เกิน 2 สัปดาห์ และจะหายไปเองด้วยการปรับตัวได้จากกำลังใจและความสุขที่มีในครอบครัว

มาม่าบลู/เบบี้บลู เป็นอาการ/ภาวะ(โรค-อาการ-ภาวะ) ไม่ใช่โรค พบบ่อย พบ ประมาณ 50-80%ของหญิงแรกคลอดทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นครรภ์ครั้งแรกหรือเคยตั้งครรภ์มาแล้วก็ตาม พบทั่วโลก พบทุกอายุของหญิงตั้งครรภ์ แต่มักพบในหญิงฯอายุน้อย ซึ่งอัตราเกิดจะแตกต่างกันตามวัฒนธรรมประเพณีในครอบครัวของแต่ละชาติ, บางครั้งอาจพบในสามีได้ซึ่งมีรายงานพบประมาณ 3-10%

อนึ่ง: ชื่ออื่นของ มาม่าบลู/ เบบี้บลู เช่น มาม่าบลูส์, เบบี้บลูส์, Postpartum blues, Maternity blues

ความรุนแรงของอารมณ์หม่นหมองหลังคลอด:

อารมณ์หม่นหมองหลังคลอดมี 3 ระดับความรุนแรง ได้แก่

  • อาการไม่รุนแรง ไม่เป็นอันตราย หายได้เอง: คือ มาม่าบลู/เบบี้บลู ซึ่ง ‘จะกล่าวในบทความนี้’
  • อาการรุนแรงปานกลาง: คือ อาการหรือภาวะซึมเศร้าหลังคลอด(Postpartum depression), เป็นอาการเกิดหลังคลอดเช่นเดียวกับมาม่าบลู แต่จะรุนแรงกว่า และมีอาการต่อเนื่องนานเกิน 2สัปดาห์ขึ้นไป ‘เป็นอาการไม่หายเอง’ ต้องปรึกษาแพทย์ เพราะต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ ทั่วโลกพบประมาณ 17-20% ทั้งนี้ขึ้นกับวัฒนธรรมในการดูแลสตรีตั้งครรภ์และคลอดบุตรของแต่ละประเทศ ซึ่ง ภาวะนี้จะ ’ไม่กล่าวถึงในบทความนี้’
  • ความรุนแรงสูงสุด:คือ โรคจิตหลังคลอด(Postpartum psychosis):คือ การเกิดเป็นโรคซึมเศร้าอย่างแท้จริง เข้าข่ายเป็นโรคทางจิตเวชที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องจากจิตแพทย์ เพราะจะมีผลกระทบต่อทั้งมารดาและทารก เป็นโรคพบน้อย มักพบในมารดากลุ่มมีอารมณ์สองขั้ว ทั่วโลกพบประมาณ 1-2รายต่อมารดาแรกคลอด 1,000 คน ซึ่งโรคนี้จะ’ไม่กล่าวถึงในบทความนี้’

มาม่าบลูส์มีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

มาม่าบลู

สาเหตุเกิดมาม่าบลู/เบบี้บลูที่แท้จริง แพทย์ยังไม่ทราบ แต่จากการศึกษาต่างๆ เชื่อ ว่าน่ามีหลายสาเหตุ/ปัจจัยร่วมกันโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงฉับพลันของสภาพร่างกายทางชีววิทยา, ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงฉับพลันอย่างมากของสารเคมีต่างๆในร่างกายหลังคลอด, ซึ่งที่สำคัญคือต่อการทำงานของสมอง, และยังรวมถึงต่อสถานภาพการดำเนินชีวิต

ทั้งนี้ ปัจจัยต่างๆมักเกิดรวดเร็วทันที แม้จะเคยรับรู้ แต่ก็ยังไม่เคยเผชิญ หรือไม่คุ้นชิน จึงมักมีปัญหาในการปรับตัว เช่น

  • การเปลี่ยนแปลงของชนิดและระดับฮอร์โมนต่างๆทันที เช่น ฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ฮอร์โมนรก เอสโตรเจน และ โพรเจสเทอโรน
  • การได้เผชิญกับ ความเครียด ความวิตกกังวล กับ ขั้นตอนการคลอด และความเจ็บปวดจากการคลอด
  • การเปลี่ยนแปลงทันทีทางกายภาพ เช่น รูปร่าง หน้าตา น้ำหนักตัว การมีน้ำนม
  • มีความรับผิดชอบใหม่ต่อทารกแรกคลอด
  • สถานภาพตนเองเปลี่ยนไป จากเพียง สามี ภรรยา ที่รวมถึงเซ็กซ์ กลับมามีลูกระหว่างกลาง
  • ความเครียดที่รุนแรงในการดูแลทารกเต็มร้อย ที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน การให้นม การดูแลสุขภาพ, ความรับผิดชอบต่อ ลูก สามี ครอบครัว หน้าที่การงาน และการดูแลตนเอง
  • การมีประวัติอาการนี้ และ/หรือ อาการทางจิตเวชมาก่อน ของมารดา ของบิดา ของคนในครอบครัว
  • ปัญหาทางเศรษฐกิจ
  • ปัญหาในครอบครัว โดยเฉพาะกับสามี และครอบครัวของสามี

มาม่าบลูส์มีอาการอย่างไร?

อาการจากภาวะมาม่าบลู/เบบี้บลู จะเกิดฉับพลันในประมาณ 1-3 วันหลังคลอด เป็นอาการไม่รุนแรง อาการแต่ละครั้งนานเป็นเพียงนาที ไม่เรื้อรัง มีหลากหลายอาการร่วมกัน เป็นอาการชั่วคราวเป็นอยู่นานประมาณ 7-10 วัน แต่ต้องไม่เกิน 2สัปดาห์

ช่วงมีอาการมากสุดคือประมาณวันที่ 4-5 นับจากเกิดอาการครั้งแรก ทั่วไปอาการจะหายเอง หรือ ด้วยการเข้าใจ ผ่อนคลาย พักผ่อนให้เพียงพอ มีคนค่อยช่วยเหลือ เข้าใจ โดยเฉพาะสามี ครอบครัว และเพื่อน, อาการไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกวันหรือ เหมือนกันในทุกมารดา

อาการต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ เช่น

  • อารมณ์แปรปรวน
  • ไวเกินต่อคำพูด หรือ ปฏิกิริยาของผู้อื่น
  • อยากร้องไห้ ร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ
  • วิตกกังวล กลัวโดยไม่มีเหตุผลที่ควร
  • ไม่ไว้ใจใครในการดูแลทารก
  • กลัวลูกไม่ปลอดภัย กังวลกับสุขภาพลูกมากเกินเหตุ
  • ตัดสินใจไม่ได้ ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่เหมือนเดิม
  • เห็นอะไรก็รำคาญ ขวางหู ขวางตา หงุดหงิดง่าย
  • ขาดความอดทน ไม่มั่นใจตนเอง ทำตัวไม่ถูก ไม่แน่ใจสถานภาพตัวเอง
  • ไม่มีสมาธิ
  • นอนไม่หลับ
  • อ่อนเพลีย
  • อาจเบื่ออาหาร
  • รู้สึกขาดอิสสระภาพ

ใครมีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงกลายเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด?

มารดาที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดม่าม่าบลู/เบบี้บลู แล้วจะกลายเป็นภาวะ/โรคซึมเศร้าหลังคลอด เช่น

  • *ปัจจัยสำคัญที่สุด คือ มารดามีประวัติอาการซึมเศร้าหลังคลอดมาก่อน, มีมาม่าบลูมาก่อน, หรือมีประวัติโรค/อาการทางจิตเวชอื่นๆมาก่อน เช่น ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน
  • มีประวัติคนในครอบครัวมีอาการนี้ หรือมีโรคทางจิตเวช
  • มารดามีอายุน้อย
  • มารดาติดยาเสพติด ติดบุหรี่ ติดสุรา และ/หรือ เป็นนักเที่ยว
  • มีปัญหากับสามี สามีไม่ดูแล
  • มีปัญหาในครอบครัว ไม่มีคนคอยช่วยเหลือ
  • มีปัญหาทางเศรษฐกิจ
  • ไม่มีเพื่อนสนิทที่ไว้ใจ ที่ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ
  • ไม่อยากตั้งครรภ์ หรือมีลูก
  • เครียดมาก วิตกกังวลมากในขณะตั้งครรภ์
  • มีปัญหาทางการคลอดในครั้งนี้ เช่น ทารกคลอดยาก, ต้องใช้เครื่องมือช่วย, การผ่าท้องคลอดบุตร
  • มีประวัติครรภ์แรกๆมีปัญหาในการคลอด การเลี้ยงดูทารก หรือการเจ็บป่วยของทารก
  • มีประวัติความรุนแรงในครอบครัว
  • มีโรคประจำตัว หรือเป็นโรคเรื้อรัง
  • ทารกแฝด
  • ทารกคลอดก่อนกำหนด
  • ทารกพิการ หรือ ไม่สมบูรณ์

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

เมื่อมีอาการมาม่าบลู/เบบี้บลูต่อเนื่องนานตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป หรือ อาการแย่ตั้งแต่แรกจนกระทบต่อตนเอง การเลี้ยงลูก และครอบครัว หรือเมื่อตนเองเคยมีประวัติ โรคซึมเศร้าหลังคลอดมาก่อน หรือ มีปัญหาทางจิตเวชมาก่อน ควรรีบพบแพทย์/จิตแพทย์/รีบมาโรงพยาบาลเสมอก่อนที่อาการจะกระทบตนเอง ครอบครัว และทารก จนส่งผลถึงการเจริญเติบโตของทารก

แพทย์วินิจฉัยมาม่าบลูส์อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยมาม่าบลู/เบบี้บลู ได้จาก

  • ซักถามประวัติทางการแพทย์ของมารดา โดยเฉพาะประวัติอาการต่างๆทั้ง ก่อนตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ การคลอดครรภ์ปัจจุบัน และครรภ์ที่ผ่านมา ประวัติโรค หรือภาวะจิตใจทางจิตเวช ความสัมพันธ์ในครอบครัว เศรษฐกิจ โรคประจำตัว สุขภาพทั่วไปของมารดา และทารก รวมถึงปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะ/โรคซึมเศร้าหลังคลอด
  • การตรวจร่างกายทั่วไป
  • อาจจำเป็นต้องมีการตรวจเฉพาะทางทางจิตเวช เพื่อการวินิจฉัยแยกโรค ว่า เป็นโรควิตกกังวล, โรคซึมเศร้า, ภาวะความเครียด, โรคซึมเศร้าหลังคลอด, หรือ อาการ/ภาวะ/โรคทางจิตเวชอื่นๆ หรือไม่ เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอน เพื่อการรักษาที่เหมาะสมเป็นกรณีๆไป

แพทย์รักษามาม่าบลูส์อย่างไร?

แนวทางการรักษาทางการแพทย์ในมาม่าบลู/เบบี้บลู ทั่วไปไม่จำเป็นต้องมีการรักษา มารดาจะปรับตัวได้เอง อาการต่างๆจะหายได้เองภายในไม่เกิน 2 สัปดาห์โดยไม่มีผลข้างเคียงทั้งต่อมารดาและทารก

ทั้งนี้ การดูแลจากแพทย์: เช่น

ก. ให้คำแนะนำ อธิบายให้เข้าใจสาเหตุ/ปัจจัยเกิดอาการ เช่น ดังกล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุฯ’

ข. แนะนำ การดูแลตนเองทั่วไป เช่น

  • ปรึกษา แพทย์ พยาบาล ขอคำอธิบายให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่พบบ่อยสูงได้ถึงประมาณ 50%-80% ของสตรีหลังคลอด และมีปัจจัย/ตัวกระตุ้นจากอะไรได้บ้าง
  • พูดคุยกับสามี เพื่อการแบ่งเบาภาระมารดา
  • หาคนที่ไว้ใจได้ช่วยดูแลทารก และพูดคุย ปรึกษา
  • สะสาง มอบหมายการงาน ให้ชัดเจนกับ หัวหน้างาน และผู้ร่วมงาน
  • หาคนช่วย เพื่อพักผ่อน การผ่อนคลายนอกสถานที่ หรือ ไปพร้อมทารกเมื่อสามารถดูแลได้
  • หาคนที่ไว้ใจได้ เพื่อพูดคุย ปรึกษา ขอความช่วยเหลือได้
  • หาเวลาว่างสำหรับตนเองในทุกวันเพื่อ พักผ่อน ผ่อนคลาย ทำสิ่งที่เคยชอบ เพื่อพักผ่อนร่างกายและจิตใจ เช่น ดูรูปภาพที่สวยงาม ฟังเพลงโปรดเสริมสวย ช้อปปิ้ง
  • สร้างเสริมและคงความสัมพันธ์กับสามี ให้เวลากับสามี ทั้งในฐานะสามี และในฐานะบิดาของลูก
  • ทำความเข้าใจกับตนเองว่า มีหน้าที่หลายอย่างที่เป็นชีวิตปกติ คือ เป็น แม่ เป็นภรรยา เป็นลูก/เป็นครอบครัว และมีหน้าที่/ความต้องการของตนเอง เข้าใจและปรับให้อยู่ในสมดุล โดยพูดคุย ปรึกษา ขอความช่วยเหลือกับบุคคลกลุ่มต่างๆที่เกี่ยวข้อง อย่างเข้าใจ มีเหตุผล ไว้ใจ โดยเฉพาะกับสามี
  • แสวงหาความน่ารักจากลูก เช่น พัฒนาการของลูก ที่รวมถึง วิธีดูแลและการสร้างความสัมพันธ์กับลูกจาก สูติแพทย์ หมอเด็ก/กุมารแพทย์ และจากพยาบาลในทั้ง 2 หน่วยงานที่ดูแลมารดา ทารก ตั้งแต่ฝากครรภ์ และดูแล หลังคลอดที่รวมถึงในช่วงการฉีดวัคซีนต่างๆของทารก
  • จัดเรียงลำดับความสำคัญในชีวิตโดยปรึกษากับสามีและครอบครัว
  • ละเว้นงานบ้านที่ไม่จำเป็น ให้คนอื่นช่วยทำ หาคนมาช่วย ทุกอย่างไม่ต้องสมบูรณ์แบบ
  • ฝึกทำสมาธิ ผ่อนคลาย เมื่อเครียด
  • เมื่อรู้สึกเครียด เหนื่อย หรือในทางลบ ไม่กล่าวโทษใคร ให้เข้าใจ และหาทางแก้ไขโดยปรึกษา สามี ครอบครัว และเพื่อนที่ไว้ใจได้
  • แสวงหาเพื่อนที่เพิ่งคลอดลูกที่ไว้ใจได้ ที่อยู่ใน วัฒนธรรม ฐานะทางเศรษฐกิจสังคม การศึกษา ใกล้เคียงกับเรา เพื่อปรึกษา พูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการ
  • ดูแลสุขภาพตนเอง ที่สำคัญ คือ
    • พักผ่อนให้เต็มที่ นอนหลับให้พอเพียง ทั้งช่วงกลางวัน และช่วงกลางคืน ฝึกนอนหลับไปพร้อมกับลูก
    • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกมื้ออาหาร
    • ไม่สูบบุหรี่
    • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
    • ไม่ใช้ยาเสพติด
    • ไม่เล่นพนัน
    • ละเว้นอบายมุขทุกอย่าง
    • ออกกำลังกายทุกวันตามควรกับสุขภาพ
    • ดูแลสุขภาพกายสุขภาพใจด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)

ค. ให้ยาตามอาการ เช่น ยานอนหลับ กรณีนอนไม่หลับ, ยาคลายเครียดกรณีเครียดจนนอนไม่หลับ

ง. นัดพบ/ปรึกษา แพทย์ พยาบาล บ่อยขึ้นตามความประสงค์ของผู้ป่วย, พบจิตแพทย์

มาม่าบลูส์ก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

มาม่าบลู/เบบี้บลู ทั่วไป ไม่ก่อผลข้างเคียง เป็นอาการที่หายได้เอง ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ แต่กลับมามีอาการได้อีกเมื่อตั้งครรภ์/และคลอดครั้งใหม่

แต่ถ้ามีอาการรุนแรงตั้งแต่แรกจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือมีอาการต่อเนื่องนานตั้งแต่ 2สัปดาห์ขึ้นไป จำเป็นต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลดังได้กล่าวใน ’หัวข้อ เมื่อไหร่ควรพบแพทย์’

มาม่าบลูมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

มาม่าบลู/เบบี้บลู มีการพยากรณ์โรค คือ เป็นอาการ’ไม่อันตราย’ พบบ่อยในสตรีหลังคลอดบุตร อาการจะหายได้เองจากการปรับตัวได้ของมารดาทั้งทางร่างกายและจิตใจโดยไม่มีผลกระทบใดๆต่อทั้งมารดาและต่อทารก

แต่กรณีมารดามีปัจจัยเสี่ยงที่จะกลายเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดดังกล่าวใน’หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรค/ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด’ ก็มีโอกาสเกิดโรค/ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ว่า ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเกิดอาการมาม่าบลู/เบบี้บลู เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวใน ‘หัวข้อ การรักษาทางการแพทย์ ข้อย่อย ข.’

ป้องกันเกิดมาม่าบลูส์อย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีในการป้องกันอาการมาม่าบลู/เบบี้บลูที่รวมถึงวิธีตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันอาการนี้ ดังนั้น สูติแพทย์ ที่รวมถึงตัวมารดาและสามี ควรรู้จักถึงอาการนี้ และร่วมกันปรึกษา ซักถาม เพื่อมารดา สามี ครอบครัว รับทราบและเข้าใจในเรื่องนี้ได้อย่าง ถูกต้อง มั่นใจ รวมถึงการพูดคุยกับคนในครอบครัวให้ช่วยกันดูแลในช่วงที่มารดาตั้งครรภ์ เตรียมคลอด หลังคลอด และเมื่อเกิดอาการนี้

บรรณานุกรม

  1. https://www.nhs.uk/conditions/baby/support-and-services/feeling-depressed-after-childbirth/ [2021,Oct2]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Postpartum_blues[2021,Oct2]
  3. https://www.healthline.com/health/baby-blues [2021,Oct2]
  4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3214451/ [2021,Oct2]
  5. https://www.nct.org.uk/life-parent/how-you-might-be-feeling/baby-blues-what-expect [2021,Oct2]
  6. https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/first-year-of-life/baby-blues-71032/ [2021,Oct2]
  7. https://www.helpguide.org/articles/depression/postpartum-depression-and-the-baby-blues.htm [2021,Oct2]