มะเร็งท่อน้ำดีตับ (Intrahepatic cholangiocarcinoma)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

มะเร็งท่อน้ำดีตับ (Intrahepatic cholangiocarcinoma ย่อว่า ICC/ไอซีซี หรือ Intra hepatic bile duct carcinoma) เป็นมะเร็งตับชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุผิวท่อน้ำดีภายในตับ(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง กายวิภาคตับและระบบทางเดินน้ำดี)ณ ตำแหน่งใดก็ได้ เกิดการเจริญแบ่งตัวรวดเร็วผิดปกติ และร่างกายควบคุมการแบ่งตัวนี้ไม่ได้ ส่งผลให้เกิดเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง/แผลมะเร็งรุกราน/ลุกลามอุดตันและทำลายท่อน้ำดีฯรวมถึงทำลายเนื้อเยื่อตับที่อยู่ติดกับท่อน้ำดีฯ จนในที่สุดเกิดภาวะตับวายที่นำไปสู่การเสียชีวิต และยังรุกราน/ลุกลามทำลายเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียงตับ เข้าทำลายต่อมน้ำเหลืองใกล้ๆตับ ลุกลามเข้าเยื่อบุช่องท้องก่ออาการท้องมานจากน้ำมะเร็ง และแพร่กระจายทางระบบน้ำเหลืองเข้าทำลายต่อมน้ำเหลืองได้ทั่วตัว และ/หรือแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต/เลือดไปทำลายอวัยวะต่างๆได้ทั่วร่างกาย พบบ่อยที่ ปอด ซึ่งการลุกลาม/แพร่กระจายนี้เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต

อนึ่ง มะเร็งท่อน้ำดีตับ จัดเป็นมะเร็งในกลุ่มมะเร็งคาร์ซิโนมา และเป็นมะเร็งที่มีความรุนแรงโรคสูงมาก

มะเร็งท่อน้ำดีตับ พบน้อยในประเทศที่พัฒนาแล้วและในทั่วโลก ในสหรัฐอเมริกาพบได้ประมาณ 1-2 รายต่อประชากร 1 แสนคน แต่เป็นโรคที่พบได้สูงในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทยที่พบโรคนี้ได้สูง 71 รายต่อประชากร 1 แสนคน ทั้งนี้ทั่วโลกพบมะเร็งท่อน้ำดีตับได้ประมาณ 10 - 20% ของมะเร็งตับทั้งหมด แต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยพบโรคนี้คิดเป็นประมาณ 80 - 90% ของมะเร็งตับทั้งหมด

มะเร็งท่อน้ำดีตับ เป็นมะเร็งของผู้ใหญ่ พบน้อยมากๆในเด็ก โดยทั่วไปพบในคนที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป พบในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิง

มะเร็งท่อน้ำดีตับเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

มะเร็งท่อน้ำดีตับ

สาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีตับ ยังไม่ทราบ แต่จากการศึกษาเชื่อว่า เกิดจากเซลล์เยื่อบุผิวของท่อน้ำดีในตับ ได้รับการระคายเคืองเรื้อรัง เช่น จากการอักเสบ หรือจากการมีนิ่วในตับ จึงส่งผลให้เซลล์ท่อน้ำดีเกิดการเปลี่ยนแปลง (Mutation) กลายเป็นเซลล์มะ เร็งได้

อย่างไรก็ตาม พบปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีตับ ซึ่งได้แก่

  • มีการอักเสบเรื้อรังของท่อน้ำดีในตับ เช่น จาก ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง โรคลำไส้ใหญ่อัก เสบเป็นแผลเรื้อรัง
  • โรคไวรัสตับอักเสบ ซี
  • มีนิ่วในตับ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง นิ่วในทางเดินน้ำดี)
  • การติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ที่พบเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับผู้ป่วยในประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อบริโภคร่วมกับสารก่อมะเร็งที่ใช้ในการหมักดองอาหาร (เช่น ปลาร้า) คือ สารในกลุ่ม ไนโตรซามีน (Nitrosamine)
  • จากพันธุกรรมผิดปกติที่ทำให้เกิดโรคแต่กำเนิด เช่น โรคมีถุงน้ำผิดปกติในระบบทาง เดินน้ำดี (Congenital fibropolycystic disease of biliary system)

มะเร็งท่อน้ำดีตับมีอาการอย่างไร?

ไม่มีอาการเฉพาะของโรคมะเร็งท่อน้ำดีตับ แต่เป็นอาการเหมือนอาการโรคตับจากสา เหตุต่างๆ รวมทั้งจากมะเร็งตับชนิดต่างๆ และเมื่อเริ่มเป็นโรคมักไม่มีอาการ จะมีอาการต่อเมื่อโรคเป็นมากแล้ว

อาการที่พบได้บ่อยจากโรคมะเร็งท่อน้ำดีตับ คือ

  • แน่นอึดอัดท้อง จากมีตับโต ซึ่งทำให้คลำหน้าท้องพบตับโตได้ (ตับขนาดปกติ จะคลำไม่ได้)
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด/ผอมลง อ่อนเพลีย และ
  • เมื่อโรคลุกลามมากขึ้นจะส่งผลให้เกิดการอุดตันของท่อน้ำดีในตับ ส่งผลให้มี
    • ตัวเหลืองตาเหลือง /ดีซ่าน คันทั่วตัว ปัสสาวะสีเข็ม และอุจจาระสีซีดลง และ
    • ในระยะสุดท้ายของโรค มักมีน้ำมะเร็งในท้อง (ท้องมาน) ส่งผลให้ แน่นอึดอัดท้อง หายใจลำบาก และเสียชีวิตในที่สุดจากตับล้มเหลว และ/หรือ ภาวะหายใจล้มเหลว

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งท่อน้ำดีตับได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งท่อน้ำดีตับ ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ ประวัติการเจ็บป่วยในอดีตและในปัจจุบัน ถิ่นที่พักอาศัย ประเภทอาหารที่บริโภค การดื่มสุรา
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวด์ และ/หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์
  • และ/หรือการส่องกล้องตรวจระบบทางเดินน้ำดี
  • และ/หรือการตรวจระบบทางเดินน้ำดีด้วยการฉีดสีเข้าระบบทางเดินน้ำดี (Cholangiography)
  • อาจตรวจเลือดดูค่าสารมะเร็ง (สารทูเมอร์มากเกอร์/Tumor marker) ชนิดที่เซลล์มะเร็งสร้าง
  • แต่อย่างไรก็ตาม ผลการวินิจฉัยที่แน่นอนได้จากการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อในตับ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

มะเร็งท่อน้ำดีตับมีกี่ระยะ?

จัดแบ่งมะเร็งท่อน้ำดีตับตามการจัดแบ่งระยะโรคขององค์กรด้านโรคมะเร็งสหรัฐอเมริกาคือ เอเจซีซี (AJCC: American Joint Committee on Cancer) ค.ศ. 2018 ได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1 พบก้อนมะเร็งเพียงก้อนเดียว และยังไม่มีโรคลุกลามเข้าหลอดเลือด แบ่งเป็น2ระยะย่อย คือ
    • ระยะ1A ก้อนมะเร็งโตไม่เกิน 5ซม.
    • ระยะ2A ก้อนมะเร็งโตมากกว่า5ซม.
  • ระยะที่ 2 พบก้อนมะเร็งเพียงก้อนเดียว แต่มีการลุกลามเข้าหลอดเลือดแล้ว, และ/หรือพบก้อนมะเร็งหลายก้อนในตับ
  • ระยะที่ 3 แบ่งเป็น 2 ระยะย่อย คือ
    • ระยะ3A โรคมะเร็งลุกลามเข้าเยื่อบุช่องท้อง
    • ระยะ3B โรคฯลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียงที่อยู่ติดกับตับ, และ/หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองติดกับตับ
  • ระยะที่ 4 โรคมะเร็งแพร่กระจายทางระบบน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลตับ เช่น ต่อมน้ำเหลืองรอบหลอดเลือดแดงใหญ่ในท้อง,และ/หรือ มีน้ำมะเร็งในช่องท้อง, และ/หรือแพร่กระจายทางกระแสโลหิตสู่อวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย พบบ่อยที่ ปอด

อนึ่ง มะเร็งระยะศูนย์(ระยะ0) หรือ Carcinoma in situ ย่อว่า CIS แพทย์โรคมะเร็งหลายท่านยังไม่จัดเป็นมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะเซลล์มะเร็งยังไม่มีการรุกราน/ลุกลาม(Non invasive)ออกนอกเยื่อบุผิว/เยื่อเมือกของผนังท่อน้ำดี โรคระยะนี้ในทางคลินิกพบได้น้อยมากๆๆๆ

รักษามะเร็งท่อน้ำดีตับอย่างไร?

การรักษาหลักของมะเร็งท่อน้ำดีตับ คือ การผ่าตัด และอาจร่วมกับ รังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัด และ/หรือการรักษาด้วยรังสีร่วมรักษา ทั้งนี้ขึ้นกับระยะโรค อายุและสุขภาพโดย รวมของผู้ป่วย

ส่วนยารักษาตรงเป้า /ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง และการปลูกถ่ายตับ/การผ่าตัดเปลี่ยนตับ (Liver transplan tation) ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาทางการแพทย์

มีผลข้างเคียงจากการรักษาอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดีตับ ขึ้นกับวิธีรักษา ได้แก่

  • การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียอวัยวะ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
  • รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนังและต่ออวัยวะต่างๆที่ได้รับการฉายรังสี (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนังและผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้อง)
  • ยาเคมีบำบัด: เช่น อาการ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภา วะเม็ดเลือดขาวต่ำ (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง) และการมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • รังสีร่วมรักษา: เช่น เลือดออกจากรอยแผลจากการสอดใส่ท่อสวนเข้าหลอดเลือด และ/หรือเลือดออกจากตับ การติดเชื้อ การแพ้สารทึบแสงที่ใช้ในกระบวนการรักษาด้วยวิธีรังสีร่วมรักษา
  • ยารักษาตรงเป้า: ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากยารักษาตรงเป้า เช่น การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ลำไส้ทะลุได้

อนึ่ง ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิดที่รวมถึงมะเร็งท่อน้ำดีตับ จะสูงและรุนแรงขึ้นอีก เมื่อ

  • ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน
  • มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
  • สูบบุหรี่
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ
  • ในผู้สูงอายุ

มะเร็งท่อน้ำดีตับรุนแรงไหม?

มะเร็งท่อน้ำดีตับ จัดเป็นมะเร็งที่ธรรมชาติของโรคมีความรุนแรงสูง/มีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี (มีการลุกลามแพร่กระจายเข้า เยื่อบุช่องท้อง เนื้อเยื่อรอบๆท่อน้ำดี ต่อมน้ำเหลือง และปอดสูง) และผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ในโรคระยะที่ลุกลามแล้ว เพราะเป็นโรคที่มักไม่มีอาการเมื่อเริ่มเป็น โดยทั่วไป ผู้ป่วยโรคนี้จะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 1 ปี หลังการวินิจฉัยโรค

ทั้งนี้ อัตรรอดที่ห้าปีตามระยะโรค ได้แก่

  • โรคระยะยังจำกัดอยู่เฉพาะในตับ(ระยะที่1,2) ประมาณ 15-20%
  • โรคระยะลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้ตับ(ระยะที่3) ประมาณ 5-10%
  • โรคระยะแพร่กระจาย(ระยะที่4)ประมาณ 0-2%

มีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีตับไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ ที่จะช่วยให้พบมะเร็งท่อน้ำดีตับตั้งแต่ระยะยังไม่มีอาการ ซึ่งในประเทศไทยที่พบอัตราการเกิดโรคนี้สูงมาก กำลังมีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังในเรื่องนี้ เช่น โดยใช้การตรวจภาพตับด้วย อัลตราซาวด์ในประชากรที่มีปัจจัยเสี่ยงที่ยังไม่มีอาการ

ป้องกันมะเร็งท่อน้ำดีตับอย่างไร?

ปัจจุบัน การป้องกันโรคมะเร็งท่อน้ำดีตับให้เต็มร้อย ยังเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุเกิดโรคที่แน่ชัด ดังนั้นที่ช่วยให้ลดโอกาสเกิดโรคลงได้อย่างมีนัยสำคัญ คือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง (ที่หลีกเลี่ยงได้) ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ คือ

  • การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ
  • รวมไปถึงการเลิกกินปลาน้ำจืด (ที่เป็นแหล่งของพยาธิใบไม้ตับ) ที่ปรุงดิบๆ, ดิบๆสุกๆ และ/หรือหมักดอง
  • นอกจากนั้น คนในถิ่นระบาดของโรคพยาธิใบไม้ตับ ควรพบแพทย์/พยาบาล/มาโรงพยาบาล ขอรับการตรวจอุจจาระเพื่อตรวจหาไข่ของพยาธิใบไม้ตับ โดยความถี่ในการตรวจขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์/พยาบาล เพื่อการรักษาโรคพยาธิใบไม้ตับก่อนเกิดอักเสบเรื้อรังของท่อน้ำดี ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อท่อน้ำดีไปเป็นมะเร็งได้

ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดที่รวมถึงโรคมะเร็งท่อน้ำดีตับ จะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ ใช้ยาที่แพทย์สังให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น ตัวเหลืองตาเหลืองเพิ่มขึ้น ปวดตับรุนแรง
    • มีไข้ โดยเฉพาะร่วมกับท้องเสีย
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก ท้องเสียเรื้อรัง ขึ้นผื่น
    • กังวลในอาการ

อนึ่ง แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรค มะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และในเรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

บรรณานุกรม

  1. AJCC Cancer staging, Manual,8th edition
  2. Blechacz,B., and Gores,G. (2008). Cholangiocarcinoma. Clin Liver Dis.12,131-150.
  3. Buettner,S .etal.(2017).OncoTargets and Therapy 10,1131-1142.
  4. Halperin,E., Wazer, D., Perez,C., and Brady,L. (2013). Principle and practice of radiation oncology.(6th ed). Walter KLUWER/Lippincott Williams & Wilkins. Philadelphia.
  5. https://www.medscape.com/viewarticle/743945 [2019,Jan26]
  6. https://www.cancer.org/cancer/bile-duct-cancer/detection-diagnosis-staging/survival-by-stage.html [2019,Jan26]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Cholangiocarcinoma [2019,Jan26]