มะเร็งริมฝีปาก (Lip cancer)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 1 กรกฎาคม 2564
- Tweet
- บทนำ:คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- โรคมะเร็งริมฝีปากมีกี่ชนิด?
- โรคมะเร็งริมฝีปากเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
- โรคมะเร็งริมฝีปากมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งริมฝีปากได้อย่างไร?
- โรคมะเร็งริมฝีปากมีกี่ระยะ?
- โรคมะเร็งริมฝีปากรักษาอย่างไร?
- โรคมะเร็งริมฝีปากมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งริมฝีปากไหม?
- ป้องกันโรคมะเร็งริมฝีปากอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?
- พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- บรรณานุกรม
- มะเร็ง (Cancer)
- มะเร็งช่องปาก (Oral cancer)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- การฉายรังสีรักษา เทคนิคการฉายรังสี (External irradiation)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Cancer patient self-care and Cancer care)
- การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด (Coping with chemotherapy)
- ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยารักษาตรงเป้า (Targeted Cell Therapy)
- ฝ้าขาว (Leukoplakia) ฝ้าแดง (Erythroplakia)
บทนำ:คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
มะเร็งริมฝีปาก(Lip cancer) คือ โรคจากเซลล์เนื้อเยื่อริมฝีปากเจริญเติบโตแบ่งตัวรวดเร็วเกินปกติมาก จนร่างกายไม่สามารถควบคุมการแบ่งตัวนี้ได้ ส่งผลให้เกิดเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง/แผลมะเร็ง กล่าวคือเป็นก้อนเนื้อที่รุกราน/ลุกลามทำลายเนื้อเยื่อริมฝีปากจนใช้งานไม่ได้, ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง, ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ เช่น ใต้คาง, ใต้ขากรรไกรล่าง, หน้าใบหู(กรณีเกิดที่มุมปาก และ/หรือ ที่ริมฝีปากบน), และ/หรือ เข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอเมื่อโรคลุกลามมากขึ้น และในที่สุดจะแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกายแต่การแพร่กระจาย เข้ากระแสเลือดนี้พบน้อย ซึ่งเมื่อแพร่กระจายมักไป ปอด กระดูก และตับ และอาจแพร่กระจายทางระบบน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองนอกลำคอได้ เช่น ต่อมน้ำเหลืองรักแร้ ซึ่งการแพร่กระจายทางระบบน้ำเหลืองของมะเร็งริมฝีปากพบน้อยเช่นกัน
มะเร็งริมฝีปาก สามารถเกิดได้ทั้งที่ ริมฝีปากบน มุมปาก และที่ริมฝีปากล่าง แต่เกือบทั้งหมดเกิดที่ริมฝีปากล่าง คือพบเป็นประมาณ 90-95%, พบที่ริมฝีปากบนประมาณ 5%, และพบที่มุมปากข้างซ้ายหรือขวาก็ได้ในอัตราเกิดใกล้เคียงกันคือ ประมาณ 1-2%
มะเร็งริมฝีปาก เป็นมะเร็งพบน้อย จัดอยู่ในกลุ่มมะเร็งช่องปาก เหตุนี้สถิติต่างๆจึงมักรายงานรวมอยู่ในสถิติของมะเร็งช่องปาก
มะเร็งช่องปาก พบมากในประเทศด้อยพัฒนาและที่กำลังพัฒนา และยังจัดรวมอยู่ในมะเร็งกลุ่มหลักคือ มะเร็งระบบ-ศีรษะ-ลำคอ ซึ่งมะเร็งระบบศีรษะและลำคอนี้พบเป็นประมาณ 15% ของมะเร็งทั้งหมดทั่วร่างกาย (ประมาณ 9.5 รายต่อประชากรทั้งหมด 1 แสนคน) ทั้งนี้ มะเร็งช่องปากพบประมาณประมาณ 30%ของมะเร็งระบบศีรษะและลำคอ
ในปีพ.ศ. 2556 ในสหรัฐอเมริกา รายงานมะเร็งริมฝีปากรวมอยู่ในมะเร็งช่องปาก และรายงานพบมะเร็งช่องปากทั้งชาย-หญิงได้ 5.2 รายต่อประชากรชาย-หญิง1แสนคน
ส่วนในประเทศไทย รายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติในช่วงปี พ.ศ. 2561 พบมะเร็งริมฝีปากในผู้หญิง 0.6 รายต่อประชากรหญิงไทย 1 แสนคน และ ในผู้ชาย 0.2ราย ต่อประชากรชายไทย 1แสนคน
มะเร็งริมฝีปาก เป็นมะเร็งของผู้ใหญ่ มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ โดยมีรายงานพบในเด็กโต(นิยามคำว่าเด็ก)บ้างประปราย ส่วนใหญ่ทั่วโลกพบในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิงเล็กน้อย แต่สถิติของไทยพบในผู้หญิงสูงกว่าในผู้ชาย
อนึ่ง ‘ริมฝีปาก(Lip)’ คือ เนื้อเยื่อกลุ่มหนึ่งของช่องปากที่อยู่บนใบหน้า เป็นส่วนหน้าสุดของช่องปาก ประกอบด้วย ริมฝีปากบน, ริมฝีปากล่าง, และมุมปาก, เป็นอวัยวะที่เป็นจุดเริ่มต้นของระบบทางเดินอาหาร มีหน้าที่ ปิดเปิด เพื่อเป็นทางผ่านของ อาหารและน้ำเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร และยังช่วย การออกเสียงพูด การกลืน และการหายใจ นอกจากนั้น ยังเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญในด้านความสวยงาม และในการแสดงอารมณ์
ริมฝีปาก ประกอบด้วยเนื้อเยื่อต่างๆหลายชนิด เช่นเดียวกับเนื้อเยื่อ/อวัยวะกลุ่มอื่นๆของช่องปาก เช่น ลิ้น พื้นปาก, เนื้อเยื่อชั้นนอกสุดของริมฝีปากคือ เนื้อเยื่อบุผิว ซึ่งจะมีเซลล์ที่คล้ายเซลล์ผิวหนังมากกว่าเซลล์เนื้อเยื่อเมือก แต่ในส่วนริมฝีปากที่อยู่ด้านในจะเป็นเซลล์เนื้อเยื่อเมือกเช่นเดียวกับเนื้อเยื่อเมือกของเนื้อเยื่อ/อวัยวะอื่นๆของช่องปาก ซึ่งถัดลึกลงไปจากเนื้อเยื่อ ชั้นเนื้อเยื่อบุผิว และชั้นเนื้อเยื่อเมือก จะเป็น กล้ามเนื้อลาย และเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดต่างๆ เช่น หลอดเลือด ระบบน้ำเหลือง และเส้นประสาท
โรคมะเร็งริมฝีปากมีกี่ชนิด?
มะเร็งริมฝีปาก พบทั้งชนิด มะเร็งคาร์ซิโนมา(Carcinoma) และ มะเร็งซาร์โคมา(Sarcoma) เช่นเดียวกับมะเร็งช่องปาก
ก. มะเร็งคาร์ซิโนมา: พบเป็นประมาณ 90-95% ของมะเร็งริมฝีปากทั้งหมด
- ชนิดย่อยที่พบบ่อยที่สุด เป็นมะเร็งเนื้อเยื่อบุผิวหรือเนื้อเยื่อเมือก ชนิด ‘สความัส (Squamous cell carcinoma)’ ที่พบเป็นประมาณ 80-90%ของมะเร็งริมฝีปาก
- รองลงไปคือ มะเร็งชนิดเกิดจากเซลล์ผิวหนัง ที่เรียกว่า ‘Basal cell carcinoma’
- ส่วนมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ต่อมน้ำลาย (จัดอยู่ในกลุ่ม ‘โรคมะเร็งต่อมน้ำลาย’), หรือเซลล์เม็ดสี (จัดอยู่ในกลุ่ม ‘โรคมะเร็งไฝ/มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา’) พบน้อยมาก เพียงประปราย
ดังนั้น ทั่วไป เมื่อกล่าวถึง ‘มะเร็งริมฝีปาก’ จึงหมายถึง ‘มะเร็งริมฝีปากชนิด ‘คารซิโนมา’ ที่รวมถึง ในบทความนี้ด้วย
ข. มะเร็งซาร์โคมา: พบน้อยมาก ประมาณ 5% ซึ่งมะเร็งกลุ่มซาร์โคมาจะ ’ไม่กล่าวถึงในบทความนี้’ เพราะธรรมชาติของโรคจะเช่นเดียวกับมะเร็งซาร์โคมาที่เกิดในอวัยวะต่างๆทั่วตัว แนะนำอ่านรายละเอียดของมะเร็งเหล่านี้ได้ในเว็บ haamor.com เช่น มะเร็งซาร์โคมา, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง, มะเร็งกล้ามเนื้อลาย, มะเร็งคาโปซิ, มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน
โรคมะเร็งริมฝีปากเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดมะเร็งริมฝีปาก แต่พบปัจจัยเสี่ยง ซึ่งเช่นเดียวกับปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งช่องปาก ได้แก่
- สูบบุหรี่
- ื่มสุรา
- ซึ่งถ้าทั้งสูบบุหรี่และดื่มสุราร่วมกัน ปัจจัยเสี่ยงจะสูงขึ้นมากเป็นทวีคูณ
- เคี้ยวหมาก เคี้ยวเมี่ยง/ใบยาสูบ
- ขาดสารอาหาร เช่น วิตามิน เกลือแร่/ แร่ธาตุ ต่างๆ
- การติดเชื้อเอชพีวีของช่องปาก
- มีฝ้าขาวที่ริมฝีปาก
- มีฝ้าแดงที่ริมฝีปาก
- การระคายเคืองที่ก่อการอักเสบเรื้อรังของริมฝีปากจากปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาของฟัน, ฟันปลอม, หรือการสูบบุหรี่ด้วยการคาบไปป์(Pipe)
โรคมะเร็งริมฝีปากมีอาการอย่างไร?
ไม่มีอาการเฉพาะของมะเร็งริมฝีปาก แต่เป็นอาการทั่วไปของโรคมะเร็ง โดยอาการหลักจะเหมือนกับอาการของมะเร็งช่องปาก คือ
ก. อาการพบบ่อย: ได้แก่
- มีก้อนเนื้อ หรือ แผลเรื้อรัง ลักษณะเหมือนแผลทั่วไปเกิดที่ริมฝีปาก ที่ก้อน/แผลโตขึ้นเรื่อยๆ รักษาไม่หาย
- เริ่มแรกก้อน/แผลขนาดเล็ก จะไม่เจ็บ/ปวด
- แผล/ก้อน จะเจ็บถ้ามีการติดเชื้อที่แผล/ก้อนเนื้อ และ/หรือเมื่อแผล/ก้อนเนื้อลุกลามโตขึ้นจนเข้าเส้นประสาท
- แผล/ก้อนเนื้อ มักมีเลือดออกง่าย
ข. อาการอื่นๆที่อาจพบได้: เช่น
- มีฝ้าขาว-ฝ้าแดงที่ริมฝีปาก
- มีต่อมน้ำเหลือง ใต้คาง และ/หรือใต้ขากรรไกรล่างโต คลำได้ ไม่เจ็บ
- กรณีโรคลุกลามมาก อาจคลำได้ต่อมน้ำเหลืองที่คอ ไม่เจ็บ ต่อมน้ำเหลืองมักโตมากกว่า 1 เซนติเมตร และโตขึ้นเรื่อยๆ อาจคลำพบข้างเดียวกับรอยโรค หรือด้านตรงข้ามรอยโรค หรือทั้ง 2 ข้าง ซ้าย-ขวา ซึ่งอาจมีต่อมฯเดียว หรือหลายๆต่อมฯ
ค. อาการในระยะท้ายๆของโรค: นอกจากอาการดังกล่าวใน ‘ข้อ ก, ข’, อาการที่อาจพบร่วมด้วย เช่น
- อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร
- อ้าปากลำบาก (จากโรคลุกลามเข้าเนื้อเยื่อชั้นกล้ามเนื้อ)
- พูดไม่ชัด, กลืนลำบาก, หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย, จากก้อนเนื้อโตจนอุดกั้นช่องปาก และ ระบบทางเดินหายใจ
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อมีอาการดังได้กล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์ หรือก้อน/แผลขยายใหญ่ขึ้น เจ็บ แผล แผลมีเลือดออกง่ายต่อเนื่อง ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์วินิจฉัยแยกโรคว่าเป็นโรคอะไร เพื่อการรักษาแต่เนิ่นๆ
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งริมฝีปากได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งริมฝีปากได้ด้วยวิธีการเช่นเดียวกับการวินิจฉัยมะเร็งช่องปาก เช่น
- ซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการประวัติ สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ประเภทอาหารที่บริโภค
- การตรวจร่างกาย ร่วมกับ
- การตรวจช่องปากและริมฝีปาก
- ตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองต่างๆในส่วนลำคอ
- แต่การวินิจฉัยที่ให้ผลแน่นอนคือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อน/แผล/รอยโรค เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
ทั้งนี้ เมื่อผลชิ้นเนื้อระบุเป็นโรคมะเร็ง จะมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นต่างๆเพิ่มเติมเพื่อประเมิน ระยะโรคมะเร็ง สุขภาพผู้ป่วย และตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- เอกซเรย์ภาพปอด ดู โรคปอด โรคหัวใจ และโรคมะเร็งที่แพร่กระจายสู่ปอด
- ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) หรือ เอมอาร์ไอช่องปากและลำคอ ดูการ ลุกลามของโรคในช่องปากและต่อมน้ำเหลืองต่างๆบริเวณลำคอ
- ตรวจเลือด
- ดูการทำงานของไขกระดูก (ตรวจซีบีซี)
- ดูการทำงานของ ตับ ของไต และ ดูค่าเกลือแร่ในเลือด
- ตรวจปัสสาวะ ดูการทำงาน และโรคใน ระบบทางเดินปัสสาวะ
- ตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวด์ ดูการแพร่กระจายของโรคสู่ตับ
- ตรวจภาพสะแกนกระดูก ดูโรคแพร่กระจายสู่กระดูก
*อนึ่งการตรวจดูการแพร่กระจายของโรคใน 2 วิธีหลัง(อัลตราซาวด์ตับ และ
สะแกนกระดูก) มักตรวจเฉพาะในผู้ป่วยบางรายที่โรคลุกลามมาก โดยขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
โรคมะเร็งริมฝีปากมีกี่ระยะ?
มะเร็งริมฝีปากมี 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆ(ทั่วไปนิยมแบ่งระยะโรคตามคำแนะนำขององค์กรแพทย์ด้านโรคมะเร็ง สหรัฐอเมริกา/ American Joint Committee on Cancer ย่อว่า เอเจซีซี/AJCC) และจะเช่นเดียวกับมะเร็งช่องปาก โดยแต่ละระยะยังอาจแบ่งย่อยได้อีกเป็น A, B, C ทั้งนี้เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้เป็นแนวทาง วิธีรักษา การพยากรณ์โรค และในการศึกษา ซึ่งทั้ง 4 ระยะ คือ
- ระยะที่ 1: ก้อน/แผลมะเร็งมีขนาดโตไม่เกิน 2 เซนติเมตร(ซม.) และโรครุกราน/ ลุกลามลงลึกไม่เกิน 5 มิลลิเมตร(มม.)
- ระยะที่ 2:
- ก้อน/แผลมะเร็งขนาดโตไม่เกิน2ซมก้อนแต่รุกรานลงลึกมากกว่า 5 มม.
- และ/หรือ ก้อน/แผลมะเร็งมีขนาดโตมากกว่า 2 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 4 เซนติเมตร และโรครุกรานลึกไม่เกิน10 มม.
- ระยะที่ 3:
- ก้อน/แผลมะเร็งมีขนาดโตมากกว่า 2 ซม. แต่ไม่เกิน4ซม. แต่โรครุกรานลึก มากกว่า 10 มม.
- และ/หรือ ก้อนมะเร็งโตเกิน4ซม. แต่โรคลุกลามลึกไม่เกิน10มม.
- และ/หรือ มีการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอ 1 ต่อมที่ขนาดโตไม่เกิน 3 ซม.และต่อมฯอยู่ข้างเดียวกับรอยโรค
- ระยะที่ 4: แบ่งเป็น 3 ระยะย่อย คือ
- ระยะ4A:
- ก้อน/แผลมะเร็งโตมากกว่า4ซม.และรุกรานลึกมากกว่า10มม.
- และ/หรือ ลุกลามเข้าผิวหนัง และ/หรือกระดูก และ/หรือ โพรงไซนัส
- และ/หรือโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอคอ 1 ต่อมด้านเดียวกับรอยโรคแต่มีขนาดโตกว่า 3 ซม.แต่ไม่เกิน6ซม.
- และ/หรือโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอหลายต่อม
- และ/หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอทั้ง2ข้าง
- และ/หรือลุกลามต่อมน้ำเหลืองเฉพาะด้านตรงข้าม
- ทั้งนี้ ต่อมน้ำเหลืองแต่ละต่อมต้องโตไม่เกิน6ซม.
- ระยะ4B:
- ก้อน/แผลมะเร็งลุกลามเข้ากระดูกฐานสมอง และ/หรือกล้ามเนื้อที่ใช้เคี้ยวอาหาร และ/หรือเข้าผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ
- และ/หรือต่อมน้ำเหลืองคอโตมากกว่า 6 ซม.
- ระยะ4C:
- โรคแพร่กระจายเข้าระบบน้ำเหลืองทำลายต่อมน้ำเหลืองนอกลำคอ เช่น รักแร้ หรือ ช่องอก หรือ ขาหนีบ
- และ/หรือแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด ทำลายอวัยวะอื่นๆได้ทั่วตัว ที่พบ บ่อยคือ ปอด ตับ และกระดูก
- ระยะ4A:
อนึ่ง มะเร็งระยะศูนย์(Stage0) หรือ Carcinoma in situ (CIS) แพทย์ทางโรคมะเร็งยังไม่จัดเป็นมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะโรคยังไม่มีการรุกราน(Non-invasive)ออกนอกชั้นเนื้อเยื่อบุผิวหรือชั้นเนื้อเยื่อเมือก จึงยังไม่มีโอกาสที่จะลุกลามไปยังอวัยวะอื่น, ต่อมน้ำเหลือง, และ/หรือ แพร่กระจายทางกระแสเลือด และโอกาสรักษาหายจากการผ่าตัดเพียงวิธีการเดียวสูงถึง 95-100% แต่อย่างไรก็ตาม มะเร็งริมฝีปากระยะนี้พบ น้อยมากเพราะผู้ป่วยมักคิดว่าเป็นรอยโรคที่ไม่ร้ายแรงจึงไม่มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
โรคมะเร็งริมฝีปากรักษาอย่างไร?
แนวทางการรักษามะเร็งริมฝีปาก ได้แก่
- ในโรคระยะต้นๆ เช่น ระยะที่ 1 ถึง จนถึงระยะที่2 อาจเป็นการผ่าตัด หรือ รังสีรักษา
- โดยในกรณีที่รักษาด้วยการผ่าตัด หลังผ่าตัดแพทย์จะตรวจก้อนเนื้อจากการผ่าตัดด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงที่โรคจะย้อนกลับเป็นซ้ำหรือแพร่กระจาย เพื่อหาข้อบ่งชี้ในการรักษาต่อเนื่องด้วย รังสีรักษาและ/หรือยาเคมีบำบัด
- โรคในระยะลุกลามรุนแรง เช่น ระยะที่3 และระยะที่4A,4B การรักษาหลัก คือ รังสีรักษาร่วมกับยาเคมีบำบัด และ/หรือ อาจร่วมกับการผ่าตัดด้วย
- ส่วนโรคในระยะแพร่กระจาย(ระยะ4C) การรักษาหลัก คือ
- ยาเคมีบำบัด และ/หรือ รังสีรักษา
- หรือ การรักษาตามอาการ เช่น
- ยาแก้ปวด
- การให้อาหารทางสายให้อาหารกรณีกินอาหารทางปากไม่ได้
อนึ่ง:
- การจะรักษาด้วยวิธีใด นอกจากขึ้นกับ ระยะโรคแล้ว ยังขึ้น กับอายุ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยด้วย
- การใช้ยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาเฉพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยังอยู่ในการศึกษา และยังคงเป็นการรักษาร่วมกับวิธีอื่น เช่น การผ่าตัด และ/หรือ รังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัด
โรคมะเร็งริมฝีปากมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
โรคมะเร็งริมฝีปาก มีการพยากรณ์โรคที่รุนแรงปานกลางเช่นเดียวกับโรค มะเร็งช่องปาก กล่าวคือ มีโอกาสรักษาได้หาย โดยโอกาสรักษาหายขึ้นกับ
- ระยะโรค
- อายุผู้ป่วย
- การเคยสูบบุหรี่ และ/หรือ ดื่มสุรา
- และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
โดยทั่วไป อัตรารอดที่ห้าปี คือ
- โรคระยะที่ 1 ประมาณ 75-90 %
- ระยะที่ 2 ประมาณ 60 - 65%
- ระยะที่ 3 ประมาณ 20 - 40%
- ระยะที่ 4A,4B (เมื่อยังไม่มีโรคแพร่กระจายฯประมาณ) 0 - 20%
- ระยะที่ 4 C (เมื่อมีโรคแพร่กระจายฯแล้วประมาณ) 0 - 5%
อนึ่ง: มะเร็งริมฝีปากล่าง มักมีการพยากรณ์โรคดีกว่ามะเร็งริมฝีปากบนและมะเร็งที่มุมปาก เนื่องจากมะเร็งริมฝีปากบนและที่มุมปาก อาจมีโรคลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่หน้าต่อรูหูได้ จึงส่งผลให้เกิดการลุกลามแพร่กระจายของโรคสูงกว่า และยังเป็นตำแหน่งที่ให้การรักษาด้วยการผ่าตัด และ/หรือรังสีรักษาได้ซับซ้อนยุ่งยากกว่ามะเร็ง ริมฝีปากล่างมาก
มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งริมฝีปากไหม?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งริมฝีปาก ดังนั้นการดูแลตนเองที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ
- การสังเกตความผิดปกติของริมฝีปาก เมื่อมีแผลเรื้อรังหรือก้อนเนื้อที่ไม่หายภายในประมาณ 2 สัปดาห์หลังการดูแลตนเอง ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ เพื่อการวินิจฉัยโรคและเพื่อได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆที่จะช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น
ป้องกันโรคมะเร็งริมฝีปากอย่างไร?
การป้องกันโรคมะเร็งริมฝีปาก ให้ได้เต็มร้อย ยังเป็นไปไม่ได้ เพราะยังไม่ทราบสาเหตุของโรคที่แน่ชัด แต่มีวิธีลดโอกาสเกิดได้ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งช่องปาก และโรคมะเร็งอื่นๆลงได้ด้วย เช่น มะเร็งคอหอย มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ คือ
- ไม่สูบบุหรี่
- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
- เลิกบุหรี่ และแอลกอฮอล์เมื่อบริโภคอยู่
- หลีกเลี่ยงการติดเชื้อเอชพีวีในช่องปากจากมีเพศสัมพันธ์ทางปากด้วยการใช้ถุงยางอนามัยชายเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทางปากเสมอ
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกๆวัน
ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดที่รวมถึงโรคมะเร็งริมฝีปาก จะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ ซึ่งที่สำคัญคือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ ใช้ยาที่แพทย์สั่ง ให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ ไม่หยุดการรักษาไปเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
อนึ่ง แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความ เรื่อง
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
- การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- อาการต่างๆมีมากขึ้น เช่น ปวดแผลมะเร็งมากขึ้นจนยาแก้ปวดที่แพทย์ให้ไว้ใช้ไม่ได้ผล
- มีไข้ โดยเฉพาะร่วมกับอาการท้องเสีย
- สายให้อาหาร หลุด
- มีผลข้างเคียงอย่างต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะ ท้องผูก
- กังวลในอาการ
บรรณานุกรม
- AJCC cancer staging manual, 8th.ed
- Casino,A. et al.(2006). Oral Medicine and Pathology.11,e 223-e229
- Czerninski,R. et al. (2010). British Journal of Dermatology. 162, 1103-1109
- Halperin,E., Wazer, D., Perez,C., and Brady,L. (2013). Principle and practice of radiation oncology.(6th ed). Walter KLUWER/Lippincott Williams & Wilkins. Philadelphia
- Imsamran, W. et al. (2018). Cancer in Thailand Vol IX, 2013-2015, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
- Moretti, A. et al. Acta Otorhinolaryngol Ital. 2011 ; 31(1): 5–10
- https://en.wikipedia.org/wiki/Lip [2021,June26]
- https://www.cancer.gov/types/head-and-neck/patient/adult/lip-mouth-treatment-pdq [2021,June26]
- https://emedicine.medscape.com/article/835209-overview#showall [2021,June26]