มะเร็งโพรงหลังจมูก (Nasopharyngeal carcinoma)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

มะเร็งโพรงหลังจมูก(Nasopharyngeal carcinoma)คือ โรคที่เกิดจากเซลล์ของผนังโพรงหลังจมูกเกิดการเจริญเติบโต แบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ผิดปกติ โดยที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์เหล่านี้ได้ เรียกเซลล์เหล่านี้ว่า’เซลล์มะเร็ง’ เมื่อเซลล์มะเร็งเจริญแบ่งตัวมากขึ้นจะส่งผลให้โพรงหลังจมูกเกิดเป็นก้อนเนื้อและแผลมะเร็ง อุดตันโพรงหลังจมูกและรุกราน/ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียงจนเกิดอาการผิดปกติต่างๆ ที่พบบ่อย คือ หูอื้อข้างเดียว เลือดกำเดาออกบ่อยผิดปกติ มีน้ำมูกเรื้อรังมักเป็นเลือด/มีเลือดปน คัดจมูกเรื้อรัง

โพรงหลังจมูก (Nasopharynx) เป็นโพรงที่อยู่ในส่วนสูงสุดของคอหอย โดยอยู่ด้านหลังของโพรง/รูจมูก จึงได้ชื่อว่าโพรงหลังจมูก เป็นโพรงอากาศที่เชื่อมต่อระหว่างโพรงจมูกกับช่องคอหอยหรือช่องคอ ทั้งนี้ส่วนที่มักเกิดเป็นโรคมะเร็งคือ เยื่อเมือกซึ่งเป็นเนื้อเยื่อบุโดยรอบโพรงนี้ ซึ่งเนื้อเยื่อส่วนนี้จะมีระบบน้ำเหลืองในปริมาณมาก ดังนั้นโรคมะเร็งโพรงหลังจมูกจึงลุกลามเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองลำคอสูงมากตั้งแต่เมื่อก้อนมะเร็งยังมีขนาดเล็กมากในขนาดที่ยังไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้

โรคมะเร็งโพรงหลังจมูก หรือเรียกย่อว่า เอ็นพีซี (Nasopharyngeal carcinoma, NPC) เป็นโรคมะเร็งพบบ่อยโรคหนึ่งของคนไทย ถึงแม้ไม่ติด 1 ใน 10 ของมะเร็งที่พบบ่อย เป็นมะเร็งที่ไม่ค่อยพบในคนตะวันตก แต่พบสูงสุดในคนจีนทางตอนใต้ของประเทศจีน และคนจีนไต้หวัน ซึ่งคนในประเทศจีนเป็นโรคนี้สูงกว่าคนทั่วโลกถึงประมาณ 25 เท่า โดยพบผู้ป่วยได้ถึง ประมาณ 25 ราย (ทั้ง 2 เพศ) ต่อประชากรทั้งสองเพศ 100,000 คน ส่วนในประเทศไทย ช่วง ปีพ.ศ. 2553-2555 พบผู้ป่วยหญิง 0.9 รายตอประชากรหญิง 1แสนคน และในผู้ชาย 2.8 ราย ต่อประชากรชาย 1แสนคน

โรคมะเร็งโพรงหลังจมูก เป็นโรคมะเร็งของผู้ใหญ่ มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป (44-55 ปี) แต่พบในคนอายุน้อยกว่านี้ได้ รวมทั้งในเด็กโต พบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิงประมาณ 2-3 เท่า

โรคมะเร็งโพรงหลังจมูกมีกี่ชนิด?

มะเร็งโพรงหลังจมูก

โรคมะเร็งโพรงหลังจมูกมีหลากหลายชนิดทั้งมะเร็งในกลุ่มคาร์ซิโนมา(Carcinoma) หรือกลุ่มซาร์โคมา(Sracoma) แต่ชนิดพบบ่อยที่สุด ประมาณ 90% เป็นชนิดเกิดจากเยื่อเมือกบุผนังของโพรงนี้ คือ ชนิด คาร์ซิโนมา ซึ่งเซลล์มะเร็งชนิดคาร์ซิโนมาเองยังแบ่งได้เป็นหลายชนิด แต่ชนิดพบบ่อยซึ่งรวมกันแล้วเป็นประมาณ 90%ของโรคมะเร็งโพรงหลังจมูก คือ ชนิด สะความัส (Squamous cell carcinoma) และชนิด อันดิฟเฟเรนชิเอต (Undifferentiated carcinoma) ซึ่งมะเร็งทั้งสองชนิดนี้มีธรรมชาติของโรค อาการ การวินิจฉัย ระยะโรค การรักษาและความรุนแรงโรคเช่นเดียวกัน ดังนั้นโดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึง “โรคมะเร็งโพรงหลังจมูก” จะหมายถึงโรคมะเร็งทั้งสองชนิดย่อยดังกล่าว รวมทั้งในบทความนี้ด้วย และทั่วไปเรียกมะเร็งกลุ่มนี้ว่า Nasopharyngeal carcinoma ย่อว่า NPC/เอ็นพีซี)

อนึ่ง มะเร็งชนิดอื่นที่พบได้น้อยของโพรงหลังจมูก เช่น Adenocarcinoma, มะเร็งต่อมน้ำลายขนาดเล็กๆที่มีกระจายประปรายในโพรงหลังจมูก, มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของเนื้อเยื่อระบบน้ำเหลืองที่มีประปรายในโพรงหลังจมูก, และมะเร็งชนิดที่พบได้น้อยมากๆคือ มะเร็งชนิด ซาร์โคมา

โรคมะเร็งโพรงหลังจมูกเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

สาเหตุที่แน่นอนของการเกิดโรคมะเร็งโพรงหลังจมูกยังไม่ทราบ แต่แพทย์เชื่อว่า น่าเกิดจากหลายๆสาเหตุร่วมกัน โดยพบมีปัจจัยเสี่ยง คือ

  • เชื้อชาติ เพราะพบโรคได้สูงในคนจีนตอนใต้ ไต้หวัน ในคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในคนพื้นเมืองในรัฐอะลาสกาของสหรัฐอเมริกา
  • พันธุกรรม เพราะพบโรคได้สูงในคนบางเชื้อชาติดังกล่าวแล้ว และยังพบโรคได้สูงขึ้นในคนที่มีครอบครัวเป็นโรคนี้
  • อาจจากโพรงหลังจมูกติดเชื้อไวรัสชนิด อีบีวี (EBV, Ebstein-Barr virus) อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคติดเชื้อ อีบีวี
  • อาจจากสิ่งแวดล้อม เช่น การได้รับควันบางชนิดต่อเนื่อง เพราะพบว่า คนจีนตอนใต้ มักหุงหาอาหารในบ้าน
  • อาจจากการกินปลาเค็ม หรืออาหารหมักดองเป็นประจำ เช่น เต้าเจี้ยว ซึ่งเป็นอาหารประจำของคนจีนตอนใต้

โรคมะเร็งโพรงหลังจมูกมีอาการอย่างไร?

ไม่มีอาการเฉพาะของโรคมะเร็งโพรงหลังจมูก อาการจะคล้ายคลึงกับโรคต่างๆทางระบบ หู คอ จมูก โดยอาการพบบ่อยของโรคมะเร็งโพรงหลังจมูก คือ

  • หูอื้อด้านเดียว ซ้าย หรือขวาก็ได้ ขึ้นกับว่าเกิดโรคด้านใด
  • มีอาการคล้ายเป็นโรคหวัด หรือ คล้ายโรคภูมิแพ้ เรื้อรัง
  • มีเลือดกำเดาออกบ่อย อาจเกิดเพียงจากจมูกด้านเดียว หรือทั้งสองด้านขึ้นกับว่ามีโรคเกิดตำแหน่งใด
  • มีต่อมน้ำเหลืองลำคอโต คลำได้ อาจข้างเดียว หรือทั้งสองข้างของลำคอ อาจเพียงต่อมเดียว หรือหลายๆต่อม ต่อมน้ำเหลืองอาจโตได้มากๆถึงเป็น 10 เซนติเมตร
  • เมื่อโรคลุกลามเข้าเส้นประสาทสมอง หรือเข้าสมอง มักปวดศีรษะเรื้อรัง อาจมองเห็นภาพซ้อน ตาเหล่ ใบหน้าชา มักเกิดด้านเดียว ซ้ายหรือขวาก็ได้ขึ้นกับว่าเกิดโรคด้านใด

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งโพรงหลังจมูกได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งโพรงหลังจมูกได้จาก ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจโพรงหลังจมูก การคลำต่อมน้ำเหลืองลำคอ และอาจตรวจภาพโพรงหลังจมูกด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอ แต่ที่วินิจฉัยได้แน่นอนคือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อในโพรงหลังจมูกเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

ภายหลังเมื่อทราบว่าเป็นโรคมะเร็งโพรงหลังจมูกแล้ว จะมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อประเมินระยะโรค และสุขภาพผู้ป่วย ได้แก่ ตรวจเลือดซีบีซี (CBC) การตรวจปัสสาวะ การตรวจเลือดดูค่าน้ำตาล (โรคเบาหวาน) ดูการทำงานของ ตับ ไต และค่าเกลือแร่ ตรวจภาพโพรงหลังจมูก และลำคอด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอดูการลุกลามของโรคเมื่อยังไม่ได้ตรวจในช่วงวินิจฉัยโรค ตรวจเอกซเรย์ปอด ดูโรคของปอดและหัวใจและดูการแพร่กระจายของโรคสู่ปอด อาจมีการตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวด์ และการตรวจภาพกระดูกทั้งตัวที่เรียกว่า การสะแกนกระดูก (Bone scan) ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของโรค อาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์

โรคมะเร็งโพรงหลังจมูกมีกี่ระยะ?

โรคมะเร็งโพรงหลังจมูกมี 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆ และแต่ละระยะยังอาจแบ่งย่อยได้อีก ทั้งนี้เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ช่วยเป็นแนวทางในการรักษาและในการศึกษา ซึ่งทั้ง 4 ระยะหลัก คือ

  • ระยะที่1 โรคมะเร็งลุกลามอยู่ในโพรงหลังจมูก และ/หรือลุกลามเข้าโพรง/รูจมูก
  • ระยะที่2 โรคมะเร็งลุกลามเข้าเนื้อเยื่อคอหอย และ/หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอเพียงด้านเดียว กี่ต่อมก็ได้ แต่แต่ละต่อมมีขนาดไม่เกิน 6 เซนติเมตร (ซม.)
  • ระยะที่3 โรคมะเร็งลุกลามเข้าไซนัสต่างๆ และ/หรือกระดูกฐานสมอง และ/หรือ ต่อมน้ำเหลืองทั้งสองข้างของลำคอ แต่แต่ละต่อมมีขนาดไม่เกิน 6 ซม.
  • ระยะที่ 4 โรคมะเร็งลุกลามเข้าเส้นประสาทสมอง และ/หรือสมอง และ/หรือเข้าเบ้าตา และ/หรือเข้าคอหอยส่วนรอบกล่องเสียง และ/หรือเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอ ทั้งนี้ต่อมน้ำเหลืองคอต้องมีขนาดโตไม่เกิน 6 ซม. และ/หรือเข้าต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า ขนาดใดก็ได้ จัดระยะดังกล่าวเป็น ‘ระยะ4A’, แต่
    • เมื่อต่อมน้ำเหลืองคอโตมากกว่า 6ซม. จัดเป็น ‘ระยะ4B’ และ/หรือ
    • เมื่อมีโรคแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต/กระแสเลือด ซึ่งเมื่อแพร่กระจาย มักแพร่กระจายสู่ กระดูก ปอด ตับ และ/หรือสมอง จัดเป็น ‘ระยะ 4C’

อนึ่ง ถ้าเซลล์มะเร็งลุกลามอยู่เฉพาะในเนื้อเยื่อชั้นเยื่อเมือก เรียกว่า เป็นมะเร็งระยะยังไม่มีการรุกราน(Preinvasive หรือ Preinvasive cancer) จัดเป็น ‘มะเร็งระยะศูนย์(Stage0)’ ดังนั้น หลายท่านจึงยังไม่จัดโรคระยะ0 นี้เป็นมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะมะเร็งแท้จริงต้องมีการรุนราน(Invasive) ซึ่งโรคมะเร็งโพรงหลังจมูก ระยะนี้ ยังพบได้น้อยมากๆ

โรคมะเร็งโพรงหลังจมูกรักษาอย่างไร?

แนวทางการรักษาหลักของโรคมะเร็งโพรงหลังจมูก คือ รังสีรักษา ซึ่งในโรคระยะที่ 1 อาจเป็นการให้รังสีรักษาเพียงวิธีการเดียว (มีได้ทั้งการฉายรังสี และอาจร่วมกับการใส่แร่) แต่เมื่อโรคลุกลามออกนอกโพรงหลังจมูกแล้ว ไม่ว่าโรคจะอยู่ในระยะใด การรักษาคือ รังสีรักษา ร่วมกับยาเคมีบำบัด ส่วนยารักษาตรงเป้า เช่น ยา Cetuximab ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา และยานี้ยังมีราคาแพงมากเกินกว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงยาได้

อนึ่ง ก่อนการให้รังสีรักษา ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลช่องปากและฟันจากทันตแพทย์ก่อน และถ้ามีฟันผุ ทันตแพทย์จะถอนฟันซี่นั้น และต้องรอให้แผลถอนฟันหายก่อนจึงจะเริ่มให้รังสีรักษาได้ ทั้งนี้เพื่อลดโอกาสถอนฟันจากฟันผุภายหลังครบการรักษาทางรังสีรักษาแล้ว เพราะกรณีเช่นนี้ แผลถอนฟันมักหายได้ยาก มักก่อการอักเสบเรื้อรังของช่องปากและกระดูกกรามได้สูง ส่งผลถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อจนเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งโพรงหลังจมูกอย่างไร?

ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาโรคมะเร็งโพรงหลังจมูกขึ้นกับวิธีรักษา โดยผลข้างเคียงจะสูงขึ้นเมื่อ

  • ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน
  • มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง
  • สูบบุหรี่
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ
  • ในผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการรักษามะเร็งโพรงหลังจมูก เช่น

  • รังสีรักษา คือ ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง และเนื้อเยื่อส่วนได้รับรังสี (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอ)
  • ยาเคมีบำบัด คือ อาการ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ จึงส่งผลให้เลือดออกได้ง่าย และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง)
  • ยารักษาตรงเป้า ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากยารักษาตรงเป้า คือ การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยารักษาตรงเป้าบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ลำไส้ทะลุได้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยารักษาตรงเป้า)

โรคมะเร็งโพรงหลังจมูกรุนแรงไหม?

โรคมะเร็งโพรงหลังจมูกเป็นโรคมะเร็งที่รุนแรงปานกลาง ทั้งนี้โอกาสรักษาได้หาย ขึ้นกับ ระยะโรค การดื้อต่อรังสีรักษาและ/หรือ ต่อยาเคมีบำบัด ของเซลล์มะเร็ง อายุ และสุขภาพของผู้ป่วย

โดยทั่วไปอัตราอยู่รอดที่ 5 ปีภายหลังการรักษาครบแล้ว ในโรค

  • ระยะที่ 1 ประมาณ 70-80%
  • ระยะที่2 ประมาณ 60-70%
  • ระยะที่ 3 ประมาณ 40-60%
  • ระยะที่ 4 ชนิดโรคยังไม่แพร่กระจาย ประมาณ 0-40%
  • ระยะที่ 4 ชนิดมีโรคแพร่กระจายแล้ว ประมาณ 0-5%

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งโพรงหลังจมูกไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งโพรงหลังจมูกตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นการดูแลตนเองที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ การรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ เพื่อการวินิจฉัยและรักษาโรคแต่เนิ่นๆ

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งโพรงหลังจมูกไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งโพรงหลังจมูก แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ ที่หลีกเลี่ยงได้ อาจช่วยลดโอกาสเกิดโรคลงได้บ้าง

ดูแลตนเองอย่างไร?ดูแลผู้ป่วยมะเร็งโพรงหลังจมูกอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งซึ่งรวมทั้งโรคมะเร็งโพรงหลังจมูกจะเช่นเดียวกัน อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

บรรณานุกรม

  1. DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  2. Edge, S. et al. (2010). AJCC: Cancer staging handbook. New York: Springer.
  3. Haffty, B., and Wilson, L. (2009). Handbook of radiation oncology: basic principles and clinical protocols. Boston: Jones and Bartlett Publishers.
  4. Imsamran, W. et al. 2015. Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  5. Perez,C., Brady, L., Halperin, E., and Schmidt-Ullrich, R. (2004). Principles and practice of radiation oncology. (4th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Nasopharynx_cancer [2018,Aug18]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Pharynx [2018,Aug18]
  8. https://www.cancer.org/cancer/nasopharyngeal-cancer/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2018,Aug18]