มะเร็งผิวหนังจากแดดจ้า (ตอนที่ 1)

มะเร็งผิวหนังจากแดดจ้า

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อน ทำให้ทั่วภูมิภาคอากาศร้อนอบอ้าว แสงแดดจ้า และมลพิษต่างๆ เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคผิวหนังได้ง่าย โดยเฉพาะแสงอัลตราไวโอเลต หรือ UV ที่มาจากดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนัง และเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ ซึ่งมะเร็งชนิดนี้พบเพียงร้อยละ 5 ของมะเร็งทั้งหมด พบมากในเพศชายมากกว่าหญิง และกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี โดยที่พบบ่อย มี 3 ชนิด คือ

1.มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในชั้นฐานของหนังกำพร้า มีลักษณะเป็นตุ่มนูน ใส ขอบม้วน อาจมีสีดำ หรือแตกเป็นแผล พบบ่อยบริเวณที่ถูกแดด เช่น ใบหน้า ใช้ระยะเวลานานในการแพร่กระจายโรค

2.มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในชั้นหนังกำพร้า มีสัญลักษณ์นูนแดง ผิวหนังแตกเป็นแผล เลือดออกง่าย พบบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ขอบใบหู สามารถแพร่กระจายจากบริเวณหนึ่งไปอีกบริเวณหนึ่งได้ เติบโต และขยายเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว และลึกกว่ามะเร็งผิวหนังชนิดแรก

3.มะเร็งที่เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสี มีลักษณะคล้ายไฝ หรือขี้แมลงวัน หรือเป็นจุดดำบนผิวหนัง ไฝบนฝ่ามือ ฝ่าเท้า ใต้เล็บ มีโอกาสเป็นมากกว่าที่อื่นๆ สัญญาณอันตรายของมะเร็งผิวหนังชนิดนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงของผิว ไฝ ขี้แมลงวัน เช่น มีการตกสะเก็ด ลอก หรือมีอาการปวด มีเลือด หรือน้ำเหลืองไหลเยิ้ม มีตุ่มนูนเกิดขึ้นข้างๆ มีการแพร่กระจายของเม็ดสีไปรอบๆ ดังนั้น จึงควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของไฝ หรือขี้แมลงวัน หากพบว่าผิดปกติให้รีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

สำหรับการปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง นพ.สุพรรณ กล่าวว่า ให้หลีกเลี่ยงจากแสงแดดในช่วงที่มีรังสีอัลตราไวโอเลตมากๆ คือ เวลาประมาณ 10.00-15.00 น. และหากมีความจำเป็นต้องถูกแดดควรปกปิดผิวพรรณด้วยการใส่เสื้อแขนยาวคอปิด กางร่ม หรือใส่หมวกปีกกว้าง และ

สิ่งที่ควรทำเป็นกิจวัตรประจำวัน คือ ทาครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าวันที่มีเมฆหมอก ฝนตก หรือหน้าหนาว จะไม่มีแสงแดดมาทำอันตรายผิวของเรา แต่ความจริงแล้ว หากยังมีแสงสว่างเพียงพอที่จะมองเห็น หรืออ่านหนังสือได้ แสง UV ก็สามารถส่องผ่านมายังผิวหนังได้เช่นกัน ซึ่งอาจทำให้ผิวไหม้มากกว่าปกติ

นอกจากการหลีกเลี่ยงแสงแดดแล้ว ควรงดรับประทานยาที่มีส่วนผสมของสารหนู ทั้งยาจีน ยาไทย เพราะหากรับประทานนานๆ จะทำให้เป็นโรคผิวหนัง และกลายเป็นมะเร็งผิวหนังในที่สุด

นพ.สุพรรณ กล่าวอีกว่า การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผัก และผลไม้จะช่วยป้องกันอันตรายของแสงแดดที่มาทำร้ายผิวได้ เช่น มะเขือเทศ ที่มีสารไลโคปิน แครอท ที่มีสารเบต้าแคโรทีน และกรดโฟลิก จะช่วยปกป้องผิวจากรังสี UV ได้ นอกจากนี้ การดื่มน้ำเปล่าอย่างสม่ำเสมอวันละ 8 แก้ว จะช่วยให้เซลล์ผิวหนังทำงานได้ปกติ ลดการสูญเสียน้ำในร่างกายในช่วงหน้าร้อน ทำให้ผิวชุ่มชื่น และมีสุขภาพที่ดีได้

แหล่งข้อมูล

    1. แดดจ้าเสี่ยงมะเร็งผิวหนัง ระวัง “ริมฝีปาก-ขอบใบหู”. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000040991 [2016, May 4].