มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต (Non small cell lung cancer: NSCLC)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 22 กันยายน 2564
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
- มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตได้อย่างไร?
- มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตมีกี่ระยะ?
- รักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตอย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากการรักษาอย่างไร?
- มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตรุนแรงไหม?
- มีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตไหม?
- ป้องกันมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- มะเร็งปอด (Lung cancer)
- โรคปอด โรคของปอด โรคทางปอด (Pulmonary disease)
- ปอด: กายวิภาคปอด (Lung anatomy) / สรีรวิทยาของปอด (Lung physiology)
- คาร์ซิโนมา มะเร็งคาร์ซิโนมา (Carcinoma)
- มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็ก (Small cell lung cancer: SCLC)
- ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยารักษาตรงเป้า (Targeted Cell Therapy)
- ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด (Pleural effusion)
- ภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง (Cancer Immunotherapy)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต (Non small cell lung cancer ย่อว่า NSCLC) เป็นมะเร็งปอดชนิดเกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อบุผิวของหลอดลมในปอด เป็นมะเร็งจัดอยู่ในกลุ่มมะเร็งคาร์ซิโนมา และเป็นมะเร็งปอดชนิดพบบ่อยที่สุด พบประมาณ 80 - 90% ของมะเร็งปอดทั้งหมดรวมทุกชนิด
มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต ยังแบ่งได้เป็นหลายชนิดย่อยๆ แต่มีทั้งหมด 3 ชนิดย่อยหลัก ได้แก่
- ชนิด Adenocarcinoma: พบประมาณ 35 - 45% ของมะเร็งปอดทั้งหมด โดยอาจแบ่งย่อยได้เป็นชนิดที่เรียกว่า Bronchoalveolar adenocarcinoma เมื่อเกิดในหลอดลมฝอย
- ชนิด Squamous cell carcinoma (ย่อว่า SCC): พบประมาณ 20 - 30% มักเกิดในตำแหน่งใกล้ขั้วปอด และมักทำให้เกิดภาวะมีแคลเซียมในเลือดสูงร่วมด้วย
- ชนิด Large cell carcinoma: พบประมาณ 10 - 15% มักเป็นมะเร็งที่เซลล์มีขนาดใหญ่และมักเกิดตำแหน่งที่อยู่ห่างจากขั้วปอด คือ ตำแหน่งขอบๆชายปอด
ทั้งนี้ มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตทุกชนิดจะมีธรรมชาติของโรค วิธีวินิจฉัย การรักษา การพยากรณ์โรคเหมือนๆกัน จึงจัดรวมเป็นมะเร็งปอดกลุ่มเดียวกัน
มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต เป็นมะเร็งของผู้ใหญ่ มักพบในอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป พบใน เพศชายสูงกว่าในเพศหญิงประมาณ 2 – 3 เท่า
มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต เป็นมะเร็งพบบ่อยทั่วโลก มีสถิติเกิดแตกต่างกันไป ขึ้นกับแต่ละประเทศคือ ประมาณ 1 ถึงมากกว่า 100 รายต่อประชากร 1 แสนคน ทั้งนี้ในประเทศไทยไม่มีรายงานแยกชนิดของมะเร็งปอด แต่เป็นรายงานรวมมะเร็งปอดทุกชนิด โดยช่วงปี พ.ศ. 2544 – 2546(รายงานในค.ศ. 2018) พบในเพศชาย 24.9 รายต่อประชากรชายไทย 1 แสนคน ในเพศหญิงพบ 9.7 รายต่อประชากรหญิงไทย 1 แสนคน
มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดถึงการเกิดมะเร็งปอดที่รวมถึงมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต แต่พบปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดคือ การสูบบุหรี่ ที่รวมไปถึงการได้รับควันบุหรี่ (สูบบุหรี่มือสอง /Secondhand smoke) อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้พบว่า 80 - 90% ของผู้ป่วยมะเร็งปอดมีประวัติสูบบุหรี่ โดยโอกาสเกิดโรคมะเร็งปอดจะขึ้นกับจำนวนบุหรี่ที่สูบในแต่ละวัน รวมถึงระยะเวลาต่อเนื่องในการสูบบุหรี่ ซึ่งพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่ต่อเนื่องมีโอกาสเกิดมะเร็งปอดสูงกว่าคนทั่วไปถึงประมาณ 16 เท่า และโอกาสจะยิ่งสูงขึ้นอีกมากเมื่อเริ่มสูบตั้งแต่เป็นวัยรุ่น
แต่โอกาสเกิดมะเร็งปอดจะค่อยๆลดลงช้าๆเมื่อหยุดสูบบุหรี่ โดยจะลดโอกาสเสี่ยงได้ชัดเจนประมาณ 10 ปีหลังหยุดสูบ และเมื่อหยุดสูบได้ประมาณ 30 ปีโอกาสเกิดมะเร็งปอดจะเป็นประมาณ 2 เท่าของคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่
การที่บุหรี่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงสำคัญเพราะควันบุหรี่มีสารก่อมะเร็งหลายชนิด ที่สำคัญคือสารก่อมะเร็งในกลุ่ม’ไนโตรซามีน (Nitrosamine)’ และ’ไฮโดรคาร์บอน(Hydrocarbon)’
ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น
- การสูดดมสารพิษต่างๆจากงานอาชีพ พบได้ประมาณ 10% ของผู้ป่วย เช่น จากแร่ใยหิน (Asbestos) และการทำเหมืองแร่ต่างๆ เช่น ยูเรเนียม/Uranium
- ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 5 - 10% ของผู้ป่วย อาจสูดดมสารก่อมะเร็งจากโลหะหนักต่างๆที่ปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อม (เช่น ดิน หิน ควันน้ำมัน) เช่น โลหะ นิกเกิล (Nickel) โครเมียม (Chromium) แคดเมียม (Cadmium)
- นอกจากนั้น ปัจจัยเสี่ยงที่อาจพบได้บ้างแต่เป็นส่วนน้อย เช่น
- จากเกิดพังผืดในเนื้อเยื่อปอดจากที่ปอดเคยติดเชื้อเรื้อรัง เช่น วัณโรค
- หรือจากปอดได้รับรังสี
- แต่ก็มีผู้ป่วยมะเร็งปอดหลายรายที่แพทย์หาไม่พบปัจจัยเสี่ยง
มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตมีอาการอย่างไร?
ไม่มีอาการเฉพาะสำหรับมะเร็งปอดทุกชนิดที่รวมถึงชนิดเซลล์ตัวโต แต่จะมีอาการเหมือนๆ กันแยกจากกันไม่ได้ด้วยอาการเหล่านั้นจะเหมือนกับอาการจากโรคปอดทุกโรค ได้แก่
- อาการจากปอดทำงานผิดปกติจากก้อนเนื้อก่อการระคายต่อทางเดินหายใจ ส่งผลให้เกิดการไอเรื้อรังที่อาจเป็นได้ทั้งไอมีเสมหะหรือไอแห้งๆ/ไอไม่มีเสมหะ
- มีอาการเหนื่อยง่ายและอาจหายใจลำบาก/ หอบเหนื่อยจากก้อนเนื้ออุดกั้นทางเดินหายใจ
- ไอเป็นเลือดเมื่อโรคลุกลามเข้าหลอดเลือด
- ผอมลง/น้ำหนักลดผิดปกติ
- เบื่ออาหาร
- มีไข้ต่ำๆ
- คลำได้ต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้าหรือที่ลำคอโตเมื่อโรคลุกลามแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลือง
- ใบหน้าและแขนบวม มักเกิดด้านขวา อาจร่วมกับนอนราบไม่ได้เพราะจะหายใจลำบาก ต้องนั่งหายใจตลอดเวลา เมื่อโรคลุกลามกดหลอดเลือดดำใหญ่ในช่องอก
- นอกจากนั้นคือ อาการจากโรคมะเร็งแพร่กระจายที่อาการจะแตกต่างกันไปขึ้นกับอวัยวะที่โรคแพร่กระจาย เช่น
- ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดเมื่อโรคแพร่กระจายสู่เยื่อหุ้มปอด
- ปวดหัวรุนแรงอาจร่วมกับเป็นอัมพาตเมื่อโรคแพร่กระจายสู่สมอง
- และ/หรือปวดหลังมากอาจร่วมกับเป็นอัมพาตเมื่อโรคแพร่กระจายเข้ากระดูกสันหลัง
แพทย์วินิจฉัยมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตได้เช่นเดียวกับการวินิจฉัยมะเร็งปอดทุกชนิด นั่นคือจาก
- ประวัติอาการ ประวัติการสูบบุหรี่ อาชีพการงาน
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์ และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน)
- อาจส่องกล้องตรวจปอด
- แต่การวินิจฉัยที่แน่นอนจะได้จากการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อในปอดเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
- และ/หรือ การตรวจทางเซลล์วิทยาจากเซลล์ที่ได้จากการเจาะ/ดูดน้ำจากโพรงเยื่อหุ้มปอด หรือ จากตัวก้อนมะเร็งด้วยเทคนิคทางรังสีร่วมรักษาและ/หรือที่ได้จากเสมหะ
นอกจากนั้น ยังเป็นการสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อประเมินสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยและเพื่อการจัดระยะโรคมะเร็ง เช่น
- ตรวจเลือดดู
- ค่าน้ำตาลในเลือด ดูโรคเบาหวาน
- ดูการทำงานของไขกระดูก(ตรวจซีบีซี/CBC), ตับ, ไต, และดูสารมะเร็งที่เซลล์มะเร็งสร้างเพื่อใช้ช่วยประเมินผลการรักษา
- การตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวด์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อดูการแพร่กระจายของ มะเร็งสู่ตับ
- และ/หรือ สะแกนกระดูกเพื่อดูการแพร่กระจายของโรคสู่กระดูก
มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตมีกี่ระยะ?
การแบ่งระยะโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตจะเช่นเดียวกับในมะเร็งปอดทุกชนิด ตามระบบเอเจซีซี (American Joint Committee on Cancer ย่อว่า AJCC) โดยแบ่ง เป็น 4 ระยะหลัก ซึ่งแต่ละระยะหลักอาจแบ่งเป็นระยะย่อยๆได้อีกหลายระยะย่อยเพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ช่วยในการเลือกวิธีรักษา การพยากรณ์โรค และในการศึกษาวิจัย
ทั้งนี้ 4 ระยะหลัก ได้แก่
- ระยะ 1 : ก้อนมะเร็งมีขนาดไม่เกิน4ซม. และยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง
- ระยะ 2: ก้อนฯขนาดโตมากกว่า4 ซม.แต่ไม่เกิน7ซม. และ/หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอดด้านเดียวกับรอยโรค
- ระยะ 3: ก้อนมะเร็งโตขึ้นมาก โตมากกว่า7ซม. และ/หรือ ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อข้างเคียง และ/หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง ขั้วปอด, ในช่องอก, และ/หรือ เหนือไหปลาร้า อาจด้านเดียวกับรอยโรคหรือไม่ก็ได้
- ระยะ 4: มะเร็งแพร่กระจาย:
- เกิดภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด
- และ/หรือ แพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย พบบ่อยคือ เยื่อหุ้มปอด ตัวปอดเอง กระดูก สมอง ต่อมหมวกไต และตับ
- และ/หรือ แพร่กระจายเข้าระบบน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองนอกช่องปอด เช่น ลำคอ รักแร้ ช่องท้อง
อนึ่ง ถ้าเซลล์มะเร็งลุกลามอยู่เฉพาะในเนื้อเยื่อบุผิวผนังหลอดลม เรียกว่า เป็นมะเร็งระยะยังไม่มีการรุกราน(Preinvasive หรือ Preinvasive cancer) จัดเป็น ‘มะเร็งระยะศูนย์(Stage 0)’ แพทย์หลายท่านจึงยังไม่จัดโรคระยะ0 นี้เป็นมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะมะเร็งแท้จริงต้องมีการรุนราน(Invasive) ซึ่งโรคมะเร็งปอดระยะนี้ พบน้อยมากๆ
รักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตอย่างไร?
การรักษาโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต ได้แก่
- การผ่าตัด และ หลังผ่าตัดแพทย์จะตรวจชิ้นเนื้อจากการผ่าตัดด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อดูการลุกลามของโรค ซึ่งเมื่อมีโรคลุกลาม การรักษาต่อเนื่องคือ ยาเคมีบำบัด และอาจร่วมกับรังสีรักษา ปัจจุบันมียาเพิ่มเติมจากยาเคมีบำบัดคือ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง/ยารักษาตรงเป้า/ยารักษาพุงเป้า และ ยาภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง
- แต่ถ้าผ่าตัดไม่ได้ตั้งแต่แรก (มักเป็นโรคในระยะที่3): การรักษาหลักคือ ยาเคมีบำบัดร่วม กับรังสีรักษา ซึ่งเมื่อครบการรักษาแล้วแพทย์จะพิจารณาว่าสมควรจะผ่าตัดได้ไหม
- ส่วนโรคในระยะที่ 4: การรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการอาจด้วย
- ยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษา
- ยาเคมีบำบัดวิธีเดียว
- รังสีรักษาวิธีเดียว
- ยารักษาตรงเป้าวิธีเดียว
- หรือ รักษาเพียงด้านอายุรกรรมเพียงวิธีเดียว เช่น ยาแก้ปวด, ให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำ, การให้ออกซิเจน ทั้งนี้ขึ้นกับอายุและสุขภาพพื้นฐานของผู้ป่วยความประสงค์ของผู้ป่วยและครอบครัว และรวมไปถึงดุลพินิจของแพทย์
อนึ่ง: ส่วนการใช้ยารักษาตรงเป้า /ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง และยาภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง ถึงแม้ในประเทศไทยจะมีการนำมาใช้ทางคลินิกแล้วก็ตาม ก็ยังมีข้อจำกัดทางการใช้ยามากจากราคายายังแพงมาก ซึ่งเมื่อผู้ป่วยต้องการทราบถึงการรักษาด้วยยากลุ่มเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลรักษา
มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตรุนแรงไหม?
มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตมีการพยากรณ์โรคที่ธรรมชาติของโรคมีความรุนแรงสูง เนื่องจากเมื่อตรวจพบหรือมีอาการ โรคมักลุกลามและ/หรือแพร่กระจายแล้ว
ทั้งนี้ อัตรารอดที่ห้าปีหลังได้รับการรักษา รายงานจากสหรัฐอเมริกา
- ระยะโรคจำกัดเฉพาะที่: ระยะ1 หรือ ระยะต้นๆของระยะ2 ที่โรคยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง: อัตรารอดที่ห้าปีประมาณ 50%-60%
- ระยะโรคลุกลามจำกัดอยู่เฉพาะต่อมน้ำเหลืองในช่องอก(ระยะ2,3): อัตรารอดที่ห้าปีประมาณ 30%
- ระยะโรคแพร่กระจาย(ระยะ4): อัตรารอดที่ห้าปีประมาณ 0-10%
ทั้งนี้ สาเหตุการตายในผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต คือ
- ภาวะหายใจล้มเหลว และ
- จากโรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆส่งผลให้เกิดการล้มเหลวในอวัยวะเหล่านั้น เช่น ไขกระดูก ตับ สมอง และกระดูก
มีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตไหม?
การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต จะเช่นเดียวกับในการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด คือ แนะนำในกรณีเป็นผู้มีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งปอด (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘มะเร็งปอด’ หัวข้อย่อย ‘วิธีคัดกรองมะเร็งปอด’)
ป้องกันมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตอย่างไร?
การป้องกันมะเร็งปอดที่รวมถึงชนิดเซลล์ตัวโตให้ได้เต็มร้อยยังเป็นไปไม่ได้ เพราะยังไม่ทราบสาเหตุแน่นอน แต่
- การไม่สูบบุหรี่ การไม่ได้รับควันบุหรี่ต่อเนื่อง การเลิกสูบบุหรี่ สามารถป้องกันมะเร็งปอด, ลดโอกาสเกิดมะเร็งปอดลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เพราะการศึกษาต่างๆทางการแพทย์สามารถพิสูจน์ได้ว่า บุหรี่เป็นปัจจัยให้เกิดมะเร็งปอดสูงถึง 80 - 90% ของผู้ป่วยมะเร็งปอดทั้งหมด
ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งที่รวมถึงมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตจะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ แนะนำอ่านเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง
- และเรื่อง การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
บรรณานุกรม
- AJCC Cancer staging manual, 8th ed.
- Haffty, B., and Wilson, L. (2009). Handbook of radiation oncology: basic principles and clinical protocols. Boston: Jones and Bartlett Publishers
- Halperin,E., Wazer, D., Perez,C., and Brady,L. (2013). Principle and practice of radiation oncology.(6th ed). Walter KLUWER/Lippincott Williams & Wilkins. Philadelphia.
- Imsamran, W. et al. (2018). Cancer in Thailand Vol IX , 2013-2015, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
- https://emedicine.medscape.com/article/279960-overview#showall [2021,Sept18]
- https://www.cancer.org/cancer/lung-cancer/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2021,Sept18]