มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอล (Chronic lymphocytic Leukemia: CLL)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอล หรือ มะเร็งซีแอลแอล (Chronic lymphocytic leukemia ย่อว่า ซีแอลแอล/CLL) คือมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่พบน้อย เกิดจากเซลล์ต้นกำเนิดของเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์(Lymphoid leukemia)ของไขกระดูกเจริญแบ่งตัวมากมายเกินปกติอย่างเรื้อรัง รวมถึงเซลล์ผิดปกติเหล่านี้มีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคลดน้อยลง และยังส่งผลต่อเนื่องให้เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ที่ผิดปกติเหล่านี้(เซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอล)เข้าสู่หลอดเลือดทั่วร่างกายจนมีปริมาณมากเกินปกติ ร่างกายจึงติดเชื้อต่างๆได้ง่ายจากการด้อยประสิทธิภาพของเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ผิดปกติ/เซลล์มะเร็งฯเหล่านี้

มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอล /มะเร็งซีแอลแอล เป็นโรคเรื้อรังที่ค่อยๆมีอาการต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เป็นโรคพบทั่วโลก แต่พบน้อย(ประมาณ 10%ของมะเร็งเม็ดเลือดขาวทุกชนิด) พบบ่อยขึ้นในคนผิวขาว พบน้อยในคนเอเชียที่รวมถึงประเทศไทย พบทุกวัย แต่พบน้อยมากๆๆในเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็ก พบสูงขึ้นในช่วงวัยกลางคน ทั่วไปพบในคนอายุ 60 ปีขึ้นไป เพศชายพบบ่อยกว่าเพศหญิงประมาณ 1.7 เท่า

ในประเทศไทย รายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปีพ.ศ. 2561(ผู้ป่วยปีพ.ศ. 2556-2558) ไม่มีรายงานสถิติเกิดแยกต่างหากของมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอล/มะเร็งซีแอลแอล แต่รายงานรวมอยู่ในกลุ่มมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ทุกชนิด(Lymphoid leukemia) โดยอัตราเกิด ในชายไทย=1.6รายต่อประชากรชายไทย 1 แสนคน และในหญิงไทย =1.2รายต่อประชากรหญิงไทย 1 แสนคน

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอลมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอล

สาเหตุเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอล/ มะเร็งซีแอลแอล ที่รวมถึงปัจจัยเสี่ยง แพทย์ยังไม่ทราบ ถึงแม้มีรายงานพบได้สูงขึ้นในครอบครัวที่เป็นโรคนี้ แต่ก็ยังไม่มีการศึกษาที่ยืนยันพบพันธุกรรมฯที่เป็นปัจจัยเสี่ยง

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอลมีอาการอย่างไร?

เนื่องจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอล/มะเร็งซีแอลแอล เป็นโรคเรื้อรังและธรรมชาติของโรคส่วนใหญ่ค่อยๆเลวลงอย่างช้าๆใช้ระยะเวลาหลายๆปี ทั่วไปประมาณ 30-50%ของผู้ป่วยในโรคระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยมักไม่ค่อยมีอาการผิดปกติ แพทย์ตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจเลือด ซีบีซี (CBC)กรณีตรวจสุขภาพประจำปีหรือในการการตรวจโรคอื่นๆ ทั้งนี้เพราะเมื่อ เซลล์มะเร็งฯยังมีไม่มาก ‘ผู้ป่วยจึงมักไม่มีอาการ’

กรณีมีอาการ: อาการของมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอล/ มะเร็งซีแอลแอล เป็นอาการของคนทั่วไปที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำจากเซลล์มะเร็งฯมีประสิทธิภาพลดลงในการสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคและกำจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจึงติดเชื้อต่างๆได้ง่าย และร่วมกับอาการจากไขกระดูกมีเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์/เซลล์มะเร็งฯเพิ่มมากขึ้น เซลล์มะเร็งฯที่เพิ่มมากขึ้นนี้จะมีผลให้ไขกระดูกสร้างเซลล์ เม็ดเลือดแดงลดลงจนเกิดโรคซีดเรื้อรัง นอกจากนั้นเซลล์ไขกระดูกยังสร้างเกล็ดเลือดได้น้อยลงร่วมอีกด้วย เลือดจึงออกได้ง่ายตามอวัยวะต่างๆเห็นได้จากจ้ำห้อเลือดที่ผิวหนัง และ/หรือเงือกเลือดออกง่ายแต่หยุดยาก

ทั้งนี้ กรณีมีอาการ อาการโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอล/มะเร็งซีแอลแอล ที่พบได้(ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ) ได้แก่

  • อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
  • มีไข้ มักเป็นไข้ต่ำๆ
  • เหงือออกกลางคืน
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักตัวลด/ผอมลง
  • ติดเชื้อต่างๆได้ง่ายกว่าปกติ
  • ซีดเรื้อรัง
  • เลือดออกง่อย สังเกตได้จาก มีจ้ำห้อเลือดตามผิวหนังทั่วตัวได้ง่าย และ/หรือมีจุดเลือดออกตามผิวหนังคล้ายในไข้เลือดออก และ/หรือเหงือกเลือดออกง่ายแต่หยุดยาก
  • มีต่อมน้ำเหลืองโต คลำได้ ทั่วตัว แต่มักพบที่ลำคอ ไม่เจ็บ
  • เจ็บใต้ชายโครง ทั้งซ้าย ขวา ซึ่งตรวจร่างกาย อาจพบ ม้ามโต และ/หรือ ตับโต(ตับโต-ภาวะตับโต)

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอลได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอล/มะเร็งซีแอลแอล ได้เช่นเดียวกับวิธีวินิจฉัยมะเร็งเม็ดเลือดขาวทุกชนิด ได้แก่

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ คือ อาการต่างๆ โรคประจำตัว การรักษา/การใช้ยาต่างๆ และโรคในครอบครัว
  • ตรวจวัดสัญญาณชีพ
  • การตรวจร่างกาย โดยเฉพาะการตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองทั่วตั, ตรวจคลำ ตับและม้าม, ตรวจผิวหนังดูลักษณะเลือดออก
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น
    • ตรวจเลือด ซีบีซี/CBC ดู ปริมาณเม็ดเลือดต่างๆ/ภาวะซีด ปริมาณเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ รูปลักษณะของเซลล์เม็ดเลือดต่างๆ
    • ตรวจเลือดดูการทำงาน ของ ตับ ไต
    • ตรวจเลือดดูค่าน้ำตาลในเลือด
  • ตรวจไขกระดูก เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา และ/หรือเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา ดูลักษณะของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่จะช่วยให้ได้การวินิจฉัยที่แม่นยำขึ้น
  • อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมตามอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ตรวจภาพ ตับ ม้าม ด้วย อัลตราซาวด์ และ/หรือ ซีทีสแกน (เอกซเรย์คอมพิวเตอร์
    • การตรวจลักษณะของเซลล์มะเร็งนี้ด้วยเทคนิคเฉพาะที่เรียกว่า Flow cytometry
    • ตัดต่อมน้ำเหลืองเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอลมีกี่ระยะ? มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอล/มะเร็งซีแอลแอล มีการจัดระยะโรค (Stage, Staging)ที่นิยม 2 ระบบคือ ระบบไร (Rai staging system), และระบบบิเน่(Binet staging system)

ก. ระบบไร: นิยมใช้ในสหรัฐอเมริกา โดยแบ่งเป็น 5 ระยะ ขึ้นกับ ปริมาณเม็ดเลือดและการตรวจร่างกายดูขนาดของ ต่อมน้ำเหลือง ตับ ม้าม ได้แก่

  • ระยะ0 : ปริมาณเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์สูงกว่าปกติ, แต่ปริมาณเม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดปกติหรือใกล้เคียงปกติ, ยังไม่มี ต่อมน้ำเหลือง ตับ หรือ ม้าม โต
  • ระยะ1: ปริมาณเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์สูงกว่าปกติ, ปริมาณเม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดปกติหรือใกล้เคียงปกติ, มีต่อมน้ำเหลืองโต, แต่ตับ ม้าม ไม่โต/ปกติ
  • ระยะ2: ปริมาณเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์สูงกว่าปกติ, ปริมาณเม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดปกติหรือใกล้เคียงปกติ, ม้ามโต, ตับโตหรือไม่ก็ได้, ต่อมน้ำเหลืองโตหรือไม่ก็ได้
  • ระยะ3: ปริมาณเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์สูงกว่าปกติ, ต่อมน้ำเหลือง ตับ ม้าม โตหรือไม่ก็ได้, แต่มีเม็ดเลือดแดงต่ำ(ภาวะซีด), โดยปริมาณเกล็ดเลือดปกติ
  • ระยะ4: ปริมาณเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์สูงกว่าปกติ, ต่อมน้ำเหลือง ตับ ม้าม โต, เม็ดเลือดแดงต่ำหรือปกติ, แต่เกล็ดเลือดต่ำ

อนึ่ง: ระบบไร:แบ่งระยะโรคตามความรุนแรง/การพยากรณ์โรค และใช้ช่วยเลือกวิธีรักษาเป็น 3 กลุ่ม คือ

  • ระยะ0 = ความรุนแรงโรคต่ำ การพยากรณ์โรคดี (Low risk group), ระยะเวลากึ่งกลางการรอดชีวิต(Median survival time)=มากกว่า 12 ปี
  • ระยะ 1,2 = ความรุนแรงโรคปานกลาง การพยากรณ์โรคดีปานกลาง (Intermediate risk group), ระยะเวลากึ่งกลางการรอดชีวิต(Median survival time)= 7 ปี
  • ระยะ3,4 = ความรุนแรงโรคสูง การพยากรณ์โรคไม่ดี (High risk group), ระยะเวลากึ่งกลางการรอดชีวิต(Median survival time)= 1.5 ปี

ข. ระบบบิเน่: นิยมใช้ในยุโรป โดยดูว่ามีต่อมน้ำเหลืองกลุ่มใดโต, ตับ ม้ามโตหรือไม่, และดูปริมาณ เม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือด แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่

  • ระยะเอ (Stage A): มีต่อมน้ำเหลืองโตไม่เกิน 2 บริเวณ (เช่น ที่ลำคอ และที่รักแร้), ไม่มีตับ ม้าม โต, ปริมาณเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดปกติ(=ไร, ระยะ 0-3), ระยะเวลากึ่งกลางการรอดชีวิต (Median survival time) มากกว่า 10 ปี
  • ระยะบี (Stage B): มีต่อมน้ำเหลืองโตตั้งแต่ 3 กลุ่มขึ้นไป (เช่น ลำคอ รักแร้ ขาหนีบ), ไม่มี ตับ ม้าม โต, ปริมาณเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดปกติ(=ไร ระยะ 1,2), ระยะเวลากึ่งกลางการรอดชีวิต (Median survival time)= 5-7 ปี
  • ระยะซี (Stage C): ปริมาณเม็ดเลือดแดง และ/หรือเกล็ดเลือด ต่ำ, ต่อมน้ำเหลือง ตับ ม้าม โต หรือไม่ก็ได้ (=ไร ระยะ 3,4), ระยะเวลากึ่งกลางการรอดชีวิต (Median survival time)= 2-3 ปี

ในส่วนการพยากรณ์โรค:

เนื่องจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอล/มะเร็งซีแอลแอลเป็นโรคพบน้อย จึงยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดในอัตรารอดชีวิตแยกของแต่ระยะโรค ทั่วไปจะรายงานเป็น ‘ระยะเวลากึ่งกลางการรอดชีวิต(Median survival time), ดังนั้นแพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยเท่านั้นที่จะให้การพยากรณ์โรคผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมเป็นรายผู้ป่วยไป

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอล/มะเร็งซีแอลแอลมีการพยากรณ์โรคโดยเป็นโรคที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่แพทย์สามารถให้การรักษาควบคุมโรคที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม และในผู้ป่วยหลายรายสามารถมีระยะเวลาการรอดชีวิตที่ยาว 5-10 ปี ทั้งนี้ขึ้นกับระยะโรคเป็นหลักดังได้กล่าวในตอนต้นของหัวข้อนี้ ‘หัวข้อย่อย ข้อ ก. และ ข้อ ข.’

รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอลได้อย่างไร?

แนวทางการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอล/มะเร็งซีแอลแอล ขึ้นกับระยะโรคเป็นหลัก

ก: กรณีผู้ป่วยยังไม่มีอาการ หรือ เป็นโรคระยะ0 (จัดระยะโรคระบบไร): การรักษาคือ การเฝ้าติดตามอาการเป็นระยะๆตามที่แพทย์แนะนำ โดยไม่มีการรักษาใดๆ ผู้ป่วยใช้ชีวิตปกติด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ

ข.กรณีมีอาการ: วิธีรักษาขึ้นกับ ระยะโรค, อายุผู้ป่วย, สุขภาพโดยร่วมของผู้ป่วย, และการตอบสนองต่อการรักษาวิธีต่างๆ, ซึ่งการรักษา อาจเป็นวิธีใดวิธีเดียว หรือ หลายวิธีร่วมกัน ขึ้นกับ ปัจจัยดังกล่าวและดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยวิธีต่างๆที่ใช้รักษา ได้แก่

  • ยาเคมีบำบัด
  • การฉายรังสีรักษา
  • การรักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง
  • ภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง
  • การรักษาที่อยู่ในการศึกษา เช่น การปลูกถ่ายสเต็มเซลล-ไขกระดูกในโรคมะเร็ง

มีการตรวจคัดกรองและป้องกันโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอลอย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองและป้องกันมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอล/มะเร็งซีแอลแอล เนื่องจากแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ ภายในประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังดูแลตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น แต่ถ้าอาการแย่ตั้งแต่แรกก็ไม่ต้องรอ พบแพทย์/มาโรงพยาบาลด่วนได้เลย

ดูแลตนเองอย่างไร?ดูแลผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอลอย่างไร?

การดูแลตนเอง/การดูแลผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอล/ มะเร็งซีแอลแอล จะคล้ายกับการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิด ปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญ คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)เสมอเพื่อลดโอกาสติดเชื้อของร่างกายและมีสุขภาพจิตที่ดีเพราะดังกล่าวแล้วว่า ผู้ป่วยโรคนี้จะมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ และเป็นโรคเรื้อรังที่มักส่งผลถึงคุณภาพชีวิต
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการแย่ลง
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องผูกมาก คลื่นไส้มากทุกครั้งที่กินอาหาร ปากคอเป็นแผล/เจ็บปากคอมากจนกินไม่ได้
    • กังวลในอาการ

อนึ่ง: แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในการดูแลตนเอง/ดูแลผู้ป่วยมะเร็งได้จากเว็บ haamor.com ใน 2 บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง
  • และเรื่อง การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

บรรณานุกรม

  1. Imsamran, W. et al. (2018). Cancer in Thailand Vol IX , 2013-2015, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  2. https://www.cancer.org/cancer/chronic-lymphocytic-leukemia/detection-diagnosis-staging/staging.html [2020,May30]
  3. https://www.cancer.org/cancer/chronic-lymphocytic-leukemia.html[2020,May30]
  4. https://emedicine.medscape.com/article/199313-overview#showall [2020,May30]
  5. https://www.cancer.gov/types/leukemia/patient/cll-treatment-pdq [2020,May30]
  6. https://www.who.int/selection_medicines/committees/expert/20/applications/CLL.pdf [2020,May30]