มะเร็งไต (Kidney cancer)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 14 ธันวาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- โรคมะเร็งไตมีกี่ชนิด?
- โรคมะเร็งไตเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
- โรคมะเร็งไตมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งไตได้อย่างไร?
- โรคมะเร็งไตมีกี่ระยะ?
- โรคมะเร็งไตรักษาอย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งไตอย่างไร?
- โรคมะเร็งไตรุนแรงไหม?
- มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งไตไหม?ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันโรคมะเร็งไตอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- บรรณานุกรม
- มะเร็ง (Cancer)
- โรคมะเร็งไตในเด็ก โรคมะเร็งวิมส์ โรคเนื้องอกวิมส์ (Wilms’ tumor)
- นิ่วในไต (Kidney stone)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยารักษาตรงเป้า (Targeted Cell Therapy)
- คาร์ซิโนมา มะเร็งคาร์ซิโนมา (Carcinoma)
- ซาร์โคมา มะเร็งซาร์โคมา (Sarcoma)
บทนำ
มะเร็งไต/โรคมะเร็งไต(Kidney cancer)คือโรคที่เกิดจากเซลล์ที่ตำแหน่งใดของเนื้อเยื่อไตก็ได้ เกิดการกลายพันธ์ เจริญแบ่งตัวอย่างรวดเร็วเกินปกติ และร่างกายควบคุมการแบ่งตัวนี้ไม่ได้ ส่งผลให้เกิดเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง/แผลมะเร็งที่รุกราน/ลุกลามทำลายเนื้อเยื่อไต ลุกลามเข้าทำลายอวัยวะข้างเคียงไต ต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงไต และรุกรานแพร่กระจายทางกระแสโลหิตไปทำลายอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย พบบ่อยที่ปอด แต่พบที่กระดูกและตับได้ และยังแพร่กระจายทางระบบน้ำเหลืองไปทำลายต่อมน้ำเหลืองได้ทั่วร่างกาย พบบ่อยที่ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง จนในที่สุด ไตถูกทำลายและล้มเหลวในการทำงาน เกิดภาวะไตวาย และอวัยวะต่างๆที่เซลล์มะเร็งลุกลามแพร่กระจายจะไม่สามารถทำงานตามปกติได้ เกิดภาวะอวัยวะต่างๆทำงานล้มเหลว ที่สำคัญคือ ไตล้มเหลว/ไตวาย และระบบทางเดินหายใจล้มเหลว เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตในที่สุด
มะเร็งไต ทั่วไปพบน้อย พบในทุกอายุ พบประปรายในผู้ใหญ่ แต่พบบ่อยกว่าในเด็ก ซึ่งชนิดขอมะเร็งไตในผู้ใหญ่และในเด็กจะต่างกัน(แนะนำอ่านรายละเอียดบทความ โรคมะเร็งไตในเด็ก หรือ เนื้องอกวิมส์ ได้ในเว็บ haamor.com) แต่ในบทความนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะ ‘โรคมะเร็งไตในผู้ใหญ่’ เท่านั้น โดยจะเรียกว่า “โรคมะเร็งไต”
ประเทศไทย รายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติปีพ.ศ. 2558 เป็นผู้ป่วยมะเร็งช่วงปี พ.ศ. 2553-2555 พบมะเร็งไตในผู้ชาย 1.6 รายต่อประชากรชาย 1แสนคน และในผู้หญิง 0.8 ราย ต่อประชากรหญิง 1แสนคน ส่วนทั่วโลกมีรายงานพบในผู้ชาย 6 รายต่อประชากรชาย 1แสนคน และ พบในผู้หญิง 3 รายต่อประชากรหญิง 1แสนคน
โรคมะเร็งไต พบเป็นประมาณ 2% ของโรคมะเร็งทั้งหมดของร่างกาย พบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิงประมาณ 2 เท่า พบทุกอายุ โดยพบสูงในช่วงอายุ 55-60 ปี แต่อายุน้อยกว่านี้ หรือในเด็กก็สามารถพบโรคได้
โรคมะเร็งไตโดยทั่วไป มักพบเกิดเพียงข้างเดียวของไต โอกาสเกิดในไตซ้ายและในไตขวาใกล้เคียงกัน แต่พบได้ทั้งสองข้างประมาณ 2-5%
อนึ่ง ไต (Kidney) เป็นอวัยวะคู่ ซ้าย ขวา อยู่ในช่องท้อง แต่อยู่นอกเยื่อบุช่องท้อง (อวัยวะในเยื่อบุช่องท้อง คือ ตับ ม้าม และลำไส้) มีหน้าที่สำคัญในการกรองของเสียออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ควบคุมความสมดุลของน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย และสร้างฮอร์โมนหลายชนิดที่ช่วยในการควบคุมความดันโลหิต และช่วยการสร้างเม็ดเลือดแดงของไขกระดูก
ไต จะอยู่ในช่องท้อง 2 ข้างของกระดูกสันหลัง ในตำแหน่งประมาณตั้งแต่กระดูกอกข้อที่ 12 ถึงกระดูกเอวข้อที่ 3 โดยไตขวาอยู่ต่ำกว่าไตซ้ายเล็กน้อยจากการกดของตับ ทั้งนี้ไตมีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่ว มีความยาวประมาณ 11-14 เซนติเมตร(ซม.) กว้างประมาณ 6 ซม. และหนาประมาณ 4 ซม. ไตผู้ชายใหญ่กว่าของผู้หญิง ในผู้ใหญ่ผู้ชายจะหนักประมาณ 125-170 กรัม และผู้ใหญ่ผู้หญิงจะประมาณ 115-155 กรัม ซึ่งส่วนยอดไตทั้งสองข้างคือ ต่อมหมวกไต (Adrenal gland) ซึ่งเป็นต่อมไร้ท่อสำคัญ
โรคมะเร็งไตมีกี่ชนิด?
โรคมะเร็งไตมีหลากหลายชนิดย่อย ทั้งในกลุ่มมะเร็งคาร์ซิโนมา(Carcinoma)และ มะเร็งซาร์โคมา(Sarcoma) แต่เกือบทั้งหมด คือ ในกลุ่มคาร์ซิโนมา ซึ่งชนิดพบบ่อยที่สุด มี2ชนิดย่อย คือ
- ชนิด รีนัลเซลล์ หรือเรียกย่อว่า อาร์ซีซี (Renal cell carcinoma, RCC หรือ Hypernephroma) และ
- ชนิด ทรานซิเชินนัลเซลล์ หรือเรียกย่อว่า ทีซีซี (Transitional cell carcinoma, TCC หรือ Renal Transitional cell carcinoma)
ก. มะเร็งไตชนิด อาร์ซีซี: เป็นมะเร็งของเซลล์เนื้อเยื่อไตที่มีหน้าที่กรองปัสสาวะ และสร้างฮอร์โมนต่างๆ เป็นมะเร็งชนิดพบบ่อยที่สุดของไต คือประมาณ 80-85%ของมะเร็งไตทั้งหมด
ข. มะเร็งไตชนิด ทีซีซี: มะเร็งชนิดนี้พบรองลงมา พบประมาณ 8-10%ของมะเร็งไตทั้งหมด โดยเป็นมะเร็งของเซลล์เยื่อบุผิวของกรวยไต แพทย์บางท่านจึงเรียกว่า ‘โรคมะเร็งกรวยไต (Renal pelvis carcinoma)’ ซึ่งกรวยไต มีหน้าที่เก็บกักปัสสาวะก่อนปล่อยลงท่อไต เป็นมะเร็งชนิดที่เมื่อเกิดขึ้น มักเกิดร่วมกับมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และ/หรือ มะเร็งท่อไต เพราะทั้ง กรวยไต ท่อไต และกระเพาะปัสสาวะ มีเซลล์เยื่อบุผิวเป็นชนิดเดียวกัน มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งได้เช่นเดียวกันและชนิดเดียวกัน คือ มะเร็งชนิด TCC โดยจะมี ธรรมชาติของโรค การวินิจฉัย การรักษา และการพยากรณ์โรคเช่นเดียวกัน
*อนึ่ง มะเร็งไตทั้งชนิด RCC และชนิด TCC เป็นมะเร็งไตที่จะกล่าวถึงในบทความนี้
ค. ชนิดอื่นๆ พบได้น้อยมากๆ รวมกันประมาณ 5%ของมะเร็งไตทั้งหมด (เช่น Sarcoma of kidney) ซึ่งจะไม่กล่าวในบทความนี้
โรคมะเร็งไตเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของการเกิดโรคมะเร็งไต แต่พบปัจจัยเสี่ยง คือ
ก. ในมะเร็งไตชนิดอาร์ซีซี ปัจจัยเสี่ยง คือ
- การได้รับสารพิษบางชนิดในสิ่งแวดล้อมสูงอย่างต่อเนื่อง เช่น ผลิตภัณฑ์ต่างๆจากน้ำมันปิโตรเลียม และแร่ธาตุบางชนิด เช่น Cadmium และแร่ใยหิน (Asbestos)
- การกินยาแก้ปวดที่มีตัวยา Phenacetin (ปัจจุบัน ยาตัวนี้ถูกยกเลิกการใช้แล้ว)ต่อเนื่อง
- การกินยาฮอร์โมนเพศบางชนิด
- การสูบบุหรี่
- โรคอ้วน และโรคความดันโลหิตสูง
- ความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิด
ข. ในมะเร็งไตชนิดทีซีซี ปัจจัยเสี่ยงบางชนิดเป็นปัจจัยเสี่ยงชนิดเดียวกับของมะเร็งชนิด อาร์ซีซี ซึ่งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ คือ
- อาจจากภาวะแวดล้อมบางชนิด เพราะมักพบโรคนี้ในคนอาศัยอยู่ในเมืองมากกว่าในคนชนบท
- โรคนิ่วในไต
- การสูบบุหรี่
- การได้รับสารบางอย่างเรื้อรังจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น Benzidine และ Napthylamine
- การกินยาแก้ปวดที่มีตัวยา Phenacetin ต่อเนื่อง (ปัจจุบันยาตัวนี้ถูกยกเลิกการใช้แล้วรวมทั้งในประเทศไทย)
โรคมะเร็งไตมีอาการอย่างไร?
อาการที่พบบ่อยของโรคมะเร็งไต คือ ไม่มีอาการเมื่อก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก แต่เมื่อโรคเริ่มลุกลามจึงมีอาการได้
เมื่อมีอาการ อาการพบบ่อยของมะเร็งไต คือ
- ปวดหลังเรื้อรังด้านเป็นมะเร็งไต ร่วมกับ
- ปัสสาวะเป็นเลือด ที่อาจมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ตรวจพบจาก การตรวจปัสสาวะ และ
- ไตด้านเกิดโรคโตจนคลำได้เป็นก้อนเนื้อ/มีก้อนในท้อง
อนึ่ง ในผู้ป่วยที่เกิดโรคร่วมกับโรคนิ่วในไต และ/หรือโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ จะมีอาการของนิ่วของอวัยวะทั้งสองร่วมด้วยได้ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘นิ่วในไต’ และเรื่อง ‘นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ’
เมื่อไหร่ควรพบแพทย?
เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ’อาการฯ’ โดยเฉพาะ การมีปัสสาวะเป็นเลือดบ่อย หรือเรื้อรัง และ/หรือการคลำได้ก้อนเนื้อผิดปกติในช่องท้อง ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งไตได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งไตได้จาก
- ประวัติทางการแพทย์ ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการผู้ป่วย
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจปัสสาวะ
- และการตรวจภาพไตด้วยอัลตราซาวด์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI)
- หลังจากนั้นจะผ่าตัดไต เพื่อการรักษาและเพื่อตรวจก้อนเนื้อหลังผ่าตัดด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยา ทั้งนี้เพราะการตัดชิ้นเนื้อไตก่อนผ่าตัด มักมีผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้สูง เนื่องจากไต เป็นอวัยวะอยู่ลึกและมีลำไส้ซ้อนอยู่ และยังอยู่ใกล้หลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ จึงมีโอกาสลำไส้ทะลุเกิดภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ หรือหลอดเลือดทะลุเกิดเลือดออกในช่องท้อง นอกจากนั้น เมื่อมีก้อนเนื้อในไต การรักษา คือ การผ่าตัดไตอยู่แล้ว
ทั้งนี้ เมื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาระบุว่าเป็นมะเร็ง การตรวจเพิ่มเติมคือ การตรวจเพื่อ ประเมินระยะโรคและเพื่อประเมินสุขภาพผู้ป่วย เช่น
- การตรวจเลือด ซีบีซี (CBC) ดูการทำงานของไขกระดูก
- การตรวจเลือด ดูค่าน้ำตาลในเลือด ดูการทำงานของตับและไต และดูปริมาณเกลือแร่(Electrolyte)ในร่างกาย
- การเอกซเรย์ปอดดูโรคของปอด หัวใจ และโรคมะเร็งแพร่กระจายสู่ปอด
- และการตรวจภาพช่องท้องด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ดูโรคลุกลาม แพร่กระจายเข้า ตับ ต่อมน้ำเหลือง และอวัยวะต่างๆในช่องท้อง
โรคมะเร็งไตมีกี่ระยะ?
โรคมะเร็งไต แบ่งเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆ
ก. ระยะโรคมะเร็งชนิด อาร์ซีซี ได้แก่
- ระยะที่1: ก้อนมะเร็งลุกลามเฉพาะในไต และก้อนเนื้อมีขนาดโตไม่เกิน 7 ซม.
- ระยะที่2: ก้อนมะเร็งลุกลามเฉพาะในไตแต่มีขนาดโตมากกว่า 7 ซม.
- ระยะที่3: โรคมะเร็งลุกลามออกนอกไตเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง และ/หรือต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ติดกับไต
- ระยะที่4: โรคมะเร็งลุกลามเข้าเนื้อเยื่อข้างเคียงมากขึ้น ลุกลามทะลุเข้าต่อมหมวกไต และ/หรือ มีโรคแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต (เลือด) ซึ่งเมื่อมีการแพร่กระจายทางกระแสโลหิตมักเข้าสู่ ปอด และกระดูก
ข. ระยะโรคมะเร็งชนิด ทีซีซี ได้แก่
- ระยะที่1: โรคมะเร็งลุกลามอยู่เฉพาะในชั้นเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ที่อยู่ใต้เยื่อบุผิวของกรวยไต
- ระยะที่2: โรคมะเร็งลุกลามเข้าชั้นกล้ามเนื้อของกรวยไต
- ระยะที่3: โรคมะเร็งลุกลามทะลุออกนอกกรวยไต
- ระยะที่4: โรคมะเร็งลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆรอบกรวยไตมากขึ้น, และ/หรือเข้าต่อมน้ำเหลือง, และ/หรือแพร่กระจายเข้าสู่กระแสโลหิต ซึ่งเมื่อแพร่กระจาย มักเข้าสู่ กระดูก และปอด
อนึ่ง มะเร็งไตระยะศูนย์(Stage 0) หรือ Carcinoma in situ ย่อว่า CIS คือระยะที่โรค/เซลล์มะเร็งยังไม่มีการรุกราน(Non invasive disease) โรคจำกัดอยู่เฉพาะในชั้นเยื่อบุผิว ยังไม่ทะลุชั้นเยื่อบุผิว แพทย์โรคมะเร็งหลายท่านไม่จัดให้โรคระยะนี้เป็นโรคมะเร็ง ซึ่งโรคระยะนี้เป็นระยะโรคมะเร็งไตที่พบได้น้อยมากๆ
โรคมะเร็งไตรักษาอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคมะเร็งไต คือ การผ่าตัด และในรายโรคลุกลาม อาจให้การรักษาต่อเนื่องด้วย การฉายรังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัด
นอกจากนั้น มีการรักษาด้วยยารักษาตรงเป้า/ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็งในโรคมะเร็งไตชนิดอาร์ซีซี ระยะที่ 4 ชนิดมีโรคแพร่กระจาย ได้ผลบรรเทาอาการผู้ป่วย และอาจยืดอายุผู้ป่วยได้ แต่ยังไม่สามารถรักษาโรคให้หายได้ อย่างไรก็ตาม ยายังมีราคาแพงมหาศาลเกินกว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงยาได้
มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งไตอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งไต ขึ้นกับวิธีรักษา ซึ่งผลข้างเคียงจะสูงขึ้นเมื่อ
- ใช้วิธีรักษาหลายๆวิธีร่วมกัน
- มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคจากมีการอักเสบของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น โรคภูมิต้านตนเอง/ โรคออโตอิมมูน
- สูบบุหรี่
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ
- ในผู้สูงอายุ
อนึ่ง ตัวอย่างผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากวิธีรักษาต่างๆ ได้แก่
- การผ่าตัด เช่น การสูญเสียไต การเสียเลือด และ/หรือแผลผ่าตัดติดเชื้อ รวม ทั้งเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
- รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง และเนื้อเยื่อ/อวัยวะในช่องท้อง (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และเรื่อง ผลข้างเคียงและการดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้อง และ/หรืออุ้งเชิงกราน)
- ยาเคมีบำบัด: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด ภาวะเลือดออกได้ง่ายจากมีเกล็ดเลือดต่ำ และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง)
- ยารักษาตรงเป้า /ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบ หน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ลำไส้ทะลุได้
โรคมะเร็งไตรุนแรงไหม?
โอกาสรักษาได้หาย(การพยากรณ์โรค)ของโรคมะเร็งไต ขึ้นกับ
- ระยะโรค
- ชนิดของเซลล์มะเร็ง
- การผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้หมด
- อายุ และ
- สุขภาพของผู้ป่วย
ซึ่งโดยทั่วไปโรคมะเร็งไตทั้ง 2 ชนิดมีอัตรารอดที่ห้าปีหลังการรักษา ใน
- โรคระยะที่ 1 ประมาณ 80%
- ระยะที่ 2 ประมาณ 70%
- ระยะที่ 3 ประมาณ 30-50%
- ระยะที่ 4 ชนิดโรคยังไม่แพร่กระจาย ประมาณ 0-10% และ ระยะที่ 4 เมื่อโรคแพร่กระจายแล้ว ประมาณ 0-5%
มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งไตไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งไต ดังนั้นที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ เมื่อมีอาการดังกล่าวแล้วในหัวข้อ’อาการ’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาโรคแต่เนิ่นๆ
ป้องกันโรคมะเร็งไตอย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งไต แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ‘สาเหตุ’ อาจช่วยลดโอกาสเกิดโรคลงได้
ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งในโรคมะเร็งทุกชนิดรวมถึงมะเร็งไต จะคล้ายๆกัน สามารถปรับใช้ด้วยกันได้ ซึ่งหลักในการดูแลตนเองที่สำคัญ คือ
- ปฏิบิติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่ง ให้ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง เช่น ปวดหลังมากขึ้น ปัสสาวะเป็นเลือดมากขึ้น/บ่อยขึ้น คลำได้ก้อนเนื้อในท้องโตขึ้น
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น อาเจียนทุกครั้งที่กิน/ดื่ม ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง วิงเวียนศีรษะตลอดเวลา
- กังวลในอาการ
นอกจากนั้น แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
- การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
บรรณานุกรม
- DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
- Haffty, B., and Wilson, L. (2009). Handbook of radiation oncology: basic principles and clinical protocols. Boston: Jones and Bartlett Publishers.
- Imsamran, W. et al. (2015). Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
- Perez, C., Brady, L., Halperin, E., and Schmidt-Ullrich, R. (2004). Principles and practice of radiation oncology. (4th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
- http://en.wikipedia.org/wiki/Kidney [2018,Nov24]
- https://www.cancer.org/cancer/kidney-cancer/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2018,Nov24]
- https://www.cancer.org/cancer/kidney-cancer/detection-diagnosis-staging/staging.html [2018,Nov24]
- https://www.uptodate.com/contents/epidemiology-pathology-and-pathogenesis-of-renal-cell-carcinoma [2018,Nov24]
- https://cancerstaging.org/references-tools/deskreferences/Documents/AJCC%20Cancer%20Staging%20Form%20Supplement.pdf [2018,Nov24]