มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon cancer)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำและชนิดเซลล์มะเร็ง

มะเร็งลำไส้ใหญ่(Colon cancer)คือโรคที่เซลล์ของเยื่อเมือกผนังลำไส้ใหญ่เกิดการเจริญเติบโตและแบ่งตัวอย่างรวดเร็วต่อเนื่องผิดปกติ โดยร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญแบ่งตัวนี้ได้ ส่งผลให้เกิดเป็นก้อนมะเร็ง/แผลมะเร็งรุกราน/ลุกลามในผนังลำไส้ใหญ่ และลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียงลำไส้ใหญ่ เข้าต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงลำไส้ใหญ่ เข้าต่อมน้ำเหลืองรอบท่อเลือดแดง และแพร่กระจายเข้าสู่กระแสโลหิตไปเจริญในอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ที่พบบ่อย คือ ตับ ปอด กระดูก

มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นอีกโรคมะเร็งพบบ่อยของคนไทย และทั่วโลก เป็นโรคของผู้ใหญ่ มักพบในอายุตั้งแต่ 45-50 ปีขึ้นไป อาจพบในเด็กโตแต่พบได้น้อยเพราะมักเกิดในคนมีพันธุกรรมผิดปกติในครอบครัว โดยผู้ชายพบบ่อยกว่าผู้หญิง ลำไส้ใหญ่แบ่งเป็นส่วนที่อยู่ในช่องท้องทีเรียกว่าโคลอน(Colon) และส่วนอยู่ในท้องน้อย(อุ้งเชิงกราน)ที่เรียกว่าไส้ตรง/ลำไส้ตรง(Rectum) หลายคนจึงเรียกว่า ‘โรคมะเร็งของลำไส้ใหญ่และไส้ตรง(Colorectal cancer ย่อว่า CRC)’

มะเร็งลำไส้ใหญ่มีหลากหลายชนิดเซลล์มะเร็ง ทั้งมะเร็งกลุ่มคาร์ซิโนมา(Carcinoma) และกลุ่มซาร์โคมา(Sarcoma) แต่เกือบทั้งหมดจะเป็นมะเร็งคาร์ซิโนมาชนิด ‘อะดีโนคาร์ซิโนมา(Adenocarcinoma)’ ดังนั้นทั่วไปเมื่อกล่าวถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะหมายถึง ‘มะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา(Colon adenocarcinoma หรือ Colorectal carcinoma ย่อว่า CRC เช่นกัน หรือ Colorectal adenocarcinoma)’เท่านั้น ซึ่งรวมถึงในบทความนี้ด้วย

อนึ่ง บางท่านจะเรียก ‘มะเร็งลำไส้ใหญ่’ ต่อเมื่อเป็น’มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนโคลอน’(ส่วนอยู่ในช่องท้อง) แต่ถ้าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนอยู่ในอุ้งเชิงกราน/ไส้ตรง จะเรียก ตรงๆว่า ‘มะเร็งไส้ตรง(Rectal cancer หรือ Rectal carcinoma)’ และทั่วไป ยังแยกต่างหากมะเร็งทวารหนักออกเป็นอีกโรค(อ่านเพิ่มเติม มะเร็งทวารหนัก ได้ในเว็บ haamor.com) ซึ่ง ‘มะเร็งลำไส้ใหญ่’ในบทความนี้ จะกล่าวควบคู่ไป คือ ทั้งส่วน’โคลอน’ และส่วน’ไส้ตรง’ เพราะมีธรรมชาติของโรคคล้ายกัน

สถิติมะเร็งลำไส้ใหญ่: ประเทศไทยรายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติปี ค.ศ. 2015 พบอุบัติการมะเร็งลำไส้ใหญ่ 8 รายต่อประชากรชาไทย1แสนคน และ6.6 รายในหญิงต่อประชากรหญิงไทย 1แสนคน ส่วนในสหรัฐอเมริกามีรายงานพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ประมาณ5%ของประชากรทั้งหญิงและชาย

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง?

มะเร็งลำไส้ใหญ่

ปัจจุบัน สาเหตุที่แน่ชัดของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ยังไม่ทราบ แต่มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

  • การกินอาหารไขมันสูงเป็นประจำ ร่วมกับอาหารใยอาหารต่ำ (ขาด ผัก และผลไม้)
  • พันธุกรรม: เพราะพบคนที่มีครอบครัวสายตรง (บิดา มารดา พี่ น้องท้องเดียวกัน)ที่เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่, ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งเต้านม, มีโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้สูงขึ้น
  • เป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเรื้อรัง เช่น โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง โรคโครห์น
  • เป็นโรคติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่ชนิดที่เป็นเนื้องอก โดยเฉพาะเนื้องอกชนิด เกิดจากพันธุกรรม
  • สูบบุหรี่ต่อเนื่อง
  • ดื่มสุราต่อเนื่อง
  • โรคอ้วน
  • และมีความเป็นไปได้ว่า การบริโภคเนื้อแดงที่รวมถึงที่แปรรูป เช่น ฮอตดอก, แฮม, ในปริมาณสูงต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ
  • อายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มีอาการอย่างไร?

ไม่มีอาการเฉพาะของมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่จะเป็นอาการเหมือนโรคต่างๆของลำไส้ โดยเฉพาะลำไส้ใหญ่อักเสบ ซึ่งอาการพบบ่อยของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่

  • ไม่มีอาการเมื่อเริ่มเป็น
  • อุจจาระเป็นเลือด เป็นมูก และ/หรือ เป็นมูกเลือด
  • ท้องผูกสลับท้องเสียที่หาสาเหตุไม่ได้ โดยไม่เคยเป็นมาก่อน
  • ซีดโดยหาสาเหตุไม่ได้ จากมีเลือดออกทีละน้อยเรื้อรังจากแผลมะเร็งโดยไม่รู้ตัว
  • อาจมีท้องผูกมากผิดปกติ หรือ ปวดท้องเรื้อรัง หรือทุกครั้งหลังถ่ายอุจจาระจะรู้สึกเหมือนอุจจาระไม่สุด ทั้งนี้จากมีก้อนมะเร็งอุดกั้นทางเดินอุจจาระ
  • น้อยราย อาจมีลำอุจจาระลีบเล็กจากการอุดตันของลำไส้ใหญ่จากก้อนมะเร็ง
  • เมื่อโรคลุกลามมาก อาจมีอาการ
    • ผอมลง/น้ำหนักตัวลดอย่างมากในระยะ6เดือนประมาณ10%จากน้ำหนักตัวปกติ โดยหาสาเหตุไม่พบ
    • อ่อนเพลียผิดปกติ

แพทย์รู้ได้อย่างไรว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้จาก ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ของคนในครอบครัว หรือผู้ป่วยเคยเป็นโรคนี้มาก่อน การตรวจร่างกาย การตรวจทางทวารหนัก การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ และการตัดชิ้นเนื้อจาก บริเวณผิดปกติ ก้อนเนื้อ และ/หรือ ติ่งเนื้อ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา อาจตรวจภาพลำไส้ใหญ่ด้วยการเอกซเรย์โดยสวนแป้งเข้าไปเคลือบลำไส้ใหญ่เพื่อให้มองเห็นภาพภายในลำไส้ใหญ่ (วิธีนี้ไม่ค่อยนิยมในปัจจุบัน) และ/หรือ ตรวจภาพลำไส้ใหญ่และช่องท้องด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ การตรวจเลือดดู ค่าความสมบูรณ์ของเลือด(ซีบีซี) การทำงานของตับ และการทำงานของไต ค่าสารมะเร็งของมะเร็งลำไส้ใหญ่ และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือดเพื่อดูความผิดปกติทางพันธุกรรมกรณีสงสัยสาเหตุจากพันธุกรรม

อนึ่ง เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ สามารถสร้าง สารมะเร็ง (ทูเมอร์มากเกอร์ หรือ Tumor marker)ได้ ซึ่งตรวจพบจากการตรวจเลือด แต่แพทย์ไม่ใช้ค่าสารนี้เพื่อการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะสารมะเร็งนี้ พบ/สร้างได้ทั้งจากโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ เซลล์อักเสบของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ และจากเซลล์ปกติ แพทย์จึงใช้สารมะเร็งตัวนี้เพื่อ ร่วมวินิจฉัยกับวิธีอื่นๆดังได้กล่าวแล้ว และเพื่อประเมินผล และติดตามผลการรักษา

มะเร็งลำไส้ใหญ่มีกี่ระยะ?

มะเร็งลำไส้ใหญ่ที่รวมถึงไส้ตรงมี 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งต่างๆทั่วไป ได้แก่

  • ระยะ1: ก้อนเนื้อ หรือ แผลมะเร็งมีขนาดเล็ก ยังลุกลามอยู่เฉพาะในผนังลำไส้ตรง/ลำไส้ใหญ่
  • ระยะ2: ก้อนเนื้อ หรือ แผลมะเร็งลุกลามจนถึงชั้นเนื้อเยื่อหุ้มลำไส้ใหญ่/เนื้อเยื่อชั้นนอกลำไส้ใหญ่/ลำไส้ตรง โดยถ้าลุกลามเข้าเนื้อเยื่อติดผนังฯ เรียกว่า ระยะ2A, ถ้าลุกลามเข้าเยื่อบุช่องท้องเรียกว่าระยะ2B, ถ้าลุกลามจนไปถึงอวัยวะอื่นเรียกว่า ระยะ2C
  • ระยะ3: คือ ระยะที่2 (2A, 2B, 2C) ที่โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ลำไส้ตรง/ลำไส้ใหญ่ แต่ยังขึ้นกับจำนวนต่อมน้ำเหลืองที่มีมะเร็งลุกลามด้วย ดังนั้น โรคระยะที่3จึงแบ่งย่อยเป็น ระยะ3A, 3B, 3C
  • ระยะ4: โรคแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองไกลลำไส้ใหญ่ เช่น ในช่องท้อง และ/หรือ เหนือไหปลาร้า และ/หรือ แพร่กระจายทางกระแสโลหิตสู่ เนื้อเยื่อ/อวัยวะ อื่นๆ ที่พบบ่อย คือ ตับ ปอด และ กระดูก โดยถ้าแพร่กระจายเพียงอวัยวะเดียว และจุดเดียว จัดเป็น ระยะ4A แต่ถ้าแพร่กระจายตั้งแต่2อวัยวะขึ้นไป หรือแพร่กระจายหลายจุดตั้งแต่2จุดขึ้นไป จัดเป็นระยะ4B

นอกจากนี้ ถ้าเซลล์มะเร็งลุกลามอยู่เฉพาะในผนังลำไส้ชั้นเยื่อเมือก เรียกว่า เป็นมะเร็งระยะไม่มีการรุกราน(Preinvasive หรือ Preinvasive cancer) ซึ่งเรียกว่า ‘มะเร็งระยะศูนย์(Stage0)’ หลายท่านจึงยังไม่จัดโรคระยะนี้เป็นมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะมะเร็งแท้จริงต้องมีการรุนราน(Invasive)

มะเร็งลำไส้ใหญ่รักษาอย่างไร?

การรักษาหลักเพื่อการหายขาดของมะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ การผ่าตัดลำไส้ส่วนเป็นมะเร็ง ส่วนเมื่อโรคมีการลุกลามแล้ว การรักษา มักเป็น ผ่าตัดลำไส้ส่วนเป็นมะเร็งออกไปร่วมกับยาเคมีบำบัด หรือ ผ่าตัดร่วมกับ รังสีรักษา และ/หรือ ยาเคมีบำบัด ทั้งนี้ ขึ้นกับ ตำแหน่ง และระยะของโรค และอาจให้ รังสีรักษา และ/หรือ ยาเคมีนำก่อน แล้วจึงตามด้วยผ่าตัด หรือ อาจผ่าตัดก่อน แล้วจึงตามด้วยรังสีรักษาและ/หรือ ยาเคมีบำบัด ทั้งนี้ขึ้นกับ อาการของผู้ป่วย ระยะโรค และตำแหน่งของโรค

ส่วนการรักษาโรคในระยะสุดท้าย จะเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ ซึ่งจะต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น การผ่าตัดเล็ก ยาเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษาแบบประคับประคอง และวิธีอื่นๆตามอาการผู้ป่วย

อนึ่ง

  • การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ที่เป็นวิธีรักษามาตรฐาน ครอบคลุมอยู่ในทุกสิทธิการรักษาทุกระบบของไทย
  • ปัจจุบัน มียารักษาตรงเป้า /ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง หลายชนิด ที่มีรายงานใช้รักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่มักใช้ในกรณีโรคลุกลามมาก โรคแพร่กระจาย และ/หรือย้อนกลับเป็นซ้ำ นอกจากนั้น ยาต่างๆในกลุ่มนี้ยังมีค่าใช้จ่ายสูงมากๆ และยังไม่ครอบคลุมอยู่ในสิทธิการรักษาทุกสิทธิของประเทศเราที่รวมถึงสิทธิข้าราชการ

มีผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่อย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่/ลำไส้ตรงขึ้นกับวิธีรักษา เช่น

  • การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อ/อวัยวะ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
  • ยาเคมีบำบัด: คือ อาการ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ( อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง) และการมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • รังสีรักษา: คือ ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง และต่อเนื้อเยื่อที่ได้รับรังสีรักษา อ่านเพิ่มเติมใน เว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา, และ เรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้องและ/หรืออุ้งเชิงกราน)
  • ยารักษาตรงเป้า / ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากยารักษาตรงเป้า คือ การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาฯบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ผนังลำไส้ทะลุได้

อนึ่ง ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิด รวมทั้งโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่/ไส้ตรง จะสูงขึ้นเมื่อ

  • ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน
  • เมื่อผู้ป่วยมีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง,
  • ในผู้สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, และ
  • ในผู้สูงอายุ

มะเร็งลำไส้ใหญ่รักษาหายไหม? รุนแรงไหม?

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคมีความรุนแรงปานกลาง แต่มีโอกาสรักษาหายได้ ทั้งนี้ ขึ้นกับระยะโรค ตำแหน่งเกิดโรค อายุ และสุขภาพผู้ป่วย

ก. อัตรารอดชีวิตที่5ปีของมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนช่องท้อง/ส่วนโคลอน(Colon cancer/Colon carcinoma) ได้แก่

  • โรคระยะที่1: อัตรารอดฯที่5ปี ประมาณ 90%
  • โรคระยะที่2: ระยะ2A อัตรารอดฯที่5ปี ประมาณ85%, ระยะ2B, 2C ประมาณ 50-65%
  • โรคระยะที่3: อัตรารอดฯที่5ปี ระยะ 3A ประมาณ 80%, 3Bประมาณ 60%, 3C ประมาณ 50%
  • โรคระยะที่4: ทั้ง 4A,4B อัตรารอดฯที่5ปี ประมาณ 5-10%

ข. อัตรารอดชีวิตที่5ปีของมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนอุ้งเชิงกราน/ไส้ตรง(Rectal cancer/ Rectal carcinoma) ใกล้เคียงกันกับมะเร็งส่วนโคลอน ได้แก่

  • โรคระยะที่1: อัตรารอดฯที่5ปี ประมาณ 85-90%
  • โรคระยะที่2: ระยะ2A อัตรารอดที่5ปี ประมาณ 75-80%, ระยะ2B, 2C ประมาณ 50-60 %
  • โรคระยะที่3 อัตรารอดฯที่5ปี ระยะ 3A ประมาณ 70-80%, 3B ประมาณ 60-70%, 3C ประมาณ 50-60%
  • โรคระยะที่4: ทั้ง 4A, 4B อัตรารอดฯที่5ปี ประมาณ 5-10%

ตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ไหม?

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นอีกโรคมะเร็งซึ่งมี การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ สามารถตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ที่เมื่อได้รับการรักษา สามารถลดอัตราเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งปัจจุบันตั้งแต่ปีพ.ศ. 2561 การตรวจคัดกรองฯ แพทย์มักแนะนำให้เริ่มตั้งแต่อายุ 45ปีขึ้นไป โดยแจ้งแพทย์ถึงความประสงค์ขอตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (แนะนำอ่านเพิ่มเติม วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้ในเว็บ haamor.com)

ป้องกันและคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อย่างไร?

การป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง(ดังกล่าวในหัวข้อ’สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง’)ที่หลีกเลี่ยงได้ และการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพื่อตรวจติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ที่อาจกลายเป็นมะเร็งได้ ซึ่งเมื่อพบติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่ การรักษา คือ การผ่าตัดติ่งเนื้อ ที่เป็นการรักษาที่อันตรายน้อยมาก เพราะไม่ใช่การผ่าตัดลำไส้ออกไป

เมื่อไรควรพบแพทย์เพื่อตรวจโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่?

ควรพบแพทย์ตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่เสมอ เมื่อ

  • มีอาการผิดปกติดังกล่าวในหัวข้อ’อาการฯ’
  • ในคนทั่วไป ควรเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่ออายุ 45 ปี(ก่อน พ.ศ.2561 แนะนำการคัดกรองฯเริ่มที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป)
  • เมื่อมีคนในครอบครัวสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายประจำปีและเพื่อแจ้งแพทย์ว่ามีครอบครัวสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะแพทย์อาจให้ตรวจคัดกรองมะเร็งฯตั้งแต่อายุน้อยๆตามดุลพินิจของแพทย์โดยร่วมกับจากอาการผู้ป่วย เพราะคนมีความผิดปกติทางพันธุกรรม มักเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ตั้งแต่อายุน้อย

ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?พบแพทย์ก่อนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดที่รวมถึง มะเร็งลำไส้ใหญ่/ลำไส้ตรง จะคล้ายคลึงกัน แนะนำอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
  • และควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น อุจาระเป็นเลือดมากขึ้น
    • มีอาการใหม่เกิดขึ้น เช่น มีไข้ ท้องเสียมาก
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น นอนไม่หลับทุกคืน คลื่นไส้อาเจียนมาก วิงเวียนศีรษะมาก
    • เมื่อกังวลในอาการ

บรรณานุกรม

  1. DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles & practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  2. Edge, S. et al. (2010). AJCC: Cancer staging handbook. New York: Springer.
  3. Gunderson, L., and Tepper, J. (2007). Clinical Radiation Oncology (second edition). Philadelphia: Elsevier Churchill Livingstone.
  4. Imsamran, W. et al. 2015. Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  5. https://www.fascrs.org/patients/disease-condition/colon-cancer [2018,July14]
  6. https://www.cancer.org/cancer/colon-rectal-cancer/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2018,July14]